[SR] "วันเดียวเที่ยวครบ" ที่เชียงคาน [One day fully trip]

สวัสดีค่ะทุกคน พวกเราได้มีโอกาสไปศึกษาสถานที่ท่องเที่ยวในอำเภอเชียงคาน ช่วงนี้เป็นช่วงเข้าสู่ฤดูหนาวในอำเภอเชียงคาน พวกเราจึงมีความสนใจนำสถานที่ท่องเที่ยวมานำเสนอให้ทุกคนได้ชมกันค่ะ หากผิดพลาดประการใดก็ขออภัยมา ณ ที่นี่ด้วยนะคะ


การเดินทางจากรุงเทพ-เลย
1. เดินทางโดยรถโดยสาร สถานีหมอชิต ลงที่สถานีขนส่งจังหวัดเลย สามารถนั่งรถประจำทางเลยเชียงคานมาลงที่สถานีขนส่งอำเภอเชียงคาน
2. เดินทางโดยเครื่องบิน สามารถขึ้นรถตู้รับส่งเชียงคานที่สนามบินได้
3. เดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว ขับรถตามเส้นทางถนนมิตรภาพ ประมาณ 520 กิโลเมตร ไปทางถนนมะลิวรรณถึงทางแยก กม.0 ให้เลี้ยวซ้าย แล้วขับตรงมาจนถึงทางเชียงคานแล้วเลี้ยวซ้าย

สถานที่แรกที่แนะนำนะคะ คือ แก่งคุดคู้ แก่งคุดคู้ ห่างจากตัวอำเภอเชียงคานประมาณ 4 กิโลเมตร บนถนนเชียงคาน-ปากชม จากตลาดสดเทศบาลตำบลเชียงคาน ใช้ทางหลวงหมายเลข 211 ประมาณ 2 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายตามป้ายบอกทางอีก 2 กิโลเมตร สุดทางที่ “แก่งคุดคู้” พอดี
แก่งคุดคู้ เปรียบได้กับสถานที่ตากอากาศของคนเชียงคาน รวมไปถึงนักท่องเที่ยวที่พิสมัยในความงามตามธรรมชาติ ทำให้สัมผัสแรกที่มาเยือนจึงไม่แปลกใจนักว่า ทำไมสถานที่แห่งนี้ ถึงมีแรงดึงดูดให้ใครต่อใคร ใคร่อยากมาสัมผัสกันบ้างสักครั้ง เพราะวิวของลำนำโขงที่กว้างขวางสุดลูกหูลูกตา ทอดตัวยาวขนานไปสองฝั่งไทย-ลาว และในช่วงที่น้ำลดจะเห็นเกาะแก่งน้อยใหญ่ต่างๆ โดยมีภูเขาลูกยักษ์ที่ชื่อ “ภูควายเงิน” ตั้งตระหง่านเป็นฉากหลังอยู่ฝั่งตรงข้ามอย่างลงตัวนั่นเอง และที่สำคัญความงดงามนั้นจะทวีคูณขึ้นไปอีกหลายเท่า หากใครขยันตื่นเช้ามาเฝ้าชมพระอาทิตย์ขึ้นเหนือสันเขาแห่งนี้
นอกจากนี้ บริเวณรอบๆ จุดชมวิว ยังมีพ่อค้าแม่ขายมาจับจองพื้นที่เปิดซุ้มจำหน่ายอาหาร ซึ่งมีทั้งปลา กุ้ง หอย ที่ต่างก็มีชื่อแม่น้ำโขงห้อยท้าย ไปจนถึงส้มตำ ไก่ย่าง ลาบ น้ำตก ฯลฯ ซึ่งดูแล้วนักท่องเที่ยวที่มาแก่งคุดคู้ส่วนใหญ่ ก็นิยมมานั่งรับประทานอาหารกันที่ริมโขงแห่งนี้ เพราะบรรยากาศในการรับประทานอาหารริมแม่น้ำโขงแบบใกล้ชิด ชนิดที่เรียกได้ว่า ติดริมฝั่งแบบนี้คงหาที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว และก่อนกลับอย่าลืมแวะซื้อของฝากขึ้นชื่ออย่าง “มะพร้าวแก้ว” แสนอร่อย ที่ทำมาจากมะพร้าวกะทิเนื้อหนานุ่ม หรือมะพร้าวน้ำหอมรสละมุนเคี่ยวกับน้ำตาล สูตรเฉพาะ รวมไปกุ้งทอดที่มาเป็นชิ้นวงกลมขนาดใหญ่ กินเปล่าๆ หรือจะกินคู่กับน้ำจิ้มรสเด็ด บอกได้คำเดียวว่า อร่อยเหาะเหนือแม่น้ำโขงเลยทีเดียว
ช่วงเวลาแนะนำ : กุมภาพันธ์ – พฤษภาคม เพราะเป็นช่วงที่น้ำแห้งจะมองเห็นแก่งได้ชัดเจน  (จากภาพที่เป็นช่วงปลายฝน ต้นหนาว ปริมาณแม่น้ำโขงเยอะมาก แต่มาเที่ยวตั้งแต่เช้า นักท่องเที่ยวจะได้เห็นทะเลหมอกในหน้านาว)
ไฮไลท์ : แก่งหินขนาดใหญ่ที่ขวางอยู่กลางลำน้ำโขงบริเวณช่วงโค้งพอดี ทำให้เกิดกระแสน้ำเชี่ยวไหลผ่านแก่ง ในหน้าน้ำ น้ำจะท่วมจนมองไม่เห็นแก่ง (ในช่วงหน้าร้อน)
กิจกรรม : ล่องเรือหางยาวชมทิวทัศน์สองฝั่งไทย-ลาว / เดินเล่นพักผ่อนชมความงามของแก่งหิน / ชมวิถีชีวิตชาวบ้านที่ล่องเรือหาปลาในแม่น้ำโขง / เดิน เที่ยว ชิม อาหารอร่อยๆ จากแม่น้ำโขง
แก่งคุดคู้มีตำนานที่เล่าต่อกัน ตามตำนานได้กล่าวว่า นานมาแล้วมีนายพรานชาวลาวคนหนึ่งชื่อตาจึ่งคึง นายพรานผู้นี้มีรูปร่างสูงใหญ่ มีจมูกสีแดงใบโต ซึ่งรูจมูกนั้นกว้างมากในยามที่ตาจึ่งคึงนอนหลับเด็กๆได้แอบเข้าไปเล่นสะบ้าในรูจมูก จึงมีคำกล่าวเป็นภาษาเลยว่า “จึ่งคึงดังแดง นอนตะแคงจุฟ้า เด็กน้อยเล่นสะบ้าอยู่ในฮูดัง”
ตาจึ่งคึงเป็นผู้มีความสามารถในการล่าเนื้อป่า(สัตว์ป่า)และเนื้อน้ำ(สัตว์น้ำ) ความเก่งกาจของเขาเป็นที่เลื่องลือไปไกลในทั่วสารทิศ บ่ายวันหนึ่งในขณะที่ตาจึ่งคึงกำลังหาปลาอยู่ริมแม่น้ำโขงได้แลไปเห็นควายเงินตัวใหญ่มากินน้ำอยู่ฝั่งตรงข้าม ด้วยความปรารถนาที่อยากจะกินเนื้อควายสีเงินตัวนี้ ตาจึ่งคึงจึงซุ่มดักยิงควายเงินอยู่ที่พุ่มไม้ริมน้ำ ในระหว่างที่เขากำลังเหนี่ยวไกลปืนได้มีเรือสินค้าแล่นมาจากทางใต้ ควายเงินเห็นเรือสินค้าเกิดตกใจวิ่งหนีเข้าป่า ตาจึ่งคึงจึงยิงพลาดเป้า ด้วยความโกรธพ่อค้าที่เป็นเหตุให้เขาไม่สามารถล่าควายเงินได้ ตาจึ่งคึงจึงยิงปืนไปที่ภูเขาลูกหนึ่งที่ตั้งอยู่ริมน้ำฝั่งลาวเพื่อระบายความโกรธ ด้วยความแรงของกระสุนปืนทำให้ยอดเขานั้นขาดหวิ่นไป ซึ่งในเวลาต่อมาภูเขาลูกนี้จึงได้ชื่อว่า “ผาแบ่น” และหมู่บ้านในฝั่งไทยที่อยู่ตรงข้ามก็ถูกเรียกว่า “บ้านผาแบ่น” (แบ่น หมายถึง เล็ง)
ไม่เพียงเท่านี้ตาจึ่งคึงได้หาวิธีที่จะทำให้เรือสินค้าไม่รบกวนการล่าสัตว์ของเขา โดยตาจึ่งคึงได้นำก้อนหินจากภูเขามากั้นลำน้ำไว้ เณรน้อยเห็นดังนั้นจึงคิดว่าถ้าหากตาจึ่งคึงนำหินมากั้นน้ำโขงได้สำเร็จคง จะสร้างความเดือดร้อนให้กับคนและสัตว์ที่อาศัยน้ำโขงในการดำรงชีพและเป็นเป็นเส้นทางสัญจรไปมา เณรน้อยจึงได้ออกอุบายให้ตาจึ่งคึงนำไม้ไผ่มาทำเป็นไม้คานใช้ในการหาบก้อนหิน เพราะการทำเช่นนี้จะใช้เวลาน้อยกว่าถือหินไปที่ละก้อน ตาจึ่งคึงหลงเชื่อกลอุบาย จึงนำไม้ไผ่มาทำเป็นไม้คานหาบก้อนหิน ในระหว่างที่หาบไปนั้นไม้คานเกิดหัก ความคมของไม้คานซึ่งเป็นไม้ไผ่ได้บาดคอตาจึ่งคึงถึงแก่ความตาย ร่างของตาจึ่งคึงนอนตายในลักษณะคุดคู้ บริเวณที่เขานำก้อนหินมากั้นน้ำไว้จึงได้ชื่อว่า “แก่งคุดคู้”

ถ้าได้แวะมาแก่งคุดคู้อีกสถานที่ที่จะพลาดไม่ได้เลยก็คือ วัดท่าแขก วัดท่าแขกตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง ห่างจากอำเภอเชียงคาน 2 กิโลเมตร ก่อนถึงหมู่บ้านน้อยและแก่งคุดคู้ ภายในโบสถ์มีพระพุทธรูป 3 องค์สกัดจากหินทรายทั้งก้อน เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่และศักดิ์สิทธิ์ มีอายุประมาณ 300 กว่าปี
วัดท่าแขกสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ พ.ศ.2209 ตรงกับ จุลศักราช 1028 วันเสาร์ ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 5 ปีมะเมีย ตามหลักศิลาจารึกตัวหนังสือ กล่าวว่า ท้าวสุวรรณแผ้วพ่าย พระโอรสของกษัตริย์ลานช้าง แห่งเมืองหลวงพระบาง เป็นผู้ก่อสร้าง
พระประธานในวัดเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ ประมาณ 300กว่าปี แกะสลักด้วยหินทั้งก้อน รวมทั้งหมดมี 3 องค์
องค์แรก เป็นพระพุทธรูปนั่งปางสมาธิ หน้าตักกว้างประมาณ 2 ศอก สูงประมาณ 1.20 เมตร
องค์ที่ 2 เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ หน้าตักกว้างประมาณ 0.70 เมตร สูงประมาณ 1.20 เมตร
องค์ที่ 3 เป็นพระพุทธรูปปางนาคปรก หน้าตักกว้างประมาณ 0.65 เมตร สูงประมาณ 1.20 เมตร
เป็นพระพุทธรูปที่มีความศักดิ์สิทธิ์มาก เป็นที่สักการะบูชาของชาวเชียงคาน
วัดนี้ถูกทิ้งร้างมานานจนกระทั่งปี พ.ศ.2469 พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต, พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล,พระอาจาจย์ฝั้น อาจาโรและคณะอาจารย์สายพระอาจารย์มั่น ได้เดินธุรงค์มาพักจำพรรษาและปฏิบัติธรรมที่วัดท่าแขกจึงได้มีการบูรณะและฟื้นฟูวัด
ในปัจจุบันวัดท่าแขกอยู่ในระหว่างการบูรณะและปรับปรุงสถานที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้สร้างพระอุโบสถหลังใหม่
ซึ่งจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนเป็นจำนวนมาก พระอุโบสถหลังใหม่นี้พระอาจารย์ชอบ ฐานสโม
ซึ่งเป็นศิษย์เอกของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พระอาจารย์สายกรรมฐานสำคัญองค์การหนึ่งของเมืองไทย
เป็นประธานองค์อุปถัมภ์
พระอาจารย์ชอบ ฐานสโม ได้มาประกอบพิธีเททองหล่อรูป เหมือนพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พระกริ่ง
พระรูปเหมือนหลวงปู่ชอบ และรวมพิธีพุทธมาภิเศก เมืองวันที่ 31 กรกฏาคม ถึง 1 สิงหาคม 2536
เพื่อหารายได้นำมาสร้างพระอุโบสถ

ต่อมาเป็นร้านอาหารนะคะ เรามาแวะกินอาหารกันที่นี่ ร้านบะหมี่เฟื่องฟ้า
บะหมี่เฟื่องฟ้า เปิดอยู่ในบ้านไม้หลังเก่าในชุมชนเชียงคาน ทางร้านเปิดขายก๋วยเตี๋ยวบะหมี่หมูแดง บะหมี่เกี๊ยว ข้าวหมูแดง-หมูกรอบ ข้าวขาหมู ภายในร้านตกแต่งแบบเรียบง่าย จุดเด่นของร้านอยู่ที่น้ำซุปที่ข้มข้น บะหมี่เหนียวนุ่ม หมูแดง หมูกรอบ ทำใหม่แบบวันต่อวัน

เมนูแนะนำ : บะหมี่น้ำ, เกี๊ยวน้ำ, ข้าวหมูแดง, ข้าวหมูกรอบ,
ที่อยู่ บะหมี่เฟื่องฟ้า เชียงคาน : 352/1 ถ.ศรีเชียงคาน, ต.เชียงคาน, อ.เชียงคาน, เลย
เบอร์โทรศัพท์ บะหมี่เฟื่องฟ้า เชียงคาน : 042821296 , 0840349885
เบอร์แฟกซ์ : 043873480
วันและเวลาเปิดปิดทำการ : เปิดทุกวัน เวลา 07.00 - 17.00 น. และ 18.00 -23.00 น.
ชื่อสินค้า:   เชียงคาน เลย
คะแนน:     
**SR - Sponsored Review : ผู้เขียนรีวิวนี้ไม่ได้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง แต่มีผู้สนับสนุนสินค้าหรือบริการนี้ให้แก่ผู้เขียนรีวิว โดยที่ผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนอื่นใดในการเขียนรีวิว
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่