เสด็จสู่ฟากฟ้าสุราลัย พระมหากรุณาธิคุณจารึกในใจไทยชั่วกาล..ข้าพระพุทธเจ้า**ห้องเพลงคนรากหญ้า**15/10/2560 วิริยะปานมหาชนก

กระทู้คำถาม





พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรง พระราชทาน ส.ค.ส. ประจำปี พ.ศ. 2558 เป็นรูปกราฟฟิคจากพระราชนิพนธ์ เรื่องพระมหาชนก โดยขอให้คนไทยมีความเพียร มีปัญญาที่เฉียบแหลมและร่างกายที่แข็งแรง






"พระมหาชนก" เป็นหนึ่งในบทพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่หากใครได้อ่านแล้วจะรู้ว่าเป็นบทพระราชนิพนธ์ที่ทรงคุณค่าอย่างหาที่เปรียบมิได้ เนื่องจากมีข้อคิดสอนใจเกี่ยวกับเรื่องความเพียรและได้รับความชื่นชมอย่างมาก รวมทั้งยังเป็นหนังสือที่ในหลวงทรงมีพระราชดำรัสว่า "หนังสือเรื่องนี้เป็นที่รักของข้าพเจ้า"


แรงบันดาลใจของในหลวง ร.9 จุดกำเนิดบทพระราชนิพนธ์ "พระมหาชนก"

เมื่อปี พ.ศ. 2529 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงสดับพระธรรมเทศนาของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์และทรงสนพระราชหฤทัย จึงได้มีการค้นคว้าเรื่องพระมหาชนกในพระไตรปิฎกและพระสุตตันตปิฎก ซึ่งทรงนำมาพระราชนิพนธ์ด้วยภาษาที่อ่านแล้วเข้าใจง่าย พร้อมทั้งทำภาพประกอบต่าง ๆ อาทิ แผนที่ในเรื่องพระมหาชนกที่มีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยา รวมทั้งเรื่องของทิศทางลม ข้อมูลทางโหราศาสตร์ ซึ่งพระองค์ทรงศึกษาจากเรื่องจริงอย่างละเอียดผ่านตัวอักษรที่อ่านดูง่ายแต่ลุ่มลึก แต่หากมองให้ลึกในด้านวิชาการสามารถตีความได้ว่าพระองค์ทรงนำคำสอนไว้ในตัวอักษรเพื่อต้องการสอนประชาชนทั้งในเรื่องของความเพียรพยายาม และความเป็นผู้นำ

ทั้งนี้ในหนังสือพระมหาชนก ได้มีพระราชปรารภระบุถึงที่มาที่ไปของหนังสือเรื่องนี้ว่า แต่เดิมพระองค์ทรงแปลและศึกษาเรื่องพระมหาชนกนานกว่า 11 ปี จนกระทั่งปี 2531 ได้มีการเผยแพร่บทพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ขึ้นมาเป็นครั้งแรก แต่ยังมีความเข้าใจยาก จึงโปรดเกล้าฯ ให้ศิลปินมาวาดรูปประกอบเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น จนกระทั่งปี 2539 จึงมีการเผยแพร่หนังสือพระมหาชนกขึ้นมาใหม่ ก่อนจะมีการนำไปเผยแพร่ในหลายรูปแบบ อาทิ ในรูปแบบฉบับหนังสือการ์ตูน การ์ตูนแอนิเมชั่น และละครเวที  


เนื้อเรื่องพระมหาชนก

พระเจ้ามหาชนกกษัตริย์แห่งกรุงมิถิลา มีพระราชโอรสสองพระองค์ พระนามว่า อริฏฐชนก และ โปลชนก เมื่อสวรรคตแล้ว พระอริฏฐชนกได้ครองราชสมบัติและทรงตั้งพระโปลชนกเป็นอุปราช อมาตย์ผู้ใกล้ชิดได้กราบทูลใส่ร้ายว่าพระอุปราชโปลชนกคิดไม่ซื่อ พระอริฏฐชนกก็หลงเชื่อ สั่งจองจำพระโปลชนก แต่พระโปลชนกตั้งจิตอธิษฐานและหลบหนีไปได้ ภายหลังได้รวบรวมพลมาท้ารบและเอาชนะได้ในที่สุด พระอริฏฐชนกสิ้นพระชนม์ในที่รบ
    

พระเทวีที่กำลังทรงครรภ์จึงปลอมตัวหนีไปจนถึงเมืองกาลจัมปากะ ต่อมามีพระประสูติกาล ตั้งพระนามพระโอรสตามพระอัยยิกาว่า "มหาชนก" จวบจนกระทั่งมหาชนกเติบใหญ่ และได้ทราบความจริง ก็คิดจะไปเอาราชสมบัติคืน ระหว่างทางในมหาสมุทร เรือเจอพายุจนล่มลง ลูกเรือตายหมดเหลือแต่พระมหาชนกรอดผู้เดียว ทรงอดทนว่ายน้ำในมหาสมุทรด้วยความเพียร ๗ วัน ๗ คืน จนได้พบนางมณีเมขลา ในที่สุดนางมณีเมขลาได้อุ้มพระมหาชนกไปส่งยังมิถิลานคร

ฝ่ายมิถิลานคร พระโปลชนกได้สวรรคตเหลือเพียงพระราชธิดานาม "สีวลีเทวี" ก่อนสวรรคตทรงตั้งปริศนาเรื่องขุมทรัพย์ทั้งสิบหกไว้สำหรับผู้จะขึ้นครองราชย์ต่อไป แต่ไม่มีผู้ใดไขปริศนาได้ เหล่าอมาตย์จึงได้ประชุมกันแล้วปล่อยราชรถ ราชรถก็แล่นไปยังที่มหาชนกบรรทมอยู่ เหล่าอมาตย์จึงเชิญเสด็จขึ้นครองราชย์และอภิเษกกับสีวลีเทวี ทรงไขปริศนาต่างๆ ได้ และทรงครองราชสมบัติโดยธรรม

วันหนึ่ง พระมหาชนก ทรงประทับบนคอช้างเพื่อทอดพระเนตรอุทยาน ใกล้ประตูอุทยานมีมะม่วง 2 ต้น ต้นหนึ่งมีผล ต้นหนึ่งไม่มีผล ผลนั้นมีรสหวานเหลือเกิน พระมหาชนกทรงเก็บมาเสวยผลหนึ่ง แล้วเสด็จเข้าอุทยาน คนอื่นๆ ตั้งแต่พระอุปราชลงมาต่างก็แย่งเก็บผลมะม่วง จนมะม่วงต้นนั้นโค่นลง พระมหาชนกทอดพระเนตรเห็นดังนั้น ก็เกิดความสังเวชที่คนทั้งหลายหวังแต่ประโยชน์อย่างขาดปัญญา รำลึกได้ว่านางมณีเมขลาเคยสั่งให้พระองค์ตั้งมหาวิทยาลัย จึงได้ปรึกษากับพราหมณ์ ในที่สุดได้ตั้งมหาวิชชาลัยปูทะเลย์ขึ้น โดยรำลึกถึงบุญคุณปูทะเลที่มารองพระบาทขณะพระองค์อยู่กลางทะเล



ข้อคิดที่ได้จากเรื่อง คือความเพียร ความพยายาม ความกล้าที่จะลงมือทำ เป็นแนวทางให้ดำเนินไปสู่ความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ กล้าเผชิญกับความทุกข์ยาก ปัญหาและอุปสรรคที่จะเกิดขึ้น หากมีอุปสรรคข้อขัดข้องใดๆ ไม่ย่อท้อ ไม่สิ้นหวัง เดินหน้าเรื่อยไปจนกว่าจะบรรลุเป้าหมายคือความสำเร็จ ดังเช่นพระมหาชนกที่มีความเพียร อดทน ว่ายน้ำในทะเลนาน ๗ วัน ๗ คืน

มีบทสำคัญระหว่างพระมหาชนกและนางมณีเมขลา คือ

นางมณีเมขลาเห็นพระมหาชนกว่ายน้ำอยู่กลางสมุทร จึงรีบเหาะมาลอยอยู่กลางอากาศตรงหน้านางมณีเมขลาต้องการลองพระทัยพระมหาชนก จึงถามว่า

"นี่ใครหนอ ยังอุตสาหะว่ายน้ำอยู่เพื่อประโยชน์อันใด ฝั่งมหาสมุทรอยู่ที่ไหนก็มองไม่เห็น"

พระมหาชนกตรัสตอบว่า "อันว่าความเพียรนั้นไม่เสียหาย แม้จะมองไม่เห็นฝั่งก็ต้องพยายาม สักวันหนึ่งจะต้องถึง"

นางมณีเมขลากล่าวอีกว่า "ฝั่งมหาสมุทรนั้นไกลจนประมาณไม่ได้ ความพยายามของท่านนั้นเปล่าประโยชน์ ท่านจะตายเสียก่อนจะถึงฝั่ง"

พระมหาชนกตรัสตอบว่า "แม้เราต้องตายด้วยความเพียร หมู่ญาติ เทวดา และพระพรหมทั้งหลายก็ไม่อาจติเตียนเราได้ เพราะเราได้ทำหน้าที่เต็มกำลังแล้ว"

นางมณีเมขลาถามต่อว่า "การทำความพียรโดยมองไม่เห็นทางบรรลุเป้าหมายนั้น มีแต่ความยากลำบาก อาจถึงตายได้ ท่านจะเพียรพยายามไปทำไมกัน"

พระมหาชนกตรัสตอบว่า "ดูก่อน แม่เทพธิดา ถ้าเราละความเพียรเสียแต่ต้นมือ ย่อมได้รับผลร้ายของความเกียจคร้านนั้น เหมือนลูกเรือทั้งหลายที่จมลงใต้มหาสมุทร เป็นอาหารของเต่าและปลา แต่เราตั้งอยู่ในความเพียร เราจึงยังว่ายน้ำอยู่ผู้เดียว ยังมีชีวิตอยู่ได้ในทะเลนี้ แม้หนทางสำเร็จจะมีเพียงเล็กน้อย เราก็จะพยายามสุดกำลังเพื่อไปให้ถึงฝั่งให้จงได้"

นางมณีเมขลากล่าวสรรเสริญความเพียรของพระมหาชนกแล้ว จึงอุ้มพระมหาชนกพาไปวางไว้บนแผ่นศิลาในสวนมะม่วงแห่งมิถิลานคร ซึ่งพระมหาชนกก็บรรทมหลับไปด้วยความอ่อนเพลีย




พระราชนิพนธ์ พระมหาชนก กล่าวได้ว่าเป็นผลงานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงรักยิ่ง และด้วยพระวิริยอุตสาหะจึงทำให้ประสบความสำเร็จได้ในที่สุด นับเป็นพระราชนิพนธ์ที่ทรงคุณค่าและมีประโยชน์อย่างยิ่งแก่ผู้ที่มีโอกาสได้อ่าน เพื่อนำมาเป็นคติสอนใจ และเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต

ซึ่งในการทำสิ่งใดก็ตามหากขาดความเพียรพยายามเสียแล้วก็ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า "คนล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร" ซึ่งความทุกข์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชฯ นั้น คือความลำบากของราษฎร พระองค์ท่านจึงมีความเพียร ใช้ความเพียรบำบัดทุกข์ด้วยการทุ่มเทพระราชหฤทัยและพระวรกายทรงงานหนักตลอดพระชนม์ชีพเพื่อความสุขของคนไทยทั้งชาติ




[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่