แบ่งปันประสบการณ์การป้องกันบ้านไม้จากแสงแดดและฝน


วันนี้ผมขอมาแบ่งปันประสบการณ์ในการป้องกันบ้านไม้จากแสงแดดและสายฝนกันนะครับ

อย่างที่ทราบกันดีว่า สภาพอากาศบ้านเรานั้นรุนแรงมาก ทั้งแสงแดดที่จัด สายฝนที่กระหน่ำ ลมแรง สารพัดที่จะกล่าว สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำลายวัสดุที่เราสร้างบ้านให้เสื่อมสภาพลงไปเรื่อย ๆ หรือเสื่อมสภาพไว้เร็วกว่าที่คาดคิดโดยเฉพาะบ้านไม้ซึ่งนับวันก็จะหาคนปลูกบ้านไม้ได้น้อยลงเรื่อย ๆ

.....
ตอนผมเป็นเด็กบ้านตากับยายของผมที่สุพรรณบุรีก็เป็นเรือนไม้โบราณมีนอกชานที่ต้องตากแดดและฝน ผมทันอยู่เห็นบ้านหลังนั้นก่อนจะรื้อปลูกใหม่เป็นสิบปี ผมจำได้ว่า สภาพอากาศบ้านเรามันไม่ได้รุนแรงแบบเดี๋ยวนี้ สมัยผมเด็ก ๆ (ย้อนไปเกือบสี่สิบปี) เดือนพฤศจิกายนจะเข้าฤดูหนาวและหนาวนานไปจนถึงต้นเดือนมีนาคม พอถึงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน ก็จะเป็นฤดูร้อน (ซึ่งไม่ได้ร้อนผิวไหม้แบบเดี๋ยวนี้) หลังจากนั้นก็จะเข้าสู่ฤดูฝน วนกันไปแบบนี้ทุกปี จนมาประมาณยี่สิบกว่าปีหลังมานี้ที่ผมรู้สึกว่าสภาพอากาศมันเปลี่ยนไปมากจริง ๆ บ้านพ่อผมที่เป็นเรือนไทย พ่อผมก็ก่อปูนใต้ถุนบ้านแถมทำชายคาคลุมพื้นที่ไปซะหมดทั้งหลังจนดูไม่เหมือนเรือนไทยแล้ว ผมไม่อยากให้บ้านตัวเองเป็นแบบนั้นจึงต้องคิดเยอะหน่อยครับ

...
หลังจากที่ผมปลูกเรือนเสร็จเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จนบัดนี้ผ่านมาได้ราว 7 เดือน (กระทู้ปลูกเรือนของผม https://ppantip.com/topic/36599378)
ด้วยการที่ก่อนจะสร้างบ้านศึกษาทิศทางลมและแสงแดด รวมไปถึงสีต่าง ๆ ที่ใช้ปกป้องบ้านไม้มาพอประมาณ ทำให้ผมไม่ได้กลัวสภาพอากาศมากนัก ผ่านไปได้ประมาณ 3 เดือนหลังบ้านเสร็จ ระเบียงบ้านที่ทำจากไม้และทาสีย้อมไม้ (https://ppantip.com/topic/36765153) เริ่มเสื่อมสภาพไปตามกระทู้ที่ผมเคยตั้ง การเสื่อมสภาพนั้นรวดเร็วกว่าที่ผมคาดคิดไว้พอสมควรเลยทีเดียว


ผมปล่อยชานแดดตากฝนอยู่นานถึงสี่เดือน ผมเริ่มนอนคิดถึงวิธีที่จะปกป้องชานแดดไม้อันนี้ไว้ให้อยู่นานที่สุด ไอ้เรื่องที่จะทำหลังคาถาวรนั้นตัดออกไปได้เลย เพราะผมเป็นคนอยากได้บ้านไม้ระเบียงโล่ง ๆ แบบนี้มาตั้งแต่เด็ก แถมยังคิดอีกว่าทำไมบ้านตากับยายก่อนจะรื้อนั้น ไม้มันก็ตากแดดตากฝนอยู่ร่วมห้าสิบปี ไม่เห็นมันจะพัง สีอะไรก็ไม่ได้ทา แต่ไม้เต็งที่ผมเอามาทำชานนั้น มีการขยายตัวทำให้ฟิล์มสีย้อมไม้ที่ทาไว้เกิดการแตกร่อนมากขึ้นเรื่อย ๆ ผมคิดว่าถ้าปล่อยไว้แบบนี้ต่อไปสงสัยจะไม่ดีแน่ จำเป็นต้องปกป้องเอาไว้ก่อน ผมคิดอยู่หลายวิธีแต่ในทุกวิธีที่คิด จะต้องสามารถเก็บหลังคาเฉพาะกิจนี้ได้เมื่อผมต้องการระเบียงเปิดโล่ง

แรกสุดผมจ้างรถเร่ขายผ้าใบมาทำผ้าใบม้วนผืนใหญ่ขนาด 4*4 เมตร (5500 บ.พร้อมเสาเหล็กและระบบชักรอก) สามารถม้วนเก็บได้ด้วยการชักรอก ผ้าใบนี้จะกางคลุมชานแดดผมทั้งหมด ซึ่งจากการที่ใช้มาร่วมสองเดือน มันสามารถปกป้องพื้นที่นอกชานผมจากสายฝนและแสงแดดได้มากกว่า 90% มีโดนฝนบ้างก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น


ภาพนี้ถ่ายเมื่อกลางเดือนตุลาคม หน้าน้ำพอดี ต้องเลิกห่วงบ้านสวยเลยช่วงนี้ ผมเอียงผ้าใบลงด้านหนึ่งเพื่อระบายน้ำฝนให้เร็วที่สุด เวลาฝนแรง ๆ น้ำจะได้ไม่ขังบนผ้าใบ และผ้าใบแห้งเร็วด้วยครับ

.....
แล้วหลังจากฤดูฝนล่ะ
หลังจากฤดูฝนเป็นฤดูหนาวและฤดูร้อนที่รวมกันแล้วยาวนานกว่า 7 เดือน ผมก็ไม่อยากคลุมผ้าใบเอาไว้แบบนี้และก็ไม่อยากให้ชานโดนแดดมากเกินไป ในความคิดแรก ผมคิดถึงกันสาดอัตโนมัติที่สามารถหมุนให้กาง-หุบได้เหมือนร้านกาแฟสวย ๆ ในกรุงเทพ ฯ ใช้กัน แต่พอหาข้อมูลมาก ๆ เข้าก็ล้มเลิกความตั้งใจเพราะระบบกันสาดแบบนี้แพ้ "ลม" ซึ่งบ้านผมมีลมพัดค่อนข้างแรงอยู่ตลอดทั้งปี

สุดท้าย ผมมาได้ไอเดียเอาจากเต๊นท์ขายของตลาดนัดที่สามารถกางและเก็บได้อย่างรวดเร็ว ความทนทานก็พอสมควร เนื่องจากฤดูนี้ ผมไม่ต้องการการปกป้องจากสายฝนแล้ว แต่ต้องการป้องกันแสงแดดบ้างในบางช่วงเวลา ผมเลือกเต๊นท์ขนาด 2*2 เมตรจำนวนสองหลังกางแล้วผูกติดกันไว้ ซึ่งมันจะเหลือพื้นที่ห่างจากชายคาอีกประมาณ 1 เมตร เอาไว้ให้ผมมองฟ้าได้ หลังจากที่ทดลองกางเต๊นท์ดูสรุปได้ว่า ชานผมนั้นมีแสงแดดส่องเข้ามาได้บ้างและจะย้ายตำแหน่งของแสงไปเรื่อย ๆ จนถึงประมาณบ่ายสองโมง ชานแดดผมจะร่มทั้งหมด ที่สำคัญยังคงความโปร่งโล่งสบาย ยังสามารถนอนมองดูดาวบนฟ้าได้ยามค่ำคืน หากฤดูนี้จะมีฝนตกลงมาบ้างก็ไม่เป็นไร ดีกว่าให้โดนฝนตลอดทั้งปี



ประมาณบ่ายสองโมงก็จะร่มเกือบหมดแล้ว


แสงแดดประมาณเที่ยงตรง

ที่ไม่ยอมทำหลังคา เพราะผมต้องการความรู้สึกนี้ยามค่ำคืนในฤดูหนาวครับ อากาศเย็น ๆ ลมหนาวพัดเบา ๆ นอนเล่นบนชานแดดมีความสุขจริง ๆ หัวใจ

แผนการปกป้องของผมจะเป็นประมาณนี้

1. ในฤดูฝนตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไปถึงเดือนตุลาคม ผมจะกางผ้าใบผืนใหญ่นี้คลุมชานแดดทั้งหมด ไม่แคร์ความสวยงามอะไรทั้งนั้น ปกป้องเอาไว้ก่อน
2. ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเมษายน ซึ่งเป็นฤดูหนาว (ฤดูที่ผมรอคอยมาทั้งปี) และฤดูร้อน  ผมใช้วิธีกางเต๊นท์เอาแบบนี้
....
ทิศใต้
ไม่น่าเชื่อว่า ทิศใต้เป็นทิศที่แสงแดดส่องฝาบ้านแทบจะตลอดทั้งวัน จริงอยู่ที่ผมอยู่ในบ้านไม้ อากาศไม่ร้อนแต่ฝาบ้านที่โดนแดดจัด ๆ ส่องนั้น ทำลายสีย้อมไม้ที่เคลือบฝาไว้ไม่แตกต่างอะไรกับชานแดด !!! ครั้นจะรอต้นอโศกที่กำลังจะปลูกบังแดดไว้สูงพอที่จะบังแดดได้ ฝาเรือนผมคงสีสันพินาศไปแล้ว
ที่สำคัญที่สุดคือในฤดูฝน เวลาฝนมาทางทิศใต้ พี่แกเคยหอบเอาแรงลมพัดมาด้วย ลมพัดสายฝนกระหน่ำฝาบ้านผมเปียกโชกจนบางครั้งน้ำสาดทะลุเข้าขอบหน้าต่างหยดเป็นกองอยู่ในบ้านมาแล้ว

ผมจึงสั่งทำผ้าใบไวนีลขนาด 4*4 เมตร และ 3*3 เมตร เอามาแขวนไว้บนชายคาด้านทิศใต้ โดยระยะห่างจากฝาบ้านประมาณ 75 cm สำหรับบ้านผมทิศใต้นั้นเป็นที่โล่ง และถัดออกไปประมาณ 100 เมตรจะเป็นบ้านของเพื่อนบ้าน ดังนั้นตำแหน่งบ้านทางทิศใต้จึงไม่ได้เอาไว้โชว์ใครอยู่แล้ว ผมเลยแขวนผ้าไวนีลไว้กันแสงแดดและสายฝนดีกว่า

บ้านทางทิศใต้ แสงแดดแรงตั้งแต่เช้าเลยครับ ต้องห่อกันไว้ด้วยผ้าใบแบบนี้เลย

ผลของการใช้ไวนีลป้องกัน นอกจากจะถูกเงินกว่าผ้าใบถึงสิบเท่าแล้ว (สั่งร้านทำป้าย ตั้งใจว่าแขวนถาวร สองแผ่นราคารวม 1200 บ.)  เมื่อผมเปิดหน้าต่างออกไปลมยังสามารถระบายเข้าออกได้ปกติ ไวนีลเป็นสีขาวทำให้แสงสามารถลอดผ่านเข้ามาได้นิดหน่อย แต่ที่ไม่มีเข้ามาเลยคือ ไอความร้อนจากแดด ก่อนหน้านี้ที่ยังไม่ได้แขวนไวนีล ผมเอามือแตะฝาไม้ตอนแดดส่อง รู้สึกได้เลยว่าฝาไม้มีความอุ่น ๆ แต่ตอนนี้ไม่มีความอุ่นนั้นแล้ว และคิดว่าต่อไปนี้เวลาฝนสาดทางทิศใต้ ฝาเรือนจะไม่โดนสายฝนเต็มที่อีกต่อไป ส่วนผ้าใบสีน้ำตาลชักรอกขึ้นไปเก็บได้เมื่อต้องการเปิดโล่ง

ใจจริงแล้วผมไม่อยากเอาอะไรมากางทั้งนั้นครับ อยากให้บ้านเป็นเหมือนบ้านสมัยก่อนที่ตากับยายอยู่กันมา บ้านสมัยก่อนต่อให้หลังคาสังกะสี ผมก็ยังเล่นอยู่บนบ้านได้ แต่เดี๋ยวนี้ต้องยอมปรับตัวตามสภาพอากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปจริง ๆ วิธีการของผมอาจดูยุ่งยาก แต่เอาเข้าจริงก็ไม่เท่าไหร่นะครับ เพราะการกางผ้าใบ เต๊นท์ ทั้งสองอย่างผมสามารถทำได้ในเวลาไม่เกิน 10 นาทีเท่านั้น

หวังว่าคงมีประโยชน์กับผู้ที่สนใจบ้างไม่มากก็น้อยครับ

แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่