[CR] tabihabitto: พาชมนิทรรศการ "วิถีแห่งศรัทธาจากศิลปทัศน์ญี่ปุ่น" แบบละเอียด


สวัสดีครับเพื่อนๆ ชาวพันทิป วันนี้ขอพาเพื่อนๆ ไปชมนิทรรศการ “วิถีแห่งศรัทธาจากศิลปทัศน์จากญี่ปุ่น” โดยผมเห็นรายละเอียดครั้งแรกจากข่าวที่สมเด็จพระเทพฯ เสด็จไปชมนิทรรศการดังกล่าว เลยลองหาข้อมูลเพิ่มเติมครับ โดยนิทรรศการนี้จัดขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 130 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและญี่ปุ่นครับ โดยได้รับวัตถุมาจัดแสดงจากหลายหน่วยงานของญี่ปุ่น เช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติโตเกียว พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติคิวชู และสำนักกิจการทางวัฒนธรรมของญี่ปุ่น เป็นต้น โดยงานจะจัดที่พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จนถึงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2561 นี้นะครับ

เดินเข้าไปภายในพิพิธภัณฑ์แล้วเลี้ยงซ้ายก็จะเจอกับพระที่นั่งศิวโมกขพิมานครับ

.
.
.

เมื่อเข้าไปถึง ก็จะเจอกับ ส่วนที่ 1: ปฐมบทศิลปะญี่ปุ่น
โดยจะเป็นการพูดถึงยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่พระพุทธศาสนายังเผยแผ่มาไม่ถึง ว่าในญี่ปุ่นนั้นมีอยู่ 3 วัฒนธรรม เริ่มต้นที่วัฒนธรรมโจมน ที่โดดเด่นทางด้านเครื่องปั้นดินเผาต่างๆ โดยชิ้นแรกเป็นภาชนะดินเผาทรงเปลวไฟ โดยพบในจังหวัดนีกาตะที่มีหิมะตกรุนแรง จึงเชื่อว่ารูปร่างเปลวไฟดังกล่าวเปรียบเสมือนความอบอุ่นที่จะทำให้ผ่านฤดูหนาวอันโหดร้ายไปได้
ถัดมา เป็นตุ๊กตาดินเผาโดกู ซึ่งเป็นโบราณวัตยิ้มุคก่อนประวัติศาสตร์ที่โด่งดังมาก เพราะผมเชื่อว่าหลายคนอาจคุ้นว่ามีลักษณะเหมือนมอนสเตอร์ในยูกิ หรือในดิจิมอน ซึ่งก็ล้วนแต่วิวัฒนาการมาจากตุ๊กตาตัวนี้นั่นเอง ใครอยากเห็นตัวจริง มาดูได้ที่นิทรรศการนี้เลยครับ
ต่อมาเป็นสมัยยาโยอิกันบ้างครับ ตอนนี้เริ่มมีการติดต่อกับจีนแผ่นดินใหญ่ และคาบสมุทรเกาหลี เริ่มมีการรู้จักหล่อโลหะเป็นเครื่องมือในชีวิตประจำวันและอาวุธครับ อย่างเช่นในรูป ซ้ายมือสุดเป็นระฆัง อันกลางเป็นใบหอกสำริด ส่วนขวามือเป็นหอกสำริดครับ
และยุคสุดท้ายที่เราจะพูดถึงก็คือยุคโคฟุน ซึ่งพัฒนาจากสังคมเกษตรกรรมในสมัยยาโยอิมาเป็นสังคมเมืองในที่สุด และในยุคนี้เริ่มมีการสร้างสุสานขนาดใหญ่ ที่ภายในบรรจุไปด้วยเครื่องประดับต่างๆ ตรงกลาง และคันฉ่องทางขวามือครับ
.
.
.

เดินต่อมาที่โถงตรงกลาง จะพบกับ ส่วนที่ 2 : พุทธศิลป์วิวัฒน์
พระพุทธศาสนานั้นเริ่มเผยแผ่เข้าสู่ญี่ปุ่นในรัชสมัยของพระจักรพรรดิคินเม โดยผ่านทางการได้รับพระราชทานพระพุทธรูปและคัมภีร์ต่างๆ จากกษัตริย์อาณาจักรแพคเจบนคาบสมุทรเกาหลี โดยในนิทรรศการนี้ได้นำงานพุทธศิลป์จากสมัยเฮอันและคามาคุระมาจัดแสดง
พระโพธิสัตว์สมัยอะซึกะ ช่วงแรกที่ญี่ปุ่นเริ่มได้รับพระพุทธศาสนาจากแพคเจ
พระมหาไวโรจนะสมัยเฮอันตอนปลาย เป็นงานแกะสลักที่ทำจากไม้ลงรักปิดทอง
พระโพธิสัตว์จินดามณีจักรสมัยคามากุระ เป็นงานแกะสลักจากไม้ ทาสีดำ ตกแต่งด้วยแผ่นทอง
พระอมิตาภะพุทธเจ้า ขนาบด้วยพระอวโลกิเตศวรและพระมหาสถามปราปต์
นอกจากงานแกะสลักแล้ว ยังมีงานจิตรกรรม อย่างเช่น ภาพพระพุทธเจ้าปรินิพพาน ซึ่งเป็นผ้าไหมเขียนสีสมัยเฮอัน
หรือภาพพระอรหันต์องค์ที่ 3 ใน 16 องค์ โดยชิ้นนี้เป็นผลงานชิ้นเอกที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังมีครบทั้ง 16 องค์ โดยได้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โตเกียวได้มาจากวัดโชจุไลโกจิในจังหวัดชิกะ
ยังมีสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาอื่นๆ เช่น พระบฎภาพพระอนิตาภะเสด็จลงมารับดวงวิญญาณ เป็นผ้าไหมปักสมัยคามากุระ

พระสูตรอนันตนีรเดชะในคัมภีร์สัทธรรมปุณฑริกสูตร เป็นคัมภีร์ภายในวัดคุโนจิ เขียนด้วยหมึกสีดำบนกระดาษสี ประดับตกแต่งด้วยผงแร่ หิน และทองคำเปลว
กล่องเก็บคัมภีร์สมัยเฮอัน ทำจากไม้ลงรัก แล้วโรยทองด้วยเทคนิค “มากิเอะ” เป็นลวดลายต่างๆ เช่น รูปดอกบัว นกสีทอง มักใช้บรรจุคัมภีร์สำคัญต่างๆ
ด้านซ้ายมือเป็นกังสดาลสำหรับประกอบพิธีกรรมในสมัยคามากุระ ส่วนด้านขวามือเป็นพระพิมพ์ดินเผาในสมัยอาซึกะ ซึ่งมีอิทธิพลของศิลปะจีนสมัยราชวงศ์ถัง
เครื่องประดับภายในวิหาร “เคมัง” ซึ่งใช้สำหรับตกแต่งขื่อวิหาร หรือที่สิงสถิตของเทพเจ้า ตรงกลางเป็นตัวอักษรอินเดียโบราณ “เทวนาครี” หมายถึงมนต์แห่งพระมหาไวโรจนะ
กระดิ่งพิธีกรรม มีด้านจับเป็นรูปวัชระ 5 แฉก ใช้ตอนเริ่มและเสร็จพิธีกรรม โดยเชื่อว่าเสียงของกระดิ่งนั้นจะทำให้สถานที่ประกอบพิธีกรรมนั้นบริสุทธิ์ รวมถึงยังบูชาเทพเจ้าต่างๆ อีกด้วย
.
.
.
ชื่อสินค้า:   พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
คะแนน:     
**CR - Consumer Review : ผู้เขียนรีวิวนี้เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง ไม่มีผู้สนับสนุนให้สินค้าหรือบริการฟรี และผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในการเขียนรีวิว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่