การฝึกเด็กสมาธิสั้น ตอนที่ 1 พูดกับหนูให้ ชัดๆ สั้นๆ และ กระชับ หน่อยนะคะ

การฝึกเด็กสมาธิสั้น นั้น ความรัก ความพยายาม ความอดทน อาจจะไม่เพียงพอ เทคนิคเป็นสิ่งที่จำเป็นมากๆ เพราะเด็กกลุ่มนี้ อย่างที่ชื่อโรคหรือชื่ออาการก็บอกอยู่แล้วว่า สมาธิของเขาสั้น ไม่สามารถจดจ่ออยู่กับอะไรได้นานๆ การฝึกเด็กสมาธิสั้น จึงต้องมีเทคนิคพิเศษออกไปจากเด็กปกติ

ถ้าใครเป็นแฟนใหม่ เพิ่งมารู้จักกัน อยากให้แวะไปอ่านเรื่องนี้ก่อนเลยครับ ข้อดีของการมีลูกเป็นเด็กสมาธิสั้น 🙂 แล้วจะรู้ว่า โลกนี้ก็น่าอยู่ได้เหมือนกัน ถ้ามีลูกเป็นเด็กสมาธิสั้น หรือ ADHD (Attention Deficit Hyperactive Disorder)

ก่อนอื่น ขอออกตัวก่อนว่า ไม่ได้มีความรู้หรือหลักการอะไรทั้งนั้น ที่จะมาเล่าสู่กันฟังนี้เอามาจากประสบการณ์ล้วนๆ ลองผิดลองถูกเอา ถ้าเทคนิคไหนใช้ได้ผลกับลูกผม ผมก็จำเอาไว้ใช้ต่อ เทคนิคไหนไม่ได้ผล ผมก็เปลี่ยนมันไปเรื่อยๆ

ผมไม่คิดว่าเทคนิคที่ใช้ไม่ได้ผลคือความล้มเหลว ผมคิดเหมือน โทมัส อัลวา เอดิสัน ครับ ผมแค่พบว่าผมประสบความสำเร็จต่างหากที่พบว่าเทคนิคนั้น ไม่ได้ผล

ณ.วันที่เขียนซีรี่ชุดนี้ น้องเฟิร์นอายุจวนจะครบ 18 ปี ในไม่อีกวันนี้แล้ว ด้วยวิธีคิดแบบเอดิสันก็นับได้ว่าผมประสบความสำเร็จมากมาย 555 ที่พบว่ามีหลายวิธีที่ทั้งคุณหมอ และ นักจิตวิทยา บอกว่าได้ผล แต่มันกลับไม่ได้ผลกับลูกสาวผม

วันนี้ผมจะมาเล่าสู่กันฟังแบบง่ายๆว่า เทคนิคการฝึกไหนที่ได้ผลกับยัยเฟิร์นบ้าง เผื่อจะได้ผล เผื่อจะมีประโยชน์ กับเพื่อนพี่น้องที่แวะมาอ่านกัน

การฝึกเด็กสมาธิสั้น

ในตอนนี้ผมจะขอแบ่งปันในเบื้องต้น 3 เทคนิคง่ายๆก่อนครับ

พูดกับหนูสั้นๆ (ถ้าจะสั่งให้หนูทำอะไร)

ในที่นี้ผมไม่ได้บอกว่า ให้พูดน้อยๆ ให้คุยกับลูกน้อยๆ ผมหมายความว่า เมื่อยามที่ต้องการให้เขาทำอะไร อย่าพูดสั่งเขายาวๆ

“หนูกินน้ำเสร็จแล้ว อย่าลืมเอาขวดน้ำไปใส่ตู้เย็น ตอนเอาขวดน้ำไปใส่ตู้เย็น หยิบกล่องผักให้พ่อ แล้วอย่าลืมปิดประตูตู้เย็นด้วยล่ะ”

จบครับ แบบนี้เด็กสมาธิสั้นของเราทำไม่ได้แน่ อย่างน้อยก็ยัยเฟิร์นของผมล่ะ 555 วิธีที่ใช้แล้วได้ผลกับเธอ คือ

“เฟิร์นกินน้ำให้เสร็จ” … สังเกตุว่า ไม่มีคำว่า “แล้ว” เพราะมันไม่มีประโยชน์กับคำสั่ง แต่เพิ่มคำว่า “ให้” เข้าไป เน้นการกระทำที่ต้อง “จบ” คำไหนไม่จำเป็นเอาออกไป เพราะจะทำให้สมองเขาที่วิ่งพล่านๆอยู่แล้วเปรอะไปหมด

ถ้าเป็นคอมพิวเตอร์ หรือ CPU (Central Processing Unit – หน่วยประมวลผลกลางของคอมพิวเตอร์) เราจะเรียกว่ามัน over flow คือ มันล้นทะลัก รับคำสั่งหรือข้อมูลไม่ไหวอีกแล้ว

“หยิบขวดน้ำใส่ตู้เย็น” … เห็นไหมครับว่า สั้นกว่า “อย่าลืมเอาขวดน้ำไปใส่ตู้เย็น” เอาแค่ที่จำเป็น ประธาน กริยา กรรม ก็พอ คำคุณศัพท์ (adjective) คำกริยาวิเศษณ์ (adverb) ไม่ต้อง

ภาษาจะดูไม่สวยนัก แต่ผมใช้กับ “คำสั่ง” หรือ “การฝึกหัด” เท่านั้น แต่ถ้าพูดคุย จะ๊ จ๋า กันแบบปกติ ก็ใช้คำภาษาสวยๆมีคำคุณศัพท์ คำกริยาวิเศษณ์ คำแสดงอารมณ์ เหมือนบทสนทนาทั่วๆไป

“ปิดประตูตู้เย็น” เทียบกับ “แล้วอย่าลืมปิดประตูตู้เย็นด้วยล่ะ” จะเห็นว่าสมองเขาทำงานได้ดีกว่าเยอะถ้าพูดแบบนี้

ใช้คำที่มันชัดๆหน่อย เวลาจะให้หนูทำอะไร

“หยิบขวดน้ำใส่ตู้เย็น” … กับ “อย่าลืมเอาขวดน้ำไปใส่ตู้เย็น” คำกริยาที่ได้ผลกว่าคือ “หยิบ” ไม่ใช่ “เอา”  เพราะหยิบเป็นคำกริยาที่บอกให้ใช้มือทำ

อย่าบอกว่า “พาหมา” ให้บอกว่า “จูงหมา” คือเลือกใช้คำกริยาที่ชัดเจนลงไป อย่าใช้คำกริยาที่ตีความได้หลายอย่าง เช่น ถ้าจะให้ นำ พา หรือ เอา ให้บอกไปเลยว่า หยิบ จับ ดึง ลาก จากตรงไหน ไปตรงไหน

เช่น ถ้าจะให้พาคุณแม่มาหาคุณพ่อหน่อย ก็ต้องบอกว่า “จูงมือคุณแม่ และ เดินมาหาคุณพ่อ” ใช่ครับ มันฟังดูตลก แต่มันได้ผลครับ

หรือ ถ้าจะบอกว่า ใส่น้ำในขวด ก็บอกชัดลงไปว่า กรอกน้ำใส่ขวด อย่าบอกต่อว่า ให้เอาใส่ตู้เย็น รอให้กรอกให้ครบทุกขวดก่อน แล้วค่อยบอกว่า “หยิบ” ขวดน้ำ “ใส่ใน” ตู้เย็น

อย่าอารัมภบท อย่าเยอะ กับหนู กระชับๆหน่อย

เคยดูลิเก ดูละคร ไหมครับ เอ่อ เอิง เงิง เงย มาจะกล่าวบทไป … ไปแล้วครับ สมาธิเธอกระเจิงไปแล้ว เธอไม่ฟังคุณจนจบหรอก 555

อย่าเท้าความ อย่าอ้างเหตุผลยืดยาว เลี่ยงคำว่า “ถ้า … แล้ว …” ในประโยคคำสั่ง

“นี่นะหนู เพราะว่า เมื่อวานหนูใช้เงินเกินไปหน่อยนะ พ่อคิดว่า วันนี้พ่อต้องหักค่าขนมหนูแล้วล่ะ หนูจะได้จำเสียทีว่า ไม่ควรที่จะใช้เงินเกินจากที่หนูได้ไปในแต่ล่ะวัน”

… เด็กปกติน่ะ โอเคครับ แต่ถ้าเด็กสมาธิสั้น เธอกระเจิงไปแล้วตั้งแต่คำว่า “นี่นะหนู เพราะว่า เมื่อวาน …”

“เมื่อวานหนูใช้เงินเกิน(จากที่ได้รับ) วันนี้พ่อ(ต้อง)หักค่าขนม(ของ)หนู” … คำในวงเล็บทำให้ประโยคสวย แต่สำหรับยัยเฟิร์น เป็นคำฟุ่มเฟือย เธอรู้เองว่า “เกิน” นั้น เกินจากไหน พ่อ “ต้องทำ” ไม่ใช่ พ่อ “อยากอยาก” และ ค่าขนม เธอก็รู้อยู่แล้วว่าของใคร ไม่ต้องมีคำว่า “ของ” ให้รก

การสื่อสารกับสมองของเด็กกลุ่มนี้ที่มันวิ่งพล่านไปเป็น 108 1009 เรื่อง ถ้ามั่วแต่มี “สาร” ที่ไม่จำเป็นต้อง “สื่อ” ก็อยากไปใช้สารพวกนั้น เอาเนื้อๆชัดๆ

สรุป

ครับ … เด็กพิเศษต้องการวิธีพิเศษ ในการฝึกหัด เมื่อเรา “สั่ง” หรือ “หัด” แบบ สั้น-ชัด-กระชับ แล้ว จึงค่อยต่อประโยค เพิ่มคำ เข้าไปทีล่ะนิดๆ ดูว่าสมองเขารับประมวลผล (process) ได้ไหม

ถ้าได้ ก็ขยับต่อไป ใช้ประโยคให้มันซับซ้อนขึ้น แต่ถ้าเขารับไม่ได้ ก็ต้องกลับมาใช้วิธีเดิมๆคือ สั้น-ชัด-กระชับ วนๆไปเรื่อยๆ เด็กแต่ล่ะคน ต้นทุนมาไม่เท่ากัน ถ้าผมมัวแต่คิดเอายัยเฟิร์นไปเปรียบเทียบกับลูกคนอื่น อย่างโน้นอย่างนี้ ผมคงอยากตายวันล่ะร้อยหน

ดังนั้น อย่าเอาลูกเราไปเทียบกับลูกใคร อย่าเอาลูกใครมาเทียบกับลูกเรา เพราะลูกเราไม่ใช่ลูกเขา และ ลูกเขาก็ไม่ใช่ลูกเรา ผมมักพูดเสมอๆว่า ถ้าลูกเราเป็นเด็กพิเศษ(กว่าเด็กคนอื่นๆ) เราก็ต้องเป็นพ่อแม่ที่พิเศษ(กว่าพ่อแม่ของเด็กคนอื่นๆ) … จริงไหมครับ

การฝึกเด็กสมาธิสั้น ในตอนหน้า ผมจะมาแบ่งปันอีกเทคนิคหนึ่ง “การอธิบายเรื่องยากๆให้เป็นเรื่องง่ายๆ”
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่