[CR] รีวิวหนังสือ การสิ้นราชวงศ์พม่า 3 เล่ม ต้องห้ามพลาด!!

ผมเริ่มสนใจการสิ้นสุดของราชวงศ์พม่าเมื่อต้นปีที่ผ่านมา หลังจากได้ดูตัวอย่างโปรโมทละคร "เพลิงพระนาง" ของช่อง 7 และ "รากนครา" ของช่อง 3 ทั้งสองเรื่องเกิดจากบทละครที่ได้แรงบันดาลใจจากจุดจบแห่งราชวงศ์พม่า ** ซึ่งปัจจุบันผมก็ยังไม่มีโอกาสได้ดูละคร 2 เรื่องดังกล่าวฯ

แต่จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ทำให้ผมสนใจที่จะหาข้อมูลเพิ่ม จึงหาข้อมูลจนเจอหนังสือที่หลายคนแนะนำ 3 เล่ม ได้แก่ ราชินีศุภยาลัต  พม่าเสียเมือง และราชันผู้พลัดแผ่นดินเมื่อพม่าเสียเมือง

หนังสือ “ราชินีศุภยาลัต จากนางกษัตริย์สู่สามัญชน” เป็นหนังสือแปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษชื่อ “Thibaw’s Queen” เขียนโดยฟีลดิ้งออลล์ แฮโรลด์ ข้าราชการสหราชอาณาจักรประจำกรุงมัณฑะเลย์ในสมัยนั้น ผู้เขียนบอกเล่าเรื่องราวในรั้วในวังผ่านการสัมภาษณ์นางกำนัลผู้ถวายรับใช้พระราชินี บอกเล่าบทบาทและอุปนิสัยของพระราชินีองค์นี้ ผ่านเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ


ด้วยงานเขียนที่เป็นลักษณะบทสัมภาษณ์ ทำให้ผู้อ่านเหมือนกำลังฟังนางกำนัลเล่าเรื่องเจ้านาย โดยมีผู้เขียนเป็นผู้สงสัยและถามแทนเรา ผู้เขียนมักเปรียบเทียบเรื่องในวัง และเรื่องในเมืองพม่ากับอังกฤษบ้านเมืองของเขาเอง ซึ่งอาจมาจากความจงใจเพื่อให้ผู้อ่านสมัยนั้นในอังกฤษเข้าใจบริบท และสิ่งแวดล้อมของพม่าได้ง่ายขึ้น

ส่วนตัวคิดว่าหนังสือของฟีลดิ้งออลล์เล่มนี้ มีข้อเสียอยู่บ้างเรื่องภาษา ฟีลดิ้งพยายามเขียนออกมาในลักษณะของสารคดี คือมีบทพรรณนาอธิบายสิ่งต่าง ๆ ทั้งแสงแดด ดิน ฟ้า อากาศ ตลอดจนสัตว์น้อยใหญ่ ซึ่งมักมาแบบไม่เข้ากับรูปประโยค การกล่าวถึงความรู้สึกนึกคิดของพระราชินี ซึ่งมาจากการคาดเดาของนางกำนัลผู้เล่าเรื่อง การพยายามผูกโยงให้พระราชินีมีส่วนเกี่ยวข้องกับทุกเหตุการณ์สำคัญในวัง จนชวนให้เชื่อว่าบางส่วนไม่ได้มาจากเรื่องจริง และท้ายที่สุด คิดว่าส่วนหนึ่งมาจากปัญหาด้านการแปล ในฉบับภาษาไทยมักมีการใช้ภาษาระดับต่าง ๆ การใช้ราชาศัพท์ แต่ด้วยเหตุใดไม่ทราบ จึงใช้ไม่เหมือนกันในแต่ละรูปประโยค เช่น เรียกแม่ของพระราชินีว่า พระราชมารดา บ้างก็เรียกพระมารดาเฉย ๆ บ้าง และมีอีกหลายคำที่อ่านแล้วคิดว่าใช้คำไม่เหมาะ


หนังสือ “พม่าเสียเมือง” ของ มรว.คึกฤทธิ์  ปราโมช งานเขียนของ มรว.ศึกฤทธิ์ อ่านง่ายและเพลิดเพลินมาก มากกว่า "หนังสือราชินีศุภยาลัต" มาก อาจมีความได้เปรียญด้านภาษา และการเปรียบเทียบอธิบายเหตุการณ์เทียบเคียงระหว่างพม่าและเมืองไทย ทำให้เราผู้อ่านคนไทยเข้าใจได้ง่าย หากสนใจแนะนำให้อ่านของ มรว.คึกฤทธิ์ ให้จบเสียก่อน แล้วค่อนอ่านเล่มอื่น ๆ จะทำให้เข้าใจทั้งภาพกว้างของเหตุการณ์ และเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของคนในเหตุการณ์จากทั้ง 2 เล่ม


และเล่มสุดท้าย "ราชันผู้พลัดแผ่นดินเมื่อพม่าเสียเมือง" แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ The King in Exile : The Fall of Royal Family of Burma งานเขียนของคุณสุดาห์ ชาห์ ผู้เขียนรอบรวมข้อมูลจากบันทึกรูปแบบต่าง ๆ ทั้งอดีตและปัจจุบัน รวบรวมงานจากหนังสือหลายเล่ม รวมทั้ง 2 เล่มที่ผมอาจข้างต้น ตลอดจนสัมภาษณ์ผู้อยู่ในเหตุการณ์ หรือคนรุ่นหลังที่ฟังเรื่องราวจากบรรพบุรุษ หรือแม้กระทั่งจากลูกหลานของกษัตริย์เอง จุดเด่นที่เห็นได้ชัด ละแตกต่างจาก 2 เล่มแรกคือ มีการนำเสนอเรื่องราวชีวิตหลังสิ้นสุดการเนรเทศของครอบครัวกษัตริย์ เรื่องราวจากรุ่นลูก หลาน เหลน และถัดจากนั้น 2 - 3 รุ่น ทำให้หนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาที่สมบูรณ์มาก เพราะเล่นตั้งแต่เหตุของการได้ขึ้นครองราชย์ ช่วงระหว่างครองราชย์ การเนรเทศ ชีวิต 30 ปีระหว่างโดนเนรเทศ และหลังสิ้นสุดการเนรเทศ
ชื่อสินค้า:   หนังสือราชันผู้พลัดแผ่นดินเมื่อพม่าเสียเมือง, หนังสือพม่าเสียเมือง, หนังสือราชินีศุภยาลัตจากนางกษัตริย์สู่สามัญชน
คะแนน:     
**CR - Consumer Review : ผู้เขียนรีวิวนี้เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง ไม่มีผู้สนับสนุนให้สินค้าหรือบริการฟรี และผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในการเขียนรีวิว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่