(บทความ..นายพระรอง)ทรราช วีรบุรุษ จุดชี้วัดเดียวที่สำคัญคือการรักษาอำนาจ

กระทู้คำถาม
.
       มีคำกล่าวว่าไว้ว่า ผู้ชนะคือผู้เขียนหน้าประวัติศาสตร์ ซึ่งมันก็เป็นคำที่ไม่คลาดเคลื่อนไปจากความจริงเท่าใดนัก เพราะจากยุคอดีตกาลโบราณมา มีหลายช่วงหลายหน้าบทบันทึก ที่จารึกเรื่องราวทำนองนี้ไว้อยู่เสมอในทุกๆพื้นที่บนดาวดวงสีฟ้าที่ถูกเรียกหาตามสากลว่า Earth เพียงแต่ในบางพื้นที่ ที่แม้ปัจจุบันนี้จะเป็นยุคสมัยที่มีเสรีภาพการแสดงความเห็นมากขึ้นกว่ายุคโบราณกาล บางพื้นที่ก็ยังไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์เรื่องทำนองนี้ได้ หากมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับสถาบัน หรือดันเป็นเรื่องของผู้มีอำนาจที่กำลังครอบครองอำนาจในการปกครองประเทศ ซึ่งไม่ต้องบอกก็รู้ว่าว่าพื้นที่แห่งนั้น เป็นประเทศอะไรตั้งอยู่บนจุดใดของโลก

       ดังนั้นเพื่อที่จะยังถกถึงประเด็นนี้ได้ ก็จำเป็นต้องไปหยิบยกเรื่องราวทำนองนี้มาจากประวัติศาสตร์ชนชาติอื่นมาวิพากษ์วิจารณ์แทน จากแดนดินที่อยู่ใกล้ๆ ซึ่งถ้าสืบสายสัมพันธ์ไปแล้ว ยุคหนึ่งสมัยหนึ่งเราก็เคยถูกสอนว่า บรรพบุรุษของเราเอง ก็อพยพย้ายถิ่นฐานมาจากเทือกเขาอัลไต อันเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของชนชาตินี้เหมือนกัน เพียงแต่ว่าตอนนี้ความยึดมั่นถือมั่นแบบไทย-ไทย ได้ปฏิเสธทฤษฎีเขาอัลไตไปเรียบร้อยแล้ว ได้พากันประกาศตัวเองว่า พวกข้ามีรกรากและสร้างอารยธรรมกันขึ้นมาเองในพื้นที่นี้แหละ ไม่เคยเป็นชนกลุ่มน้อยของชนชาติใดมาก่อน เป็นคำกล่าวที่ฟังแล้วน่าภูมิใจชะมัด แต่อยากถามคำเดียวว่า แล้วที่สอนแบบนั้นให้รู้มาตั้งแต่ตอนเด็กๆนั้น สอนเพื่อ....?

       ประโยคท้ายวรรคข้างต้น คือตัวอย่างของคนที่คิดจะประกาศศักดาอำนาจของตัวเอง ให้เป็นผู้เหนือกว่าหรือผู้ชนะ โดยการเขียนประวัติศาสตร์เอง พูดแล้วคันปาก ก็ขอยกมาอีกสักตัวอย่าง ในตอนช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ประวัติศาสตร์โลกได้บันทึกไว้ว่า ไทยเป็นประเทศฝ่ายอักษะ แต่เชื่อไหมในตำราเรียนตามโครงสร้างหลักสูตรที่ภาครัฐจัดให้ที่ผู้เขียนได้ร่ำเรียนมา ไม่มีประโยคนี้ถูกบันทึกไว้แม้แต่ครั้งเดียว มีแต่บทเรียนที่ปลูกฝั่งภาพความยอดเยี่ยมด้วยการเป็น “นกสองหัว” จากปฏิบัติการ “เสรีไทย” ที่คนอีกฝ่ายที่ไม่ได้กุมอำนาจรัฐปฏิบัติการกันเองนั้นแหละ ที่ถูกสอนในสถาบันการศึกษา แต่พอได้มาอ่านหนังสือแปลหรือตำราจากต่างประเทศนั้นแหละ ถึงได้รู้ว่า ที่ตัวเองร่ำเรียนมานั้น มันแค่ความจริงเพียงด้านเดียว ก็เลยเกิดคำถามเหมือนเดิมว่า สอนเพื่อ....?

       แต่หากพินิจพิเคราะห์ให้ดี ทั้งสองคำถามที่ผมเองได้ตั้งคำถามไว้ ก็พอจะมองเห็นได้ถึงต้นตอของคำตอบ เพราะไม่มีใครในโลกนี้หรอกครับ ที่ไม่อยากเป็นคนไม่สำคัญหรือเป็นชนชั้นที่ถูกจัดว่าเป็น ชนกลุ่มน้อย การที่ประกาศว่าคนไท(พิมพ์ถูกแล้วไม่ได้ตกหล่นแต่ประการใด) ไม่ใช่ผู้อพยพย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกราก ก็เพราะอยากสร้างรากเหง้าของตนเองให้หลุดพ้นออกจากใต้ร่มเงาบารมีของชาติที่มีดีกรีเหนือกว่าอย่างจีน และการไม่บอกความจริงทั้งหมดในเหตุการณ์สงครามโลก ก็เพราะไม่อยากถูกตราหน้าว่าเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม ซึ่งอันหลังอาจจะเป็นความพยายามฉกฉวยโอกาสทางการเมืองของกลุ่มเสรีไทย ในการเข้าถึงอำนาจปกครองประเทศก็ได้ ใครจะรู้

       แต่ที่รู้ก็คือ มีการพยายามบิดเบือนประวัติศาสตร์จริง (อันนี้ผมหมายถึงเหตุการณ์หลังสงครามโลกนะครับ ทฤษฎีเทือกเขาอัลไตนั้น เกินกว่าความรู้ที่ผมมี ผมจึงไม่อาจยืนยันข้อเท็จจริงใดๆทั้งสิ้น เพียงแค่สงสัยว่าทำไมเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ก็แค่นั้นครับ)

       เอาล่ะ เข้าเรื่องกันสักที ซึ่งบทความนี้จะขอหยิบยกสองบุคคลในประวัติศาสตร์จีน ที่เกิดในยุคสมัยใกล้เคียงกัน มีพฤติกรรมบางอย่างเหมือนกัน มีผลงานเป็นที่ประจักษ์เช่นกัน แต่คนหนึ่งดันถูกจารึกว่าเป็น ฮ่องเต้ทรราช กับคนหนึ่งที่ถูกยกย่อง ให้เป็น มหาราชวีรบุรุษ ซึ่งสองคนนั้นก็คือ สุยหยางตี้ ฮองเต้ กับ ถังไท่จง ฮองเต้ ทั้งคู่อยู่ในยุคสมัยใกล้เคียงกัน คือราวๆ 1600 ปีก่อน โดยสุยหยางตี้ เป็นฮ่องเต้ราชวงค์สุยองค์สุดท้าย ส่วย ถังไท่จง เป็นฮ่องเต้ลำดับที่สองในราชวงค์ถังซึ่งล้มล้างอำนาจของราชวงค์สุย หรือล้มสุยหยางตี้ฮ่องเต้นั้นเอง

       ฮ่องเต้สององค์นี้ มีประวัติคล้ายคลึงกัน โดยสุยหยางตี้ฮองเต้ ได้รับการปราบดาภิเษก โดยการกระทำ “ปิตุฆาต”ล้มล้างอำนาจของบิดา สถาปนาตัวเองเข้าสู่อำนาจ ส่วน ถังไท่จงนั้น ก็กระทำการ “ฆ่าพี่น้อง”ซึ่งเป็นรัชทายาทบีบบังคับให้บิดา หรือ ถังเกาจู่ฮ่องเต้ แต่งตั้งตนเองเป็นรัชทายาทแทนและสืบทอดราชบัลลังค์ ซึ่งดูจากมุมนี้ ทั้งคู่ก็เป็นคนใจคอโหดร้าย ทำร้ายได้แม้แต่คนในครอบครัวเหมือนๆกัน

       สุยหยางตี้มีคำวิจารณ์ในเรื่องพฤติกรรมในเรื่องผู้หญิง เพราะมีสนมนางในไม่น้อย  โดยตำหนิให้เป็นจุดด่างพร้อยในเรื่องนี้ แต่ในขณะที่ถังไท่จงเองก็มีพฤติกรรมไม่ต่างกัน มีสนมนางในนับพัน แต่กลับไม่โดนตำหนิ

       ด้านผลงาน สยหยางตี้ ดำริให้ ขุดคลองใหญ่ขึ้นมาเส้นหนึ่ง(คลองใหญ่ หยงอัน)เชื่อมแม่น้ำสองสายหลัก ซึ่งเป็นเส้นทางเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ คือแม่น้ำแยงซีเกียงกับแม้น้ำฮวงโห ซึ่งผลก็คือเกิดการกระจายสินค้าไปมาระหว่างภาคเหนือใต้และตะวันออกของจีนอย่างคึกคัก เพราะได้อาศัยคลองที่ขุดเชื่อมแม่น้ำสองสายนี้ ใช้ให้เกิดประโยชน์ทางด้านธุรกิจ เพียงแต่ยังไม่เห็นประโยชน์เป็นรูปธรรมเพราะถูกโค่นล้มอำนาจไปก่อน

       แต่ข้อความวรรคด้านบนที่ผมพิมพ์นี้ ไม่ได้ถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์จีนเลย เพราะที่ถูกบันทึกไว้ คือ สุยหยางตี้ต้องการขุดคลองขึ้น เพื่อให้ ตำหนักเคลื่อนที่(เรือพระที่นั่ง) เรือไปมาได้สะดวกโดยไม่ต้องเปลี่ยนเส้นทางไปเดินเท้าในบางช่วงของการประพาสพื้นที่ต่างๆ ซึ่งทำให้แรงงานที่ขุดคลองล้มตายเป็นจำนวนมาก เพราะถูกเกณฑ์มาทำงานหนักอย่างโหดร้ายทารุณ (ที่สุยหยางตี้ได้รับสมญาว่าเป็นฮ่องเต้โฉดก็มาจากเรื่องนี้เอง)

       ในขณะที่ถังไท่จงฮ่องเต้ ได้รับประโยชน์เต็มๆจากการมีคลองใหญ่ หยงอัน จีนในยุคของถังไท่จงนั้น จึงเจริญรุดหน้าทางเศรษฐกิจอย่างมาก และเมื่อปากท้องอิ่ม เสียงวิพากษ์วิจารณ์ครหาก็ไม่มีหรือมีแต่ไม่ดังพอจะสั่นคลอนอำนาจ จนที่สุดท้ายแล้วก็ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์จากลูกหลานสกุลถังว่าเป็น มหาราชพระองค์หนึ่งของจีน

       หยิบยกมาเป็นตัวอย่างแค่นี้พอนะครับ ไม่อยากลงรายละเอียดมาก เพราะหากจะหยิบข้อมูลทั้งหมดที่ผมมีและได้ศึกษามาคงเขียนได้อีกเยอะแน่ๆ และที่เอามาแค่นี้ ก็เพราะอยากจะชี้ว่า สิ่งเดียวที่ทำให้สองคนที่พฤติกรรมคล้ายๆกัน แต่กลับต่างกันในการถูกบันทึกและจดจำก็เพราะ อำนาจที่ใครเป็นฝ่ายรักษาไว้ได้ ก็จะได้เป็นผู้บันทึกประวัติศาสตร์ตามใจตนเอง

ดังนั้น ผมจึงไม่แปลกใจเลย หากตำราเรียนในช่วงหลังจากนี้
ใครจะถูกกำหนดบทบาทบ่งชี้ ว่าใครเป็นตัวโกง หรือใครเป็นพระเอกในแวดวงการศึกษาที่เกี่ยวเนื่องกับการเมืองไทย



มหาโจร ชั่วร้าย................ใครชี้
วีรบุรุษ คนดี.....................ใคร่อ้าง
ผลที่สุด สุดที่...................ใครกุม เดชนา
บอกกันต่อ เพียรสร้าง.........ใคร่กล้าลวงคน

ขอบคุณครับ
นายพระรอง
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่