….โจทก์และจำเลย "สิทธิ์ในการแก้แค้น" /ความศิวิไลซ์ในยุคนู้น....byวัชรานนท์

กระทู้คำถาม
ได้อ่านคห.๒ ของพี่สาวเหลือน้อยจากกระทู้นี้ว่าด้วยเรื่องกฏหมายที่ว่า แค่ยืนดูเฉยๆ ไม่ห้ามปรามหรือเชียร์ กฏหมายก็เอื้อมมือเข้าไปถึงแล้ว   กอร์ปกับกระทู้ของจ่าพิเชษฐ์ที่พึ่งตั้งว่าด้วยจำเลยกับลูกคู่ข้างล่างนี้   ทำให้อดประหวัดไปถึงพระไอยการ (กฏหมาย) เก่าๆ ของไทยตั้งแต่นู้น...สมัยอยุธยามาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ที่มีบัญญัติ "กฏหมายตราสามดวง" ที่ผมเคยอ่านผ่านตามาไม่ได้     กฏหมายสมัยใหม่นี้ผมไม่ประสีประสาอะไรกับเขาหรอก  แต่กฏหมายสมัยเก่าก็พออ่านผ่านตามาบ้าง   จึงเอามาเล่าสู่กันฟังในเชิง  รู้ไว้ใช่ว่า  ใส่บ่าแบกหามประมาณนั้นล่ะครับ


ในกฏหมายตราสามดวงที่บัญญัติขึ้นในสมัยร.๑ มีกฏหมายว่าด้วย “โจร ๕ เส้น”   เป็นกฏหมายที่ป้องกันการปล้นทรัพย์ได้อย่างดีทีเดียว  "๕ เส้น” ที่ว่านี้หมายถึง “ระยะทาง” นะครับ    หมายความว่า  เมื่อเกิดเหตุปล้นในท้องที่ใด   คนที่อาศัยอยู่ในรัศมีของ “จุด” ที่ถูกปล้นในระยะ ๕ เส้น   คนที่ในรัศมีนั้นต้องรับผิดชอบ  เช่นว่าช่วยปราบโจร  ตะโกนบอกราชการ หรือใดๆ ก็แล้วแต่ที่จะขัดขวางการปล้นหรือช่วยเจ้าหน้าที่จับกุมผู้ร้าย   ถ้าไม่ทำตามนั้นถือว่ามีความผิด !!   ต้องได้รับโทษกันถ้วนหน้า   เจ้าของทรัพย์เองก็ผิดด้วยในฐานะที่ประมาทเลิ่นเล่อไม่ดูแลทรัพย์สินตัวเอง !!


จริงๆ แล้วกฏหมายว่าด้วย “โจร ๕เส้น” นี้มีมาก่อนกฏหมายตราสามดวง   เป็น พระไอยการที่ตราเอาไว้ตั้งสมัยปลายอยุธยา   แต่ร.๑ ท่านทรงมาแก้ไขให้ทันสมัยแล้วประมวลเข้าในกฏหมายตราสามดวง   โดยการเพิ่มรัศมีเขตความรับผิดชอบจาก ๓ เส้น และยี่สิบวาอะไรนี่แหละผมจำไม่ได้ (เขียนสดๆ) มาเป็น ๕ เส้น  เขาจึงเรียกกฏหมายนั้นว่าโจร ๕ เส้น


พูดถึงความศิวิไลซ์ของกฏหมายสมัยโบราณแล้ว  ขอทิ้งท้ายไว้อีกหมวดหนึ่งล่ะกันนะครับ   คือบทลงโทษประหารชีวิต   แต่ก่อนแม้อำนาจสั่งประหารชีวิตจะถูกพิพากษาโดยเจ้าแห่งแว่นแคว้นก็จริง    แต่บางกรณีคำพิพากษาจะสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อญาติของผู้เสียหายตกลงใจว่าให้ประหารได้เท่านั้น   เช่นว่า นายก. ไปฆ่านายข. ตาย   แล้วถูกรัฐสั่งประหารชีวิตนายก.   แต่เมื่อญาตินาย ข. ผู้ตายไม่ติดใจเอาความไม่เห็นด้วยกับการประหารชีวิต   ด้วยเกรงว่าจะเป็นเวรเป็นกรรมต่อกัน   อาจจะมีเงื่อนไขว่า นายก. ต้องช่วยเหลือทำศพนายข. หรือช่วยเหลืออะไรก็แล้วแต่   การประหารชีวิตก็จะไม่เกิดขึ้น    ร.แลงกาต์ ที่ปรึกษากฏหมายของ ร.๖ ชาวฝรั่งเศสผู้ศึกษาและผู้ตรวจสอบกฏหมายตราสามดวงและกฏหมายในสมัยอยุธยาอธิบายปรากฏการณ์ตรงนี้ว่า  “สิทธิ์ในการแก้แค้น” นั่นก็คือ   ญาติของผู้ตายมีสิทธิ์ให้อภัยหรือแก้แค้นต่อฆาตกรที่ฆ่าญาติของตนได้   ปรากฏว่าส่วนใหญ่มักจะให้อภัยแก่นักฆ่าตกรโทษประหารเพราะไม่อยากให้เป็นเวรกรรม   ซึ่งก็เท่ากับปล่อยเสือเข้าป่า  ฆาตกรก็กลับมาฆ่ามาทำร้ายสังคมอีก    สุดท้ายเจ้าแห่งแว่นแคว้นก็รวบอำนาจเด็ดขาดในการตัดสินประหารชีวิตหรือพระราชทานอภัยโทษมาไว้ที่พระองค์เองเพื่อความสงบสุขของแว่นแคว้น
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่