วิเคราะห์เจาะลึกเทคโนโลยี EM Drive เจ้าปัญหา


บทความนี้ ตะแรกผมกะเขียนเป็นบทความสั้นๆในเพจของตัวเอง แต่ทำไปทำมามันก็ชักยาว แถมมีข้อมูลทางเทคนิคเยอะ ถ้าไม่มีรูปมีคลิปประกอบในบทความนี่คงไม่รอด ก็เลยเอามาตั้งเป็นกระทู้สั้นที่หว้ากอมันซะเลย สำหรับผู้ที่สนในเพจสัปดนระคนสาระทางวิดกระยาสาร์ท สามารถติดตามเพจ Darth Prin ใน facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/Darth-Prin-311534075982531/ นะครับ



EM Drive

ในวงเสวนาไซไฟทั้งหลายย่อมจะมีเรื่องอุปกรณ์ขับดัน EM Drive ในห้องหว้ากอของพันทิปก็มีคำถามและข่าวขึ้นมาเป็นกระทู้บ่อยครั้ง แต่ก็ไม่มีใครแกะคำอธิบายออกมาเป็นเรื่องเป็นราวสักที บทความนี้จะเอา ตัว EM Drive ที่เป็นอุปกรณ์ต้นแรงขับเคลื่อนที่ไม่มีการพ่นสารขับดันมาคุยกัน
ปรกติการเคลื่อนไหวใดๆ จะอิงกับกฎการเคลื่อนที่ข้อ 3 ของนิวตัน ที่ว่า แรงกิริยา เท่ากับแรงปฏิกิริยา รถ เคลื่อนที่ไปข้างหน้าก็ใช้ล้อในการผลักกับถนน เครื่องบิน ก็ใช้ใบพัดในการผลักอากาศไปด้านหลังทำให้ตัวเครื่องบินไปข้างหน้า ในอวกาศ ที่ไม่มีตัวกลางที่จะใช้ผลักได้ เราก็ต้องบรรทุกสารขับดันที่พ่นไปด้านหลัง เพื่อให้จรวดเคลื่อนไปข้างหน้า การเคลื่อนที่ในอวกาศมีความสิ้นเปลืองมากก็เพราะการที่ไม่มีตัวกลางจะถ่ายแรง อย่างดีที่สุดที่มนุษย์คิดได้ ก็คือการใช้แสงเป็นตัวขับดัน แต่ ตัว EM Drive เป็นสิ่งที่ต่างออกไป การทำงานของมันนั้นไม่อิงกับแรงกิริยา มันไม่มีการปล่อยอะไรออกด้านนอก แต่มันทำให้เครื่องจักรกลนั้นเคลื่อนไปข้างหน้าได้

จะเป็นรถ เครื่องบิน จรวด หรือเรือดำน้ำก็เหอะ การเคลื่อนที่มันก็ต้องออกแรงกระทำต่อวัตถุอื่นเพื่อผลักตัวเองไปข้างหน้า

EM Drive ย่อมาจาก Electro Magnetic Drive และบางครั้งก็เรียก Radio Frequency Resornant Cavity Thruster ตามปากคำของผู้คิดค้น Roger Shawyer วิศวกรชาวอังกฤษ คำอธิบายของเขาจะคล้ายการใช้ประโยชน์ความสัมพันธ์ของ Louis de Broglie ที่ว่า

P = h/λ
ให้        P =โมเมนตัมของแสง  
            h คือ ค่าคงที่ของ Planck
            λ คือความยาวคลื่น


สมบัติของคลื่นมันจะปรับความยาวคลื่นตัวเองให้เท่าความยาวธรรมชาติของช่องว่าง (Resonation) ทีนี้ อุปกรณ์ที่เขาใช้ มีลักษณะเป็นกรวยที่มีความยาวใกล้เคียงกับความยาวคลื่นของไมโครเวฟ เมื่อคลื่นถูกบังคับให้เปลี่ยนความยาว เท่ากับว่ามันมีการเปลี่ยนของโมเมนตัม และทำให้ โมเมนตัมของคลื่น ที่กระทบผนังด้านหนึ่ง มากกว่าผนังอีกด้านหนึ่ง เกิดเป็นแรงขับ โดยในคลิป เขาอธิบายในลักษณะ การเปลี่ยนแปลงของ Group Velocity ของการเข้า phase
คลิปอธิบายการทำงาน EM Drive โดย Roger Shawyer

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

ปัญหาของคำอธิบายดังกล่าว มันขัดแย้งกับการเป็นระบบปิด มันจะมีสภาพเหมือนโดรนในกล่องที่โดรนออกแรงกระทำกับกล่อง และ ผลรวมของแรงกิริยา กับแรงปฏิกิริยาในระบบยังไงก็เป็นศูนย์ แสง มีการเปลี่ยนโมเมนตัมก็จริง แต่โมเมนตัมกับพลังงาน มันไม่สูญหาย มันก็ควรจะต้องถ่ายไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งและในระบบปิด ผลลัพธ์รวมของแรงกิริยาและแรงปฏิกิริยาก็ยังควรจะเป็นศูนย์อยุ่นั่นเอง ถ้าตัว EM Drive ทำงานได้ มันก็คงต้องเกิดจากกลไกอื่นไม่ใช่แค่กรณีการถ่ายโมเมนตัมของแสงภายในอุปกรณ์รูปกรวยนี้
โดรนในกล่อง

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

แต่เรื่องมันไม่จบแค่การถกเถียงทางทฤษฎี เพราะอุปกรณ์ที่ Roger Shawyer คิดค้นขึ้นมามันดันทดสอบว่ามีแรงขับได้ซะงั้น แถมขนาดของแรงขับที่เกิด ก็ยังมากกว่าแรงขับดันของการแผ่รังสีเสียด้วย งานนี้ มันก็เลยมีการตรวจสอบกันอย่างหนักหน่วง ทั้งฝั่งการหาจุดผิดพลาดของการทดลอง เช่น การพยายามตัดปัจจัยการแผ่รังสี การเกิดการขยายตัวของอากาศจากความร้อนที่เครื่องกำเนิดขึ้นด้วยการทดสอบในสภาวะสุญญากาศ ตัดปัจจัยจากแรงแม่เหล็กไฟฟ้า (ประมาณว่าอุปกรณ์ไปดูดจับกับชิ้นส่วนเหล็กในห้องทดลองเลยเกิดการเคลื่อนไหว) รวมไปถึงการตรวจสอบผลกระทบจากอุณหภูมิทำให้อุปกรณ์มีการขยายตัวและเปลี่ยนจุด Centre of mass ทำให้เกิดการเคลื่อนไหว และในอีกด้านหนึ่ง ก็พยายามเชื่อมโยงปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ผ่านทฤษฎี Pilot wave การเชื่อมโยงกับแรงปฏิกิริยาผ่านระบบพลังงานสุญญากาศ (Vacuum energy) เพื่อเติมช่องโหว่ที่หายไปและเชื่อมโยงเข้ากับกฎการเคลื่อนที่ของนิวตัน

การทดสอบ EM Drive ในสภาพสุญญากาศเพื่อตัดประเด็นการขยายตัวของอากาศผลักให้เครื่องเคลื่อนไหว

ทั้งนี้ ผมเชื่อว่า ในฐานะของนักวิทยาศาสตร์ ทุกคนก็อยากให้มันทำงานได้จริง ไม่ใช่แค่ทดลองพลาดแหละ เพราะถ้ามันใช้ได้จริงก็เท่ากับเราได้ค้นพบข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ที่เรามองข้ามไป และอาจเข้าใกล้ทฤษฎีของทุกสรรพสิ่ง (Grand Unified Theory) อีกสักนิด แม้ว่าปรกติ อะไรที่ไปขวางกับกฎของนิวตั้น หรือ กฎของเทอร์โมไดนามิกส์มันมักจะจบไม่สวยเท่าไร สำหรับการทดลอง EM Drive ปัจจุบัน องค์การ NASA และ ทางจีน ก็กำลังทดสอบกันอยู่ แต่จนกว่าเราจะหาทฤษฎีที่เชื่อมโยงปรากฏการณ์กับวิทยาศาสตร์ที่เรารู้ได้ มันก็ยังอาจเป็นแค่ความผิดพลาดครั้งใหญ่เหมือนกรณีทฤษฎีสนามแรงบิด หรือปาหี่ GT200 เสียก็ไม่รู้



บทความนี้ส่วนใหญ่ได้ไอเดียการแกะการทำงานจากรายการ Space Time | The EM Drive: Fact or Fantasy? และลองเทียบคำอธิบายของ Roger Shawyer กับความรู้ทางวิทยาศาสตร์เท่าที่ยังจำได้ ถ้ามีข้อผิดพลาดประการใดก็ต้องออกตัวขออภัยไว้ด้วยนะครับ
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่