ประสบการณ์ปีแรกจากดอยอินทนนท์

กระทู้สนทนา
อยากเอาประสบการณ์การปั่นขึ้นดอยอินทนนท์ครั้งแรกของผมมาบอกเล่าให้สมาชิก เผื่อใครที่ยังไม่เคยไปและสนใจจะไปปีหน้า (หรืองานหน้า) จะได้เตรียมตัวกันครับ หนึ่งปีจากนี้ สิ่งที่ผมจะเตรียมตัว

1. ลดน้ำหนัก!!! อันนี้คือสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่งครับ ช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา ก็ผ่านงานเลี้ยงเสียมากมาย จนน้ำหนักขึ้นไปสามกก.!!! แม่เจ้า มันก็คือภาระที่ขาของผมต้องกดเพื่อสู้กับแรงโน้มถ่วงของโลกเพิ่มขึ้น มีเพื่อนคนหนึ่งพูดกับผมว่า ลดน้ำหนักตัวเองยังง่ายกว่าลดน้ำหนักยาน เพราะลดน้ำหนักตัวเอง 5 กก.ยังทำได้ง่ายภายในเวลาไม่กี่เดือน แต่ลดน้ำหนักยานแค่ 1 กก.อาจจะต้องใช้เงิน 50K - 100K ดังนั้น เริ่มต้นลดน้ำหนักกันเถอะครับ และเมื่อถึงจุดที่คุณคิดว่าต่ำสุดแล้ว ก็พยายามประคองมันไว้ ให้รอดพ้นเทศกาลปีใหม่ ก่อนจะถึงวันงานปั่นให้ได้นะครับ หลายคนอาจจะสงสัยว่าเป้าหมายควรจะเท่าไร??? เอาว่าลดให้ต่ำสุดเท่าที่คุณจะทำได้ในชีวิตนี้ อย่างน้อยก็คำนวนค่า BMI แล้วอยู่ในช่วงปกติถึงอ้วนระดับ 1 เพื่อลดภาระในการต่อสู้กับแรงโน้มถ่วงครับ

2. เตรียมยาน เอาตรง ๆ เลยครับ ยานที่ดีก็มีชัยไปเกิน 20% (เขาว่ากันแบบนั้น) การโม่ยาน เป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง สำหรับขากลางถึงขาอ่อน หรือคนที่ขาดการซ้อมอย่างหนักหน่วงครับ จุดที่น่าโม่มี 4 จุดหลัก ๆ ครับ
       1.ชุดขับ พยายามโม่ให้จานหน้าเล็กสุดเท่าที่คุณจะหาใส่ได้ ส่วนเฟืองหลังก็ให้ใหญ่ที่สุด (น้อย ๆ ก็ 40 - 42 ฟันครับ) แต่ก็ควรพิจารณาเรื่องน้ำหนักด้วยนะครับ ผมไม่รู้ว่าเราสามารถเอาชุดขับเสือภูเขามายัดใส่หมอบได้หรือเปล่า ถ้าใส่ได้ก็น่าสนครับ อยากเอาจาน 24 กับเฟือง 11/42 มาใส่เหมือนกันครับ ผมอ่านกระทู้ในพันทิปมีแต่คนพูดว่าอัพเฟืองหรือไม่สุดท้ายก็ตายอยู่ดี ผมก็เลยไม่คิดจะอัพ แต่พอขึ้นไปจริง ๆ บอกกับตัวเอง ปีหน้าตรูต้องอัพแบบจัดเต็มมาแน่นอน อย่างน้อยก็ตายช้ากว่าปีนี้ และเข็นน้อยกว่าปีนี้แน่นอน
        2.ล้อ ล้อขอบอ้วนอย่าเอาขึ้นไปเลยครับ ต่อให้เป็นคาร์บอนก็เถอะ หาล้ออลูขอบเตี้ยน้ำหนักสักโลสี่โลห้าขึ้นไปดีกว่าครับ ขอบ 40 เอาไว้วิ่งทางเรียบดีกว่า ไม่ต้องห่วงว่าลื่นหรือไม่ลื่น เพราะความลื่นแทบจะไม่มีผลกับคุณแน่นอน ความเร็วขาขึ้นเขาได้แค่ 7 - 10 กม./ชม. ก็แทบน้ำตาเล็ดแล้วครับ ผมเล็ง ๆ จะไปถอยยี่ห้อ vxxxxx (ขออภัยที่ไม่บอกชื่อนะครับ) ขนาด 25 มม. น้ำหนัก.ล้อไม่รวมแกนปลด หน้าหลัง 1.56 กก. ราคาแค่ 6990 บาท ช่างน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง มีเพื่อนอีกคนแนะนำยี่ห้อ txxxx เขาบอกนน.แค่ 1.4 กก. ยังไม่ได้ไปดูข้อมูลเลยครับ
        3.บันไดคลีทควรใส่ครับ และให้หัดควงขาให้ถูกต้อง เพราะนอกจากแรงกระทืบแล้ว แรงงัดที่มากจะช่วยให้เราผ่านเนินไปได้ ไม่ใช่ใส่คลีทแล้วยังกระทืบเป็นอย่างเดียว เพราะมันจะไม่มีประโยชน์เลยครับ ความเห็นส่วนตัวนะ ใส่คลีทเสือภูเขา เดินสะดวกกว่าคลีทหมอบเยอะเลยครับ แต่ถ้าใครจะใช้คลีทหมอบ ก็ควรเตรียมรองเท้าแตะไปด้วยนะครับ ผมเห็นนักปั่นหลายคนต้องถอดรองเท้าเดิน ก็สงสารเหมือนกันครับ
         4. นน.ยาน อันนี้ก็สำคัญครับ ลดน้ำหนักตัวเองลงแล้ว นน.ยานก็อย่าให้มากเกินไป เอาแบบประหยัดงบที่สุด คือ ถอดเฟอร์นิเจอร์ที่ไม่จำเป็นออกให้หมด แหมกระทั่งไฟหน้าและไฟท้าย ผมก็ถอดออกหมดครับ รวมถึงอุปกรณ์ประจำรถ เลือกเอาที่นน.เบา ๆ ได้ก็ดีครับ เช่น ชุดซ่อมยาง ผมเอาชุดปะยางสำเร็จกับหลอด CO2 ขึ้นไปแทนยางสำรองและตัวสูบลม เพราะโอกาสที่ยางจะรั่วก็น้อยครับ แต่ก็ไม่ได้บอกว่าไม่มีโอกาสน่ะ ก็มีเจอเหมือนกัน แต่ถือว่าน้อยครับ หรือถ้ากลัวยางรั่วแต่ไม่อยากพกอุปกรณ์จริง ๆ ก็หายางที่ถึก ๆ ก็ดีครับ
          ยังไงก็เริ่มสะสมทรัพย์ตั้งแต่วันนี้ เพื่ออัพยานในวันหน้าได้เลยครับ อิอิอิอิอิ

3. การซ้อม อันนี้สำคัญที่สุดครับ ต้องซ้อมเป็นประจำและต่อเนื่อง โดยเฉพาะการซ้อมขึ้นเขา ผมซ้อมแต่ทางเรียบ แต่ไม่ค่อยได้มีโอกาสไปขึ้นเขาบ่อยสักเท่าไร แถมช่วงมกราคม มีเดินสายหลายงานเลยไม่ได้ซ้อมเลย (ทั้งเดือนปั่นไม่ถึง 500 โลเลยครับ) ก็เลยแย่เลย สำหรับมิตรรักแฟนเพลงแถวกทม.และภาคกลาง จุดทดสอบที่คิดว่าน่าจะใช่ที่สุดสำหรับผม คือ เขาใหญ่ แบบด่านปราจีน-เขาเขียว-ด่านปากช่อง-เขาเขียว-ด่านปราจีน ถ้าคุณทำได้แบบสบาย ๆ ไม่ลงเข็นแถมปิดจ๊อบภายใน 10 ชม. ดอยอินทนนท์ก็อยู่แค่เอื้อมแล้วครับ

4. สุดท้ายถ้าคิดว่าขาไม่แรง หรือ ซ้อมน้อย อย่าห้าวอย่าใจใหญ่เลยครับ ลงแค่ 31 โล แค่นี้ก็พอแล้วครับ เพราะ 17 โลที่เหลือมันคือหนังชีวิตที่คุณจะต้องทนฝืนผ่านมันไปให้ได้  ขอแค่ 31 โลแล้วสำเร็จด้วยแรงเรา ก็ยังน่าภูมิใจกว่าจบ 48 แบบมีตัวช่วยครับ แค่ได้ปั่นขึ้นมาถ่ายรูปหน้าป้ายที่ทำการ แค่นี้เพื่อนก็ยกนิ้วให้แล้วครับ
                
                      ขอให้ทุกคนเตรียมตัวกันให้ดีนะครับ ปีหน้าค่อยเจอกันใหม่
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่