วิเคราะห์แมตช์เตะลีกท็อป 10 เอเชีย : ไทยลีกอยู่ตรงไหน?

หากเทียบกับลีกใหญ่ของยุโรป โตโยต้า ไทยลีก ถือว่ามีจำนวนทีมเท่ากับ บุนเดสลีกา ของเยอรมนี ที่มี 18 ทีม และน้อยกว่า พรีเมียร์ลีก, ลา ลีกา รวมถึง กัลโช่ เซเรีย อา อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับชาติในเอเชียด้วยกัน เราอยู่ตรงจุดใด?

ประเด็นสำคัญ

จากการจัดลำดับ AFC Club Competitions Ranking ที่นำมาใช้จัดทีมวางในฟุตบอลสโมสรเอเชีย ไทยอยู่อันดับ 9 ขณะที่จำนวนทีมใน โตโยต้า ไทยลีก มีมากเป็นอันดับ 2 ร่วมของทวีป เท่ากับญี่ปุ่น ส่วนอันดับ 1 ได้แก่ลีกอิรักที่ 20 ทีม
ขณะเดียวกันจำนวนนัดในการลงเล่นฟุตบอลลีกของแต่ละทีมต่อ 1 ฤดูกาล โตโยต้า ไทยลีก จะอยู่ที่ 34 นัด ซึ่งถือว่ามากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของทวีปเช่นกัน
โดย AFC Club Competitions Ranking นั้น นอกจากจะนำผลงานของสโมสรตัวแทนแต่ละประเทศมาคิดแล้ว ยังนำอันดับโลกบนฟีฟ่าของทีมชาติมาคิดรวมด้วย
เงื่อนไขเวลาลีกเอเชีย

สิ่งที่เห็นจนชินตาสำหรับฟุตบอลยุโรป โดยเฉพาะลีกท็อป 5 อย่าง พรีเมียร์ลีก, ลา ลีกา, บุนเดสลีกา, กัลโช่ เซเรีย อา และ ลีก เอิง คือการจัดสรรโปรแกรมการแข่งขันที่ค่อนข้างลงตัวในระดับสโมสรและทีมชาติ ที่มีการแบ่งแยกกันชัดเจนระหว่างฟีฟ่าเดย์กับฟุตบอลลีก เช่นเดียวกันกับทัวร์นาเม้นต์รอบสุดท้ายของทุกช่วงอายุก็จะมีช่วงเวลาเตะที่ชัดเจนว่าเป็นฤดูร้อนที่ฟุตบอลลีกหยุดพัก

ทว่า เมื่อหันกลับมายังเอเชีย จะพบว่าทัวร์นาเม้นต์ระดับนานาชาติมีการกระจายอยู่ในช่วงต่างๆ ของแต่ละปี เพราะนอกจากเอเชียน คัพ ที่เปรียบเสมือนเป็นฟุตบอลยูโรเวอร์ชั่นเอเชียแล้ว ก็ยังมีรายการแข่งขันระดับภูมิภาคของแต่ละทวีปแยกย่อยลงไป อาทิเช่น เอเอฟเอฟ คัพ ของอาเซียน, อีเอเอฟเอฟ ของเอเชียตะวันออก,  ดับเบิ้ลยูเอเอฟเอฟ ของตะวันออกกลาง ที่ยังมี อราเบียน กัล์ฟ คัพ ที่จัดแข่งเฉพาะชาติในอ่าวเปอร์เซียแยกออกไปอีก เช่นเดียวกับ เอสเอเอฟเอฟ คัพ ที่เป็นของชาติในเอเชียใต้ ยังไม่นับรวมมหกรรมกีฬาอย่าง ซีเกมส์, อีสต์ เอเชียน เกมส์, เซ็นทรัล เอเชียน เกมส์ และเอเชียนเกมส์ เข้าไปอีก ขณะเดียวกันทัวร์นาเม้นต์ระดับโลกอย่างคอนเฟเดเรชั่นส์ คัพ, ฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ไม่ว่าจะเป็นชุดใหญ่, U-20 หรือ U-17 ก็มาจัดในช่วงกลางปี

นอกจากนี้ด้วยสภาพอากาศที่รุนแรง ซึ่งมีทั้งร้อนจัด  ฝนตกหนัก จนถึงหนาวจัด ทำให้จำนวนทีมในลีกเอเชียจึงมีไม่มาก และจำนวนเกมส่วนใหญ่จะไม่เกิน 30 นัดต่อฤดูกาล

จำนวนทีมและแมตช์แข่งขันของชาติ 10 อันดับแรกใน AFC Club Competitions Ranking

1. จีน - 16 ทีม 30 แมตช์

2. ยูเออี - 14 ทีม 26 แมตช์

3. กาตาร์ - 14 ทีม 26 แมตช์

4. ญี่ปุ่น - 18 ทีม 34 แมตช์

5. เกาหลีใต้ - 12 ทีม 38 แมตช์

6. ซาอุดีอาระเบีย - 14 ทีม 26 แมตช์

7. อิหร่าน - 16 ทีม 30 แมตช์

8. ออสเตรเลีย - 10 ทีม 27 แมตช์ (ฤดูกาลปกติ)

9. ไทย - 18 ทีม 34 แมตช์

10. อิรัก - 20 ทีม 38 แมตช์

จะเห็นว่าในบรรดา 10 อันดับแรก มีเพียง เกาหลีใต้ และ อิรัก ที่มีจำนวนนัดมากกว่า และส่วนใหญ่จะมีจำนวนทีมรวมถึงจำนวนนัดที่น้อยกว่าไทยทั้งสิ้น

เกมน้อยลง ≠ คนดูน้อยลง

ใน เอ ลีก ของออสเตรเลีย เมื่อฤดูกาลที่ผ่านมา มีคนดูเฉลี่ย 12,294 คนต่อนัด จาก 135 เกมที่ลงเตะ ทั้งที่ไม่ใช่กีฬายอดฮิตอันดับ 1 ของประเทศ ขณะที่ ไทยลีก อยู่ที่ 4,574 คนต่อนัด โดยปีที่ผ่านมาเตะไปทั้งสิ้น 306 นัด ซึ่งนี่คือตัวชี้วัดว่าการที่มีเกมมากขึ้น ผู้ชมไม่ได้เพิ่มมากขึ้นเสมอไป

นัยหนึ่งสามารถอนุมานได้ว่า เมื่อแมตช์การแข่งขันมีจำนวนที่พอเหมาะ มีการทิ้งช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม ก็ทำให้แฟนบอลกระหายที่จะตามไปเชียร์ทีมรักมากขึ้น เพราะเกมส่วนใหญ่จะลงล็อคที่ช่วงสุดสัปดาห์ ทำให้กองเชียร์ทีมเยือนสามารถใช้วันหยุดเดินทางไปพักผ่อนได้อีกด้วย ซึ่งการเตะกลางสัปดาห์ชนสุดสัปดาห์ทำให้ช่องว่างของระยะเวลาที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวทำได้น้อยลง

นอกจากนี้ เมื่อถึงฤดูมรสุมก็ยังสามารถเบรคลีกหนีฝนเหมือนกับลีกส่วนใหญ่ของยุโรปที่พักเบรคหนีหนาวได้อีกด้วย ทำให้โปรแกรมเตะนิ่งขึ้น ไม่ต้องยกเลิกกลางคันจนแฟนบอลต้องไปเก้อเหมือนที่ผ่านมา

ปัจจุบันการมีทีมในลีกสูงสุด 18 ทีม ทำให้เกมต้องอัดแน่นตลอดทั้งสัปดาห์ ด้วยเงื่อนไขเวลาที่ปฏิทินการแข่งขันต้องทำตามที่เอเอฟซีกำหนด จะคร่อมปีแบบยุโรปที่ตามยูฟ่าไม่ได้ เนื่องจากต้องตัดสินทีมที่จะร่วมเล่นรายการของทวีปก่อนเดือนธันวาคม

ขณะเดียวกัน แมตช์ที่เพิ่มมากขึ้น ย่อมหมายความถึงค่าใช้จ่ายในส่วนที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติงานของสโมสร อาทิเช่น ค่าไฟ, ค่าน้ำ, ค่าพักงานรักษาความปลอดภัย, ค่าเดินทาง ของแต่ละสโมสร ก็จะเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว เช่นเดียวกับนักเตะที่มีอาการเหนื่อยล้าสะสมจนส่งผลให้เกิดอาการบาดเจ็บและฟอร์มตกตามมา

นักเตะกรอบส่งผลถึงค่าสัมประสิทธิ์ในเอเอฟซี

แน่นอนว่าเมื่อผู้เล่นเกิดฟอร์มตกหรือบาดเจ็บ ก็จะทำให้ผลงานของทีมสะดุด และหากเป็นทีมที่ได้ไป เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ ลีก ก็จะส่งผลถึงค่าสัมประสิทธิ์ในเอเอฟซี โดยจะมีการคิดคะแนนจากผลงานของสโมสรตัวแทนแต่ละประเทศ 90 เปอร์เซ็นต์ และจากฟีฟ่าแรงกิ้งอีก 10 เปอร์เซ็นต์

ดังนั้นถ้าหากอาการบาดเจ็บหรือฟอร์มตกเกิดขึ้นกับนักเตะที่เป็นกำลังสำคัญทั้งในระดับสโมสรและทีมชาติ ก็จะเกิดผลกระทบหลายอย่างที่ตามมา ไม่ว่าจะเป็นผลงานของต้นสังกัดในลีก เช่นเดียวกับ เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ ลีก ในกรณีที่ต้นสังกัดได้เข้าร่วมเล่น รวมถึงทีมชาติ จนลุกลามไปถึงสัมประสิทธิ์ที่ได้รับจากสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย

สำหรับในตอนนี้ ไทยอยู่ในอันดับ 5 ของโซนตะวันออกตามการแบ่งโซนของฟุตบอลสโมสรเอเชีย โดยมีคะแนนรวมที่ 45.532 ซึ่งมีแต้มมากกว่า มาเลเซีย ที่มีอยู่ 35.664 ไม่ถึง 10 คะแนน เพราะฉะนั้นหากมีผลงานที่ไม่ดีทั้งในระดับสโมสรและทีมชาติ ก็จะส่งผลถึงโควต้า เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ ลีก ในอนาคต

เห็นได้ว่าประเทศที่มีนักเตะทีมชาติค้าแข้งในประเทศเป็นส่วนใหญ่ จะมีจำนวนทีมและแมตช์การแข่งขันในลีกที่สมดุลกันระหว่างสโมสรกับทีมชาติ มีเพียง 3 ประเทศ นั่นก็คือ ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ และอิรัก อันเป็นประเทศที่ส่งออกนักเตะไปค้าแข้งยังต่างแดน ที่มีจำนวนเกมมากกว่าลีกประเทศอื่นๆ



เขียน/เรียบเรียง : ศุภโชค อ่วมกลัด

ที่ปรึกษา : พาทิศ ศุภะพงษ์
ที่มา/http://fathailand.org/news/1756
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่