สายสัมพันธ์ไทย – จีน (1)


“จีนไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” เป็นวาทกรรมที่พิสูจน์ความสัมพันธ์อันแนบชิดยาวนาน ของคนไทยและคนจีน ซึ่งยังคงความแน่นแฟ้นอย่างต่อเนื่องต่อไป

ความสัมพันธ์ระดับบุคคลหรือประชาชนนี้เองทำให้การพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแนบแน่นยิ่งขึ้นโดยลำดับ สอดคล้องกับคำกล่าวของจีนแต่โบราณว่า “ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ขึ้นอยู่กับความใกล้ชิดของประชาชน ความใกล้ชิดของประชาชน ขึ้นอยู่กับความเข้าใจระหว่างกัน”

ด้วยความที่วัฒนธรรมของสองประเทศมีส่วนคล้ายคลึงกัน คนไทยกับคนจีนจึงมีความเข้าใจอันดีต่อกัน และไปมาหาสู่กันตลอดเวลา นับจากอดีตมีคนจีนอพยพเข้ามาอยู่ในเมืองไทยเป็นจำนวนมาก ผ่านจากรุ่นสู่รุ่น จนปัจจุบันกลายเป็นคนไทยอย่างเต็มตัว ซึ่งไม่ได้มีการแบ่งแยกเชื้อชาติออกจากกันอย่างเด่นชัดเหมือนในบางประเทศ


ความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศยังสะท้อนมาจากความสัมพันธ์ในระดับราชวงศ์ของไทย โดยเฉพาะสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมีความมุ่งมั่นในการศึกษาภาษาจีนและค้นคว้าวิจัยทางด้านศิลปวัฒนธรรมจีนอย่างลึกซึ้ง ทรงเคยตรัสว่า “ภาษาจีนนั้นสามารถนำคนเข้าสู่อาณาจักรแห่งความรู้อันอุดมไพศาลแหล่งหนึ่งของโลกได้อย่างสมบูรณ์ ยิ่งศึกษาก็ยิ่งตระหนักในขอบเขตอันกว้างขวางลุ่มลึกนั้น”


สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงศึกษาอยู่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง เป็นเวลาหนึ่งเดือน ระหว่างวันที่ 14 ก.พ. – 15 มี.ค. พ.ศ. 2544 ทรงเคยเล่าให้อาจารย์และนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งฟังถึงสาเหตุที่เลือกเรียนภาษาจีนว่า ตอนแรกไม่ได้คิดอยากเรียน เพราะคิดว่าภาษาจีนเป็นภาษาที่ยากมาก แต่มาคิดว่าตัวเองเป็นคนเอเชีย ในเอเชียมีประเทศใหญ่อยู่ 2 ประเทศ คือ อินเดียและจีน การเรียนภาษาอินเดียและจีนจึงสำคัญมาก ประกอบกับสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้รับสั่งว่า เรียนภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ล้วนเป็นภาษาตะวันตก คิดว่าน่าจะเรียนภาษาจีน พระองค์จึงทรงปรึกษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ซึ่งก็ทรงเห็นด้วย


นอกจากนั้นยังทรงพระอุตสาหะในการสร้างสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ได้เสด็จฯ เยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นครั้งแรก (และเป็นพระราชวงศ์ไทยคนแรกที่เสด็จฯ เยือนจีน ภายหลังจากการสถาปนาเป็นสาธารณรัฐประชาชนจีน) ระหว่างวันที่ 12-19 พฤษภาคม พ.ศ. 2524 หลังจากนั้นก็เสด็จฯ เยือนจีนหลายครั้ง กระทั่งเสด็จฯ เยือนครบทุกมณฑลในปี 2547

และด้วยพระจริยวัตรที่งดงาม เป็นกันเอง ไม่ถือพระองค์ ตลอดจนทรงมีพระอารมณ์ขัน จึงทรงเป็นขวัญใจของพระอาจารย์ พระสหาย และชาวจีนมาโดยตลอด กระทั่งประชาชนชาวจีนเรียกขานพระองค์ว่า “ฟ้าหญิงสิรินธร” หรือ “สิรินธร”


กระทรวงศึกษาธิการของจีนได้ทูลเกล้าฯ ถวาย “รางวัลมิตรภาพภาษาและวัฒนธรรมจีน” เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2543 และสมาคมมิตรภาพวิเทศสัมพันธ์แห่งประชาชนจีนได้ถวายพระสมัญญานามให้ทรงเป็น “ทูตสันถวไมตรีไทย – จีน” เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2547 จากการที่ทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับจีนมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ในปี 2552 ประชาชนชาวจีนมากกว่า 2 ล้านคนลงคะแนนโหวตเทิดทูนและยกย่องพระองค์ให้ทรงเป็นหนึ่งในสิบ “มิตรที่ดีที่สุดในโลก” ของประชาชนชาวจีน


สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานความเห็นที่มีต่อชาวจีนในประเทศไทยแก่อาจารย์ เผย์เสี่ยวลุ่ย ว่า “ชาวจีนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยไม่เคยถูกมองว่าเป็นคนต่างชาติเลย และมีสิทธิเท่าเทียมกับคนไทยทุกประการ นายกรัฐมนตรีของไทยหลายคนก็เป็นลูกหลานจีน แม้จะมีเชื้อสายจีนแต่ก็เป็นคนไทยเต็มตัว”


พระองค์เสด็จพระราชดำเนินร่วมงานเทศกาลตรุษจีนที่เยาวราชเป็นประจำทุกปี ด้วยทรงให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมจีนและคนจีนในประเทศไทยอย่างเด่นชัด

พระองค์ได้ทรงหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งมิตรภาพและสายสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่หยั่งรากลึก สมกับการเป็นทูตสันถวไมตรีไทย – จีน ที่เราคนไทยก็ยินดีเดินตาม


[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่