สมุทรานุภาพของอังกฤษ

สมุทรานุภาพของอังกฤษ



ในทุกวันนี้ ประเทศต่างๆทั่วโลกส่วนใหญ่ล้วนใช้ ภาษาอังกฤษ เป็นภาษากลางในการติดต่อสื่อสาร แต่จะมีสักกี่คนที่จะฉุกคิดขึ้นมาว่าทำไมกันถึงต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลาง ภาษาอื่นมีตั้งเยอะแยะ ไทย จีน รัสเซีย ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น แต่ทำไมถึงต้องใช้ภาษาอังกฤษ .... คำตอบนั้นง่ายๆเลยครับ เพราะ สมุทรานุภาพของอังกฤษยังไงล่ะครับ

แล้วมันเกี่ยวอะไรกับคำว่า สมุทรานุภาพ….เกี่ยวสิครับ เพราะด้วยกองทัพเรืออังกฤษอันเกรียงไกรยังไงล่ะทำให้อังกฤษสามารถแผ่ขยายอำนาจไปได้ทั่วโลก จนมิอาจปฎิเสธได้ว่าเมื่อ 100 กว่าปีก่อน อังกฤษคือมหาอำนาจอย่างแท้จริง  แต่ก่อนอื่นต้องมาถามก่อนว่า สมุทรานุภาพนั้นคืออะไร





สมุทรานุภาพ คืออะไร??


เอาง่ายๆเลยครับนั้น คืออำนาจในการครองทะเลหรือ Sea Powers นั้นเอง โดยทฤษฎีแห่งสมุทรานุภาพนั้นถูกตีแผ่โดย นาวาเอก อัลเฟรด เทเยอร์ มาฮาน (Alfred Thayer Mahan) นักประวัติศาสตร์และครูประจำโรงเรียนนายเรือสหรัฐฯ  ได้กล่าวเอาไว้ โดยมีบริบทว่า “อำนาจกำลัง หรือ ศักยภาพของชาติ ในการที่จะใช้ทะเลให้เกิดประโยชน์ตามต้องการ” โดยศาสตร์ของสมุทรานุภาพนั้นไม่ตายตัว แต่ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่เกื้อหนุนในแต่ละชาติอีกด้วย ซึ่งจะไม่ขอพูดประเด็นนี้มากเพราะเดี๋ยวจะหลุดประเด็นที่จะพูดถึงในหัวข้อนี้ แค่เพียงกล่าวให้ผู้อ่านเข้าใจเฉยๆเท่านั้นว่า สมุทรานุภาพคืออะไร


ปัจจัยที่เกื้อหนุนสมุทรานุภาพของอังกฤษ


แน่นอนครับอะไรกันที่ทำให้เราชาวอังกฤษทั้งหลายหันมาสนใจในท้องทะเลอันกว้างใหญ่  เป็นเพราะว่าด้วยลักษณะภูมิประเทศที่เป็นเกาะงั้นหรือ?? ใช่ครับนั้นก็ถูกต้องแต่เพียงประการหนึ่ง แต่ก็ยังมีเหตุผลอีกหลายประการที่ทำให้เหล่าผู้ดีต้องหันหน้าลงทะเลแทนที่จะเลือกแผ่อิทธิพลไปสู่ภาคพื้นทวีป

1.    ความพ่ายแพ้ในสงครามร้อยปี สงคราม 100 ปีนั้นเป็นสงครามที่อังกฤษนั้นรบกับฝรั่งเศสเพื่อช่วงชิงเขตอิทธิพลซึ่งกันและกันบนภาคพื้นทวีปโดยในช่วงแรกของสงครามนั้น อังกฤษสามารถมีชัยเหนือฝรั่งเศสและยึดครองดินแดนของฝรั่งเศสได้มากมายจนกล่าวได้ว่า ฝรั่งเศสเกือบจะสิ้นชาติเลยทีเดียว แต่ในช่วงท้ายของสงครามฝรั่งเศสสามารถตีตอบโต้อังกฤษได้จนอังกฤษต้องเสียพื้นที่บนภาคพื้นทวีปทั้งหมดไปตลอดกาล และมิอาจหวนกลับมามีอำนาจในภาคพื้นทวีปได้อีกครั้ง จึงทำให้พวกเขาต้องหาอำนาจอื่นมาทดแทนอำนาจที่สูญเสียไปนั้นคือ อำนาจทางทะเลนั้นเอง

2.     ความเฟื่องฟูของการสำรวจทางทะเล หลังจาก สเปน และ โปรตุเกส 2 ชาติผู้บุกเบิกการเดินเรือนั้นได้เปิดประตูมิติแห่งการสำรวจให้กับชาวยุโรป ทั้ง สเปนและโปรตุเกสต่างนำพาความมั่งคั่งมากมายมาจากแดนไกลที่ ชาวยุโรปส่วนใหญ่ไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน ทั้งสินค้ามากมาย และดินแดนแปลกใหม่ที่รอการค้นพบ.. นั้นยิ่งทำให้ชาวอังกฤษกระสันอย่างจะออกทะเลจนตัวสั่นมากขึ้น

3.    สงครามทางทะเลกับ ดัตช์ และ สเปน สงครามดังกล่าวนั้นเกิดจากปัจจัยการเมืองระหว่างประเทศ ไม่ได้เกี่ยวกับประเด็นที่จะพูดถึงสักเท่าไหร่ แต่นั้นยิ่งทำให้อังกฤษยิ่งต้องสร้างกองเรือที่เข้มแข็งทัดเทียมพอจะสู้กับ 2 ชาติอำนาจทางทะเลในขณะนั้น

4.    ความเสื่อมอำนาจของมหาอำนาจเก่า อย่างที่กล่าวไปจากข้อด้านบนในตอนหลัง ทั้ง สเปน และ ดัตช์ ต่างเสื่อมอำนาจลง สเปนนั้นประสบปัญหาเศรษฐกิจภายในและยังทำสงครามมากมายในทุกสารทิศทำให้เงินรอยเหรอ ส่วนดัตช์นั้นประเทศมีขนาดเล็กเมื่อได้รับความเสียหายหนักที่จึงฟื้นตัวได้ยาก นอกจากนี้ดัตช์ยังรับการคุกคามทางบกจากฝรั่งเศสทำให้ ดัตช์ ตกกระป๋องไปในที่สุด เปิดทางให้อังกฤษก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางทะเลผู้เดียว!!



สงคราม 7 ปี จุดเริ่มต้นสู่ความเป็นมหาอำนาจอย่างแท้จริง





ในหัวข้อที่กล่าวข้างต้นมานั้นได้เกริ่นนำไปเบื้องต้นแล้วถึงที่มาของความยิ่งใหญ่แห่งกองทัพเรืออังกฤษ แต่ในหัวข้อที่จะกล่าวถึงนี้คือ การที่อังกฤษก้าวขาขึ้นมาเป็นประเทศชั้นนำของโลกในตอนนั้นและเป็นจุดเริ่มต้นของคำว่า จักรวรรดิที่ไม่เคยไม่ตกดิน ก็เพราะสงครามครั้งนี้แหละ  ไม่พอสงครามครั้งนี้ยังได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายทั้งในยุโรปและโลก รวมถึงมันยังขยายวงกว้าง มีหลายชาติเขาร่วมในสงครามครั้งนี้ การรบนั้นกินพื้นที่ถึง 3 ทวีปนั้นคือ ยุโรป อเมริกาเหนือ และ เอเชีย จนอาจจะกล่าวได้ว่า นี่คือสงครามโลกครั้งแรก... แต่ต้องกล่าวถึงการเมืองของยุโรปในช่วงนั้นซะก่อน ช่วงนั้น มีราชอาณาจักรใหม่แห่งหนึ่งถือกำเนิดได้ไม่นานชื่อ ปรัสเซีย (หากมีโอกาสได้เขียนบทความเรื่องใหม่จะกล่าวถึงมันในภายหลัง) ซึ่งกำลังแพร่ขยายอำนาจในภาคพื้นทวีปได้เข้าโจมตียึดแคว้นของ จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ทำให้พวกเขาไม่พอใจจึงไปดึงพันธมิตรซึ่งคือรัสเซียมาช่วยรบ ส่วนทาง ปรัสเซีย รีบหาพวกซึ่งได้อังกฤษมาเป็นพวก อังกฤษเป็นมิตรกับโปรตุเกส โปรตุเกสเลยต้องเข้าร่วมสงครามด้วย แต่อังกฤษกับฝรั่งเศสนั้นไม่ถูกกันเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์เลยดึงฝรั่งเศสมาเป็นพวกอีก ซึ่งฝรั่งเศสกับสเปนก็เป็นมิตรกันอีก สเปนเลยจำใจต้องเข้าร่วมสงครามครั้งนี้อีก อาจจะอ่านแล้วงงๆแต่สรุปให้อีกที โดยสงครามครั้งนี้แบ่งเป็น 2 ฝ่ายนั้นคือ อังกฤษ , ปรัสเซีย , โปรตุเกส ปะทะกับ จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ , รัสเซีย , ฝรั่งเศส , สเปน แค่อ่านดูแค่นี้ก็รู้แล้วว่าสงครามครั้งนี้มันใหญ่โตมโหฬารแน่นอน

โดยผมจะไม่พูดถึงการรบในภาคพื้นทวีปมากเพราะไม่ได้เกี่ยวอะไรกับอังกฤษ แต่สรุปโดยย่อให้ฟังนั้นคือ อาณาจักรเล็กๆอย่าง ปรัสเซีย สามารถยันการโจมตีจาก 2 บิ๊กอย่าง จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์และรัสเซียได้ แม้จะหวุดหวิดสิ้นชาติก็ตาม แล้วถามว่าทำไมฝรั่งเศสถึงไม่ไปช่วยรุมตี ปรัสเซีย ด้วยอีกแรง คำตอบก็คือ มาช่วยครับ แต่ช่วยไม่ได้มากเพราะตัวเองมัวแต่ไปรบกับอังกฤษในดินแดนโพ้นทะเลนั้นเอง และด้วยกองทัพอันแข็งแกร่งของอังกฤษที่มีมาตั้งเมื่อประมาณ 50 ปีก่อน ทำให้ฝ่ายอังกฤษสามารถส่งกำลังบำรุง (logistic) ได้เหนือกว่าฝรั่งเศสมาก ในขณะที่ฝรั่งเศสมีกองทัพบกที่แข็งแกร่งกว่าอังกฤษก็จริง แต่ส่วนใหญ่อยู่บนภาคพื้นทวีปจึงไม่ได้มีผลอะไรกับสงคราม ในช่วงสงครามฝรั่ง – อินเดียนแดง (เป็นอีกชื่อเรียกหนึ่งของสงคราม 7 ปี ซึ่งการสู้รบจะอยู่ในบริเวณ อเมริกาเหนือ) แม้ฝรั่งเศสจะจับมือกับอินเดียนแดงเจ้าถิ่นและทำการรบแบบสงครามกองโจร ( Guerrilla Warfare) สร้างความเสียหายให้ฝ่ายอังกฤษมากในช่วงต้นสงคราม แต่อังกฤษเปลี่ยนกลยุทธใหม่โดยอาศัยสมุทรานุภาพของตนนั้นเอง คือบุกลึกเข้าไปตามแม่น้ำและใช้การสนับสนุนจากปืนเรือทำให้พลิกกลับมาได้เปรียบ และด้วยปัจจัยทางสมุทรานุภาพที่เหนือกว่าจึงทำให้สุดท้ายอังกฤษเป็นฝ่ายชนะ ส่วนการรบในอินเดียนั้นเป็นคนละรูปแบบ กองทัพอังกฤษที่มีน้อยกว่ามากสามารถเอาชนะ กองทัพจักรวรรดิโมกุล (ซึ่งเป็นมิตรกับฝรั่งเศส) โดยเทคโนโลยีและกลยุทธที่เหนือกว่ามาก ทำให้อังกฤษสามารถชนะสงครามได้ทั้ง 2 ฝั่ง และนั้นแหละครับคือจุดเริ่มต้นของความยิ่งใหญ่อย่างแท้จริง

เพราะหลังสงครามอังกฤษได้รับอาณานิคมโพ้นทะเลมากมายเข้ามาอยู่ในอาณัติ ทั้ง แคนนาดา ,ฟอริด้า , รวมถึงพื้นที่ในอินเดียมากมายมหาศาล ซึ่งนั้นเริ่มทำให้อังกฤษเกิดความคิดที่ว่า ถ้าต้องการรักษาเหล่าดินแดนโพ้นทะเลพวกนี้ให้ปลอดภัยไม่ใช่แค่ต้องมีกองทัพเรือที่แข็งแกร่ง แต่ต้องมีฐานทัพเรือที่สามารถสนับสนุนเหล่าเรือรบของพวกเขาในดินแดนเหล่านั้นด้วย ยิ่งทำให้กองเรืออังกฤษตอนนั้นกระจายตัวอยู่ทั่วทุกย่านน้ำในตอนนั้น ทั้ง เมดิเตอร์เรเนียน , แคริบเบียน , มหาสมุทรอินเดีย นี่แหละครับคือจุดเริ่มต้นความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิอังกฤษที่ได้มาเพราะ สมุทรานุภาพของพวกเขา


สงครามนโปเลียน





คาดว่าหลายๆท่านคงรู้จัก นโปเลียน โบนาร์บาร์ต (Napoleon Bonaparte) จักรพรรดิฝรั่งเศสผู้ยิ่งใหญ่ รบทัพจับศึกกับใครก็ชนะตลอด แผ่อำนาจไปทั่วยุโรปทำให้เหล่าประเทศต่างๆเข็ดขยาดในแสนยานุภาพของกองทัพฝรั่งเศสตอนนั้น เป็นจักรพรรดินักรบที่หลายๆคนยอมรับว่าเป็น 1 ในนักการทหารผู้มีความสามารถที่สุดคนหนึ่งของโลก แต่ที่เขาพ่ายแพ้ในช่วงท้ายและถูกเนรเทศไปอยู่เกาะกลางทะเลอย่างเดียวดาย ก็เพราะ สมุทรานุภาพของอังกฤษนี่แหละครับ!!  นโปเลียนนั้นมีความคิดจะล้มอังกฤษอยู่ตลอดเวลาครับ เพราะอังกฤษคือตัวแสบที่คอยส่งเงิน สนับสนุนเหล่าบรรดาประเทศต่างๆในยุโรปให้ทำสงครามกับพระองค์ ส่วนตัวเองนอนรอสบายแฮอยู่บนเกาะ ช่วงที่ขึ้นครองราชย์ใหม่ๆนโปเลียนจึงเตรียมไพร่พลเรือนแสนเพื่อจะพิชิตอังกฤษ แต่กองทัพบกฝรั่งเศสอันเกรียงไกรจะข้ามทะเลไปได้ไงถ้าไม่มีเรือ!! ทางฝั่งฝรั่งเศสจึงได้ร่วมมือกับ สเปน ซึ่งเป็นมิตรในตอนนั้น รวบรวมกองเรือซึ่งใหญ่โตกองหนึ่งหมายจะพิชิตทัพเรืออังกฤษ และจะได้ยกพลขึ้นบกเกาะอังกฤษอย่างสะดวกโยธิน แต่กลับไม่เป็นอย่างงั้นเพราะ ทัพเรือผสมที่ว่าแพ้ ทัพเรืออังกฤษที่นำโดย จอมพลเรือเนลสัน (Horatio Nelson) ที่แหลม Trafalgar  กลับกลายเป็นว่าศึกครั้งนั้นทำให้อำนาจทางทะเลของฝรั่งเศส – สเปน มลายหายไปแทบจะหมดสิ้น เรียกได้ว่าเป็นการตอกย้ำความยิ่งใหญ่ของทัพเรืออังกฤษที่เหนือกว่าชาติอื่นหลายขุม.. นั้นทำให้ นโปเลียน เปลี่ยนยุทธวิธีขยายอำนาจทางบกอย่างเดียวและประผลสำเร็จด้วยความสามารถในการบัญชาการรบของนโปเลียน จนประเทศในยุโรปตอนนั้นอยู่ใต้อำนาจ นโปเลียนทั้งหมด มีเพียงอังกฤษที่ยังยืนหยัดต่อสู้กับนโปเลียนเพียงลำพัง นโปเลียนจึงใช้ระบบภาคพื้นทวีป (Continental System) บังคับไม่ให้ประเทศต่างๆในยุโรปค้าขายกับอังกฤษ ถ้ารบไม่ได้ก็ปล่อยมันให้อดตาย!! แต่นโยบายที่ว่าที่มันกลับกลายเป็นดาบที่ย้อนมาเล่นงานนโปเลียนซะเองครับ

นั้นก็เพราะอังกฤษนั้นไม่ได้รับผลกระทบอะไรมากกับนโยบายดังกล่าว อาณานิคมภาคโพ้นทะเลอังกฤษนั้นมีมากมาย เรือของอังกฤษก็ยังคงแล่นไปแล่นมาแลกเปลี่ยนสินค้าได้ตามปกติ โดยไม่มีเรือรบฝรั่งเศสสักลำมาขัดขวาง (เพราะไม่มีไงล่ะ 55) มีแต่เหล่าบรรดาประเทศในยุโรปที่เจ็บหนักเพราะต้องการค้าขายกับอังกฤษ ทำให้หลายๆประเทศเริ่มตระบัดสัตย์และกลับมาค้าขายกับอังกฤษ  1 ในนั้นคือรัสเซีย นั้นทำให้ นโปเลียนต้องกรีธาทัพขนาดมโหฬารที่สุดในยุคนั้นเพื่อบุกรัสเซีย เป็นการสั่งสอนให้รัสเซียกลับมาอยู่ในโอวาทอีกครั้ง ซึ่งสงครามครั้งนั้นกลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นความพินาศของ นโปเลียน ซึ่งจะไม่กล่าวถึง แต่สรุปง่ายๆเลยว่า ต่อให้นโปเลียนจะเกรียงไกรแค่ไหนก็ต้องมาสยบแทบเท้า สมุทรานุภาพแห่งจักรวรรดิอังกฤษ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่