ลูกปูนสำคัญไฉน?

กระทู้นี้มีที่จากกระทู้ของท่านสมาชิก 3829767 ซึ่งได้ตั้งกระทู้ถามว่า ลูกปูนหนุนเหล็กมีวิวัฒนาการมาอย่างไร? ซึ่งเมื่อได้อ่านคำถามก็เลยตัดสินใจว่า ตั้งเป็นกระทูใหม่ดีกว่าเผื่อว่าจะเป็นประโยชน์บ้างเล็กๆ น้อยๆ สำหรับสมาชิกท่านอื่นๆ ที่อาจจะกำลังสร้างบ้าน หรือมีแผนที่จะสร้างบ้านจะได้ทราบถึงความสำคัญของลูกปูนหนุนเหล็ก เพื่อที่จะไม่ได้เป็นเหยื่อความมักง่ายของผู้รับเหมาบางคนที่ไม่มีจรรยาบรรณ ความซื่อสัตย์ของวิชาชีพ ซึ่งสุดท้ายแล้วความเสียหายที่เกิดข้นก็จะตกอยู่กับเจ้าของบ้านที่อุตส่าห์อดทนเก็บหอมรอมริบ กู้หนี้ยืมสิน เพื่อที่จะได้มีบ้านสักหลัง แต่กลับได้รับการก่อสร้างที่ไม่ถูกต้องเป็นไปตามมาตรฐานวิชาช่างที่ดี

          "ลูกปูน" หลายๆ ท่านคงเคยได้ยินคำๆ นี้ผ่านมาบ้าง แต่ความจริงแล้วลูกปูนนั้น เป็นส่วนหนึ่ง (Sub set) ของ "ลูกหนุน (Spacer)" ซึ่งต่อจากนี้ไปผมขออนุญาตใช้คำว่า Spacer นะครับ เพราะภาษาไทยแปลมาแล้วฟังดูแปลกๆ
          Spacer นั้น มีหน้าที่จัดตำแหน่งเหล็กเสริมให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง ในแบบก่อสร้างนั้นวิศวกรจะระบุมาว่าให้เหล็กห่างจากผิวคอนกรีตเท่าใด เช่น ถ้าวิศวกรระบุว่าให้มีระยะที่คอนกรีตหุ้มเหล็ก (Concrete Covering) เท่ากับ 30mm ก็แสดงว่าผิวเหล็กนั้นจะห่างจากผิวคอนกรีต 30mm เอ๊ะ!! แล้วถ้าระยะที่ก่อสร้างจริงไม่ได้ตามที่วิศวกรกำหนดล่ะจะเกิดอะไรขึ้น
             1. ถ้าระยะ Concrete Covering มากกว่าที่กำหนด จะทำให้โครงสร้างรับแรงได้น้อยลง (โครงสร้างแข็งแรงร้อยกว่าที่ออกแบบไว้)
             2. ถ้าระยะ Concrete Covering น้อยกว่าที่กำหนด จะทำให้โครงสร้างนั้นไม่คงทน อายุการใช้งานน้อย เพราะว่าเหล็กที่อยู่ในคอนกรีตเสี่ยงต่อการเกิดสนิม ส่วนมากที่จะเจอมาคือ ฐานราก และตอม่อ ที่ระยะ Covering มักจะไม่ถูกต้อง
          เห็นถึงความสำคัญของ Covering แล้วใช่ไหมล่ะ ดังนั้นเมื่อ Covering สำคัญ จึงมีการใช้ Spacer ในการจัดตำแหน่งเหล็กให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องตามที่แบบก่อสร้างได้กำหนดมา
          
          แล้ว Spacer มีแบบไหนบ้างล่ะ?  Spacer แบ่งเป็นหลักๆ ดังนี้
            1. Spacer ที่ทำจากปูน  ซึ่งเป็น Spacer ที่นิยมใช้ และเหมาะสมในการใช้งานมากที่สุด แต่สิ่งที่ต้องระวัง คือ มาตรฐานกำหนดว่า Spacer ที่ทำจากปูนนั้น ต้องมีความแข็งแรงมากกว่าคอนกรีตที่ใช้ เช่น ในแบบกำหนดให้ใช้คอนกรีต 240ksc Spacer นั้นต้องมีกำลังมากกว่า 240 ksc  ที่เจอมาผู้รับเหมาก็ง่ายๆ ครับ ใช้ปูนก่อ + ทราย เอามาทำลูกปูน ซึ่งผิดนะครับ ไม่ถูกต้อง
            2. Spacer ที่ทำจากโลหะ โลหะที่เหมาะสมที่สุด คือ เหล็กแบบเดียวกับที่ใช้เสริมคอนกรีตนี่แหละครับ  ระวังการใช้โลหะต่างชนิดกัน เพราะอาจจะส่งผลให้เหล็กเป็นสนิมได้ เนื่องจากปฏิกิริยาเคมี โดยเฉพาะ อลูมิเนียม และสแตนเลส สตีล
               Spacer โลหะนั้นเหมาะสำหรับใช้จัดตำแหน่งเหล็กเสริมช่วงในของคอนกรีต เช่น ใช้กำหนดตำแหน่งของเหล็กเสริมบน เป็นต้น ชื่อทางช่างที่คุ้นเคยกันดี เช่น Bar chair, เหล็กตีนกา เป็นต้น
               ให้ระวังการติดตั้ง Spacer ติดกับแบบหล่อคอนกรีต เพราะจะทำให้ Spacer เป็นสนิมและลามไปยังเหล็กเสริมคอนกรีตได้
          3. Spacer ที่ทำจากพลาสติก ต้องคำนึงถึงเรื่องการขยายตัวที่แตกต่างกับคอนกรีตมาก ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการแตกร้าวได้ ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ควรใช้ Spacer คอนกรีตจะเหมาะสมกว่า

          และนี่คือเรื่องราวของ Spacer ที่มักไม่ค่อยมีใครให้ความสนใจ ทั้งๆ ที่แสนจะมีความสำคัญ

หมายเหตุ สำหรับโครงสร้างปกติทั่วๆ ไป ไม่ใกล้ทะเล ไม่โดนน้ำกร่อย ท่านเจ้าของบ้าน สามารถยึดถือระยะ Concrete Covering ง่ายๆ ดังนี้
    1. ฐานรากและตอม่อ  50mm โดยที่ต้องติดตั้งแบบหล่อคอนกรีต อย่าเทโดยใช้ดินเป็นแบบหล่อคอนกรีตนะจ๊ะ
    2. คาน-เสา โดนความชื้น เช่น ดาดฟ้า 40mm  
    3. คาน-เสา ที่ไม่ชื้น  30mm
    3. พื้น ที่ไม่ชื้น 20mm
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่