สาเหตุส่วนนึงที่ทำให้การศึกษาไทยตกต่ำ จากสิ่งที่พบเจอ ลองมาแลกเปลี่ยนกันครับ

อาจจะยาวหน่อยใครเห็นอย่างไร ลองมาแลกเปลี่ยนกัน จากประสบการณ์ฐานะครู ผู้ปกครอง นักเรียน มองกันหลายๆ มุมครับ

ถ้าแลกเปลี่ยนกันด้วยดีน่าจะมีประโยชน์ ถ้าเห็นแย้งกันขออย่าทะเลาะกัน แขวะ หรือใช้คำพูดทำร้ายกันเลยครับ ขอแค่แสดงความเห็นของตัวเองก็น่าจะได้ประโยชน์อย่างมาก

สำหรับผมปัญหาการศึกษาไทยไม่เหมือนชาวบ้านเค้าครับ มันเป็นผลต่อเนื่อง มีผลกระทบต่อกันเป็นลูกโซ่

คือความตกต่ำทางการศึกษา ไม่ได้มาจากเรื่องการเรียนการสอนแบบเก่าที่ตามไม่ทันโลก หรือแบบใหม่ที่ล้ำโลก แต่ปัญหาบ้านเราคือ นโยบายของกระทรวงไม่เคยให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนไม่ว่าจะทางไหน

ผมลองสรุปดูแล้วมีดังนี้

1. ครูไทยไม่ได้มีหน้าที่สอนเป็นงานหลัก

งานหลักของข้าราชการครูไทยปัจจุบัน คือสนองนโยบายรายบุคคลของรัฐมนตรีแต่ละยุค ส่วนวิธีการสนองนโยบายคือ ประชุม อบรม กลับไปทำเอกสาร ถ่ายรูป ตกแต่งโรงเรียนรับการเข้าประเมิน แล้วส่งไปยังผู้บังคับบัญชาตามสายงาน งานส่วนนี้เบียดบังการสอนอย่างมาก เรียกได้ว่าแทบจะไม่มีสัปดาห์ไหนได้สอนอย่างเต็มที่เลย

หมายความว่าเมื่อมีรัฐมนตรีมาใหม่รอบนึง ก็จะมีโครงการใหม่ๆมาให้ทำโดยโครงการเก่าก็ยังไม่ยกเลิกทำให้เกิดการทับซ้อนกันมาเรื่อยๆ แล้วยังมีการประกวดแข่งขันทางวิชาการเพื่อเอาผลงานของโรงเรียนประกอบการย้ายของ ผอ โรงเรียนด้วย สารพัดเรื่องหยุมหยิม นอกเหนือการสอน

ดังนั้นการเรียนของนักเรียนเอาไว้ทีหลังเป็นเรื่องนอกเวลาว่างค่อยสอนไม่ว่างก็โยนรายงานไปให้นักเรียนทำ เป็นแบบนี้มาตลอด นักเรียนจึงไม่มีโอกาสได้เรียนอย่างจริงจังเลย แล้วเด็กส่วนใหญ่จะมีความรู้อะไร

การเรียนการสอนที่แท้จริงของเด็กไทยที่ทำให้มีเด็กเก่งเกิดขึ้นมาจาก "การเรียนกวดวิชา หรือเรียนพิเศษ" เป็นส่วนใหญ่ ครูของพวกเขาคือติวเตอร์ครับ

ถามว่าครูที่โรงเรียนความรู้ไม่พอสอนหรือ เปล่าเลยครับมีพอและต้องการถ่ายทอดแต่ไม่สามารถทำได้ ถ้าครูคนไหนดื้อแพ่งรักการสอนไม่ยอมทำงานอื่นนอกจากการสอน สิ่งที่จะได้รับคือการว่ากล่าวตักเตือน อาจจะไม่ได้พิจารณาความดีความชอบ บางคนโดนกดดันจนต้องย้าย บางคนก็ลาออก

นี่คือปัญหาแรก

2. เรื่องการวัดผลประเมินผล

การวัดผลตอนนี้กระทบกับผลงานของโรงเรียนครับ ดังนั้นจะประเมินตามจริงไม่ได้ จะประเมินให้ตกไม่ได้ ซ้ำชั้นไมได้ ต้องผ่านหมดทุกคน ไม่อย่างนั้นตัวเลขในเอกสารจะมีปัญหา ผู้บังคับบัญชาไม่พอใจ ผลคือ นักเรียนที่ความจริงไม่ควรจะผ่านเกณฑ์ ความรู้ไม่พอสำหรับจะเรียนในชั้นต่อก็ต้องผ่านครับ เด็กพวกนี้จะถูกปล่อยไปสร้างปัญหาต่อในชั้นถัดไป จนกระทั่งจบ ม.6 ซึ่งผลคือนักเรียนหลายคน ณ ตอนนี้ ที่เรียนจบ ความรู้พื้นฐานยังเทียบไมได้กับ ป.6  สมัยโบราณเลย หลายคนอ่านเขียนภาษาไทยให้ถูกต้องยังทำไม่ได้ เวลาเจอการสอบวัดผลจริงๆ อย่าง O-Net หรือ PISA เลยตกกันระนาว สะท้อนความเน่าหนอนของระบบการศึกษาไทย

แล้วผลพวงต่อมาจากการที่ให้นักเรียนตกไม่ได้ ทำโทษใดๆ ไม่ได้นั้น คือการปลูกฝังความไม่รับผิดชอบให้กับตัวนักเรียนเองด้วย เนื่องจากนักเรียนโดยมากไม่ได้มีหน้าที่อะไรในการช่วยงานพ่อแม่ที่บ้านอยู่แล้ว มาโรงเรียนก็ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ กับผลการเรียนอีก เด็กบางคนพื้นฐานครอบครัวแย่ได้รับการปลูกฝังมาแย่ ก็เริ่มไม่สนใจอยากเรียน ไม่มาเรียนบ้าง ก่อกวนบ้าง ตั้งกลุ่มตั้งแก๊งกันบ้าง การสอนของครูในห้องยิ่งลำบากเข้าไปอีก 1 ชั่วโมง อาจจะต้องอย่างน้อย 10-20 นาทีในการจัดระเบียบห้อง อีกส่วนทบทวน อีกส่วนสอนเพิ่ม ความรู้ที่อยากจะให้ยิ่งมีโอกาสน้อยลงไป

อยากสอนก็สอนไม่ได้ มีความรู้จะให้ก็ไม่พร้อมรับ คนที่พร้อมรับก็ไม่สามารถเน้นกลุ่มนั้นกลุ่มเดียวได้อีก  

3. การปลูกฝัง อบรม นิสัย ไม่สามารถทำได้อีกต่อไป

นอกจากการสอนในห้องเรียนที่ทำได้ไม่เต็มที่แล้ว ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันหรืออาจจะสำคัญกว่าด้วยซ้ำก็คือ การอบรม ขัดเกลานิสัยในนักเรียน เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่หลายคนมองข้าม แต่มันคือเรื่องหลักในความเหลื่อมล้ำของโรงเรียนชนบท โรงเรียนเล็ก โรงเรียนกระจอกนอกสายตา กับโรงเรียนใหญ่ ที่ต้องจ่ายแป๊ะเจี๊ยะเพื่อแย่งกันเข้าเลยครับ การแย่งเข้าโรงเรียนใหญ่ หลักๆ เลยไม่ใช่แค่งบครับ อันดับ 1 สำหรับผมคือเรื่องการอบรม บ่มนิสัย ค่านิยมของนักเรียน

เรื่องนี้คาบเกี่ยวกับปัญหาที่สอง คือ ปัจจุบันครูแทบจะไม่สามารถอบรมนักเรียนได้แล้วครับ ต้องเข้าใจก่อนว่า สภาพของสังคมเรานั้น พ่อแม่ส่วนใหญ่คิดแต่จะให้โรงเรียนเป็นผู้ทำการอบรม นิสัยของนักเรียน ปลูกฝังค่านิยมต่างๆ โยนภาระนี้ให้ครูแบบเต็มๆ แต่กระทรวงได้ออกนโยบายหลายอย่างทำให้การอบรมวินัย มารยาท นิสัยเด็กนักเรียนเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

โรงเรียนไม่สามารถลงโทษอะไรเด็กได้ ตีนี่ห้ามแน่นอน ดุว่า ก็ทำไม่ได้ ไล่ออกก็ไม่ได้ ตัดคะแนนก็เท่านั้น เพราะให้ตกให้ซ้ำชั้นไมได้ ต่อให้ติดลบล้านคะแนนก็ไม่มีผล สรุปคือครูทำอะไรไม่ได้เลย นักเรียนก็รู้ว่าจะทำอะไรก็ได้ ไม่เรียนก็จบ ดังนั้นอย่าหวังจะใช้จิตวิทยาครับ ผู้ปกครองไม่ร่วมมือ นักเรียนไม่สนใจฟัง จิตวิทยาอะไรต่างๆ แค่เรื่องไร้สาระทันที ไม่มีประโยชน์ แถมเสียเวลาด้วย เพราะปัญหาเมื่อเราลงโทษนักเรียนไมได้ คนอื่นก็เอาตาม เด็กมีปัญหาจึงมีเต็มโรงเรียนไปหมด

ผลก็คือ เด็กจะดีหรือแย่ขึ้นอยู่กับครอบครัวสอนมาดีแค่ไหน ครูไม่มีผลอะไรกับเด็กเท่าที่ควร ผู้ปกครองจึงต้องหาโรงเรียนดีดี ที่นักเรียนส่วนใหญ่มาจากครอบครัวคนชั้นกลาง หรือคนชั้นสูง เพื่อให้เจอสิ่งแวดล้อมที่ดี พากันไปสู่อนาคตที่ดี ไม่ยอมให้ลูกเรียนโรงเรียนกระจอก เพราะโรงเรียนแบบนั้น จะเจอเด็กที่ส่วนใหญ่มาจากครอบครัว แว็น สก๊อย คนใช้แรงงาน ที่วันๆ เอาแต่เมา บ่มเพาะแต่นิสัยเลวๆ กับลูกของตัวเอง  

นี่คือผลที่ทำให้เกิดการแย่งกันเข้าโรงเรียนดังครับเพราะรู้ว่าโรงเรียนไม่ได้อบรมลูกแต่สิ่งแวดล้อมเพื่อนของลูกต่างหากที่มีผลต่ออนาคต




ทั้ง 3 ปัญหานี้แหละครับ ที่ก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกเรื่อยๆ การศึกษาของไทยไม่ไปไหนเพราะเรื่องหลักๆ สามประการที่ว่ามา แต่ลองดูเถอะครับ มีผู้บริหาร มีรัฐมนตรีคนไหนรู้ปัญหาบ้าง และรัฐมนตรีแต่ละคนที่ได้มา ไม่เคยตรงสายงาน หมอบ้าง ทหารบ้าง นักการเมืองมาเกาะกินบ้าง มาคนนึงก็พล่ามไปเรื่อยเปื่อยหาสาระอะไรไม่ได้ จนคิดไปว่าเอาวัวมาเป็นรัฐมนตรีดีกว่า ไม่ทำประโยชน์ก็จริง แต่ไม่สร้างปัญหาเพิ่มภาระให้กับวงการศึกษาแบบปัจจุบัน

มันอาจจะยาวไป ไม่รู้ว่าจะมีผู้ที่เกี่ยวข้องจะได้เข้ามาอ่านไหมแต่ปัญหานี้คือสิ่งที่ผู้สอนพบเจอมาจริงๆ และมันเป็นอุปสรรคอย่างมากในการสอน ถ้ามีความคิดเห็นแลกเปลี่ยนก็พูดคุยกันนะครับ แต่ขออย่าทะเลาะกัน ดราม่ากันจะดีกว่า
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 4
เห็นด้วยเต็มที่ ในประเด็นข้อ 2 ส่วนประเด็นข้อ 3 กับข้อ 1 เห็นด้วยบางส่วน

แม่ตัวเองเคยเป็นครู แม่ยายก็เป็นครู (เกษียณแล้วทั้งคู่) เมียเป็นอาจารย์มหาลัยเอกชน
2 คนหลังบ่นเรื่อง "ห้ามให้เด็กตก" มาไม่ต่ำกว่า 10 ปี..

การเอา "การประเมินครูและโรงเรียน" ไปผูกไว้กับ "ผลการเรียนของนักเรียน" มันอุดมคติเกินไปหรือเปล่า...
คือ ถ้าเป็นโลกอุดมคติ สอนไปเท่าๆ กัน เด็กทุกคนจะพัฒนาได้เท่าๆ กัน
แต่ในโลกความจริง เด็กแต่ละคนมีความสามารถ ความถนัด ความใส่ใจ ปัญหาส่วนตัว ปัญหาครอบครัว แตกต่างกันไป
ทำให้ แม้ว่าจะสอนไปเท่าๆ กัน ผลการเรียนก็ไม่มีทางจะออกมาเท่ากันได้
ยิ่งถ้าไปมุ่งเน้นแต่การป้องกันไม่ให้เด็กตก เด็กที่เก่งไปเลยจะมีใครไปสนใจส่งเสริมเขาไหม

แล้วเด็ก ถ้ารู้ว่า ไม่ต้องพยายามอะไรก็ผ่าน แล้วมันจะพยายามไปทำไม
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 1
ถกเรื่องพวกนี้กันมา 30 ปีแล้ว
ยอมรับเถอะว่ามีขบวนการ
ตั้งใจทำให้คนไทยโง่ลงๆ
ความคิดเห็นที่ 7
หลักสูตรการเรียนการสอนระดับพื้นฐานที่ห่วย ผิดธรรมชาติ และเน้นยัดเยียดโดยไม่สนใจความพร้อมของผู้เรียน สงสัยมานานแล้วว่าคนเขียนหลักสูตรประถมศึกษาปัจจุบันมีลูก มีหลายที่เรียนอยู่ในโรงเรียนที่ต้องใช้หลักสูตรที่ออกแบบมานี้หรือเปล่า

ทุกวันนี้ต้องไป download หนังสือมานี มานะมาสินลูกอ่านหนังสือเพราะเป็นลำดับขั้น และธรรมชาติมากกว่าหนังสือเรียนภาษาไทย ป. 1 ที่มีรวม 3-4 เล่มแต่คุณครูไม่ใช้เพราะไม่สามารถยัดเยียดข้อมูลเหล่านั้นลงสมองเด็กได้หมด และเลือกที่จะพิมพ์ชีทที่สรุปและรวบรวมความจากหนังสือตามหลักสูตรมาใช้ประกอบการเรียนการสอน

วิชาสังคม ศาสนา และประวัติศาสตร์ เนื้อหาวิชาไม่สอดคล้องกับวิชาภาษาไทยและความสามารถในการอ่านเขียนของผู้เรียน

วิชาประวัติศาสตร์ และวิชาพระพุทธศาสนา บรรจุในหลักสูตรมาทำไม ในเมื่อมีวิชาสังคม ศาสนา และประวัติศาสตร์อยู่แล้ว และเช่นกันเนื้อหาไม่สอดคล้องกับวิชาภาษาไทยและความสามารถในการอ่านและเขียนของผู้เรียน

วิชาหน้าที่พลเมือง ??????!!!!!!!!!!???????? อันนี้หมด
ความคิดเห็นที่ 9
ครูสมัยนี้มีแต่ห่วยๆ
ผลิตแต่ลูกศิษย์ห่วยๆ
ไม่แปลกหรอกที่เด็กไทยสมัยนี้แห่ไปเรียนกวดวิชากับติวเตอร์ที่ไม่ได้เรียนจบครู
ครูดีๆที่สอนเก่งๆและผลิตลูกศิษย์ที่มีคุณภาพพากันลาออกบ้าง เกษียณอายุราชการบ้าง และบางท่านก็เสียชีวิตไปนานแล้ว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่