ไขข้อข้องใจเงินเดือนเท่าไหร่ไม่ต้องเสียภาษี


สำหรับมนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่ ช่วงท้ายปีอย่างนี้เรื่องที่ต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับการเงินคงมีเรื่องภาษีกันบ้างแน่ๆ หากไม่นับเรื่องโบนัส กับเงินเดือนจะขึ้นเท่าไหร่นะ ยิ่งปีนี้ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2560 มีการปรับโครงสร้างทั้งเรื่องการหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน โดยปีที่ผ่านมาคนที่มีเงินเดือน 20,000 บาทเมื่อนำไปคำนวณแล้วจะไม่ต้องเสียภาษี แต่ปีนี้มนุษย์เงินเดือนได้เฮมากขึ้น เพราะในส่วนของการหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนที่มากขึ้น ทำให้ฐานเงินเดือนที่ต้องเสียภาษีขยับเพิ่มขึ้น

แล้วเงินเดือนเท่าไหร่ล่ะไม่ต้องเสียภาษี และคิดมาได้จากไหนวันนี้ K-Expert จะมาอธิบายกันแบบให้เข้าใจง่ายขึ้น [Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้ ก่อนอื่นเลยมาทำความเข้าใจวิธีคิดภาษีของมนุษย์เงินเดือนอย่างเรากันก่อน สูตรง่ายๆ เลยคือ

เงินได้พึงประเมิน – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิที่ต้องนำไปคำนวณเพื่อเสียภาษี


ค่าใช้จ่าย ก็คือต้นทุนที่เราต้องใช้ในการทำงานสามารถนำมาหักค่าใช้จ่ายได้ตามแต่ละประเภทของอาชีพ โดยหากเป็นรายได้จาก เงินเดือน จะเป็นรายได้ตามมาตรา 40(1) ซึ่งจะหักค่าใช้จ่ายได้เพิ่มจากเดิมที่ 40% ปรับเป็น 50% ของรายได้ หรือสูงสุดที่เดิม 60,000 บาท ปรับเป็น 100,000 บาท เช่นหากรายได้รวมทั้งปี 500,000 บาท จะหักค่าใช้จ่ายได้สูงสุดที่ 100,000 บาท

ค่าลดหย่อน จริงๆแล้วเราสามารถหักค่าลดหย่อนได้หลายกรณี แต่ในที่นี้จะยกมาเฉพาะที่ทุกคนมักจะต้องมีคล้ายๆ กันคือ ค่าลดหย่อนส่วนตัว ที่เดิมสามารถลดหย่อนได้ 30,000 บาท ปรับขึ้นเป็น 60,000 บาท โดยที่อีกตัวหนึ่งที่สามารถนำมาลดหย่อนได้คือประกันสังคม 9,000 บาท รวมกันจะหักค่าลดหย่อนได้ที่ 69,000 บาท

เงินได้พึงประเมิน หากให้เฉลยเลยก็คือ คนที่มีรายได้ที่เป็นเงินเดือน 26,583 บาทต่อเดือน หรือน้อยกว่านั้น จะได้รับการยกเว้นทางภาษี เพราะเมื่อนำไปคูณเพื่อหาจำนวนต่อปี = 26,583 x 12 จะได้เท่ากับ 318,996 บาท/ปี
โดยเมื่อนำไปใส่ตัวเลขดังสูตรคือ 318,996 (เงินได้พึงประเมิน) -100,000 (ค่าใช้จ่าย) -69,000 (ค่าลดหย่อน) จะเหลือเงินได้สุทธิเท่ากับ 149,996 บาท โดยตัวเลขตัวนี้จะใช้เป็นเงินได้สุทธิที่ต้องนำไปคำนวณในตารางภาษี


จากตารางของกรมสรรพากรจะเห็นได้ว่า 150,000 แรกของเงินได้สุทธินั้นจะได้รับยกเว้นทางภาษีครับเพราะฉะนั้นจึงเป็นที่มาของคนที่มีเงินเดือน 26,583 บาทได้รับการยกเว้นทางภาษี แต่ก็ยังจำเป็นต้องยื่นเพื่อแสดงรายได้นะครับ ข้อนี้สำคัญ เพราะตามกฎหมายแล้วให้บุคคลทุกคน ที่มีเงินได้เกิดขึ้นระหว่างปีภาษีจะมีหน้าที่ต้องยื่นแบบฯ ถ้าบุคคลนั้นมีเงินได้เฉพาะเงินเดือนเพียงอย่างเดียว เกิน 120,000 บาทต่อปีขึ้นไป หรือหากสมรสมีรายได้เกิน 220,000 บาท โดยไม่ว่าเมื่อคำนวณภาษีแล้วจะมีภาษีต้องชำระเพิ่มเติมหรือไม่ก็ตาม

ทั้งนี้หากมีค่าลดหย่อนอื่นๆเช่น ค่าอุปการะเลี้ยงพ่อแม่ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปที่มีรายได้พึงประเมินทั้งปีไม่เกิน 30,000 บาท ค่าลดหย่อนบุตร หรือแม้แต่การซื้อกองทุน LTF RMF ก็สามารถนำมาช่วยในการหักค่าลดหย่อนได้เพิ่มขึ้น ทำให้ถึงแม้ว่าเงินเดือนอาจจะสูงกว่า 26,583 ก็ตามแต่เมื่อนำไปหักแล้วอาจจะอยู่ในช่วงที่ได้รับการยกเว้นทางภาษี โดยหากใครที่สงสัยเกี่ยวกับค่าลดหย่อนอื่นๆ สามารถตรวจสอบได้ที่เว็บของกรมสรรพากรที่ http://www.rd.go.th/publish/557.0.html

คิดว่าหลายคนคงเข้าใจหลักการในการคำนวณภาษีมากขึ้น ทั้งนี้หากคนที่มีรายได้มากกว่านี้ก็สามารถลองศึกษาค่าลดหย่อนต่างๆที่จะช่วยทำให้เงินได้สุทธิของเราน้อยลงได้ เช่นการลงทุนในกองทุน LTF RMF หรือประกันชีวิตที่มีความคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป หรือเพื่อนๆท่านไหนมีสิทธิในการลดหย่อนอื่นๆร่วมกันแชร์ได้เลยนะครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่