สมเด็จพระเทพฯ เสด็จเปิดนิทรรศการงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ 2 พ.ย.

กระทู้ข่าว
สมเด็จพระเทพฯ เสด็จเปิดนิทรรศการงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ 2 พ.ย.
เปิดให้ประชาชนเข้าชม รอบละ 3-5 พันคน ใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง
พิมพ์แผ่นพับ 3 ล้านฉบับ - โปสการ์ดที่ระลึก 9 แบบ 3 ล้านแผ่น แจกปชช.


เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ที่สำนักหอสมุดแห่งชาติ นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานประชุมคณะอนุกรรมการบริหารจัดการนิทรรศการงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ครั้งที่ 3/2560 ว่า ที่ประชุมหารือถึงการเตรียมความพร้อมการจัดนิทรรศการงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ ซึ่งได้กำชับให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ โดย นิทรรศการจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-30 พฤศจิกายน 2560 เปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 07.00-22.00 น. จะเปิดให้ประชาชนเข้าชมรอบละ 3,000 - 5,000 คน และใช้เวลา    รอบละ 45 นาที - 1 ชั่วโมง คาดว่าแต่ละวันจะมีผู้เข้าชม 1 แสนคน

สำหรับประชาชนที่เข้าชมนิทรรศการจะได้รับแจกแผ่นพับพระเมรุมาศ ที่จัดพิมพ์ทั้งหมด 3 ล้านฉบับ และโปสการ์ดที่ระลึกภาพพระเมรุมาศ 9 แบบ 3 ล้านแผ่น

โดยในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2560 เวลา 07.00 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานเปิดนิทรรศการ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

สำหรับนิทรรศการงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ จัดขึ้นเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณผ่านพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และเปิดโอกาสให้เด็ก เยาวชน และประชาชนได้เรียนรู้ขนบธรรมเนียมโบราณราชประเพณีของไทยที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาอันล้ำค่าของไทยที่มีการสืบทอดและอนุรักษ์ไว้มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งจะได้เข้าชมพระเมรุมาศและอาคารประกอบที่จัดสร้างอย่างสมพระเกียรติ

ทั้งนี้ นิทรรศการงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ ประกอบด้วย

(1) นิทรรศการ “พระผู้ทรงเป็นนิรันดร์” บริเวณพระที่นั่งทรงธรรม เนื้อหาเกี่ยวกับ    พระราชประวัติ พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร แบ่งเป็น 5 ตอน ได้แก่ 1.เมื่อเสด็จอวตาร 2.รัชกาลที่ร่มเย็น 3.เพ็ญพระราชธรรม 4.นำพระราชไมตรี และ 5. พระจักรีนิวัตฟ้า และสามารถชมจิตรกรรมฝาผนังโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 3 ด้าน

(2) นิทรรศการการจัดสร้างพระเมรุมาศ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศและการบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ จัดแสดงภายในศาลาลูกขุน เนื้อหาแสดงถึงแนวคิดและขั้นตอนการทำงานทั้งงานสถาปัตยกรรม งานประติมากรรมและจิตรกรรมประดับพระเมรุมาศ งานประณีตศิลป์ในส่วนของพระโกศจันทน์ พระโกศทองคำ เครื่องสังเค็ดและการบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ

(3) นิทรรศการสัมผัสสำหรับผู้พิการทางสายตา จัดแสดงบริเวณอาคารทับเกษตร โดยจำลองพระเมรุมาศ ประติมากรรมประดับพระเมรุ อาทิ เทวดา สัตว์หิมพานต์ เป็นต้น เพื่อให้ผู้พิการทางสายตาสามารถสัมผัสได้ โดยมีอาสาสมัครนำชมและจัดทำซีดีเสียงบรรยายนิทรรศการสำหรับผู้พิการทางสายตา ส่วนผู้พิการทางการได้ยิน มีจิตอาสานำชมด้วยภาษามือ

นอกจากนี้ ภายในท้องสนามหลวง กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร และกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดจุดบริการน้ำดื่ม รถสุขาเคลื่อนที่ ทีมแพทย์พยาบาล และโรงพยาบาลสนามเพื่อให้บริการและดูแลประชาชน

สำหรับการแต่งกายเข้าชมนิทรรศการควรแต่งกายด้วยชุดสุภาพเรียบร้อย และผ่านจุดคัดกรอง 5 จุด ประกอบด้วย

-         บริเวณหน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์

-         บริเวณท่าช้าง

-         บริเวณหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (รด.)

-         บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

-         บริเวณด้านหลังกระทรวงกลาโหม

ทั้งนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬารับผิดชอบจัดทำแผ่นพับให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นภาษาต่างๆ อาทิ ภาษาอังกฤษ จีน เกาหลี เยอรมัน สเปน และจะจัดทำภาษาญี่ปุ่นเพิ่มเติม

การเดินทาง องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) จัดรถโดยสารให้บริการฟรีจากจุดต่างๆ มายังท้องสนามหลวง ตั้งแต่เวลา 05.00-23.00 น. จำนวน 60 คันต่อวัน ใน 6 เส้นทาง ได้แก่ 1. อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ 2. สถานีรถไฟหัวลำโพง 3. วงกลมรอบเกาะรัตนโกสินทร์ 4. สถานีขนส่งเอกมัย 5. สถานีขนส่งสายใต้ใหม่ และ 6. สถานีขนส่งหมอชิต

กองทัพเรือให้บริการเดินเรือ ตั้งแต่ 06.00-22.00น. ที่ท่านิเวศน์วรดิฐ และท่าราชนาวิกสภา และได้ประสานกรมเจ้าท่าขอความร่วมมือผู้ให้บริการเรือด่วน เรือเมล์ขยายเวลาให้สอดคล้องกับการจัดนิทรรศการตั้งแต่ 05.00-22.30 น.

         ทั้งนี้ นอกจากเปิดให้ชมนิทรรศการภายในท้องสนามหลวงแล้ว วธ.ยังเปิดให้ประชาชน    เข้าชมโรงราชรถและพระยานมาศ ซึ่งจัดแสดงราชรถ ราชยาน และพระยานมาศ โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนวัฒนธรรม โทร.1765 หรือ www.m-culture.go.th



แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่