ค่าของพลาสติก

เมื่อคนกินพลาสติกอย่างไม่ตั้งใจผ่านอาหารทะเลทั้งหลาย แล้วเราจะลดปริมาณพลาสติกที่เข้าสู่ร่างกายได้อย่างไร

คิดเร็ว ๆ ทางเลือกที่ง่ายที่สุดแบบตัวใครตัวมันก็คือ ลด ละ เลิกการกินอาหารทะเลซะ แต่ถ้ากุ้งหอยปูปลายังเป็นอาหารที่ยั่วน้ำลาย ก็ต้องลองคิดแบบยาก ๆ สักหน่อย..

มาช่วยกันลดปริมาณขยะพลาสติกกันเถอะ ทางเลือกนี้ นอกจากจะดีต่อร่างกาย ยังดีต่อท้องทะเลและโลกด้วยนะ


นวัตกรรมในปัจจุบันที่รุดหน้าไปมาก ทำให้ biodegradable plastic หรือพลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อีกต่อไป

แต่เสียใจด้วยที่ต้องบอกว่า การหันมาใช้ biodegradable plastic ไม่ใช่แสงสว่างที่ปลายทางอุโมงค์ของการแก้ปัญหาขยะพลาสติกในท้องทะเล

การย่อยสลายของพลาสติกประเภทนี้จำเป็นต้องมีสภาวะที่เหมาะสม เช่น อยู่ในอุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส วิธีที่ดีที่สุดคือการส่งกำจัดอย่างถูกต้องในโรงกำจัดที่รองรับได้ ซึ่งก็มีอยู่อย่างจำกัด  


ลองจินตนาการว่า ถ้าถุงพลาสติกแบบ biodegradable ไปจบที่ท้องทะเลจะเป็นเช่นไร เป็นไปได้มากทีเดียวว่า ถ้าไม่ถูกปลาเล็กปลาใหญ่กินไปซะก่อน ก็จะผุพังกัดกร่อนทางกายภาพ กลายเป็นไมโครพลาสติก เพราะคงไม่มีทะเลที่ไหนที่ร้อนพอที่จะย่อยพลาสติกได้

สุดท้ายก็ต้องกลับมาคิดว่า ในฐานะผู้บริโภคเราจะลดการใช้พลาสติกได้อย่างไร โดยเฉพาะพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (single-use plastic) ซึ่งมักเป็นบรรจุภัณฑ์อาหารหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการรับประทานอาหาร เช่น ถุงพลาสติก หลอด แก้วกาแฟ ขวดน้ำ ช้อน ส้อมและจานพลาสติก ฯลฯ

และด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันที่รับประทานอาหารนอกบ้านแทบทุกมื้อ ทำให้เราสร้างขยะพลาสติกจำนวนมหาศาลอย่างไม่รู้ตัว  

การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ปฏิเสธถุงพลาสติกเวลาช้อปปิ้ง ใช้แก้วส่วนตัวเสมอเวลาซื้อกาแฟ หรือกระทั่งเลิกใช้หลอด รวมไปถึงเพิ่มโอกาสในการใช้ซ้ำและการนำไปรีไซเคิล เป็นจุดเริ่มต้นที่ทุกคนทำได้ทันที แม้จะต้องใช้พลังใจกันสักหน่อย เพราะพลาสติกอำนวยความสะดวกให้เรามาเนิ่นนานเหลือเกิน


แน่นอนว่าไม่ใช่แค่ผู้บริโภคเท่านั้นที่ต้องเปลี่ยนพฤติกรรม ผู้ผลิตก็จำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีคิด หันมามองว่า พลาสติกเป็นวัสดุที่มีมูลค่าควรใช้ซ้ำและรีไซเคิล สอดคล้องกับแนวคิดที่กำลังได้รับความนิยมและเป็นที่พูดถึงกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ในประเทศตะวันตกเรียกว่า circular economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน  

แนวคิดนี้พยายามเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานสิ่งของแบบเส้นตรงหรือ “การใช้ทรัพยากร การผลิตสินค้า การทิ้งทำลาย (take-make-dispose)” เป็นการนำของที่ใช้แล้วมาเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ (re-material) ลดการหมดเปลืองของทรัพยากรในโลกที่มีจำกัด  

ในปัจจุบันมีความร่วมมือที่เรียกว่า The New Plastics Economy นำโดยมูลนิธิ  Ellen MacArthur ที่ชักชวนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นบริษัทชั้นนำ ภาครัฐ นักวิชาการ เอ็นจีโอ และผู้ที่สนใจมาช่วยกันขบคิดว่าจะสร้างระบบเศรษฐกิจที่ผลิตและใช้พลาสติกในรูปแบบใหม่ ๆ ได้อย่างไร

โดยต้องคิดกันตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ ไปจนถึงหลังหมดชีวิตการใช้งาน (after end-of-life) ว่าจะใช้พลาสติกให้คุ้มค่าหรือกำจัดให้มีประสิทธิภาพที่สุด

ซึ่งสิ่งที่ The New Plastics Economy พยายามจะทำนั้นคือการสร้างข้อตกลงที่เรียกว่า The Global Plastics Protocol หรือข้อตกลงว่าด้วยพลาสติกโลกขึ้นมานั่นเอง


ทุกวันนี้ แบรนด์ชั้นนำมากมายได้นำเอาแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ เช่น อาดิดาส (Adidas) แบรนด์ชั้นนำด้านเสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬาได้ตั้งเป้าหมายว่า ในปี 2560 จะผลิตรองเท้ากีฬา 1 ล้านคู่ที่ใช้ขยะพลาสติกจากทะเลเป็นวัสดุในการผลิต  

ส่วนพรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล หรือพีแอนด์จี ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ของโลกได้ออกมาประกาศว่าจะใช้พลาสติกรีไซเคิลจากทะเลเป็นวัสดุในการผลิตขวดแชมพูเฮดแอนด์โชว์เดอร์ถึง 25% ซึ่งนับว่าเป็นแบรนด์แรกของโลกที่ก้าวล้ำคู่แข่งไปไกลเลยทีเดียว  


แบรนด์ชั้นนำเหล่านี้ นอกจากจะแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างสร้างสรรค์ในฐานะผู้ผลิตแล้ว ยังเป็นการสร้างความตระหนักรู้ และเสนอทางเลือกให้ผู้บริโภคที่ให้ความสนใจต่อประเด็นสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

หันมามองแบรนด์ในเมืองไทย เราก็เห็นความพยายามในการลดการใช้ถุงพลาสติกกันมากขึ้น ร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-11 ได้ทำโครงการ “คิดถุ๊ง คิดถุง” รณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกต่อเนื่องมานานหลายปี เน้นสร้างความตระหนักรู้ในกลุ่มนักเรียนและนักศึกษา และส่งเสริมให้ลูกค้าที่ซื้อของชิ้นเล็กไม่รับถุงพลาสติก  


ส่วนซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่เช่นท้อปส์ ก็แจกพ้อยส์สะสมแต้มให้ลูกค้าที่ช้อปด้วยกระเป๋าผ้าหรือไม่รับถุงพลาสติก


ซึ่งผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ก็คงต้องร่วมด้วยช่วยกันคนละเล็กละน้อย เพื่อที่สุดท้ายแล้วเราจะสร้างขยะพลาสติกกันน้อยลง ทำร้ายโลกน้อยลง กินพลาสติกกันน้อยลง…สักนิดก็ยังดี


แหล่งข้อมูล
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

เครดิต: แมนต้าบินได้

ตอนแรก...พลาสติก...กินได้? https://ppantip.com/topic/37206299
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่