การบริหารเวลาฉบับนักเรียน

จากเพจ "เคล็ดลับนักเรียน"
แนะนำเคล็ดลับสำหรับ นักเรียน นักศึกษา ทุกระดับไปจนถึงปริญญาเอก
--------------------------------------------------------------

อย่าเพิ่งคิดว่าการบริหารเวลาเป็นเรื่องเฉพาะสำหรับผู้ใหญ่วัยทำงานแล้วเท่านั้นนะคะ ไม่ว่าเวลาของเด็กหรือผู้ใหญ่ต่างก็มีค่าเท่ากัน การบริหารเวลาถือเป็นทักษะหนึ่งที่ควรมีเมื่อจบออกไปทำงานแล้ว คือเราต้องรู้จักบริหารเวลาที่มีให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ไม่ใช่เสียเวลานั่งทำงานที่ออฟฟิศทั้งวันแต่ไม่ได้อะไรจนต้องหอบงานเอาไปทำที่บ้านต่อ เชื่อว่าคงไม่มีใครอยากทำงานในเวลาที่เราควรพักผ่อนจริงมั้ยคะ

ซึ่งการบริหารเวลานี้เราสามารถฝึกกันได้ตั้งแต่ตอนที่เรายังเป็นนักเรียนค่ะ เพราะถ้าเราบริหารเวลาดีก็จะทำให้เราไม่ต้องมาเร่งทำงานจนดึกตอนใกล้ถึงกำหนดส่ง หรือไม่ต้องอดนอนเพื่อเร่งอ่านหนังสือสอบได้

เคล็ดลับการบริหารเวลาฉบับนักเรียนง่ายๆ มี 3 ข้อดังนี้ค่ะ

1.จด

จดทุกกิจกรรมที่ต้องทำลงในปฏิทิน

แนะนำว่าให้น้องๆจดตารางเวลาเรียนของเราก่อนว่าในแต่ละวันเรียนวิชาอะไรตอนกี่โมงลงในปฏิทินที่อยู่ในโทรศัพท์มือถือหรือในสมุดบันทึกที่เป็นตารางปฏิทินส่วนตัวก็ได้ เราจะได้เห็นชัดเจนภาพว่าในแต่ละวันเรามีเวลาว่างจากการเรียนตอนไหนบ้าง แล้วพอเวลามีใครนัดทำกิจกรรมอะไร หรือถ้าเรามีการบ้าน รายงานอะไรที่ต้องรีบทำส่ง เราก็แค่จดลงไปเพิ่มในเวลาที่เราว่างอยู่ จะได้รู้ว่าวันนี้เวลานี้เราต้องทำกิจกรรม การบ้าน หรือรายงาน เป็นต้น รวมถึงจดวันกำหนดส่งงาน หรือวันสอบต่างๆลงไปด้วยก็ดีเพื่อช่วยเตือนเราล่วงหน้า

2.วางแผน

วางแผนงานที่ต้องทำล่วงหน้าอย่างน้อยหนึ่งวัน

ลองวางแผนล่วงหน้าว่าในแต่ละวันเราจะทำอะไร เวลาไหนบ้าง จะช่วยลดความเครียดหรือความกังวลที่เกิดจากความกลัวว่าเราอาจทำงานส่งไม่ทันลงได้ โดยเวลาที่จะวางแผนก็ให้เราคิดตามจริงว่างานแต่ละชิ้นเราต้องการเวลาเท่าไหร่ถึงจะทำเสร็จแน่ๆ อย่ากำหนดเวลาน้อยเกินไป ดูศักยภาพของเราด้วยแล้วกำหนดตามจริง และทุกคืนก่อนเข้านอนในแต่ละวัน ก็ลองเปิดปฏิทินดูว่าพรุ่งนี้เราต้องไปทำอะไรที่ไหนบ้างเพื่อเตรียมพร้อมเมื่อวันรุ่งขึ้นมาถึงเราจะได้เริ่มงานได้เลยโดยไม่เสียเวลา

3.ยึดตามแผน

พยายามทำงานตามแผนที่วางไว้ให้เสร็จก่อน

เมื่อเราวางแผนมาแล้วก็ให้ปฏิบัติตามแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัด ให้ถือว่าเป็นงานหลักที่ต้องทำก่อน แม้ในบางครั้งเราอาจมีเรื่องที่ไม่คาดคิดเข้ามาให้ได้ทำในแต่ละวัน เช่น เพื่อนนัดทำรายงานกลุ่ม รุ่นพี่นัดซ้อมเชียร์เพิ่ม หรือมีอาจารย์ขอให้ไปช่วยงาน เป็นต้น ถ้าเวลาชนกันกับกิจกรรมหลักที่เราวางแผนไว้ว่าจะทำ แนะนำว่าให้ลองถามว่าไปทำเวลาอื่นที่เราว่างแทนได้หรือไม่ ถ้าเลื่อนไม่ได้ก็ให้เราลองพิจารณาลำดับความสำคัญของแต่ละงานดู โดยลองจัดลงในตารางดังภาพว่ามีความสำคัญและเร่งด่วนหรือไม่ ถ้ามีความสำคัญและเร่งด่วน (หมายเลข 1 ในภาพ) ควรทำงานนั้นก่อน นี่เป็นวิธีหนึ่งที่นิยมใช้เพื่อช่วยในการประเมินความสำคัญของงานได้

Cr. รูปภาพดัดแปลงมาจาก Eisenhower's method

------------------------------------------------------
ติดตามเคล็ดลับอื่นๆได้ที่เพจ "เคล็ดลับนักเรียน"
#เคล็ดลับนักเรียน
#allaboutstudents

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่