ลือ กสทช. ยึด“คลื่น2300” คืนจาก TOT

ลือกันลั่นทุ่ง“แจ้งวัฒนะ”ว่า งานนี้ถ้าโปรเจกต์ล่ม“องค์การฮัลโหล”อย่าง บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) รัฐวิสาหกิจใหญ่ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 อาจถึงคราวล่มสลายลงได้ ด้วยน้ำมือของ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

โปรเจกต์ ที่ว่าคือ การให้สิทธิ์ในการใช้คลื่น“2300 เมกะเฮิร์ตช”ที่เมื่อปี 2558 กสทช. อนุญาตให้“ทีโอที”สามารถนำคลื่น 2300 เมกะเฮิร์ตชไปใช้แทนที่สัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ 900 เมกะเฮิร์ตช ที่ กสทช. เคยเอาคืนแล้วกำลังจะเร่ขายเชิญคนมาประมูลอยู่ตอนนี้

แต่จู่ๆ กสทช.ก็อัลไซเมอร์รับประทาน มายึดคืนคลื่น “2300 เมกะเฮิร์ตช”หน้าตาเฉย

แม้จะยังไม่มีการเซ็นสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ตอนนั้น กสทช.ตกปากรับคำเอาไว้แล้ว แถมยังมีสัญญาใจกับรัฐบาล ผ่าน“อุตตม สาวนายน”ที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่ง รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) หวังให้เอาคลื่น 2300 ไปปรับปรุงทำเป็น “Broadband Wireless Access”เพื่อหารายได้เข้ารัฐ ที่มันสอดคล้องกับนโยบาย“ไทยแลนด์ 4.0”

กสทช.ในวันนั้น ภายใต้การกุมบังเหียนของ “บิ๊กเจี๊ยบ”พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธาน กสทช. ยังมีหนังสือแจ้งให้“ทีโอที”รับทราบว่า นำไปใช้ได้ แต่ด้วยสถานภาพทางการเงินของ“องค์การฮัลโหล”ที่ย่ำแย่มาในช่วงหลายปี ทำให้จำเป็นต้องหาพันธมิตรมาช่วย เลยเปิดคัดเลือกเอกชนมาจับมือกัน เมื่อปี 2560 ปรากฏว่า“ดีแทค”ได้รับสิทธิ์ในการเป็นพันธมิตรกับบริการนี้

จากนั้นทั้ง “ทีโอที”และ “ดีแทค”ก็ทำตามขั้นตอนของกฎหมาย คือ การจัดทำร่างสัญญาพันธมิตร แยกเป็น สัญญาเช่าอุปกรณ์ - สัญญาใช้บริการข้ามโครงข่าย พอทั้งคู่ร่างเสร็จก็ส่งให้ กสทช. อัยการสูงสุด (อสส.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ตรวจตราดูว่า มันถูกต้องตามข้อกำหนดในการร่วมทุนรัฐ - เอกชน ในพ.ร.บ.กสทช. หรือไม่ ซึ่งฉลุยไม่ยาก เหมือนตอนโรมมิ่งคลื่น 2100 กับ “เอไอเอส”

กระนั้นเรื่องกลับชักยังไงๆ เพราะ อสส. ก็ดูแล้วไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่ไฉนที่ซอยสายลม ที่ตั้งสำนักงานกสทช. กลับไม่มีวี่แว่วใดๆ ตอบกลับมาว่า มันได้หรือเปล่า ?

แถมยังเรื่องกลับตาลปัตร เมื่อได้ “บิ๊กอ้อ”พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร ขึ้นมาทำหน้าที่ประธาน กสทช. คนใหม่ ที่ดันประกาศนโยบายแรกๆ ว่า จะประมูลคลื่น 2300 รอบใหม่เสียอย่างงั้น ทำเอา“ทีโอที”งงเป็นไก่ตาแตก พลางอุทานว่า อ้าว..เฮ้ย !

ไม่เต้นก็ไม่ได้ “ทีโอที”ร้อนใจ ก็ไหนว่า ยกให้กันแล้ว ! เลยรีบทำหนังสือด่วนไปถึง “กสทช.”สอบถามความคืบหน้า ทำนองว่า สรุปมันยังไงกันท่าน ! แต่สำนักงานที่กุมขุมทรัพย์มหาศาลกลับให้“สายลม”ตามชื่อซอยที่ตั้ง มาเป็นคำตอบ

แล้วใช่แค่ “ทุ่งแจ้งวัฒนะ”ที่ร้อนใจ “บิ๊กดีแทค”ก็อยู่ไม่ไหว ยกขบวนกันไปหา“บิ๊กอ้อ”และ“ฐากร ตัณฑสิทธิ์”เลขาธิการ กสทช. เพื่อขอถกกันแบบจริงๆ จังๆ ทีนี้ได้คำตอบ แต่เป็นหนังคนละม้วนกับเมื่อตอนปี 2558 เพราะ “ประธานอ้อ”แจ้งว่า“ทีโอที”ไม่สามารถดำเนินการในรูปแบบพันธมิตรกับ “ดีแทค”ได้

ทำเอาว่าที่พันธมิตรอื้ออึง หนึ่งในคำถามในหัวดังขึ้น แล้วทำไมเมื่อตอนโรมมิ่งคลื่น 2100 กับ “เอไอเอส”ถึงไม่มีปัญหา เพราะทำมาในลักษณะเดียวกันจนเรียกว่า แทบจะ“ก๊อปปี้”กันมา

งานนี้ลือกันให้แซ่ด ที่ “ซอยสายลม”เปลี่ยนท่าที ยอมผิดสัญญาใจกับ “อุตตม”และ“รัฐบาล”เพราะโดนปฏิบัติการ“คลื่นแทรก”เข้าให้ ไม่ใช่เพราะ “ทีโอที”ทำสัญญาพันธมิตรกับ“ดีแทค”ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่มันมีขบวนการที่ทำให้มันทำไม่ได้ !

ว่ากันว่า มี “โอเปอร์เรเตอร์บางเจ้า”อยากจะได้คลื่น 2300 ไปครอบครอง เลยใช้ความเป็น“ซูเปอร์บิ๊ก”พ่วง “คอนเนกชั่น” ประสานกับกรรมการ กสทช. บางคนว่า อั๊วะอยากได้เลยเหลือเกิน ลื้อช่วยจัดการให้หน่อย !

เลยเป็นที่มา ที่ทำให้สัญญาระหว่าง“ทีโอที”กับ “ดีแทค”ในการใช้คลื่น 2300 เกิดขึ้นเสียที ทั้งที่ทวงแล้ว ทวงเล่า จนส่อว่าสุดท้ายจะเป็นหมัน

อย่างที่รู้กันมานมนาน ในซอยสายลม มี “บิ๊กบางคน”ใน กสทช. สนิทชิดเชื้อกับ“เจ้าพ่อธุรกิจโทรคมนาคมบางค่าย”เม้าต์ กันว่ากินเงินเดือนทางนู้น มากกว่าที่ได้จากหน่วยราชการเสียอีก จนบางครั้งสับสนบทบาท นั่งจ้อวาระงาน กสทช. แต่เอียงกระเทเร่ นึกว่าเป็น“โฆษกค่ายโทรศัพท์” ด้วยซ้ำไปก็เลยถูกสันนิษฐานกัน ว่า งานนี้อาจมีขบวนการ“ล้มสัญญาใจ”ระหว่าง “ทีโอที -รัฐบาล”กับ“กสทช.”เพื่อประเคนไปให้เจ้าอื่นแทน

นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมามันก็มี “ซูเปอร์บิ๊ก”บางค่าย ที่แผ่อำนาจจนครอบคลุม“อาณาจักรซอยสายลม”ไปได้แทบจะทั้งหมด อยากได้อะไรก็แค่ “ล็อบบี้”สะกิดนิดเดียว ก็ได้เค้กไปง่ายๆ ชนิดที่วงการโทรคมนาคมรู้กันว่า ถ้าคิดจะแข่งขันผ่าน กสทช. พวกเขาเป็นรองเรื่องนี้

แล้วถ้าสุดท้ายโปรเจกต์ของ “ทีโอที”กับ “ดีแทค”ล่มจริง การประมูลคลื่น 2300 ครั้งต่อไป มันจะเป็นการตอกย้ำให้เห็นอะไรหลายอย่างว่า การล้มครั้งนี้มีเจตนาอะไร โดยเฉพาะให้จับตาดูว่า ใครเป็นคนได้คลื่น 2300 ไปหม่ำแทน นั่นแหละคำเฉลย

เรื่องนี้เหมือนเป็นเรื่อง“ทีโอที”และ “ดีแทค”ผิดหวัง เลยออกอาการหนักหน่อย แต่ความจริงแล้วมันเป็นเรื่องที่ควรต้องผิดหวังหนัก เพราะถ้าโปรเจกต์นี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้“องค์การฮัลโหล”ก็มีสิทธิ์จะพังพาบไปด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะถ้าไม่สามารถเซ็นสัญญาได้ทันภายในสิ้นปีนี้ จะต้องสูญเสียรายได้ที่ควรได้รับจาก“ดีแทค”แค่ช่วงไตรมาสสุดท้าย 3 เดือนๆ ละ 500 ล้านบาท รวมเป็น “พันห้าร้อยล้าน”นั่นเลย

ขำไม่ออกกว่า หากไม่สามารถลงนามสัญญาได้ภายในเดือน ม.ค.61 นี้ แผนการที่จะปั้นรายได้ปีละ 4,510 ล้านบาท ยาว 8 ปี รวมแล้วไม่มากไม่มาย 3.6 หมื่นล้านบาท ที่ทำกับ “ดีแทค” จะหายวับไปทันที แล้วด้วยสถานการณ์ทางการเงินของ “ทีโอที” ที่ย่ำแย่ถึงขั้นฝาชนหลังแล้ว อาจปิดตำนานองค์การที่รัชกาลที่ 5 ทรงก่อตั้งขึ้น

จะว่าไปงานนี้ที่“กสทช.”ทำน่าเกลียดตระบัดสัตย์ โดยความเป็นจริงแล้ว บิ๊กๆในรัฐบาล และ คสช. น่าจะออกมา แอกชัน ทำอะไรสักหน่อยเพื่อรักษา“ทีโอที”ที่เป็นรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่เอาไว้ แต่นี่กลับนิ่งเฉย ไม่รู้ดำรู้แดง ราวกับว่า ปล่อยเลยตามเลย จนมีเสียงครหาว่า หรือ เป็นเพราะมันมี “บิ๊ก”บางคนในรัฐบาล และ คสช. ได้ประโยชน์จากการล้มโปรเจกต์นี้ เช่นกัน ก็อย่างที่รู้กันทั่วคุ้งทั่วแควว่า นอกจาก“ซูเปอร์บิ๊ก”บางเจ้าที่ว่า จะมีสายสัมพันธ์ แนบแน่นกับ กสทช.บางคนแล้ว การดำเนินการนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลก็ พึ่งเครือข่ายซูเปอร์บิ๊ก ที่ทำธุรกิจหลายหน้าเช่นเดียวกัน เลยไม่กล้าพูดอะไรมาก

ตอนนี้ “ทีโอที”ภาวนาแค่ว่า“ผู้มีอำนาจ”เห็นเรื่องแล้ว จะกอบกู้สถานการณ์ให้ดีขึ้น เพื่อ“เซฟทีโอที”เอาไว้ ไม่ให้ปิดตำนานในยุคตัวเอง เพียงแค่ความหน้ามืดของบางคนแถว ซ.สายลม.



https://mgronline.com/politics/detail/9600000113975

..........................

แต่จริงๆ ก็สมควรยึดคืนนะ เล่นได้ไปฟรี แต่ไม่มีความสามารถ ทำมาหากินได้เอง ชอบแต่จะเอาไปให้เอกชนเช่าถูกๆ

ในขณะที่คนอื่นเขาแข่งประมูล กันเป็นหมื่นๆล้าน แต่เอาไปปล่อยเช่าช่วงถูกๆ แบบนี้ เสียหายหมด

ถ้า TOT จะเจ๊ง ก็ปล่อยให้เจ๊งไปเหอะ อุ้มอยู่ได้ เงินดี งานสบาย โบนัสงาม

แบบนี้ DTAC คงโดนผลกระทบด้วยแน่ๆ เพราะเคยได้ข่าวว่าจะจับมือทำธุรกิจกับ TOT ด้วยนิ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่