" สอบธรรมศึกษาไปเพื่ออะไร? " ชำแหละระบบการสอบ "ธรรมศึกษา" ของคณะสงฆ์


ในขณะที่สังคมชาวพุทธกำลังชื่นชมเด็กหญิงอยู่คนหนึ่ง ในอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ เธอมีร่างกายไม่สมบูรณ์ยังมีมานะพยายามเดินทางไปสอบ “ธรรมศึกษา” ซ้ำคัดลายเท้าตอบกระทู้ธรรมสวยงามมากกว่าคนเขียนด้วยมือบางคนด้วยซ้ำไป

อยู่ดีๆ เกิดกระแสข่าวมีเด็กตั้งคำถามว่า “สอบธรรมศึกษาไปเพื่ออะไร?” ไม่รู้ว่า พระพรหมมุนี แม่กองธรรมสนามหลวง ได้อ่านข้อความที่แพร่หลายอยู่ทางโซเซียลตอนนี้อยู่หรือยังว่า “เด็กโวย...โรงเรียนบังคับสอบธรรมศึกษา สอบไปเพื่ออะไร?” ... อ่านต่อที่ : https://www.dailynews.co.th/article/610067

มีน้องท่านนึงได้โพสต์ถามว่า ทำไมเด็กไทยถึงต้องสอบธรรมศึกษา สอบไปเพื่ออะไร?? พร้อมให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า...โรงเรียนอื่นอาจจะไม่บังคับ แต่โรงเรียนผมบังคับนี่สิครับ เพราะถ้าไม่ไปสอบโดนหักคะแนนจิตพิสัยด้วย บางคนก็ตอบว่า...สมัยที่เป็นนักเรียนก็ได้สอบ แล้วก็ผ่านนักธรรมชั้นตรี

ตอนนั้นที่สอบก็เพราะครูให้สอบเหมือนกัน แต่ครูไม่ได้บังคับ ไม่ได้เอาคะแนนมาขู่ ให้สมัครสอบตามความสมัครใจ นี่ก็ไปตามเพื่อน ซึ่งเพื่อนบอกให้ลองดู หรือบางท่านก็ตอบว่า หลายๆ คนที่ตอบนี้นอกจากไม่รู้เรื่องอะไรแล้วยังมั่วแบบสุดๆ หาเรื่องโทษพระ โทษเจ้าไปโน่น ธรรมศึกษาไม่ได้เป็นหลักสูตรบังคับของโรงเรียน ต้องไปสมัครสอบไม่มีการบังคับ การรับสมัครสอบจะเป็นนักเรียนมัธยมต้นขึ้นไป แต่ถ้า ป.6 ต้องการสอบก็สามารถสมัครได้ ป.4-5 ยังเขียนหนังสือไม่คล่อง จะเขียนเรียงความธรรมะได้หรือ? เขียนเรียงความธรรมดาให้ได้ก่อนเหอะ ยกเว้นเด็กที่เก่งจริงๆ ก็เข้าสอบได้ เด็ก ป.5 หมื่นคน จะมีเก่งแบบเข้าสอบธรรมะปีละคนยังหายาก หรือมีบางรายก็ตอบว่า


เด็กโวยโดนบังคับให้สอบไม่เท่าไรหรอก แต่ที่น่าเจ็บใจสุดๆ ไปสอบแล้ว ยังโดนบังคับให้ทำข้อสอบแบบทุจริตอีก นี่ล่ะน่าคิด ฝากผู้ใหญ่ได้โปรดเคารพสติปัญญาของเด็กด้วย ส่วนพระคุณเจ้ารูปหนึ่งตอบว่า...สอบไปเพื่อจะได้รู้ว่า...การทำความดีเป็นอย่างไร ทำให้มีจิตใจมี เมตตา กรุณา ไม่ให้เบียดเบียนผู้อื่น

การสอบนักธรรมก็ดี ธรรมศึกษาก็ดี ผมไม่อยากจะวิพากษ์วิจารณ์มาก เพราะตัวเองได้ห่างจากระบบสอนและคุมสอบนักเรียนมานานแล้ว แต่ผมมีมุมมองจากอดีตพระอาจารย์สอนบาลี สอนนักธรรม ปัจจุบันเป็นอนุศาสนาจารย์ กรมราชทัณฑ์ อาจจะเป็น “โจทย์” ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องไปแก้ปัญหา โดยท่านได้ตั้งหัวข้อว่า “ธรรมศึกษาที่ไม่ศึกษาธรรม” แล้วได้แยกประเด็นระบบการศึกษาธรรมศึกษาไว้ดังนี้


กระบวนการจัดการเรียนการสอนธรรมศึกษาที่จัดและดำเนินการกันอยู่ทุกวันนี้ ไม่ได้เป็นไปเพื่อการเรียนรู้ได้อย่างแท้จริง มุ่งเน้นไปที่ตัวเลขของการสอบได้โดยไม่ได้คำนึงว่าผู้ที่สอบได้นั้นจะรู้อะไรกันบ้างหรือเปล่า มีการทุจริตในการสอบทุกขั้นตอน ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เป็นการจัดการที่ล้าสมัยมาก กล่าวคือ

1.นักเรียนระดับประถมใช้ข้อสอบระดับเดียวกันกับระดับมัธยมและอุดมศึกษา มีที่เดียวในโลกที่ทำได้ โดยเฉพาะวิชาเรียงความแก้กระทู้ธรรมเป็นวิชาที่ต้องอธิบายความตามพุทธศาสนสุภาษิต ซึ่งยากเกินไปสำหรับเด็กหรือแม้กระทั่งผู้ใหญ่หลายๆ คนก็ยังไม่เข้าใจ

2.วิชาอื่นๆ ที่นอกเหนือจากนั้น ความยากง่ายก็ยังอยู่ในระดับเดียวกันอยู่ดี ดังนั้นจึงไม่สามารถตอบโจทย์อะไรได้เลย การเรียนการสอนก็ไม่มีกันอย่างแท้จริง บางแห่งใช้แค่เวลาในช่วงก่อนสอบให้พระมาสอนพิเศษหรือติวบ้างเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเอง ซ้ำร้ายไปกว่านั้นบางสำนักมีการแนะวิธีการทุจริตในการสอบด้วยซ้ำไป

3.ผลที่คาดหวังและเห็นได้ชัดๆ คือ “ตัวเลขจำนวนผู้สอบได้และผลกำไรจากงบอุดหนุน (มหาศาล)”

แล้วคำถามก็คือว่า ใครได้รับประโยชน์โดยตรง  


1.ตอบแบบฟันธงเลยว่า “สำนักเรียน (วัด) - เจ้าคณะอำเภอ - เจ้าคณะจังหวัด เป็นลำดับไป” เพราะคณะสงฆ์จะนำผลงานด้านนี้ไปประกอบในการพิจารณาเลื่อนสมณศักดิ์ จึงเป็นมูลเหตุให้พระบางสำนักไม่ได้คำนึงถึงความถูกต้อง ชอบธรรมมุ่งแต่แสวงหายอดผู้สอบได้อย่างเดียว และที่ร้ายไปกว่านั้นคือ “เงินอุดหนุน” หากไม่ได้จัดการบริหารให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ไม่ได้จัดสรรให้สถานศึกษาที่ส่งนักเรียนเข้าสอบเพื่อไปดำเนินการจัดการเรียนการสอน สุ่มเสี่ยงต่ออาบัติร้ายแรงจริงๆ พระเดชพระคุณ...!!

2.ธรรมศึกษาที่ไม่ศึกษาธรรม จึงเดินสวนทางกับหลักพุทธธรรม แม้ในระดับจริยธรรมขั้นพื้นฐานอย่างสิ้นเชิง เอาแค่ หิริ ความละอายแก่ใจ โอตตัปปะ ความเกรงกลัว ก็ไม่มีแล้วครับ จะป่วยกล่าวไปไยถึงคุณธรรมด้านอื่นอีก

3.มาชำระสะสางบ้านของเรากันก่อนดีเปล่าครับ อย่ามัวเฝ้าจับผิดเพ่งโทษผู้อื่นอยู่เลย หลักพุทธธรรม ไม่ควรถูกทำลายโดยน้ำมือของพุทธบุตรครับ

ผมคิดว่าหลังจาก “คณะสงฆ์” ได้รับข้อความนี้แล้ว ลองไปพิจารณาทบทวนดูในข้อเท็จจริงเป็นดังว่าหรือไม่?? หากเป็นจริงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำไปปรับปรุง ระบบการเรียนการสอนการสอบธรรมศึกษา เพราะการสอนและสอบธรรมศึกษาถึงว่าเป็นเครื่องมือหนึ่งที่รัฐบาลและผู้ปกครองเด็กให้ความไว้วางใจคณะสงฆ์ในการสร้างเด็กให้เป็น “คนดีมีศีลธรรม” ปลูกฝั่งให้เด็กใกล้ชิดพระพุทธศาสนา

หากเป็นจริงดั่งเด็กตั้งคำถามว่า “สอบธรรมศึกษาไปเพื่ออะไร??” หรือเป็นจริงดังที่อนุศาสนาจารย์ท่านนี้ตั้งข้อสังเกตแล้ว “คณะสงฆ์” ยังนิ่งเฉย...ก็อย่าไปมีมันเลย “สอบธรรมศึกษา

คอลัมน์ : ริ้วผ้าเหลือง
โดย “เปรียญ10” : riwpaalueng@gmail.com

ขอบคุณ  https://www.dailynews.co.th/article/610067
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่