ออบหลวง (อุทยานแห่งชาติออบหลวง) : เชียงใหม่ รวมภาพสวยๆต้อนรับฤดูหนาว Obluang National Park

ออบหลวง (อุทยานแห่งชาติออบหลวง) : เชียงใหม่

ตั้งอยู่ที่ตรงหลักกิโลเมตรที่ 17 ของทางหลวง แผ่นดินหมายเลข 108 คาบเกี่ยวระหว่างตำบลหางดง อำเภอฮอด ตำบลบ้านแปะ อำเภอจอมทอง เป็นช่องแคบเขาขาดที่มีหน้าผาหินขนาบลำน้ำ ทำให้เกิดหุบผาลึก ความลึกของหน้าผาวัดจากสะพาน ออบหลวงถึงระดับน้ำปกติประมาณ 32 เมตร ส่วนแคบสุด 2 เมตร ความยาวของช่องแคบประมาณ 300 เมตร ธรรมชาติได้สร้างสรรความน่าพิศวงให้กับแผ่นดินส่วนนี้อย่างมหัศจรรย์

"ออบหลวง" ภาษาท้องถิ่นหมายถึง "ช่องแคบหินขนาดใหญ่"

ออบหลวง เป็นภาษาพื้นเมือง ประกอบด้วย 2 คำ รวมกัน คำว่า “อ๊อบ” หรือ “ออบ” เป็นภาษาท้องถิ่นหมายถึงช่องแคบ “หลวง” หมายถึง ใหญ่ “ออบหลวง” คือชื่อเฉพาะที่ใช้เรียกช่องแคบหินขนาดใหญ่ โดยช่องแคบออบหลวงนั้นเบื้องล่างมีสายน้ำแม่แจ่ม หรือ แม่น้ำสลักหิน ได้กัดเซาะสลักเสลา จนเกิดรูปร่างลวดลายที่สวยงาม แปลกตาน่าอัศจรรย์ยิ่ง อีกนัยหนึ่งคือ หุบเขา ที่มีสายธารไหลผ่าน (Canyon) ภายในออบ น้ำที่ตกไปกระทบแก่งหินละอองน้ำจะกระจายฟุ้งเสียงดังสนั่นหวั่นไหวตลอดเวลา ลานหินและโตรกผาที่ถูกน้ำอันเชี่ยวกรากกัดกร่อนปีแล้วปีเล่า ทำให้หินมีลักษณะเป็นลวดลายรูปร่างแปลกตาสวยงามมาก ทำให้ผู้ไปเยือนต้องพิศวงว่ากำแพงหินสูงใหญ่ที่ขวางลำน้ำอยู่นั้น แตกทะลุหรือแยกตัวให้น้ำ ผ่านไปได้อย่างไร

ธรรมชาติสร้างสรรค์ความสวยงามและน่ากลัวไว้ใน จุดเดียวกัน
ออบหลวงเป็นสถานที่น่าเที่ยวที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ความสวยงามและน่ากลัวไว้ใน จุดเดียวกัน กล่าวคือ เบื้องล่างเป็นแม่น้ำที่ไหลคดเคี้ยวผ่านช่องเขาขาดตรงออบหลวง ช่องเขานี้มีลักษณะเป็นหน้าผาสูงชันและแคบมาก บีบทางน้ำไหล ดังนั้น แม่น้ำตรงนี้จึงเชี่ยวจัด เสียงน้ำกระทบหน้าผาดังสนั่น รอบๆ บริเวณชายน้ำด้านเหนืองดงามไปด้วยหมู่ไม้น้อยใหญ่ ร่มรื่นอยู่ตลอดเวลาชั่วนาตาปี นอกจากนี้ยังมีสะพานเชื่อมช่องเขาขาดสำหรับนักท่องเที่ยวยืนชมความงดงามของ ทัศนียภาพออบหลวง และภายในบริเวณอุทยานฯ มีการขุดค้นพบแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ด้วย เช่น หลุมฝังศพของมนุษย์โบราณ และภาพเขียนสีขาวที่บริเวณเพิงผาช้าง และยังมีกิจกรรมเดินป่าศึกษาธรรมชาติ ล่องแก่ง เรือยางหรือ ล่องคายัคในลำน้ำแจ่ม

ดินแดนมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์
อยู่ใกล้เคียงกับช่องแคบออบหลวง กองโบราณคดี กรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ ได้ขุดค้นเพื่อศึกษาวิจัยร่วมกับประเทศฝรั่งเศส เรื่อง Research on Chronology and Evolution of the Prehistoric Cultures of Northern Central Thailand and their Antropological Characteristics โดยเริ่มโครงการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 เป็นต้นมา บริเวณออบหลวง ทั้งสองฝั่งอำเภอจอมทอง และฝั่งอำเภอฮอด ได้ขุดค้นพบโบราณวัตถุ และหลักฐานทางโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์จำนวนมาก เช่น เครื่องมือหินกระเทาะแกนหินและสะเก็ดหิน ขวานหินขัด ชิ้นส่วน เครื่องประดับและภาชนะสำริด ภาชนะดินเผาลายเชือกทาบ ที่สำคัญคือ พบโครงกระดูกของมนุษย์ในสมัยยุคสำริด มีอายุระหว่าง 2,500 - 3,500 ปี ก่อนคริสตกาล
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่