JJNY : นักวิจัย ชี้ ไทยย่ำอยู่กับที่เรื่องต้านโกง! ฯ / 'วิษณุ'เผยป.ป.ท.แจงสอบโกงเงินคนจน สุ่มที่ไหนก็เจอเกือบทุกแห่ง

กระทู้คำถาม
นักวิจัย ชี้ ไทยย่ำอยู่กับที่เรื่องต้านโกง! แนะองค์กรตรวจสอบคอร์รัปชัน ประสานงานเชิงเครือข่าย
https://www.komkhao.com/content/15719/นักวิจัย-ชี้-ไทยย่ำอยู่กับที่เรื่องต้านโกง-แนะองค์กรตรวจสอบคอร์รัปชัน-ประสานงานเชิงเครือข่าย

นักวิจัย SIAM Lab ต่างชี้ว่า ทั้งภาคเมือง ภาคชนบทและกึ่งชนบท มีการคอร์รัปชัน จากงบประมาณการพัฒนาต่างๆ โดยเสนอการเปิดเผยข้อมูลให้ที่ถั่วถึงและรอบด้าน รวมทั้งต้องสร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว. ร่วมกับ SIAM Lab (Social Integrity Architecture and Mechanism design Lab) จัดงาน Knowledge Farm Talk ครั้งที่ 4 "จากห้องทดลองสู่โลกจริง: เข้าใจคอร์รัปชันในสังคมไทย" มีการเสวนา“หลากมิติคอร์รัปชัน หลายประเด็นพฤติโกง : ประสบการณ์จากนักวิจัย”โดยคณะนักวิจัย SIAM Lab

นายปกรณ์สิทธิ ฐานา กล่าวถึงการศึกษาชุมชนในกรุงเทพมหานคร ที่พบการโกงงบประมาณช่วยเหลือของทางการและการเลือกปฏิบัติ ทั้งการแจกจ่ายของบรรเทาทุกข์ไม่ทั่วถึงหรือน้อยเกินจำนวนที่ได้รับจัดสรรและการจัดสรรที่อยู่อาศัย ทั้งการโกงเงินของกรรมการในกลุ่มออมทรัพย์ และสุดท้ายคือมีความไม่โปร่งใสจากการไม่ประชาสัมพันธ์โครงการรัฐอย่างทั่วถึง

พร้อมกันนี้เสนอการแก้ปัญหาคอร์รัปชันในพื้นที่ชุมชนของกรุงเทพมหานคร ด้วยการออกแบบโครงสร้างและการทำงานของกรรมการชุมชน ให้โปร่งใสและเปิดเผยและประชาสัมพันธ์ข้อมูลด้านงบประมาณเกี่ยวกับชุมชน โดยมีข้อสังเกตว่า ชุมชนในกรุงเทพมหานครที่มีพื้นที่ส่วนกลางหรือพื้นที่สาธารณะของชุมชนจะเอื้อต่อการรวมตัวและมีส่วนร่วมของสมาชิกชุมชน ถ้าในชุมชนมีธุรกิจผิดกฎหมายเยอะชาวบ้านจะไม่กล้าแสดงตัว

นายจิรพันธ์ รวมพรรณพงศ์ ผู้ศึกษาวิจัยในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณมากที่สุดในภาคอีสาน เป็นพื้นที่กึ่งเมืองกึ่งชนบท พบการคอร์รัปชันงบประมาณภาครัฐ การจัดซื้อจัดจ้างและพัฒนาท้องถิ่น ทั้งการขุดคลองและการสร้างสนามกีฬา โดยนักการเมืองท้องถิ่นกลายเป็นตัวประสานประโยชน์ระหว่างนายทุนในพื้นที่ที่มีหลายกลุ่ม กับข้าราชการในการคอร์รัปชัน โดยจังหวัดนครราชสีมาพบเรื่องร้องเรียนการคอร์รัปชันมากที่สุดในประเทศ จากข้อมูลของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือ ป.ป.ช.ด้วย

ส่วนนางสาวนิชาภัทร ไม้งาม กล่าวถึงการศึกษาวิจัยที่จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นพื้นชนบทพบว่า ชาวบ้านมองเรื่องการจัดการทรัพยากรและงบประมาณพัฒนาพื้นที่หรือการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่โปร่งใส ซึ่งเกี่ยวข้องกับนักการเมืองท้องถิ่นโดยเฉพาะกลุ่มตัวอย่างที่อยู่ใกล้ตัวเมือง จึงส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกตัวผู้นำท้องถิ่นและมีการเปลี่ยนตัวแทนท้องถิ่นบ่อย โดยเห็นว่าการเปิดเผยข้อมูลให้ชาวบ้านได้รับรู้ทั้งด้านงบประมาณ โครงการพัฒนาต่างๆรวมถึงการบริหารจดการให้ชาวบ้านได้รับรู้เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ซึ่งจะช่วยสร้างการมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ปัญหาคอร์รัปชันในพื้นที่ชนบทได้

โดยก่อนการเสวนาเสนอผลงานวิจัย“การโกงในสังคมไทย” โดยนายธานี ชัยวัฒน์ นักวิจัยคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและผู้อำนวยการ SIAM Lab ระบุว่า การวิจัยมุ่งมองภาพการโกงและการป้องกันในอนาคตเป็นหลัก โดยออกแบบความรู้สึกชอบธรรมหรืออับอายต่อพฤติกรรมการโกง และออกแบบกลไกการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา

สำหรับการทดลองใช้การเปรียบคอร์รัปชันว่าเปรียบเหมือนเชื้อโรคหรือว่าเหมือนปีศาจ ซึ่งจะสะท้อนการใช้คำหรือการเปรียบเทียบที่ส่งผลต่อมุมมองและข้อเสนอการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน พบว่า หากมองคอร์รัปชันเป็นเหมือนเชื้อโรค พบว่ากลุ่มตัวอย่างจะมองปัญหาเป็นเรื่องของสังคมโดยรวม ต้องแก้เชิงสังคม คนรู้สึกว่าต้องช่วยกันและร่วมกันหาสาเหตุปัญหาก่อน แต่หากมองการคอร์รัปชันเป็นเหมือนปีศาจ ก็จะแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่มีส่วนร่วมในในการแก้ปัญหา คือมุ่งปราบปรามหรือกำจัดการทุจริต แต่ไม่แก้ไขที่ต้นเหตุหรือไม่แก้เชิงโครงสร้าง

ขณะที่นายต่อภัสสร์ ยมนาค อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักวิจัย SIAM Lab เสนอผลการวิจัย“คอร์รัปชันในสังคมไทย” โดย ระบุถึงการใช้ภาษาของสื่อสารมวลชนในข่าวคอร์รัปชัน ส่งผลต่อการรับรู้ ความเข้าใจและปัญหาการคอร์รัปชันของคนในสังคมไทย พร้อมยกกรณีข้อมูลขององค์กรความโปร่งใสนานาชาติ และสถิติอื่นๆที่สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยสอบตกวิชาต้านโกงทุกปี เพื่อเทียบเคียงการอธิบาย ขณะที่ประเทศอินโดนีเซียขยับมาเทียบเท่าไทย ซึ่งหมายถึง มีการพัฒนา ขณะที่ประเทศไทยอยู่กับที่ในเรื่องการต่อต้านการทุจริต โดยองค์กรการตรวจสอบคอร์รัปชันในอินโดนีเซียมีจำนวนมากหลายร้อยองค์กร ซึ่งทำงานอย่างแข็งขันโดยเฉพาะภาคประชาชน และแม้ปีก่อนรัฐบาลจะตัดงบประมาณองค์กรตรวจสอบของรัฐ แต่ภาคประชาชนได้ระดมเงินทุนสนับสนุนให้องค์กรตรวจสอบคอร์รัปชันต่อไปได้อย่างเต็มที่

นายต่อภัสส์ กล่าวด้วยว่า การเสนอข่าวของสื่อมวลชนเป็นไปในลักษณะอุปลักษณ์ หรือเปรียบเทียบสองสิ่งหรือเหตุการณ์สองอย่างที่ไม่เกี่ยวข้องกันเลย เพื่ออธิบายหรือทำให้เห็นภาพบางอย่าง จึงทำให้คนเบื่อหน่าย หรือปลงกับเหตุการณ์ซ้ำซากที่เกิดขึ้น ทั้งการใช้คำแบบเฉพาะเจาะจง กระตุ้นความรู้สึกเป็นรายกรณีหรือดราม่าเท่านั้น ไม่เชื่อมโยงหรือชี้ถึงระบบที่จำเป็นต้องแก้ไข ขณะที่สื่อมวลชนในอินโดนีเซีย นำเสนอภาพข่าวอย่างตรงไปตรงมาและกระตุ้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบและต่อต้านคอร์รัปชัน

อย่างไรก็ตามโครงการที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านหรือตรวจสอบการทุจริตของไทยแม้จะมีอยู่หลายองค์กร แต่ขาดความร่วมมือ ไม่ประสานหรือเชื่อมโยงกัน โดยเห็นว่าการทำงานแยกส่วนนี้เกิดจากการมีเป้าหมายจำเพาะที่ชัดเจนตามงบประมานที่สนับสนุนของแต่ละองค์กร ซึ่งมีงานเยอะอยู่แล้วกับการขาดผู้ประสานงานเชิงเครือข่ายที่เป็นรูปธรรม เนื่องจากนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันมาจากส่วนกลางสั่งการหรือออกแบบไว้ ซึ่งไม่บูรณาการ




'วิษณุ'เผยป.ป.ท.แจงสอบโกงเงินคนจน สุ่มที่ไหนก็เจอเกือบทุกแห่ง
https://www.matichon.co.th/news/858216

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการพบปะกับ พ.ท.กรทิพย์ ดาโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า

ส่วนตัวยังไม่ขอพูดอะไรมาก เพราะยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการตรวจสอบ แต่เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้รับรายงานความคืบหน้าการลงพื้นที่ตรวจสอบกรณีทุจริตเงินสงเคราะห์ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จากการสุ่มลงพื้นที่ในบางจังหวัดก็พบว่ามีมูลการกระทำความผิดเกือบทุกแห่ง หลับหูหลับตาไปที่ไหนก็พบ และต่อไปก็คงลืมตากว้างๆแล้วไปในทุกจังหวัด อย่างไรก็ตามได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงเพื่อทำการตรวจสอบผู้กระทำผิด โดยหลังจากนี้เป็นหน้าที่ของ ป.ป.ท. ที่จะทำการตรวจสอบต่อไป ต้องสุ่มตรวจสอบในอีกหลายจังหวัดเพิ่มเติมอีกด้วย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่