[Review] Thor: Ragnarok: นี่มันคือหนังตลกของมาร์เวลนี่หว่า?


By มาร์ตี้ แม็คฟราย

ได้ฤกษ์กลับมาเสียที หลังจากหายหน้าไปกว่า 2 ปีเต็ม หลังจากศึกฟัดกับ อัลตรอน ที่พี่เทพสายฟ้าของเราไปเห็นนิมิตบางอย่างที่อาจส่งผลถึงดาวบ้านเกิดอย่างแอสการ์ดที่อาจถึงคราวล่มสลายด้วยเหตุการณ์ที่เรียกว่า Ragnarok อันเป็นสงครามครั้งใหญ่ที่อาจทำลายดาวดวงนี้ได้ทั้งใบ

ซึ่งไม่ว่าเรื่องราวใน MCU จะเดินทางไปขนาดไหนแล้ว เกิดศึกฮีโร่ตีกันถล่มรันเวย์สนามบินจนกลุ่มอเวนเจอร์สก็แตกไปแล้วแถมยังกำเนิดคุณหมอจอมเวทจอมหยิ่งมาอีกคน พี่เทพธอร์ของเราก็ยังไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรกับเขาเลย เพราะไม่ได้อยู่ที่โลก

ซึ่งตอนนี้ก็ถึงเวลาของเทพลิเกชาววังที่หลายคนคิดถึงกันแล้ว

ไทก้า ไวตีตี้

นี่คงเป็นการเลือกผู้กำกับที่ทำให้หลายคนเกาหัวอีกครั้งของมาร์เวล สตูดิโอส์ โดยสายตาอันเฉียบแหลมของ เควิน ไฟกี บิ๊กบอสแห่งมาร์เวล สตูดิโอส์ ที่หลายครั้งพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการเลือกผู้กำกับจากสายอินดี้เข้ามาคุมโปรเจกต์ใหญ่ ๆ นั้น ต่างก็ประสบความสำเร็จอย่างสูงทุกเรื่องไป เช่น จอสส์ วีดอน, เจมส์ กันน์, และที่ชัดที่สุดอย่าง โจ และ แอนโธนี่ รุสโซ ที่ผลงานเข้าตาจนได้รับช่วงต่อกำกับ Avengers: Infinity War (2018) เลยทีเดียว

สำหรับไทก้า ไวตีตี้ คือผู้กำกับสายฮาจากนิวซีแลนด์ ที่มีผลงานสร้างชื่อคือหนังตลก สยองขวัญ ขวัญใจนักวิจารณ์อย่าง What We Do in the Shadows (2014) ซึ่งหากให้คาด ก็คงคาดว่าไฟกีต้องการให้หนังเทพเจ้าสายฟ้าคราวนี้เปลี่ยนโทนเป็นหนังตลกจริง ๆ ซึ่งหากคิดแบบนั้น การเลือกไวตีตี้เข้ามาก็เป็นเรื่องตัดสินใจถูกต้อง เพราะไวตีตี้คือผู้กำกับที่มีจังหวะการเล่าเรื่องที่ตลก และไม่ใช่เป็นตลกแบบปล่อยมุก แต่เป็นตลกสถานการณ์เน้นจังหวะหนัง แต่จุดแข็งอีกอย่างคือไวตีตี้คือวิชวลด้านภาพ ที่หากดูแล้วจะเห็นว่ามีการใช้แสง เงา และสีที่สวยงามในระดับ Guardians of the Galaxy ทั้งสองภาค

กล่าวคือ ไวตีตี้คือผู้กำกับที่มีลายเซ็นความตลกเฉพาะตัวที่ได้ผลดี และยังมีวิสัยทัศน์ด้านภาพในหัวที่ดีอีกด้วย

นี่คือหนังตลกจากมาร์เวล?

ตอนที่ได้เห็นตัวอย่างหนังครั้งแรกบวกกับชื่อผู้กำกับ ก็คิดไว้อยู่แล้วว่าหนังจะออกมาในโทนตลกขบขันในระดับสูงประมาณหนึ่ง แต่พอได้ดูจริง ๆ แล้ว พบว่าหนังมีการปล่อยมุกเยอะมาก ทั้งหมดจากบทสนทนา มุกจากสถานการณ์ทั้งหลาย เรียกได้ว่าปล่อยทุก 10 นาที จนคิดว่าไม่เกินเลยหากจะบอกว่านี่คือหนังตลก

ซึ่งส่วนตัวนั้นไม่ได้คิดว่าผู้กำกับหนักมือเกินไป แต่น่าจะเป็นความตั้งใจของสตูดิโอที่น่าจะต้องการลองฉีกแนวหนังตัวเองไปเป็นหนังตลกแบบเต็มตัวไปเลย ซึ่งหวยก็มาลงที่เทพธอร์ เพราะความเปิ่น ไม่รู้เรื่องรู้ราวที่เป็นภาพลักษณ์เฉพาะของธอร์นี่แหละ ที่เปิดโอกาสให้มาร์เวลได้ลองอะไรใหม่ ๆ ได้
ซึ่งนับว่าการทดลองครั้งนี้ของมาร์เวลก็ประสบความสำเร็จด้วยดี เพราะนี่คือหนังที่ดูสนุกและบันเทิงมาก ๆ อีกเรื่องของมาร์เวล

ตลก, สนุก แต่ไม่ลงตัว

หนังสนุกจริง หากต้องการรับชมเพื่อความบันเทิง แน่นอนว่าไม่ผิดหวัง แต่หากลองวิเคราะห์หาจุดอื่นของหนัง จะพบข้อบกพร่องที่ทำให้หนังเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องท็อป ๆ ของมาร์เวลในแง่ของคุณภาพเหมือนกับ Guardians of the Galaxy (2014), Captain America: The Winter Soldier (2014), Captain America: Civil War (2016) และ Iron Man (2008)

อย่างแรกคือบทภาพยนตร์ จะสังเกตได้ว่าหนังมีท่าทีที่พยายามจะเล่นกับมุกตลกมาก จนทำให้บางจังหวะเรื่องราวของหนังแทบไม่ได้เดินไปไหน โดยเฉพาะในช่วงกลางเรื่องที่หนังเสียเวลาไปกับมุกตลกต่าง ๆ มากกว่าให้เรื่องราวขยับไปข้างหน้าให้เร็วกว่านี้ ซึ่งไม่ใช่ว่าน่าเบื่อ แต่รู้สึกถึงความ ‘เนื่อย’ อยู่เยอะระดับหนึ่ง

อีกทั้งเรื่องราวลงตัวของเรื่องราวที่ผูกกับชื่อหนังอย่าง Ragnarok อันเป็นความหมายที่พูดถึงการล่มสลายของแอสการ์ดจากมหาสงคราม (หากข้อมูลผิดพลาดประการใดขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ) ซึ่งนับตั้งแต่ที่เราได้รู้จากการประกาศชื่อตอนว่าเป็น Ragnarok แฟน ๆ ก็หวังจะได้เห็นสงครามหรือเรื่องราวใหญ่โตมากมาย (แต่กลับเจอมุกตลกให้ฮาแทน) แต่บอกเลยว่าหนังกลับใช้คำว่า Ragnarok ไม่คุ้ม และไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญอะไรของหนังเลยแม้แต่น้อย ซึ่งหากไม่มีคำนี้ออกจากปากของธอร์ในช่วงไคลแมกซ์ของหนังเชื่อว่าคนดูก็พร้อมจะลืมอะไรเกี่ยวกับ Ragnarok ที่พยายามปูทางมาเหลือเกินตั้งแต่ Avengers: Age of Ultron (2015) แน่นอน เพราะสารภาพตามตรงว่าลืมคำนี้ไปแล้วด้วยซ้ำ และหันไปหัวเราะอย่างสบายใจกับธอร์ โลกิ และฮัลค์แทนซะงั้น ..

และตัวร้าย ...นี่คือปัญหาเดิม ๆ ของมาร์เวลที่ไม่ว่ายังไงก็แก้ไม่หายขาดเสียที คือปัญหาในเรื่องการสร้างตัวร้ายของหนังที่ไร้มิติ เป็นตัวละครด้านเดียว ที่บางตัวดูน่ากลัวเหลือเกิน แต่สุดท้ายก็ตัดจบแบบง่าย ๆ งง ๆ

ไม่เชื่อก็ลองเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มวายร้ายอย่าง โลกิ, อีโก้, อัลดริช คิลเลี่ยน และ บารอน ซิมโม เทียบกับ มาเลคีธ, อัลตรอน และ ดอร์มามู หรือ เคซิลัส ดูสิ แล้วจะรู้ว่ากลุ่มไหนมันน่าจดจำมากกว่า ซึ่ง เฮล่า เชื่อว่าน่าจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มหลังอีกคน เพราะหนังให้มิติตัวละครตัวนี้น้อยไป เราไม่ได้เหตุผลการกระทำอะไรที่มากไปกว่าความร้าย ความโหด และต้องการยึดครองแอสการ์ดเลยแม้แต่นิด จริง ๆ รู้สึกเสียดายมากกว่าที่หนังอุตสาห์ได้นักแสดงดีกรีออสการ์ระดับตัวแม่ อย่าง เคท แบลนเช็ตต์ มาแสดงแล้ว น่าจะใส่รายละเอียดเหตุผลของตัวละครให้ดีกว่านี้

โดยรวม ๆ แล้ว หนังดูลงตัวที่สุดในบรรดาหนังเดี่ยวทั้ง 3 ภาคของธอร์แน่นอน (อย่างน้อยก็ดีกว่า Thor: The Dark World แน่นอน) แต่เทียบกับหนังใน MCU เรื่องนี้คงจัดอยู่ในระดับกลาง ๆ ที่ดูสนุก บันเทิง แต่ไม่สมบูรณ์แบบ ที่อยู่ในพวกเดียวกับ Thor (2011), The Incredible Hulk (2008) และ Ant-Man (2015) แต่ก็ไม่ได้ย่ำแย่แบบชวนส่ายหน้าแบบ Thor: The Dark World (2013) และ Doctor Strange (2016)

ขอบคุณภาพจาก FB Marvel

ติดตามบทความจากภาพยนตร์เรื่องอื่น ๆได้ที่ https://www.facebook.com/thelastseatsontheleft
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่