ก่อนสมองจะเสื่อม ๗ พ.ย.๖๐

บันทึกของผู้เฒ่า

ก่อนสมองจะเสื่อม

“ยาสองชนิดนี้ งดกินตั้งแต่ ๒๐ มิ.ย.เป็นต้นไป จนกว่าจะเสร็จสิ้นเรื่องการผ่าตัด”

คุณหมอแผนกจักษุกรรม โรงพยาบาลเดียวกับ คลินิกผู้สูงอายุ ที่ผมไปเป็นประจำ บอกกับผมเมื่อ วันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๗
เมื่อผมไปฟังผลการตรวจดวงตาที่ฝ้ามัวลงทุกที ตั้งแต่ต้นปี ๒๕๕๗ ก่อนขึ้นรับรางวัล”นราธิป” เมื่อ ๒๕ มกราคม ๒๕๕๗
ที่สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย มอบให้ ณ หอประชุมใหญ่ หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี ถนนสามเสน

ผลปรากฏว่า คุณหมอตัดสินใจจะผ่าตัดตาข้างขวา ซึ่งท่านถามความสมัครใจของผมแล้ว ผมก็จะไปคิดแตกต่างได้อย่างไร
ในเมื่อท่านเป็นหมอรักษาตา และใคร ๆ ที่เขาอ่านหนังสือไม่เห็น เขาก็ผ่าตัดกันทั้งนั้น คนที่ผมรู้จักก็ตั้งสี่ห้าคน

แม้ผมจะมีอคติประจำตัวของผมที่เกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ตลอดมา แต่ก็คิดว่าไม่มีหนทางอื่นอีกแล้ว
ที่หมอจะช่วยให้ผมได้อ่านหนังสือชัดเจนเหมือนเดิม นอกจากวิธีผ่าตัดซึ่งเป็นวิธีสุดท้าย

แพทย์หญิงที่เป็นผู้รับผิดชอบในการผ่าตัดครั้งนี้ ดูเหมือนอายุยังไม่มากนัก แต่ผมก็ตัดสินใจแล้ว
ว่าผมจะมอบความไว้วางใจทั้งหมด ให้อยู่ในอุ้งมือของท่าน จนกว่าจะผ่านวันนัดผ่าตัด ๒๖ มิถุนายน ไปจนเป็นปกติ

หลังจากนั้น ผมอยากจะเขียนหนังสือสักเรื่องหนึ่ง เพื่ออุทิศให้แก่ท่าน

ผมตกลงใจในเรื่องนี้ หลังจากที่ได้พบหมอรักษาโรคทางสมอง หรือโรคความจำเสื่อม ในวันที่ ๒๒ มิถุนายน
จากโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง แล้วท่านก็ให้ยาประหลาดแก่ผม ซึ่งออกอาการงงเป็นกำลัง

เพราะยานั้นเป็นแผ่นกลม ๆ ขนาดเท่าเหรียญห้าบาท สำหรับแปะที่หน้าอก หัวไหล่ และแผ่นหลัง วันละแผ่น
รวมชุดละแปดแผ่น ตามจุด A B C D E F G H ที่ปรากฏในเอกสารกำกับยา

ที่ผมงงก็เพราะนึกไม่ถึงว่า แพทย์ฝรั่งจะผลิตยาประเภทกอเอี๊ยะ เหมือนแพทย์จีนหรือญี่ปุ่น เหมือนกัน

การได้รับยาชนิดนี้ ซึ่งเป็นยารักษาโรคอังไซเมอร์โดยตรง แสดงให้รู้อย่างแน่ชัดว่า ผมเป็นโรคนี้อย่างไม่ต้องสงสัย

ผมจะเหลืออะไร ถ้าผมต้องสูญเสียความทรงจำไปตลอดชีวิต ที่เหลืออยู่อีกอย่างน้อยก็ ๖ ปี จึงจะครบ ๙๐ ปี หรือ ๑๖ ปีก็จะครบร้อย

ผมจึงคิดถึงคุณหมอ แพทย์หญิงที่รับผิดชอบในการผ่าตัดแก้วตาขวาของผมในครั้งนี้
ภาวนาให้ท่านทำได้สำเร็จ ย่างปรอดโปร่งปราศจาคอุปสรรคใดใด

ซึ่งจะทำให้ผมเหมือนเกิดใหม่ ในวงการเขียน แม้จะเขียนได้เพียงเรื่องเดียว เพื่ออุทิศให้แก่ผู้มีพระคุณอันยิ่งใหญ่
แก่ชีวิตในช่วงสุดท้ายของผม ด้วยความรำลึกพระคุณอันหาที่สุดมิได้

ชื่อของท่านคงจะติดตรึงอยู่ในความทรงจำของผม จนถึงวินาทีสุดท้าย ก่อนที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์

ว่าแล้วผมก็คว้ากระดาษพิมพ์ ๓-๔ แผ่นมาเย็บเป็นเล่มบาง ๆ เพื่อบันทึกไว้ด้วยดินสอดำ
และพร้อมที่จะนำลงพิมพ์ในคอมพิวเตอร์ หลังจากเวลาผ่านไปจากนี้อีกสองเดือน

ส่วนเรื่องที่จะเขียนในภายหลังนั้น ถือว่าเป็นอนิจจังก็แล้วกัน กรรมจะเป็นผู้ตอบว่า จะเขียนได้หรือไม่

(และท่านจะได้อ่านหรือไม่)

##########

๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๗
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่