ผลกระทบด้านสุขภาพจากภูเขาไฟอากุง (Agung Volcano) ในอินโดนีเซีย

อากุงเป็นภูเขาไฟที่ใหญ่ที่สุดบนเกาะบาหลีของอินโดนีเซีย มีความสูงถึง 3031 เมตรในอดีตมันเคยระเบิดมาแล้วเมื่อปี 1963 คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่าพันคน ซึ่งยุคนั้นไม่มีข้อมูลบันทึกไว้ให้ทำการศึกษามากนัก


บาหลีอยู่ห่างจากรุงเทพถึง 4 พันกิโลเมตร ซึ่งนับว่าห่างไกลมาก แต่ควันของไฟป่าในอินโดนีเซียก็สามารถล่องลอยมาสร้างปัญหาในภาคใต้ของประเทศไทยมาแล้ว ซึ่งไฟป่ามีระดับความรุนแรงน้อยกว่าภูเขาไฟมาก จึงเชื่อแน่ว่าภูเขาไฟอากุงต้องมีผลกระทบต่อประเทศไทยแน่เพียงแต่เมื่อมันมาถึงเราอาจไม่ทันระวังป้องกัน ข้าพเจ้าจึงพยายามหาข้อมูลที่จำเป็นเพื่อที่ประชาชนจะได้มีองค์ความรู้ที่เพียงพอในการป้องกันตนเอง
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับประเภทภูเขาไฟกันก่อน นักธรณีวิทยาได้จัดแบ่งภูเขาไฟตามส่วนประกอบที่ทำให้เกิด และชนิดของการประทุ ได้ 4 ลักษณะคือ
1    ภูเขาไฟแบบกรวยสูง (Steep cone) เกิดจากลาวาที่มีความเป็นกรด หรือ Acid lava cone รูปกรวยคว่ำของภูเขาไฟเกิดจากการทับถมของลาวาที่เป็นกรด เพราะประกอบด้วยธาตุซิลิกอนมากกว่าธาตุอื่นๆ ลาวามีความข้นและเหนียว จึงไหลและเคลื่อนตัวไปอย่างช้าๆ แต่จะแข็งตัวเร็ว ทำให้ไหล่เขาชันมาก ภูเขาไฟแบบนี้จะเกิดการระเบิดอย่างรุนแรง
2    กรวยภูเขาไฟสลับชั้น (Composite Cone Volcano) เป็นภูเขาไฟซึ่งเกิดจากการสลับหมุนเวียนของชั้นลาวา และเศษหิน ภูเขาไฟชนิดนี้อาจจะดันลาวาไหลออกมาเป็นเวลานาน และจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการประทุอย่างกะทันหัน ภูเขาไฟชนิดนี้ที่มีชื่อ เช่น ภูเขาไฟฟูจิ (ญี่ปุ่น), ภูเขาไฟมายอน (ฟิลิปปินส์) และ ภูเขาไฟเซนต์เฮเลน (สหรัฐอเมริกา)  ซึ่งรวมถึงภูเขาไฟอากุงด้วย
3   ภูเขาไฟรูปโล่ (Shield Volcano) เป็นภูเขาไฟที่มีขนาดใหญ่ โดยพื้นฐานแล้วภูเขาไฟชนิดนี้เกิดจาก ลาวาชนิดบาซอลท์ที่ไหลด้วยความหนืดต่ำ ลาวาที่ไหลมาจากปล่องกลาง และไม่กองสูงชัน เหมือนภูเขาไฟชนิดกรวยสลับชั้น ภูเขาไฟชนิดนี้มักจะเป็นภูเขาไฟที่ใหญ่ เช่น ภูเขาไฟ Mauna Loa (ฮาวาย)
4   กรวยกรวดภูเขาไฟ (Cinder Cone) ภูเขาไฟชนิดนี้จะสูงชันมาก และเกิดจากลาวาที่พุ่งออกมาทับถมกัน ลาวาจะมีความหนืดสูง การไหลไม่ต่อเนื่อง และมีลักษณะเป็นลาวาลูกกลมๆ ที่พุ่งออกมาจากปล่องเดี่ยว และทับถมกันบริเวณรอบปล่อง ทำให้ภูเขาไฟชนิดนี้ไม่ค่อยก่อให้เกิดความสูญเสียชีวิตมากมาย


ระดับความรุนแรงของภูเขาไฟ  (Volcanic Explosivity Index)
นักวิทยาศาสตร์ได้จัดระดับความรุนแรงของภูเขาไฟโดยใช้มาตร Volcanic Explosivity Index หรือ Vei ซึ่งแบ่งเป็น 8 ระดับ วัดตามปริมาณของวัสดุที่ภูเขาไฟพ่นออกมา แต่ละขั้นของ Vei จะเพิ่มขึ้น 10 เท่า และยังสัมพันธ์กับระยะเวลาในการสะสมพลังอีกด้วย Vei 0 จะปะทุแบบต่อเนื่องทุกวันเช่นแถวฮาวาย จนถึงระดับ Vei 8 ซึ่งล้างโลกได้ซึ่งต้องสะสมพลังเป็นหมื่นหรือแสนปีขึ้นไป


ภูเขาไฟอากุงเป็นภูเขาแบบสลับชั้น ซึ่งได้ระเบิดครั้งที่แล้วในปี 1963 ด้วยความรุนแรงที่ Vei5 เทียบเท่ากับภูเขาไฟเซนต์เฮเลน แต่วงรอบระดับ Vei 5 อยู่ที่ 12 ปีเท่านั้น แต่อากุงได้สะสมพลังมากว่า 5 ทศวรรษแล้ว จึงมีความเสียงสูงที่มันเพิ่มความรุนแรงไปถึงระดับ 6 เทียบเท่ากับภูเขาไฟพินาตูโบของฟิลิปปินส์ แต่ทั้งนี้ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าการระเบิดของอากุงครั้งใหม่จะรุนแรงที่ระดับใด
ด้วยระยะห่างมากกว่า 4 พันกิโลเมตรจากกรุงเทพ ผลกระทบโดยตรงที่ต้องระวังคืออาจเกิดคลื่นสึนามึขนาดใหญ่ ซึ่งดีที่มีเกาะบอร์เนียวบังไว้แต่คลื่นอาจเล็ดรอดมาถึงอ่าวไทยได้เช่นกัน กับผลกระทบระยะยาวเช่นอุณหภูมิโลกที่ต้องเปลี่ยนแปลงซึ่งประชาชนไม่สามารถทำอะไรได้ แต่ที่สามารถป้องกันได้คือปัญหาด้านสุขภาพที่เกิดจากฝุ่นภูเขาไฟที่มันพ่นออกมา
อย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ควันจากไฟป่าจากอินโดนีเซียหรือไฟป่าก็สามารถปกคลุมภาคเหนือของไทยได้เช่นกันทำให้เกิดปัญหากับระบบทางเดินหายใจ แต่อนุภาคจากเถ้าภูเขาไฟมีความร้ายกาจกว่าอนุภาคจากการเผาป่ามากนัก เพราะมันมีความแหลมคมมากกว่าอนุภาคจากการเผาป่าไม้


ขนาดของฝุ่นภูเขาไฟสัมพันธ์กับระยะทางที่มันสามารถเดินทางไปได้ ยิ่งมีขนาดเล็กก็สามารถล่องลอยไปได้ไกล ซึ่งสัมพันธ์กับปัจจัยด้านกระแสลมและความชื้นในอากาศ

https://volcanoes.usgs.gov/volcanic_ash/mount_st_helens_1980.html

จากกราฟเป็นระยะแพร่กระจายของฝุ่นภูเขาไฟเซนต์เฮเลนซึ่งมีความรุนแรงที่ระดับ 5 มันไปได้ไกลมากแต่ไม่ถึงพันกิโลเมตร ในขณะที่พินาตูโบที่รุนแรงระดับ 6 สามารถไปได้ไกลมากหลายพันกิโลเมตรครอบคลุมหลายประเทศรวมถึงไทยด้วย

https://en.wikipedia.org/wiki/Mount_Pinatubo#/media/File:TOMS_AI_Jun16_91.gif

หากอากุงระเบิด ฝุ่นของมันก็อาจมาถึงประเทศไทยได้ ทั้งนี้ขึ้นกับระดับความรุนแรงและกระแสลมในช่วงนั้น ถ้าโชคดีเราอาจหลีกเลี่ยงผลกระทบได้ แต่ถ้าโชคร้ายเราต้องหาทางลดผลกระทบของมันเอาเอง เช่นการสวมหน้ากากอนามัยเพื่อกรองอากาศ (ดูคู่มือแนะนำได้จาก http://www.ivhhn.org/images/pamphlets/Health_Guidelines_English_WEB.pdf )

ฝุ่นของภูเขาไฟเป็นอันตรายขั้นต้น แต่ที่ตามมาคือผลของแก๊สต่างๆที่ภูเขาไฟพ่นออกมา ที่อันตรายมากคือซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ซึ่งสามารถล่องลอยไปทั่วโลก และอยู่ในบรรยากาศได้หลายปี

http://www.physicalgeography.net/fundamentals/7y.html

ถ้าการระเบิดของอากุงอยู่ที่ระดับ 5 ก็ไม่น่าห่วง แต่ถ้ามันรุนแรงถึงระดับ 6 มันจะพ่นแก๊สขึ้นไปถึงชั้นสตราโตสเฟียร์ ซึ่งสามารถทำลายชั้นโอโซนได้ ซึ่งการระเบิดของภูเขาไฟโทบาที่อินโดนีเซียเคยทำลายชั้นโอโซนไปเกือบหมดทำให้เกิดการสูญพันธ์ครั้งใหญ่มาแล้ว

https://serc.carleton.edu/NAGTWorkshops/health/case_studies/volcanic_ash.html

ผลกระทบจากภูเขาไฟอย่างพินาตูโบทำให้อุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยลดลง ซึ่งส่งผลรุนแรงกับประเทศในเขตหนาวที่จะพบกับฤดูหนาวที่หฤโหดมากขึ้น และมีผลทำให้สภาพอากาศทั่วโลกแปรปรวนทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง

http://apollo.lsc.vsc.edu/classes/met130/notes/chapter16/mtpin_tseries.html

แต่สำหรับประเทศไทยซึ่งอยู่ในเขตร้อนคงไม่เดือดร้อนกับอุณหภูมิที่ลดลงสักเท่าไหร่  แต่ผลร้ายที่ได้รับจะแตกต่างออกไป นั่นคือรังสี UV จะผ่านลงมาได้ง่ายขึ้นเนื่องจากโอโซนถูกทำลาย คนไทยก็จะเสี่ยงกับมะเร็งผิวหนังมากขึ้น ซึ่งสามารถป้องกันได้ถ้าตระหนักรู้ล่วงหน้า

ข้อสรุป
คำถาม ไม่ใช่ว่าภูเขาไฟอากุงจะระเบิดเมื่อไหร่ นักวิทยาศาสตร์บอกว่าเกิดแน่นอนและในเวลาไม่ไกลด้วย คำถามที่สำคัญคือมันจะรุนแรงได้ถึงระดับใด ซึ่งอินโดนีเซียเป็นแหล่งชุมนุมภูเขาไฟและมีประวัติความรุนแรงต่อมวลมนุษยชาติมากกว่าที่ใดในโลก การระเบิดของอากุงจึงน่าจับตามอง ถ้ามันระเบิดที่ระดับ 5 คงไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงสำหรับประเทศไทย ถ้ารุนแรงถึงระดับ 6 เราคงต้องหาทางลดผลกระทบกันอย่างจริงจัง แต่ถ้าไประดับ 7 หรือ 8 คงไม่มีอะไรที่พวกเราจะทำได้เลย ซึ่งคงไม่น่าจะเกิดขึ้น
ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลและชุมชนวิทยาศาสตร์เฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดและเตรียมแผนการรองรับไว้ล่วงหน้า เนื่องจากเป็นภัยที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก ทำให้เราขาดความคุ้นเคยเหมือนเหตุการณ์สึนามิที่ภาคใต้เมื่อสิบปีก่อนที่ประชาชนขาดองค์ความรู้ที่จะเอาชีวิตรอด ภัยจากภูเขาไฟเป็นสิ่งที่คนไทยไม่คุ้นเคย จึงไม่มีการระวังป้องกันล่วงหน้า เช่นถ้าฝุ่นมันมาถึงไทย การแจกหน้ากากอนามัยที่สามารถป้องกันได้จริงให้กับประชาชนนับล้านคงเป็นเรื่องที่โกลาหลแน่ หรือถ้าเกิดสึนามิแล้วมันเล็ดรอดเข้ามาได้ ในอ่าวไทยมีระบบแจ้งเตือนเราได้ทันการไหม  การมีแผนการรองรับและเตรียมพร้อมล่วงหน้าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างยิ่งหากมีอะไรเกิดขึ้น
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่