Social Movement การเคลื่อนไหวทางสังคม

Social Movements
ที่มา http://www.sac.or.th/databases/anthropology-concepts/glossary/137
จาก ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

       การเคลื่อนไหวทางสังคม หมายถึงปฏิบัติการของกลุ่มคนที่มีเป้าหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง   การรวมกลุ่มของคนอาจจะเป็นทางการและไม่เป็นทางการก็ได้ สำหรับทางมานุษยวิทยามองว่าการเคลื่อนไหวทางสังคมเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเป็นเรื่องการเมือง เช่น การต่อสู้เรื่องสิ่งแวดล้อม  เชื้อชาติ ความเท่าเทียมของเกย์ เลสเบี้ยน การดูแลรักษาผู้ป่วยเอดส์  สิทธิการตั้งครรภ์ และความเท่าเทียมของสตรี รวมทั้งการต่อสู้เชิงอนุรักษ์นิยม เช่น การต่อต้านการทำแท้ง เป็นต้น  ในอดีต นักมานุษยวิทยามักอธิบายการเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยทฤษฎีของมาร์กซิสต์ เฟมินิสต์ และแนวคิดโครงสร้างนิยม  

          อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวทางสังคมเกี่ยวข้องกับสังคมสมัยใหม่ กล่าวคือ เมื่อตะวันตกเริ่มใช้อุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตยในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ความคิดเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกก็เริ่มมีบทบาทสำคัญของพลเมือง เมื่อประชาชนรู้สึกว่าตนเองถูกกดขี่ข่มเหง ไม่ได้รับความเท่าเทียมและความเป็นธรรม ทำให้พวกเขาออกมาแสดงออกทางความคิดและวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาทางสังคมต่างๆ ซึ่งนำไปสู่การรวมกลุ่มเพื่อเรียกร้องสิทธิหรือประท้วงการบริหารงานของรัฐ

          ทฤษฎีของชาวตะวันตกพยายามอธิบายขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแบบใหม่ที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เพศ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ และอธิบายว่าขบวนการเหล่านี้ได้ท้าทายวัฒนธรรมบริโภค จำกัดสิทธิส่วนบุคคล และทำให้มนุษย์มีความคลุมเครือระหว่างพื้นที่ส่วนตัวและสาธารณะ   อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีเหล่านี้ก็ถูกวิจารณ์ในเรื่องที่เกี่ยวกับโลกที่สาม    นักวิชาการต่างเสนอว่าขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในประเทศยากจน เป็นการต่อสู้กันระหว่างสองขั้วคือผู้ปกครองกับผู้ที่ถูกกดขี่  แต่การวิจัยเกี่ยวกับการประท้วงในเอเชีย แอฟริกา และลาตินอเมริกา พบว่าผู้ประท้วงเป็นกลุ่มคนชั้นกลาง ถึงแม้ว่าจะมีการโต้เถียงเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างการเคลื่อนไหวทางสังคมในโลกที่สามกับโลกตะวันตก แต่นักทฤษฎีส่วนใหญ่เห็นร่วมกันว่าความขัดแย้งมีลักษณะที่หลากหลายในทุกส่วนของโลก

          ข้อถกเถียงเกี่ยวกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมมักจะเกี่ยวกับเรื่องสำคัญ 4 เรื่อง คือ หนึ่งความสัมพันธ์ระหว่างยุทธศาสตร์กับอัตลักษณ์ ซึ่งได้รับความสนใจจากนักสังคมวิทยาและนักรัฐศาสตร์ในอังกฤษและอเมริกา ซึ่งอธิบายเกี่ยวกับโครงสร้าง ทรัพยากร และเป้าหมายของการประท้วง  ตรงข้ามกับนักคิดในภาคพื้นยุโรปที่สนใจเกี่ยวกับอัตลักษณ์ซึ่งมีเรื่องของมุมมองทางการเมืองและจินตนาการรวมหมู่   เรื่องที่สองคือความขัดแย้งและการลื่นไหล  “การเคลื่อนไหว” บ่งบอกถึงความเป็นหนึ่งเดียว การศึกษาชี้ให้เห็นว่าภายในองค์กรการเคลื่อนไหวก็มีความตึงเครียด ดังนั้นกลุ่มการเคลื่อนไหวจึงมิได้มีเอกภาพแต่มีลักษณะของการไกล่เกลี่ยต่อรองเพื่อแบ่งแยกและร่วมมือ  การศึกษาแนวใหม่สนใจเรื่องประชาชนที่อาจเข้าไปพัวพันหรือหลีกหนีจากการดิ้นรนทางสังคม  นักวิชาการส่วนใหญ่เห็นว่าการต่อสู้ของปวงชนมิได้มีภาพสวยงามหรือสมดุล แต่ปวงชนมีการต่อรอง แบ่งแยก และไม่มีความมั่นคง

          เรื่องที่สาม เกี่ยวกับศักยภาพของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่จะเดินไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สมบูรณ์   การต่อต้านขัดขืนในชีวิตประจำวัน เช่น การนินทา มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง  กระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมคือเหตุการณ์ที่อยู่ระหว่างการขัดขืนและการปฏิวัติ  นักวิชาการบางคนเชื่อว่ากระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเป็นการแสดงออกของประชาธิปไตยและเสรีภาพของประชาชน  นักวิชาการที่อธิบายในทำนองนี้ชี้ให้เห็นความสามารถของประชาชนในการกระทำและคิดสิ่งต่างๆเพื่อทำให้การเคลื่อนไหวขยายออกไปกว้างขวาง  ตัวอย่างเช่น  การเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิความเท่าเทียมของสตรีในอเมริกาและยุโรปขยายตัวอย่างกว้างขวางไปยังเอเชีย แอฟริกา และลาตินอเมริกาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมา  ในทางตรงกันข้าม แนวคิดของคานธีเรื่องความไม่รุนแรง ค่อยๆแผ่ขยายจากอินเดียไปสู่ประเทศตะวันตก

          นักวิชาการบางคนเชื่อว่ากระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมคือความหวังของประเทศยากจน  อย่างไรก็ตาม นักวิชาการบางคนเชื่อว่าการเคลื่อนไหวทางสังคมแบบใหม่ๆมีกิจกรรมทางการเมืองที่ซับซ้อน   นักวิชาการบางคนชี้ว่า การเคลื่อนไหวทางสังคมเกิดขึ้นเฉพาะคนกลุ่มเล็กๆซึ่งพยายามเป็นตัวแทนของคนส่วนใหญ่  ด้วยเหตุนี้การศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้จำเป็นต้องหาเหตุผลว่าทำไมผู้คนจึงไม่เคลื่อนไหวในสิ่งที่เขาทำอยู่ นักทฤษฎีหลายคนเชื่อว่าการเคลื่อนไหวทางสังคมเป็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก แต่จริงๆแล้วอาจจะไม่ใช่  การเคลื่อนไหวภาคประชาชนไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนาซีใหม่ หรือกลุ่มชาติพันธุ์ ล้วนมีลักษณะที่คล้ายกัน แต่การเคลื่อนไหวมีความซับซ้อนหลากหลาย และคาดเดายาก  นักวิชาการบางคนเชื่อว่าการเคลื่อนไหวทางสังคมกับการปลดปล่อยมนุษย์นั้นต่างกัน

          เรื่องที่สี่ เป็นเรื่องเกี่ยวกับบทบาททางการเมืองของนักมานุษยวิทยา  นักมานุษยวิทยาหลายคนอธิบายว่าจะต้องแสดงจุดยืนที่ชัดเจนของนักมานุษยวิทยาที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางสังคม  ที่ผ่านมาการเข้าไปมีส่วนในองค์กรภาครัฐหรือองค์กรพัฒนา เป็นโอกาสที่จะทำให้เห็นการเคลื่อนไหวทางสังคม นักมานุษยวิทยาหลายคนเชื่อว่าการเคลื่อนไหวทางสังคมจะเป็นเครื่องมือของการต่อสู้เพื่อนสันติภาพและความยุติธรรม  การเคลื่อนไหวทางสังคมชี้ให้เห็นว่าประชาชนมิใช่คนที่อยู่นิ่งหรือเป็นฝ่ายรับอย่างเดียว  ในทางตรงกันข้ามการต่อสู้ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมหากตกอยู่ในอำนาจทางเศรษฐกิจ การเคลื่อนไหวทางสังคมอาจมีความหมายที่เปลี่ยนไป


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:
Charles Tilly, 2004. Social Movements, 1768–2004, Boulder, CO, Paradigm Publishers.
David Levinson and Melvin Ember (eds.) Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. 1996.Pp.1203-1204.
James M. Jasper. 2014. Protest: A Cultural Introduction to Social Movements. Polity Press.
Jeff Goodwin and James M. Jasper. 2009. The Social Movements Reader. Malden, Massachusetts: Wiley-Blackwell.
Mario Diani and Doug McAdam, 2003. Social movements and networks, Oxford University Press
Suzanne Staggenborg, Social Movements, Oxford University Press, 2008.
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่