ผลวิจัยพบบัตรคนจนรั่วไหล ธปท.แนะรัฐเปลี่ยนเกณฑ์ตัดสิทธิ์เศรษฐีมั่วนิ่ม

“สถาบันป๋วย อึ้งภากรณ์” ธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือบัตรคนจน มีโอกาสรั่วไหล แนะรัฐนำหลักเกณฑ์อื่นมาชี้วัดคนจนเช่น การใช้ไฟฟ้าและน้ำประปาแทนตรวจสอบจากทรัพย์สิน พร้อมหนุนเพิ่มวงเงินในบัตร ด้านกระทรวงพาณิชย์ยันรัฐเดินถูกทางช่วยลดค่าครองชีพคนจน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกรายงานการวิจัยเรื่อง “ถอดบทเรียนนโยบายไฟฟ้าฟรี สู่โครงการประชารัฐสวัสดิการ โดย น.ส.วิชสินี วิบุลผลประเสริฐ และนายภวินทร์ เตวียนนันท์ นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) โดยบทวิจัยได้ศึกษาถึงโครงการประชารัฐสวัสดิการ ซึ่งให้เงินอุดหนุนผู้มีรายได้น้อยที่ผ่านเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนด โดย น.ส.วิชสินีกล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่มุ่งแก้ปัญหาความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย และช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของผู้มีรายได้น้อย แต่ประเด็นที่น่าสนใจ คือ เมื่อโครงการดังกล่าวเป็นมาตรการที่ต้องใช้เงินจากภาษีของประชาชน จึงต้องให้ความสำคัญต่อกลไกของการคัดกรองผู้ที่สมควรจะได้สิทธิให้ละเอียด โดยนำเอาฐานข้อมูลในด้านอื่นๆ โดยเฉพาะพฤติกรรมการใช้จ่ายที่เก็บได้จริงของครัวเรือนมาพิจารณาร่วมกับข้อมูลรายได้และทรัพย์สินที่ใช้กันในปัจจุบัน

โดยในกรณีของผู้ที่ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน ยังมีกรณีที่อาจจะเกิดความรั่วไหลของสิทธิได้ เช่น ในกรณีนี้ของนักเรียนนักศึกษาที่อาจจะมาจากครอบครัวที่มีฐานะเกินเกณฑ์ที่กำหนด แต่ไม่เคยเป็นเจ้าของสินทรัพย์ หรือไม่มีบัญชีเงินฝาก หรือกรณีที่เป็นผู้มีสินทรัพย์แต่โยกย้ายถ่ายโอนบิดเบือนข้อมูลรายได้ และทรัพย์สินเพื่อรับสวัสดิการดังกล่าว นอกจากนี้จากสถิติของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่ามีคนไทยที่อยู่ใต้เส้นยากจน หรือรายได้ประมาณ 30,000 บาทกว่าๆ ต่อปีในปี 2559 จำนวนทั้งสิ้น 5.8 ล้านคน แต่ตัวเลขจากการลงทะเบียนคนจนพบว่ามีคนไทยที่อยู่ต่ำกว่าเส้นยากจนมากถึง 8.4 ล้านคน ซึ่งไม่สอดคล้องกันและเป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาว่าอาจจะมีความรั่วไหลของสิทธิ

ทั้งนี้ ผู้วิจัยได้พิจารณานโยบายการใช้ไฟฟ้าฟรีของรัฐบาล ซึ่งเป็นนโยบายที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2551 และมีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์การคัดกรองมาหลายครั้ง และในที่สุดกำหนดสิทธิการใช้ไฟฟ้าฟรีอยู่ที่ไม่เกิน 50 หน่วยต่อครัวเรือนและต้องมียอดการใช้ไฟฟ้าติดกันต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 3 เดือน ซึ่งผลงานของผู้วิจัยระบุว่า เป็นเกณฑ์ที่ลดการรั่วไหลของสิทธิได้ดี และการอุดหนุนไปถึงคนที่จำเป็นจริงๆ ดังนั้น จึงมองว่า การนำเกณฑ์พฤติกรรมการใช้จ่าย เช่นการใช้ไฟฟ้า การใช้น้ำประปา การใช้บริการทางการเงินในรูปแบบต่างๆ เช่น บัตรเดบิต บัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล และอื่นๆมาเป็นเกณฑ์พิจารณาร่วมกับเกณฑ์รายได้และสินทรัพย์ เชื่อว่าจะบิดเบือนได้ยากขึ้น

ขณะที่ น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ของ สนค.พบว่า โครงการดังกล่าวเป็นการช่วยเหลือที่ถูกทางแล้ว เพราะช่วยลดค่าครองชีพให้กับผู้มีรายได้น้อยได้ แต่ สนค.เห็นว่าหากรัฐบาล จะมีมาตรการช่วยเหลือใดๆเพิ่มเติมอีกควรเน้นการเพิ่มรายการสินค้าที่ขายในร้านธงฟ้าประชารัฐให้หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะอาหารสด เช่น เนื้อสัตว์ สัตว์น้ำ เป็นต้น

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ดัชนีราคาผู้บริโภคของผู้มีรายได้น้อย และดัชนีราคาผู้บริโภคเขตชนบท/เกษตรกร ซึ่งสำรวจช่วงเดียวกันกับการสำรวจดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) พบว่าสัดส่วนการใช้จ่ายของกลุ่มคนผู้มีรายได้น้อย ส่วนใหญ่จะใช้จ่ายเป็นค่าอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงถึง 45.12% ของการบริโภคทั้งหมดในครัวเรือน แต่การบริโภคของครัวเรือนทั่วไป 36.41% แสดงให้เห็นว่า คนกลุ่มนี้ใช้จ่ายเป็นค่าอาหารมากที่สุด

ส่วนการใช้จ่ายอื่นๆจะเป็นค่าเช่าบ้านค่าก๊าซหุงต้ม ค่าวัสดุก่อสร้าง ค่าไฟฟ้า สัดส่วน 24.60% และค่าโดยสาร ค่าน้ำมัน ค่าโทรศัพท์มือถืออีก 15.8% ขณะที่กลุ่มเกษตรกรใช้จ่ายเป็นค่าอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 42.63% ค่าเช่าบ้าน ค่าก๊าซหุงต้ม ค่าวัสดุก่อสร้าง ค่าไฟฟ้า 20.13% และค่าโดยสาร ค่าน้ำมัน ค่ามือถือ 23.51%

“หากรัฐบาลจะมีนโยบายในการช่วยเหลือ ก็ต้องเน้นการช่วยเหลือเพื่อลดค่าใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าที่มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายสูง อย่างกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกร การลดค่าครองชีพในส่วนของสินค้าอาหาร เป็นเรื่องที่ควรดำเนินการ ซึ่งนโยบายของรัฐบาลในเรื่องของร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ ถือเป็นแนวทางที่ถูกต้อง เพราะมีส่วนช่วยลดค่าครองชีพให้กับคนกลุ่มนี้ได้จริง ส่วนค่าใช้จ่ายในด้านอื่นๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องพิจารณาว่าจะดำเนินการช่วยเหลืออย่าง ไร เพราะขณะนี้ก็มีกระทรวงพลังงานที่ช่วยเหลือในส่วนของก๊าซหุงต้ม”

ที่มา : https://www.thairath.co.th/content/1102597
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่