[CR] รีวิวสร้างบ้าน Modern + ร้านเครื่องเขียน + รั้ว ด้วยงบไม่เกิน 1.5 ล้าน (ภาค3 ตอนจบ)

หลังจากที่ผมได้เขียนรีวิวการสร้างบ้าน Modern + ร้านเครื่องเขียน + รั้ว ด้วยงบไม่เกิน 1.5 ล้าน (ภาค1) ตามกระทู้นี้...
https://ppantip.com/topic/36506250 และผมได้มาเขียนเพิ่มเติม ภาค 2 ตามกระทู้นี้ https://ppantip.com/topic/36756003

ก็ทำให้หลายท่านคอยติดตามว่า บ้านโมเดิร์นที่ผมสร้าง + ร้านเครื่องเขียน + รั้ว ด้วบงบเพียง 1.5 ล้าน (ไม่รวมที่ดิน) จะเป็นจริงและมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไรบ้าง

ก่อนอื่นผมต้องขอสรุปย้อนหลัง สำหรับท่านที่เพิ่งมาอ่านกระทู้นี้ ซึ่งเป็นภาคจบ...แนะนำให้ท่านย้อนไปอ่านภาค 1 และ ภาค2 ตามลิ้งข้างต้นนะครับ ท่านจะได้ไม่สับสน
1. ภาคต้น ได้แก่เนื้อหา การวางแผน การถมดิน การหาแบบบ้าน การขออนุญาตสร้างบ้าน การยื่นกู้ธนาคาร
2. ภาคสอง ได้แก่เนื้อหา การทำพิธีเสาเอก-เสาโท การวางฐานรากบ้าน การเทคาน งานโครงสร้างบ้านและร้าน การขอใช้ไฟฟ้าชั่วคราว การประเมินของธนาคารก่อนทำสัญญา การจำนอง ค่าใช้จ่ายกับธนาคาร การทำสัญญาและเบิกเงินงวดกับธนาคาร
3. ภาคสุดท้าย ได้แก่เนื้อหา การก่อสร้างบ้านต่อจากภาคสองจนถึงสร้างเสร็จเรียบร้อย 100% การขอบ้านเลขที่ การขอขยายเขตไฟฟ้า การส่งงวดธนาคาร และอื่นๆ

เริ่มต้นเข้าสู่เนื้อหาภาคที่ 3 เลยนะครับ

ภายหลังที่ได้รับเงินงวดแรกจากธนาคาร (รายละเอียดต่อจากภาค2) ผมก็ชำระเงินให้ผู้รับเหมาตามสัญญา พร้อมถูกหักค่าธรรมเนียม ค่าประกันต่างๆ ไปเสร็จสรรพ.. ผู้รับเหมาก็ดำเนินการก่อสร้างตามสัญญา จนบ้านเสร็จเรียบร้อยเป็นรูปร่างดังรูป
























รูปเยอะมาก แต่ก็ขอคัดเฉพาะบางรูป บางมุม มาให้ชมกันนะครับ

การขอบ้านเลขที่

เป็นขั้นตอนสำคัญที่เราต้องดำเนินการภายหลังที่สร้างบ้านเสร็จ เรายังไม่สามารถเบิกเงินธนาคารงวดสุดท้ายได้ เนื่องจากตามเงื่อนไขธนาคารคือ บ้านที่เราสร้างต้อง "น้ำไหล ไฟสว่าง มีบ้านเลขที่" จึงจะแจ้งให้ธนาคารมาประเมินได้ ผมจึงดำเนินการถ่ายรูปบ้านทุกมุมไว้ ปรินท์ภาพบ้านไว้ 5-6 รูป และดำเนินการแจ้งต่อผู้ใหญ่บ้าน เพื่อขอให้กรรมการหมู่บ้านมาตรวจ ตามหลักแล้วเขาจะส่ง อสม.มาดูระบบบำบัดน้ำ ห้องน้ำ สาธารณูปโภค... แต่ในกรณีบ้านของผม ก็ไม่มีอะไรมาก เนื่องจากผู้นำหมู่บ้านมาเยี่ยมเราบ่อย

ผู้ใหญ่บ้านจะออกหนังสือรับรองให้ฉบับหนึ่ง เพื่อให้เราไปยื่นต่อนายทะเบียนท้องที่ (เทศบาล,อำเภอ) เราก็เตรียมไปพร้อมกับรูปภาพที่เราได้ถ่ายไว้...ขั้นตอนนี้ไม่ยุ่งยาก ใช้เวลาขอบ้านเลขที่ไม่เกิน 30 นาที และแล้วเราก็ได้บ้านเลขที่บ้านหลังใหม่มา

การขอไฟฟ้าถาวร

เมื่อเราได้บ้านเลขที่มาแล้ว ก็นำทะเบียนบ้านไปยื่นต่อสำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเขตที่บ้านเราตั้งอยู่ เพื่อขอมิเตอร์ถาวร พร้อมกับขอรับเงินประกันมิเตอร์ชั่วคราวคืน เงินค่าประกันมิเตอร์ชั่วคราว จะยังไม่ได้ทันที การไฟฟ้าฯจะตั้งเรื่องเบิกให้เรา และแจ้งให้เรานัดหมายไปขอรับเงินคืนวันหลัง ทั้งนี้ เงินประกันดังกล่าวจะถูก "หัก" ค่าไฟฟ้ามิเตอร์ชั่วคราวระหว่างเดือน ไปด้วย...

ภายหลังแจ้งขอมิเตอร์ถาวร ซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณ 4พันกว่าบาท (15แอมป์) เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าก็มาดำเนินการติดตั้งระบบไฟฟ้าหลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์


ระบบน้ำ
เนื่องจากบ้านของผมอยู่นอกเขตบริการประปาส่วนภูมิภาค จึงต้องเจาะน้ำบาดาล และคำนวณปริมาณการใช้น้ำของเรา ปั๊มน้ำที่ใช้จึงเป็น 2 ตัว + แทงก์เก็บน้ำขนาด 1,000 ลิตร ปั๊มตัวแรกใช้สำหรับสูบน้ำบาดาลมาสู่แทงค์น้ำ ใช้ปั๊มขนาด 200 Watt ปั๊มตัวที่2 ใช้สูบน้ำจากแทงค์น้ำผ่านเครื่องกรองน้ำเข้าสู่ตัวบ้าน ใช้ปั๊มประเภทแรงดันคงที่ขนาด 200 Watt เช่นกัน ผลปรากฎว่าแรงดันน้ำแรงมาก ไม่มีปัญหาใดๆ
ค่าใช้จ่ายปั๊มน้ำทั้งสองตัวไม่รวมติดตั้ง 11,500 บาท (การติดตั้งเราใช้คนงานของผู้รับเหมาติดตั้ง) แทงค์น้ำขนาด 1,000 ลิตร ราคาที่ซื้อ 5,100 บาท

อย่างไรก็ตาม น้ำบาดาลที่เจาะมีโอกาสเป็นสนิม และจะมีผลต่อสุขภัณฑ์ต่างๆ เราจึงต้องซื้อกรองน้ำใช้มาติดตั้งด้วย เครื่องกรองน้ำพร้อมติดตั้ง 8,000 บาท


การเบิกเงินงวดสุดท้าย

เมื่อขอบ้านเลขที่เรียบร้อย เมื่อติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าถาวรเรียบร้อย...ทุกอย่างพร้อม จึงแจ้งไปยังธนาคารเพื่อให้ส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจประเมิน เพื่อขอเบิกเงินงวดสุดท้าย...วันรุ่งขึ้นเจ้าหน้าที่ธนาคารก็มาตรวจประเมิน และธนาคารได้แจ้งให้ไปรับเงินงวดสุดท้ายช่วงบ่าย

ยอดเงินงวดสุดท้ายที่เหลือ 25% เราจะถูกหัก
1. ดอกเบี้ยของงวด 1-4
2. ค่าธรรมเนียมเขียนเช็ค (จริงๆโอนเงินให้เราก็ได้ ธนาคารเขาจะเอาจากเราทุกเม็ด)
3. ค่าประกันอัคคีภัย กรณีของผมจะต้องถูกหักเป็นเงิน 18,886.57 บาท
ชื่อสินค้า:   บ้านและร้านพรเจริญ (บ้านเจ้าของกระทู้)
คะแนน:     
**CR - Consumer Review : ผู้เขียนรีวิวนี้เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง ไม่มีผู้สนับสนุนให้สินค้าหรือบริการฟรี และผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในการเขียนรีวิว
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่