เราคือโลก โลกคือเรา
หนังสือดีที่น่าอ่าน
เครดิต
https://www.naiin.com/product/detail/103371
เครดิต
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=maekai&month=23-07-2013&group=2&gblog=92
คำนิยม โดย พระไพศาล วิสาโล
วิกฤตการณ์ทางสิ่งแวดล้อมที่กำลังคุกคามความอยู่รอดของมนุษยชาติอยู่ในขณะนี้
กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้วเป็นวิกฤตการณ์ทางจิตวิญญาณ เป็นเพราะใจเรารู้สึกพร่องและว่างเปล่า
เราจึงพยายามตักตวงจากธรรมชาติด้วยความมุ่งหวังที่จะทำให้ชีวิตเติมเต็ม
เป็นเพราะเราเห็นธรรมชาติเป็นเพียงวัตถุที่จะมีคุณค่าได้
ต่อเมื่อแปรเป็นสินค้าเพื่อปรนเปรอความต้องการอันไม่รู้จักพอของเรา
เราจึงผลาญพร่าธรรมชาติทั้งโลกอย่างมโหฬาร เป็นเพราะเราแยกตัวเองออกจากธรรมชาติ เราจึงคิดแต่จะเอาชนะและควบคุมธรรมชาติให้อยู่ในอำนาจ
โดยหารู้ไม่ว่าการทำเช่นนั้นส่งผลย้อนกลับมาทำลายตัวเราเอง
วิกฤตการณ์ทางสิ่งแวดล้อมจึงมิอาจแก้ได้ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีประหยัดพลังงาน หรือการออกกฎหมายควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือการคิดค้นมาตรการเพื่อสร้างแรงจูงใจในการใช้เทคโนโลยีสีเขียว ทั้งหมดนี้ทำได้อย่างมากแค่ชะลอความหายนะให้เกิดช้าลง สิ่งเดียวที่จะแก้ปัญหานี้อย่างถึงรากเหง้าก็คือการเปลี่ยนทัศนคติของมนุษย์ต่อธรรมชาติในระดับพื้นฐาน นั้นคือการหันมาตระหนักว่ามนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เราแต่ละคนดำรงชีวิตอยู่ได้ก็เพราะความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลของธรรมชาติ
ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องเคารพและกตัญญูต่อธรรมชาติ เสมือนเป็นเพื่อน เป็นญาติ หรือเป็นแม่ของเรา
...........................................
สายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาตินั้นลึกซึ้งกว่าที่เราคิดมาก น้อยคนที่สามารถอธิบายให้เห็นถึงสัจธรรมดังกล่าวได้อย่างลุ่มลึกและงดงามเท่าท่านติช นัท ฮันห์ ผู้เป็นทั้งกวีและวิปัสสนาจารย์ ดังท่านเปรียบมนุษย์กับธรรมชาติว่าแนบแน่นเสมือนคลื่นกับน้ำ คลื่นแต่ละลูกมีความแตกต่างกันแต่ก็ประกอบไปด้วยน้ำเหมือนกัน และเมื่อคลื่นสลายก็มิได้หายไปไหนหากกลับไปเป็นน้ำดังเดิม ก่อนที่จะก่อตัวเป็นคลื่นใหม่ ท่านยังชี้ให้เห็นว่ามนุษย์นั้นมิได้มีตัวตนที่แยกขาดหรือต่างหากจากธรรมชาติทั้งหลาย
เพราะมนุษย์ทุกคนย่อมประกอบด้วยสิ่งที่มิใช่มนุษย์ อาทิ ธาตุหรือสสารต่าง ๆ
ที่ล้วนมาจากธรรมชาติทั้งสิ้น แสงแดด ก้อนเมฆ แม่น้ำ ดวงอาทิตย์ ฯลฯ ต่างมีส่วนประกอบขึ้นเป็นตัวเรา
ท่านติช นัท ฮันห์ แนะให้เรามองสิ่งต่าง ๆ อย่างลุ่มลึก จนกระทั่งเราสามารถเห็นโลกและจักรวาลในดอกไม้เพียงดอกเดียว หรือสามารถเห็นเมฆในชาที่เราดื่ม เพราะสัจธรรมมิใช่อะไรอื่นหากคือสายสัมพันธ์ของสรรพสิ่งในจักรวาลที่ไม่อาจแยกจากกันได้
โลกคือเรา เราคือโลก เป็นงานเขียนอีกเล่มหนึ่งของท่านที่นำเสนอทัศนะการมองโลกอย่างใหม่ชนิดที่ไปพ้นจากทวินิยม หรือการแยกสิ่งต่าง ๆ ออกเป็นขั้วเป็นคู่ เพราะความจริงนั้นอยู่เหนือการแบ่งขั้ว ดังท่านชี้ว่าดอกไม้กับขยะไม่ได้แยกจากกัน ต่างเป็นดั่งกันและกัน กล่าวคือดอกไม้ย่อมกลายเป็นขยะ แต่ขยะก็ก่อเกิดดอกไม้ด้วยเช่นกัน นี้คือการมองโลกแบบอิทัปปัจจยตา การมีปัญญามองเห็นความจริงดังกล่าวย่อมทำให้เราเห็นแม้กระทั่งว่าเกิดและตายไม่ได้แยกจากกัน ถึงที่สุดแล้วก็ไม่มีทั้งเกิดและตายด้วย เช่นเดียวกับคลื่นที่ไม่ได้ดับไป เป็นแต่คืนกลับไปเป็นน้ำ
การมองธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง จึงไม่เพียงช่วยให้เราเห็นคุณูปการของธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังส่งผลสะท้อนกลับมาให้เราเห็นตัวเองอย่างลุ่มลึกด้วย ธรรมชาติจึงมิได้มีคุณค่าในทางหล่อเลี้ยงร่างกายของเราเท่านั้น หากยังบ่มเพาะจิตวิญญาณของเราให้เจริญงอกงาม ด้วยการจุดประกายแห่งปัญญาให้เกิดขึ้นแก่เรา ทำให้เรายิ่งซาบซึ้งในคุณค่าของธรรมชาติมากขึ้น
อย่างไรก็ตามพึงระลึกว่าการมองเห็นธรรมชาติอย่างลึกซึ้งนั้น มิอาจเกิดขึ้นได้ด้วยการคิด แต่ต้องเกิดจากการประจักษ์แจ้งด้วยวิถีแห่งการภาวนาและการมีสติตื่นรู้ในการดำเนินชีวิต
หนังสือเล่มนี้ไม่เพียงมอบดวงตาแห่งปัญญาเพื่อมองโลกและตัวเราในมุมใหม่ (ซึ่งที่จริงเป็นภูมิปัญญาแต่โบราณ) หากยังนำเสนอแบบแผนการดำเนินชีวิตที่อ่อนโยนต่อธรรมชาติ โดยมีชุมชนของท่านนัทฮันห์ เป็นแบบอย่าง อีกทั้งยังมอบบทภาวนาเพื่อการใช้ชีวิตอย่างมีสติและเคารพธรรมชาติ
การแก้วิกฤตสิ่งแวดล้อมนั้น จะต้องเริ่มต้นที่ตัวเราก่อน ทั้งโดยการเปลี่ยนจิตสำนึกและวิถีชีวิต แต่เท่านั้นยังไม่พอ เราต้องช่วยกันขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ของมนุษย์ทั้งโลก เพราะถึงที่สุดแล้ววิกฤตสิ่งแวดล้อมคือวิกฤตทางจิตวิญญาณ
สัตว์ป่าในวนอุทยานของไทย เขาไม่ปลอดภัยในวันนี้
"เราคือโลก โลกคือเรา" : ติช นัท ฮันห์ (หนังสือดีที่น่าอ่าน) / น้ำมิตร
หนังสือดีที่น่าอ่าน
เครดิต https://www.naiin.com/product/detail/103371
เครดิต https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=maekai&month=23-07-2013&group=2&gblog=92
คำนิยม โดย พระไพศาล วิสาโล
วิกฤตการณ์ทางสิ่งแวดล้อมที่กำลังคุกคามความอยู่รอดของมนุษยชาติอยู่ในขณะนี้
กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้วเป็นวิกฤตการณ์ทางจิตวิญญาณ เป็นเพราะใจเรารู้สึกพร่องและว่างเปล่า
เราจึงพยายามตักตวงจากธรรมชาติด้วยความมุ่งหวังที่จะทำให้ชีวิตเติมเต็ม
เป็นเพราะเราเห็นธรรมชาติเป็นเพียงวัตถุที่จะมีคุณค่าได้
ต่อเมื่อแปรเป็นสินค้าเพื่อปรนเปรอความต้องการอันไม่รู้จักพอของเรา
เราจึงผลาญพร่าธรรมชาติทั้งโลกอย่างมโหฬาร เป็นเพราะเราแยกตัวเองออกจากธรรมชาติ เราจึงคิดแต่จะเอาชนะและควบคุมธรรมชาติให้อยู่ในอำนาจ
โดยหารู้ไม่ว่าการทำเช่นนั้นส่งผลย้อนกลับมาทำลายตัวเราเอง
วิกฤตการณ์ทางสิ่งแวดล้อมจึงมิอาจแก้ได้ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีประหยัดพลังงาน หรือการออกกฎหมายควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือการคิดค้นมาตรการเพื่อสร้างแรงจูงใจในการใช้เทคโนโลยีสีเขียว ทั้งหมดนี้ทำได้อย่างมากแค่ชะลอความหายนะให้เกิดช้าลง สิ่งเดียวที่จะแก้ปัญหานี้อย่างถึงรากเหง้าก็คือการเปลี่ยนทัศนคติของมนุษย์ต่อธรรมชาติในระดับพื้นฐาน นั้นคือการหันมาตระหนักว่ามนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เราแต่ละคนดำรงชีวิตอยู่ได้ก็เพราะความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลของธรรมชาติ
ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องเคารพและกตัญญูต่อธรรมชาติ เสมือนเป็นเพื่อน เป็นญาติ หรือเป็นแม่ของเรา
...........................................
สายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาตินั้นลึกซึ้งกว่าที่เราคิดมาก น้อยคนที่สามารถอธิบายให้เห็นถึงสัจธรรมดังกล่าวได้อย่างลุ่มลึกและงดงามเท่าท่านติช นัท ฮันห์ ผู้เป็นทั้งกวีและวิปัสสนาจารย์ ดังท่านเปรียบมนุษย์กับธรรมชาติว่าแนบแน่นเสมือนคลื่นกับน้ำ คลื่นแต่ละลูกมีความแตกต่างกันแต่ก็ประกอบไปด้วยน้ำเหมือนกัน และเมื่อคลื่นสลายก็มิได้หายไปไหนหากกลับไปเป็นน้ำดังเดิม ก่อนที่จะก่อตัวเป็นคลื่นใหม่ ท่านยังชี้ให้เห็นว่ามนุษย์นั้นมิได้มีตัวตนที่แยกขาดหรือต่างหากจากธรรมชาติทั้งหลาย
เพราะมนุษย์ทุกคนย่อมประกอบด้วยสิ่งที่มิใช่มนุษย์ อาทิ ธาตุหรือสสารต่าง ๆ
ที่ล้วนมาจากธรรมชาติทั้งสิ้น แสงแดด ก้อนเมฆ แม่น้ำ ดวงอาทิตย์ ฯลฯ ต่างมีส่วนประกอบขึ้นเป็นตัวเรา
ท่านติช นัท ฮันห์ แนะให้เรามองสิ่งต่าง ๆ อย่างลุ่มลึก จนกระทั่งเราสามารถเห็นโลกและจักรวาลในดอกไม้เพียงดอกเดียว หรือสามารถเห็นเมฆในชาที่เราดื่ม เพราะสัจธรรมมิใช่อะไรอื่นหากคือสายสัมพันธ์ของสรรพสิ่งในจักรวาลที่ไม่อาจแยกจากกันได้
โลกคือเรา เราคือโลก เป็นงานเขียนอีกเล่มหนึ่งของท่านที่นำเสนอทัศนะการมองโลกอย่างใหม่ชนิดที่ไปพ้นจากทวินิยม หรือการแยกสิ่งต่าง ๆ ออกเป็นขั้วเป็นคู่ เพราะความจริงนั้นอยู่เหนือการแบ่งขั้ว ดังท่านชี้ว่าดอกไม้กับขยะไม่ได้แยกจากกัน ต่างเป็นดั่งกันและกัน กล่าวคือดอกไม้ย่อมกลายเป็นขยะ แต่ขยะก็ก่อเกิดดอกไม้ด้วยเช่นกัน นี้คือการมองโลกแบบอิทัปปัจจยตา การมีปัญญามองเห็นความจริงดังกล่าวย่อมทำให้เราเห็นแม้กระทั่งว่าเกิดและตายไม่ได้แยกจากกัน ถึงที่สุดแล้วก็ไม่มีทั้งเกิดและตายด้วย เช่นเดียวกับคลื่นที่ไม่ได้ดับไป เป็นแต่คืนกลับไปเป็นน้ำ
การมองธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง จึงไม่เพียงช่วยให้เราเห็นคุณูปการของธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังส่งผลสะท้อนกลับมาให้เราเห็นตัวเองอย่างลุ่มลึกด้วย ธรรมชาติจึงมิได้มีคุณค่าในทางหล่อเลี้ยงร่างกายของเราเท่านั้น หากยังบ่มเพาะจิตวิญญาณของเราให้เจริญงอกงาม ด้วยการจุดประกายแห่งปัญญาให้เกิดขึ้นแก่เรา ทำให้เรายิ่งซาบซึ้งในคุณค่าของธรรมชาติมากขึ้น
อย่างไรก็ตามพึงระลึกว่าการมองเห็นธรรมชาติอย่างลึกซึ้งนั้น มิอาจเกิดขึ้นได้ด้วยการคิด แต่ต้องเกิดจากการประจักษ์แจ้งด้วยวิถีแห่งการภาวนาและการมีสติตื่นรู้ในการดำเนินชีวิต
หนังสือเล่มนี้ไม่เพียงมอบดวงตาแห่งปัญญาเพื่อมองโลกและตัวเราในมุมใหม่ (ซึ่งที่จริงเป็นภูมิปัญญาแต่โบราณ) หากยังนำเสนอแบบแผนการดำเนินชีวิตที่อ่อนโยนต่อธรรมชาติ โดยมีชุมชนของท่านนัทฮันห์ เป็นแบบอย่าง อีกทั้งยังมอบบทภาวนาเพื่อการใช้ชีวิตอย่างมีสติและเคารพธรรมชาติ
การแก้วิกฤตสิ่งแวดล้อมนั้น จะต้องเริ่มต้นที่ตัวเราก่อน ทั้งโดยการเปลี่ยนจิตสำนึกและวิถีชีวิต แต่เท่านั้นยังไม่พอ เราต้องช่วยกันขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ของมนุษย์ทั้งโลก เพราะถึงที่สุดแล้ววิกฤตสิ่งแวดล้อมคือวิกฤตทางจิตวิญญาณ
สัตว์ป่าในวนอุทยานของไทย เขาไม่ปลอดภัยในวันนี้