ข่าว WHA & WHAUP ครับ

บมจ. ดับบลิวเอชเอฯ ตั้งเป้ารายได้รวม-ส่วนแบ่งกำไรปี 61 ขยายตัว 25% พร้อมทุ่มงบลงทุน 6.6 พันล้านบาท จากแผน 5 ปีรวม 4.3 หมื่นล้าน ปูทางพร้อมขึ้นเป็นผู้นำด้านการให้บริการโซลูชันครบวงจรด้านลอจิสติกส์ และนิคมอุตสาหกรรม พร้อมเตรียมปรับโครงสร้างทางการเงินออกหุ้นกู้รีไฟแนนซ์ 1.2-1.3 หมื่นล้านบาท ทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนลดเหลือแค่ 1.1 เท่า

น.ส.จรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ เปิดเผยถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจในปี 2561 ว่า ในปีนี้กลุ่มบริษัท คาดจะมีรายได้รวม และส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนในบริษัท และกิจการร่วมค้า เติบโตเพิ่มขึ้น 25% พร้อมตั้งงบลงทุน 6.6 พันล้านบาท จากแผนการลงทุน 5 ปี รวม 4.3 หมื่นล้านบาท (ระหว่างปี 59-63) และเตรียมความพร้อมเป็นผู้นำด้านการให้บริการโซลูชันครบวงจรด้านลอจิสติกส์ และนิคมอุตสาหกรรมของประเทศ ใน 4 กลุ่มธุรกิจของบริษัท ได้แก่ ลอจิสติกส์, นิคมอุตสาหกรรม, สาธารณูปโภคและพลังงาน และดิจิทัล พร้อมเล็งหาโอกาสการลงทุนใหม่ ๆ เน้นอุตสาหกรรมบริการมูลค่าสูง และเตรียมรุกขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอาเซียนอย่างต่อเนื่อง

ด้านธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมของ WHA มีแผนที่จะให้บริการนิคมอุตสาหกรรมรวม 10 แห่งในประเทศไทย และอีก 1 แห่งในเวียดนาม พื้นที่รวม 39,300 ไร่ โดยตั้งเป้าขายที่ดิน 1,400 ไร่ จากเกือบ 1,000 ไร่ในปี 60 โดยมีที่ดินรอขายอีกกว่า 10,000 ไร่

ด้าน บมจ. ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) มีแผนที่จะเจาะตลาด CLMV และเพิ่มบริการใหม่ ๆ เช่น การนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ การกรองแร่ธาตุออกจากน้ำ และการกรองน้ำเค็ม โดยประมาณการณ์กำลังการผลิตน้ำสำหรับปี 61 อยู่ที่ 113 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้น 13% จากปี 60 เนื่องจากความต้องการใช้งานที่สูงขึ้นของลูกค้าปัจจุบัน และลูกค้ารายใหม่ รวมถึงอัตราการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้นจากโรงไฟฟ้าที่เพิ่งเดินเครื่องผลิต

ส่วนด้านธุรกิจพลังงานไฟฟ้า ปัจจุบัน WHAUP ลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้า จำนวน 15 โครงการในประเทศ 14 โครงการ และประเทศลาว 1 โครงการ กำลังการผลิตรวมทั้งหมด 2,540 เมกะวัตต์ในปี 62 โดย WHAUP มีสัดส่วนการถือครองกำลังการผลิตไฟฟ้า จำนวน 543 เมกะวัตต์ ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าอยู่ในระหว่างการดำเนินการ 11 โครงการ ด้วยกำลังการผลิต 478 เมกะวัตต์ จากกำลังการผลิตตามสัญญา 2,287.4 เมกะวัตต์

พร้อมกันนี้ ยังมีโรงไฟฟ้าอยู่ในระหว่างพัฒนา 4 โครงการ กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้น 65 เมกะวัตต์ จากกำลังการผลิตตามสัญญา 253 เมกะวัตต์ คาดจะเปิดดำเนินการในปี 61 และ 62 เป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก 2 แห่งภายใต้ความร่วมมือกับกัลฟ์ เอ็มพี โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ VSPP อีก 1 แห่ง และโรงไฟฟ้าพลังงานจากขยะ VSPP อีก 1 แห่ง ซึ่งร่วมมือกับโกลว์ และสุเอซ ผ่านธุรกิจร่วมทุน บริษัท ชลบุรี คลีนเอ็นเนอร์ยี จำกัด (CCE)

สำหรับธุรกิจลอจิสติกส์ วางแผนที่จะเพิ่มพื้นที่ให้เช่าขึ้นอีก 11% ในปีนี้ เป็น 2.39 ล้านตารางเมตร (ตร.ม.) จากระดับ 2.16 ล้าน ตร.ม. ในปีที่แล้ว โดยจะเน้นกลุ่มอุตสาหกรรมบริการที่สร้างมูลค่าสูง เช่น อุตสาหกรรมการบินและลอจิสติกส์ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และสินทรัพย์ให้เช่าที่สร้างมูลค่าสูง สอดคล้องไปกับการพัฒนาอี-คอมเมิร์ซ รวมถึงเตรียมขยายธุรกิจไปยังประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย, เวียดนาม, พม่า, มาเลเซีย และกัมพูชา ต่อไป

ส่วนธุรกิจดิจิทัลแพลทฟอร์ม จะดำเนินการเพิ่มตู้แร็ค จำนวน 156 ตู้ภายในดาต้าเซ็นเตอร์ทั้ง 3 แห่ง หรือเพิ่มขึ้นอีก 34% จากเดิมที่มีตู้แร็คทั้งสิ้น 461 ตู้ ทำให้ยอดตู้แร็คภายในดาต้าเซ็นเตอร์จะมีจำนวนทั้งสิ้น 617 ตู้ โดยดาต้าเซ็นเตอร์แห่งที่ 3 จะเริ่มเปิดดำเนินการภายในไตรมาส 1/61 นอกจากนั้น ยังพร้อมขยายบริการระบบไฟเบอร์ออปติก (FITx) ให้ครอบคลุมนิคมอุตสาหกรรมทั้งหมดของเหมราช จากเดิมที่ให้บริการอยู่ในนิคมฯ เหมราชเพียง 5 แห่ง

ทั้งนี้ ตามแผนเงินลงทุน 6.6 พันล้านบาทในปีนี้ จะแบ่งเป็นการลงทุนในธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม 31%, ลอจิสติกส์ 38%, ไฟฟ้าและสาธารณูปโภค 28% และดิจิทัล 3% ขณะที่จะมีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม 33% , ลอจิสติกส์ และ REITS 48%, ไฟฟ้าและสาธารณูปโภค 16% และดิจิทัล 3%

นายอรรถวิทย์ เฉลิมทรัพยากร ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน WHA กล่าวว่า บริษัทคาดว่า กำไรปี 61 จะดีกว่าปีก่อน จากรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนที่ตั้งเป้าหมายว่าจะเติบโต 25% รวมถึงการมีสัดส่วนรายได้ประจำ (Recurring income) เพิ่มขึ้นเป็น 39% จาก 35% ในปีที่แล้ว โดยรายได้ประจำจะมาจากค่าบริการสาธารณูปโภคน้ำ, ไฟฟ้า, ค่าเช่าอาคาร, การลงทุนในกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) ที่จะได้รับเงินปันผลกลับเข้ามา, การบริหารกอง REIT และธุรกิจดิจิทัล ซึ่งรายได้เหล่านี้นับว่ามีมาร์จินสูง ขณะที่วางเป้าหมายจะมี Recurring income และรายได้ที่ไม่ประจำ (Non-Recurring income) จะมีสัดส่วน 50:50 ในปี 63

นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะลดภาระต้นทุนทางการเงิน โดยกลุ่มบริษัทจะออกหุ้นกู้ในปีนี้ 1.2-1.3 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่ราว 70% จะใช้รีไฟแนนซ์ ส่วนที่เหลืออีกราว 30% จะใช้รองรับการขยายลงทุน สำหรับการออกหุ้นกู้ดังกล่าว แบ่งเป็นกองทรัสต์อสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าดับบลิวเอชเอ พรีเมียม โกรท (WHART) ในวงเงินกว่า 4 พันล้านบาท ช่วงเดือน มี.ค., WHAUP วงเงินราว 5 พันล้านบาท และ WHA วงเงินราว 3-4 พันล้านบาท ซึ่งในส่วนหุ้นกู้ของ WHAUP และ WHA จะทยอยออกในช่วงเดือน เม.ย. หรือ พ.ค.

รวมถึงมีแผนจะขายสินทรัพย์เข้ากองทรัสต์ 2 กองในปีนี้ รวมกว่า 5 พันล้านบาท ได้แก่ การขายสินทรัพย์เข้ากอง WHART ประมาณ 3-4 พันล้านบาท และกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์เหมราช (HREIT) ประมาณ 3 พันล้านบาท โดยมีเป้าหมายจะทำให้สัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ลดลงเหลือ 1.1 เท่าในปีนี้ จากระดับ 1.2 เท่าในปีที่แล้ว

ขณะเดียวกัน บริษัทยังอยู่ระหว่างการเจรจาดีลซื้อกิจการและร่วมลงทุน (M&A) ธุรกิจลอจิสติกส์ในพม่า และอินโดนีเซีย คาดว่าจะสรุปดีลในพม่าได้ภายในครึ่งแรกปีนี้ และอินโดนีเซียภายในปีนี้ นอกจากนี้ ยังมีแผนเดินทางไปนำเสนอข้อมูล (โรดโชว์) ในประเทศสิงคโปร์ ยุโรป และสหรัฐฯ ซึ่งที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน ทำให้ปัจจุบันมีนักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศถือหุ้นในบริษัทรวมกันราว 25% นับว่าเป็นระดับที่เหมาะสม

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่