... โลกอันแสนดุเดือด ร้อนแรง ของ Granit Xhaka ...

เขาได้รับฉายาว่าเป็นนักเตะสวิสเซอร์แลนด์ผู้เลือดร้อน โด่งดังจากลีลาอันดุดันในแดนกลางและการเปิดบอลที่แม่นราวจับวาง ภาวะผู้นำที่แผ่ออร่าออกมาตั้งแต่เขายังเด็กทำให้เขาไต่ระดับในทีมได้อย่างรวดเร็ว ทั้งฝีมือและสถานะในใจเพื่อนร่วมทีม ยามต้องต่อสู้นอกเหนือจากเรื่องฟุตบอลบนสนาม ต่อให้ไม่ใช่เรื่องที่เขาได้รับการปะทะโดยตรง แต่ถ้ามันเกิดกับเพื่อนของเขา เขาจะเป็นคนแรกๆที่อยู่ตรงนั้น

แต่ไม่ใช่เพื่อห้ามปรามแน่ๆ

อารมณ์อันดุเดือดรุนแรงของ กรานิต ชาก้า อาจเป็นจุดอ่อนจุดหนึ่งในอาชีพของเขา นักเตะที่หลายๆคนคาดหวังไว้ว่าจะก้าวขึ้นมาสู่การเป็นกองกลางระดับโลกได้ ฉายาของเขามีมากมายทั้ง "นิวชไวสไตเกอร์" และ "นิวชาคิรี่" แม้จะโชว์ฟอร์มได้อย่างร้อนแรงตอนเล่นให้กับสโมสรบ้านเกิดอย่าง FC Basel ก่อนจะดังเปรี้ยงปร้างในบุนเดสลิกากับมึนเช่นกลัดบัค แต่ดูเหมือนเวทีในอังกฤษไม่ง่ายนักสำหรับชาก้า

และอันที่จริง พรีเมียลีกส์ไม่เคยง่ายสำหรับใครๆอยู่แล้ว



ชาก้าเริ่มต้นในพรีเมียลีกส์กับอาร์เซนอลแบบที่ไม่ได้ร้อนแรงในด้านของฟอร์มการเล่น เท่าที่หลายๆคนคาดหวังไว้ แต่ดันไปร้อนแรงด้านอื่นแทน แน่นอนว่าปัญหาเดิมๆยังคงติดตามเขามา อารมณ์ร้อน และการเสียฟาล์วและใบเหลืองง่ายๆแบบน่าโมโห บางครั้งก็รุนแรงจนถึงใบแดงและโทษแบน ทำให้แฟนๆเริ่มวิพากษ์วิจารณ์ต่อฟอร์มการเล่นของเขารวมทั้งการควบคุมอารมณ์  แต่นับจนถึงทุกวันนี้ กรานิต ชาก้ากำลังปรับตัวให้เข้ากับสไตล์การเล่นและวิถีฟุตบอลแบบอังกฤษอย่างช้าๆ ระยะหลังเขาเริ่มควบคุมอารมณ์ได้มากขึ้น สถิติการเสียฟาล์วลดลง ส่วนเรื่องฝีมือและฟอร์มการเล่น เขาจะต้องต่อสู้อีกมาก

ยิ่งโตเขายิ่งเรียนรู้ว่า ชีวิตคือการต่อสู้ในทุกๆวัน
และคนแบบกรานิต ชาก้า ไม่เคยยอมแพ้อยู่แล้ว

มีคำพูดว่า หากต้องการรู้จักและเข้าใจใครสักคน เราอาจต้องรู้ก่อนว่าพวกเขาเติบโตมายังไงและสำหรับกรานิต ชาก้า เรียกได้ว่า แรงจูงใจและเรื่องราวในชีวิตของเขานั้นช่างพิเศษกว่าดราม่าของนักเตะคนอื่นจริงๆ



"พ่อเป็นฮีโร่ของผม เป็นต้นแบบในชีวิตผม ผมกับ Tualant (พี่ชาย) เราเติบโตมาพร้อมกับจิตใจที่แกร่งกล้าของพ่อ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมบนสนามผมถึงผมจึงทุ่มเททุกอย่างด้วยหัวใจอันแรงกล้า และพยายามจะทำทุกอย่างให้มันสำเร็จอยู่เสมอ"

Ragip พ่อของ กรานิต และ เตาลันท์ ในวัยหนุ่มนั้นเขาเป็นนักศึกษาหนุ่มไฟแรงผู้เชื่อมั่นในเสรีภาพ เขาเป็นชาวอัลเบเนียนที่อยู่ในโคโซโว ที่ยึดมั่นว่าประชาชนทุกคนควรได้มีสิทธิ์มีเสียง และเหมือนกับนักศึกษาที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยคนอื่นๆอีกหลายคนทั่วโลก รัฐบาลสั่งลงโทษบรรดาผู้ต่อต้าน และ รากิป พ่อของกรานิต และ เตาลันท์ ก็เป็นหนึ่งในนั้น ในวัย 22 ปี รากิปติดคุกอยู่ 3 ปีครึ่งในคดีทางการเมือง แต่ก่อนที่เขาจะติดคุกได้ 3 เดือนรากิปพบรักกับ อีไล แม่ของกรานิตแล้ว และจากการพบกันเพียง 3 เดือนเธอก็ยังคงรอคอยรากิปออกจากคุกถึง 3 ปีครึ่ง

กรานิตมาย้อนรำลึกได้ว่า เรื่องราวที่พ่อแม่ต้องเผชิญนั้น ทำให้เขายิ่งเป็นคนแข็งแกร่งมากขึ้น และกรานิตก็เข้าใจปนิธานอันแรงกล้าของพ่อด้วย ไม่ใช่แค่พ่อเท่านั้น ลุงของเขาก็ติดคุกในคดีการเมืองก่อนแล้วเช่นกัน ลุงติดคุกด้วยโทษยาวนานถึง 15 ปี ทำให้เรื่องราวของพ่อนั้น กระทบจิตใจลูกชายอย่างเขาเสมอ

"แม่ผมเป็นคนที่มหัศจรรย์ที่สุด ผมนึกไม่ออกว่าจะมีผู้หญิงคนไหนทำแบบนั้น เธอพบกับพ่อได้แค่ 3 เดือน ก่อนที่เขาจะติดคุก 3 ปีครึ่ง และแม่ยังรอคอยพ่ออยู่เสมอ แม่ของผมเป็นคนที่สุดยอดที่สุด"



หลังพ้นโทษ ครอบครัวชาก้าย้ายถิ่นฐานไปยังประเทศสวิสเซอร์แลนด์เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการสร้างครอบครัว เพื่อลูกๆที่จะเติบโตมา เตาลันท์เป็นลูกคนแรกของครอบครัว และในปีต่อมา กรานิตก็ตามพี่ชายมา

"ตอนเป็นเด็ก ผมถามพ่อบ่อยๆ บอกให้เขาเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ผมฟัง เขาก็เล่าให้ฟังบ้าง แต่ผมรู้ว่านั่นไม่ใช่เรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้น พอโตมาผมจึงรู้ว่า พ่ออยากกันเรื่องราวอันโหดร้ายของโลกใบนี้ออกจากลูกชายให้มากที่สุด ตอนนั้นผมอาจยังไม่เข้าใจ แต่ตอนนี้ผมรู้แล้ว และพวกเราไม่เคยอับอายในเรื่องนั้น"

เพราะรู้ว่าครอบครัวต้องผ่านพ้นอะไรมาบ้างกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ สองพี่น้อง กรานิตและเตาลันท์จึงให้ความสำคัญกับครอบครัวเสมอ

"ตอนเราเริ่มเล่นฟุตบอลอาชีพและมีรายได้แล้ว ผมกับเตาลันท์เรายังส่งเงินกลับไปบ้านเสมอ เราส่งเงินค่าเหนื่อยกว่าค่อนจากที่เราได้กลับไปที่บ้าน และทุกวันนี้ก็ยังเป็นแบบนั้น พวกเรายังเด็ก และเรารู้ดีว่าเรากำลังทำอะไร เงินพวกนี้ได้มาง่ายดาย และจะจากไปง่ายดายเช่นกัน เราไม่ได้รู้สึกเสียใจที่ต้องเอาเงินให้พ่อแม่เก็บ ผมไม่เชื่อถ้าใครจะมาบอกว่า การที่พวกเขามีเงินมาก นั่นทำให้พวกเขาเจ๋งกว่า  ช่างพวกนั้นปะไร เดี๋ยวพวกเขาก็จะคิดได้เองว่าอะไรสำคัญที่สุด สำหรับผม ครอบครัวสำคัญที่สุด"



ตอนที่กรานิต และเตาลันท์ถึงวัยที่ต้องรับใช้ชาติ คนเป็นน้องชายที่อายุห่างกับพี่แค่ปีเดียว เป็นฝ่ายถูกเรียกติดทีมชาติก่อน กรานิตเลือกติดธงชาติกับสวิสเซอร์แลนด์ เพราะเขาบอกว่าแม้จะเป็นชาวอัลเบเนียน แต่เขาก็เป็นหนี้สวิสเซอร์แลนด์มากเหลือเกิน แต่เขายังคงไม่เคยลืมเชื้อชาติของตัวเอง และเขารู้สึกถึงมันอยู่เสมอ เมื่อถึงคราวเตาลันท์เลือกรับใช้ชาติ พี่ชายจึงเลือกติดธงกับอัลเบเนียน ซึ่งสองพี่น้องได้ตกลงกันแล้วว่า นี่เป็นการตัดสินใจที่เหมาะสมที่สุดกับครอบครัว

"ถึงพี่ชาย ผมอยากให้นี่เป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายที่เราจะเจอกันแบบนี้ เราจะทำให้คนทั้งโลกได้เห็นฟุตบอลในแบบที่เราเป็น และเราจะทำให้เต็มที่บนสนาม มันจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรระหว่างเรา ผมขอให้พี่โชคดีและมีสุขภาพที่แข็งแรง พี่จะเป็นต้นแบบของผมเสมอ"



กรานิตโพสต์เฟสบุคถึงพี่ชายก่อนเกมที่สวิสเซอร์แลนด์ต้องพบกับอัลเบเนียในฟุตบอลยูโร 2016 และต่อมาพวกเขาก็ได้พบกันอีกครั้ง ในตอนที่อาร์เซนอลพบกับเอฟซี บาเซิลในแชมป์เปียนลีกส์ด้วย และการได้มาใช้ชีวิตในลอนดอน นอกจากเรื่องการปรับตัวในด้านอาชีพแล้ว กรานิตพบว่า ลอนดอนเป็นที่ที่เหมาะสมกับเขามากเช่นกัน เขาชอบไปเดินที่ตลาดในแคมเดนเพื่อพบปะและพูดคุยกับผู้คน เขาพบคนอัลเบเนียนหลายๆคนที่นั่น และกรานิตมักแวะเวียนไปทักทายพวกเขาเสมอ ซึ่งมันไม่ใช่ภาพที่ปกตินักสำหรับชาวแคมเดนกับการที่นักเตะสตาร์ดังของลอนดอนมาจะเดินท่อมๆและคุยกับคนไปทั่ว อยู่ในย่านชุมชนที่ค่อนข้างแออัดและวุ่นวายในแคมเดน

...
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่