ผงะ! ค่าปรึกษา IFEC 161 ล้าน 'พาณิชย์' เผยผลสอบ ธันวาคมเดือนเดียวจ่าย 92 ล้าน



ผงะ! ผลสอบ IFEC ของกระทรวงพาณิชย์ พบปี 2559 ค่าใช้จ่ายที่ปรึกษาพุ่ง 161 ล้านบาท ปูด ‘ธันวาคม’ เดือนเดียว ‘บิ๊กไอเฟค’ ควักเงินบริษัทจ่ายกว่า 92 ล้านบาท ขณะที่พบสำรองค่าเสียหายในบัญชีอีกกว่า 1.4 พันล้านบาท ผู้ถือหุ้นรายย่อย จี้ ก.ล.ต. สอบด่วน

ตามที่ผู้ถือหุ้นรายย่อยของ บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (IFEC) จำนวนไม่น้อยกว่า 5% ยื่นหนังสือถึงกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ขอให้ตั้งผู้ตรวจสอบกิจการ IFEC ตามมาตรา 128 ตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 ใน 2 รอบบัญชี นับตั้งแต่ 1 มกราคม 2559 - วันที่ 31 พฤษภาคม 2560

ผู้ถือหุ้นรายย่อยให้ตรวจสอบ 5 ประเด็น ได้แก่ 1.ตรวจสอบชื่อผู้ลงนามในตั๋วแลกเงินที่ออกให้แก่ บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2559 จำนวนเงินกว่า 100 ล้านบาท

ประเด็นที่ 2 ตรวจสอบชื่อผู้ลงนามในสัญญาจำนำหุ้น บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ แคป แมนเนจเม้นท์ จำกัด ที่จำนำไว้กับบริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2559

ประเด็นที่ 3 ตรวจสอบกรณีบริษัทมีการฟ้องร้องคดีต่อศาลกับบุคคลหรือนิติบุคคลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 ถึง 31 พฤษภาคม 2560 ว่ามีจำนวนกี่ราย และการฟ้องร้องคดีดังกล่าวได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการหรือไม่

ประเด็นที่ 4 ตรวจสอบค่าใช้จ่ายตามบัญชีแยกประเภท โดยให้ระบุ ค่าใช้จ่ายรวม ค่ารักษาความปลอดภัย ค่าประชาสัมพันธ์ ค่าที่ปรึกษา และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับสำรองความเสียหายต่าง ๆ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 ถึง 31 พฤษภาคม 2560  และประเด็นสุดท้าย ตรวจสอบรายการหนี้สินคงเหลือ ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2560



แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ผลการตรวจสอบกิจการของ IFEC ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ดำเนินการตรวจสอบนั้น ในประเด็นที่ 1-3 IFEC ไม่ได้จัดส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องใด ๆให้กับคณะผู้ตรวจสอบ โดยอ้างว่า บริษัทขอสงวนสิทธิในการส่งมอบข้อมูล เพื่อป้องกันสิทธิของบริษัทตามกฏหมาย

คณะกรรมการที่ตรวจสอบพบว่า ในรอบปีบัญชี 2559 IFEC นำส่งบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชี พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายที่ปรึกษา ให้แก่คณะผู้ตรวจสอบกิจการตรวจสอบ ณ ที่ทำการของ IFEC แต่ไม่ได้ส่งมอบสำเนาบัญชี

ผลตรวจสอบในประเด็นที่ 4 ผู้ตรวจสอบพบว่า ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ค่ารักษาความปลอดภัย ค่าประชาสัมพันธ์ ค่าที่ปรึกษา และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับสำรองความเสียหาย โดยเฉพาะที่ปรึกษาปี 2559 มียอดจ่ายถึง 161 ล้านบาท ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อตรวจสอบเป็นรายเดือนพบว่า เดือนธันวาคม 2559 เพียงเดือนเดียว IFEC ควักเงินจ่ายค่าที่ปรึกษากว่า 92 ล้านบาท ซึ่งเดือนก่อนหน้าจ่ายค่าที่ปรึกษาเพียงแค่ไม่เกิน 5.6 ล้านบาทเท่านั้น

นอกจากนี้ IFEC ยังมีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับสำรองความเสียหายในปี 2559 อีกจำนวน 1,472 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้สงสัยจะสูญ 384 ล้านบาท การด้อยค่าจากเงินลงทุน 938 ล้านบาท และการด้อยค่าจากเงินให้กู้ยืมอีกจำนวน 150 ล้านบาท


ส่วนรอบปี 2560 ในประเด็นนี้ ผู้ตรวจสอบกิจการรายงานว่า บริษัทไม่ได้จัดส่งบัญชีและเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชี พร้อมทั้งเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการ ให้กับคณะผู้ตรวจสอบกิจการ ซึ่งนายพิชากร เหมมันต์ ผู้รับมอบอำนาจของบริษัทชี้แจงว่า งบทดลอง บัญชีรายวัน บัญชีแยกประเภท และเอกสารประกอบการลงบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2560 บริษัทไม่สามารถแสดงและนำส่งข้อมูลให้แก่คณะผู้ตรวจสอบเพื่อทำการตรวจสอบได้

เนื่องจากปัจจุบันบริษัทไม่มีประธานกรรมการทำหน้าที่ต่าง ๆ ตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชน มาตรา 81 ทำให้ไม่สามารถเรียกและจัดการประชุมคณะกรรมการบริษัท ตลอดจนประชุมผู้ถือหุ้น รวมถึงการพิจารณาอนุมัติงบการเงินปี 2559 และแต่งตั้งผู้สอบบัญชีปี 2560 ได้

ดังนั้น จึงทำให้บัญชีรายวัน บัญชีแยกประเภท และเอกสารประกอบการลงบัญชีในส่วนของปี 2560 ยังไม่ได้รับการตรวจสอบความถูกต้องจากผู้ตรวจสอบบัญชี

ผู้ถือหุ้นรายย่อย IFEC รายหนึ่ง กล่าวว่า คำถามใหญ่ที่ตามมาจากผู้ถือหุ้นก็คือว่า การที่ผู้บริหาร IFEC ควักเงินจ่ายค่าที่ปรึกษาที่มียอดสูงขนาดนี้ แสดงให้เห็นว่าเป็นการใช้จ่ายส่อไปในทิศทางที่ไม่สุจริตหรือไม่ และเมื่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้ดำเนินการตรวจสอบกิจการ IFEC แล้วผลการตรวจสอบออกมาเป็นเช่นนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ต้องเรียกสอบข้อมูลหรือไม่
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่