ฟรี!! ซิมคนจน คลังระบุ ใช้ค่ายอื่นไม่ได้ ต้อง TOT บนคลื่น 2100 หวั่น กลัวซิมไม่พอแจก




TOT โต้โผแจกซิมคนจน 'ICTไทย'ขยับขึ้นอันดับ78


“คลัง” ปิ๊งไอเดีย ”ซิมแก้จน” แจกซิมอินเทอร์เน็ตให้หาข้อมูลเพื่อต่อยอดอาชีพ ดึง “ทีโอที”เป็นโต้โผ ส่วนจะพ่วงแจกสมาร์ทโฟนหรือไม่ขอคิดก่อน “กสทช.” โอ่อันดับไทยเรื่องไอซีทีขยับขึ้นจาก 82 มาอยู่อันดับ 78 ของโลก

เมื่อวันพุธ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงการแจกซิมอินเทอร์เน็ตฟรีให้ผู้มีรายได้น้อย 11.67 ล้านคน ในโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ว่ามั่นใจว่าจะเป็นประโยชน์ เพราะจะทำให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงข้อมูล ความรู้ การประกอบอาชีพต่างๆ ทั้งข้อมูลทั่วไป และข้อมูลเกี่ยวกับอาชีพที่รัฐจัดเตรียมไว้ให้ ซึ่งหากผู้มีรายได้น้อยมีช่องทาง มีความรู้เพิ่มขึ้น จะสามารถประกอบอาชีพพัฒนาฝีมือแรงงานได้ ในระยะยาวก็จะหลุดพ้นการเป็นผู้ที่มีรายได้น้อยที่ต้องได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล

เมื่อถามถึงกรณีแจกซิมอินเทอร์เน็ตฟรี แต่ผู้มีรายได้น้อยบางรายไม่สามารถซื้อสมาร์ทโฟนหรือเครื่องมือที่จะใช้ซิมดังกล่าวได้ จะมีการแจกสมาร์ทโฟนพ่วงซิมด้วยหรือไม่ นายอภิศักดิ์กล่าวว่า ต้องดูอีกที แต่เบื้องต้นซิมอินเทอร์เน็ตจะมีการจ่ายค่ารายเดือนให้ด้วย โดยจะให้ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เข้ามาร่วมโครงการ เนื่องจากไม่สามารถไปทำสัญญากับบริษัทเอไอเอส ดีแทค หรือทรูมูฟได้ เพราะจะถูกมองว่าเป็นการไปเอื้อให้เอกชนอีก

นายอภิศักดิ์กล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการในระยะแรก เช่น การช่วยค่าครองชีพรายละ 200-300 บาท การอุดหนุนค่าเดินทาง เป็นการบรรเทาภาระค่าครองชีพ โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจนมีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปี ซึ่งแต่ละคนจะรับการช่วยเหลือไม่เหมือนกัน ค่าใช้จ่ายในบางรายการหากจำเป็นต้องใช้ก็ใช้ได้ ถ้าไม่มีก็ไม่ต้องใช้ รัฐบาลไม่ได้บังคับให้ใช้ทั้งหมด แต่ในระยะที่สองจะทำอย่างไรให้คนกลุ่มดังกล่าวหลุดพ้นเส้นความยากจน ซึ่งต้องมีงาน มีการให้ความรู้ รัฐบาลต้องช่วยให้คนกลุ่มนี้หางานได้

มีรายงานแจ้งว่า การแจกซิมอินเทอร์เน็ตอาจมีการเสนอพร้อมมาตรการแพ็กเกจช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้ฝึกอาชีพที่จะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาในเดือน ธ.ค.นี้ โดยเบื้องต้นยังไม่มีการสรุปงบประมาณที่จะใช้ในการดำเนินงาน เพราะยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษารายละเอียด

นายรังสรรค์ จันทร์นฤกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจสื่อสารไร้สาย บมจ.ทีโอที กล่าวในเรื่องนี้ว่า ทีโอทียินดีที่จะให้การสนับสนุน เนื่องจากมีซิมการ์ดที่ให้บริการอินเทอร์เน็ต หรือดาต้าซิมอยู่แล้ว ซึ่งเป็นการให้บริการ 3G บนคลื่น 2100 เมกะเฮิรตซ์ ส่วนรายละเอียดงบประมาณค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น หรือรูปแบบการให้บริการนั้น ต้องศึกษาและหารือร่วมกันอีกครั้ง เนื่องจากเรตราคาค่าบริการต่างๆ ที่กระทรวงคลังจะต้องเป็นผู้สนับสนุนนั้น ทีโอทีมีเงื่อนไขและขอบเขตราคามาตรฐานอยู่แล้ว

“ที่กังวลว่าจำนวนซิมการ์ดที่ทีโอทีมีจะเพียงพอกับจำนวนผู้ที่ได้รับบัตรดังกล่าวทั้งหมดหรือไม่นั้น เชื่อว่าโครงการนี้คงให้สิทธิ์เฉพาะบุคคลที่ต้องการและยังไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้เอง มากกว่าการแจกฟรีให้ทั้งหมด ดังนั้นคงหารืออย่างชัดเจนอีกครั้งในการจัดทำโครงการ ซึ่งทีโอทียินดีให้ความร่วมมือ แต่ต้องหารือรายละเอียดอย่างชัดเจนตามขั้นตอนต่อไป" นายรังสรรค์ กล่าว

วันเดียวกัน นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) ได้เปิดเผยรายงานประจำปี เรื่องมาตรวัดสังคมสารสนเทศ 2017 ซึ่งเป็นการจัดอันดับดัชนีชี้วัดด้านการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ( IDI) ของปี 2560 จาก 176 ประเทศทั่วโลก เพื่อเปรียบเทียบพัฒนาการและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศต่างๆ โดยประเทศไทยขยับอันดับดีขึ้น โดยอยู่ในอันดับ 78 ของโลก จากเดิมเมื่อปี 2559 อยู่ที่อันดับ 82 ซึ่งประเมินจากดัชนีย่อย 3 กลุ่ม คือ 1.ดัชนีย่อยด้านการเข้าถึงไอซีที 5 ตัว 2.ดัชนีย่อยด้านการใช้งานไอซีที 3 ตัว และ 3.ดัชนีย่อยด้านทักษะความสามารถด้านไอซีที 3 ตัว

“เป็นผลจากจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่เพิ่มขึ้นจากนโยบายการจัดสรรคลื่นความถี่และการเปิดให้บริการ 3G/4G ครอบคลุมการให้บริการ ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้งานได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้ค่าดัชนีที่ใช้ในการประเมินเพิ่มขึ้น” นายฐากรระบุ

นายฐากรกล่าวอีกว่า แผนการดำเนินการในปี 2561 ภายใต้นโยบายของรัฐบาล เมื่อโครงการบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (USO) ทั้งโครงการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ในพื้นที่ชายขอบ (USO NET) 3,920 หมู่บ้าน และโครงการ USO เพื่อให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นห่างไกลของสำนักงาน กสทช. รวมทั้งโครงการเน็ตประชารัฐ ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมดำเนินการแล้วเสร็จ ประชาชนในพื้นที่กว่า 74,000 หมู่บ้าน จะเข้าถึงบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง รวมทั้ง กสทช.จะจัดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz และ 1800 MHz ที่สัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดลง รวมถึงการดำเนินการเพื่อสนับสนุน IoT (Internet of Things) ตามที่ กสทช. ได้ประกาศให้ จะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงไอซีทีได้มากยิ่งขึ้น

นายฐากรกล่าวต่อว่า ความท้าทายของไทยที่ต้องดำเนินการ นอกเหนือจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการเข้าถึงการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของประชาชนแล้ว กสทช.จะพัฒนาทักษะด้านการใช้งานไอซีที โดยเมื่อศูนย์ USO NET เริ่มเปิดให้บริการ จะมีเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์เพื่อให้ความรู้ในการใช้งานกับประชาชน รวมทั้งโครงการเพื่อฝึกอบรมพัฒนาทักษะด้านการใช้งานไอซีทีให้กับประชาชนทั่วประเทศ 500,000 คน

“เชื่อว่าการดำเนินการทั้งหมดจะส่งผลให้ดัชนีย่อยทั้ง 3 กลุ่ม ทั้งการเข้าถึง การใช้งาน และด้านทักษะความสามารถด้านไอซีทีพัฒนาขึ้น ส่งผลให้อันดับของไทยขยับขึ้นได้อย่างแน่นอน ในการประกาศการจัดอันดับดัชนีชี้วัดด้านการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของไอทียูครั้งต่อๆ ไป” นายฐากรกล่าว.

http://www.thaipost.net/?q=node/38156
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่