เบื่อพวกเห็นแก่ตัว(วอนรัฐแก้เอทานอลล้นประเทศ! เลิกโซฮอล์91ดึงคนเติมE20)

วอนรัฐแก้เอทานอลล้นประเทศ! เลิกโซฮอล์91ดึงคนเติมE20
เอทานอลเข้าสู่ภาวะวิกฤต “ล้นตลาด” ไม่ต่ำกว่า 2 ล้านลิตร/วัน ส่งออกก็สู้ราคาสหรัฐไม่ได้ ภายในประเทศก็แห่เปิดโรงงาน-ขยายกำลังผลิตใหม่กันยกใหญ่ ส่งผลสมาคมเอทานอลฯวิ่งโร่ทำหนังสือถึงกระทรวงพลังงาน วอนรัฐยกเลิกน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 หวังคนหันมาเติม E20 เพิ่มยอดใช้เอทานอลในประเทศ

นายพิพัฒน์ สุทธิวิเศษศักดิ์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้กำลังผลิตเอทานอลภายในประเทศอยู่ในสภาวะ ล้นตลาด อย่างหนัก หลังจากที่มีโรงงานเอทานอลที่เปิดใหม่เริ่มผลิตเข้าระบบแล้วอีก3 โรงด้วยกัน คือ บริษัท ที พี เคเอทานอล จำกัด กำลังผลิต 340,000 ลิตร/วัน สถานที่ตั้งจังหวัดนครราชสีมา, บริษัท อิมเพรส เอทานอล จำกัด กำลังผลิต 200,00 ลิตร/วัน จังหวัดปราจีนบุรี และบริษัท ฟ้าขวัญทิพย์ จำกัด กำลังผลิต 60,000 ลิตร/วัน จังหวัดปราจีนบุรี ส่งผลให้ภาพรวมกำลังผลิตเอทานอลรวมกันสูงถึง 6 ล้านลิตร/วัน ขณะที่ความต้องการใช้เอทานอลในปัจจุบันอยู่ที่เพียง 4 ล้านลิตร/วัน เท่ากับมีปริมาณเอทานอล ล้นเกิน อยู่ถึง 2 ล้านลิตร/วัน

ที่ผ่านมา เมื่อมีเอทานอลส่วนเกินในระบบเกิดขึ้น โรงงานผู้ผลิตเอทานอลก็จะส่งออกส่วนเกินไปตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดฟิลิปปินส์ แต่ปัจจุบันตลาดนี้กลายเป็นแหล่งนำเข้าเอทานอลจากโรงงานผู้ผลิตในสหรัฐอเมริกาไปแล้ว เนื่องจากเอทานอลสหรัฐมีราคา ถูกกว่า เอทานอลที่ผลิตจากประเทศไทยถึง 15 บาท/ลิตร เมื่อรวมต้นทุนการขนส่งจากไทยไปฟิลิปปินส์ที่อยู่ระหว่าง 17-18 บาท/ลิตรเข้าไปแล้ว จะทำให้ราคาเอทานอลของไทยที่ผลิตจากกากน้ำตาล มีราคาจำหน่ายสูงถึง 24 บาท/ลิตร ส่วนเอทานอลที่ใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบ ราคาอยู่ที่ 25 บาท/ลิตร ซึ่งไม่สามารถแข่งขันในตลาดส่งออกกับเอทานอลจากสหรัฐได้


“พอส่วนล้นเกินความต้องการใช้ส่งออกไม่ได้ ผู้ผลิตเอทานอลบางรายก็หันมาขายแบบตัดราคากันเอง ไม่น้อยกว่า 1 บาท/ลิตร เพื่อระบายสต๊อกค้างในกระบวนการผลิต ส่งผลให้ภาพของเอทานอลวันนี้ต่างจากช่วงปลายปี 2559 ต่อต้นปี 2560 ที่เอทานอลอยู่ในภาวะตึงตัว เพราะมีโรงงานใหญ่บางโรงต้องหยุดการผลิตจากสาเหตุความขัดข้อง ประกอบกับกากน้ำตาลที่เป็นวัตถุดิบ สามารถนำไปใช้ในกิจการอื่นที่สร้างมูลค่าได้มากกว่า เช่น การทำเหล้า ส่งผลให้มีปริมาณกากน้ำตาลหายไป ประมาณ 500,000 ตัน และด้วยเหตุผลนี้ ทำให้กระทรวงพลังงานตัดสินใจยังไม่ยอมยกเลิกการจำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ส่งผลให้ความต้องการใช้เอทานอลไม่เพิ่มขึ้นตามที่คาดการณ์เอาไว้” นายพิพัฒน์กล่าว

ล่าสุด กลุ่มโรงงานผู้ผลิตเอทานอลรวม 26 โรง ได้ยื่นหนังสือถึง นายธรรมยศ ศรีช่วย ปลัดกระทรวงพลังงาน ขอให้มีการทบทวนใน 2 ประเด็น คือ 1) ให้มีการลดประเภทน้ำมันเชื้อเพลิงลง ด้วยการยกเลิกจำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 เพื่อให้ผู้บริโภคหันมาใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 ทดแทน และ 2) ให้ปรับเป้าหมายในแผน Alternative Energy Development Plan 2558-2579 หรือ แผน AEDP ที่คาดการณ์ว่า ความต้องการใช้เอทานอลในปี 2579 อยู่ที่ 11.3 ล้านลิตร/วัน เนื่องจากในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ภายหลังเกิดเหตุการณ์เอทานอลตึงตัว ได้มีการปรับลดเป้าหมายความต้องการใช้เอทานอลเหลือเพียง7 ล้านลิตรเท่านั้น ในขณะที่ปัจจุบันความต้องการใช้เอทานอลอยู่แค่ 4 ล้านลิตร/วัน ฉะนั้นหากเดินหน้าตามแผน AEDP ได้ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปรับลดเป้าหมายดังกล่าว

ด้านนายเดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์ ผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัท อุบลไบโอเอทานอล จำกัด และนายกสมาคมเอทานอลจากมันสำปะหลัง กล่าวว่า โรงงานเอทานอลหลายแห่งเดินเครื่องผลิตเพียงร้อยละ 60 เท่านั้น แต่บางรายก็ต้องเดินเครื่องเต็มกำลังการผลิตจากข้อจำกัดทางเทคนิค จึงมีปริมาณเอทานอลส่วนเกินเกิดขึ้น และผู้ประกอบการเองก็ไม่มีถังเก็บเอทานอลเพียงพอ ดังนั้นหลายโรงงานจึงเลือกใช้วิธีจำหน่าย “ต่ำกว่า” ราคาตลาดทั่วไป สำหรับโรงงานผลิตเอทานอลที่เข้าระบบในปีนี้ทั้ง 3 โรงนั้น เป็นไปตามแผนลงทุนที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนฯของกระทรวงพลังงาน แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์เอทานอลล้นเกินอย่างนี้แล้ว “ทางสมาคมก็ได้เข้าหารือกับภาครัฐ และได้นำเสนอแนวทางแก้ไขคือ ควรยกเลิกน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91”

ทั้งนี้ในปี 2561 จะมีกำลังผลิตเอทานอลใหม่เข้ามาเพิ่มเติมในระบบอีกอย่างน้อย 2 โรง กำลังผลิตรวมกันอีกกว่า 700,000 ลิตร/วัน และหากรัฐบาลยังไม่มีนโยบายที่ส่งเสริมหรือการแก้ไขปัญหาเอทานอลล้นเกินก็ อาจจะส่งผลให้ผู้ผลิตเอทานอลบางรายต้อง ปิดกิจการ เพราะขาดทุนสะสม สำหรับในส่วนของบริษัทอุบลไบโอเอทานอล ที่เดิมมีแผนจะเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้น

“เราอาจจะต้องพิจารณาสถานการณ์เอทานอลช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ ไปจนถึงไตรมาส 1 ของปี 2561 ก่อนว่าเป็นอย่างไร ในกรณีที่ปริมาณเอทานอลยังคงล้นตลาดก็อาจจะต้องเลื่อนแผนเข้าตลาดหลัก ทรัพย์ฯออกไปอีก”

อย่างไรก็ตาม กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอลยังคงสนับสนุนให้กระทรวงพลังงาน เดินหน้าตามแผน AEDP รวมถึงการยกเลิกน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 เพื่อส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอล์ E20 ให้เพิ่มมากขึ้น เพราะเมื่อตลาด E20 อยู่ตัวแล้ว รัฐบาลสามารถลดการเก็บเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในกลุ่มเบนซินที่ ต้องนำมาชดเชยราคาให้กับแก๊สโซฮอล์ E20 ได้ และยังทำให้ภาพรวมราคาน้ำมันในอนาคตลดลงได้อีกด้วย

มีรายงานเพิ่ม เติมจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เข้ามาว่า ปัจจุบันมีโรงงานเอทานอลที่ใช้กากน้ำตาลเป็นวัตถุดิบ จำนวน 11 โรง รวมกำลังผลิต 2.69 ล้านลิตร/วัน, โรงงานเอทานอลที่ใช้มันสำปะหลังร่วมกับกากน้ำตาลเป็นวัตถุดิบ จำนวน 5 โรง รวมกำลังผลิต 900,000 ลิตร/วัน, โรงงานเอทานอลที่ใช้เฉพาะมันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบ จำนวน 9 โรง รวมกำลังผลิต 2.29 ล้านลิตร/วัน และยังมีโรงงานเอทานอลที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างส่วนขยายเพิ่มเติมอีก 2 โรง ที่จะทยอยเข้าระบบในปี 2561 ได้แก่ บริษัท ที พี เค เอทานอล จำกัด ในเฟส 2 และ 3 จังหวัดนครราชสีมา ใช้มันเส้นเป็นวัตถุดิบ กำลังผลิต 680,000 ลิตร/วัน และบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป เทรดดิ้ง จำกัด ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ใช้กากน้ำตาลเป็นวัตถุดิบ กำลังผลิต 25,000 ลิตร/วัน

https://www.prachachat.net/economy/news-70222

คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 5
ในเมื่อผลิตออกมาแล้วแข่งขันสู้เขาไม่ได้ จะอยู่ไปทำไมครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่