ทำไมคนในอาเซียนจึงเปิดรับวงการบันเทิงไทย เเละไทยกลับไม่ติดตามวงการบันเทิงในอาเซียน

แก้ไขข้อความเมื่อ
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 31
ความเห็นส่วนตัวนะ

เรื่องเพื่อนบ้านอาเซียนนิยมเสพบันเทิงไทย แต่คนไทยไม่ยอมเสพบันเทิงเพื่อนบ้านนี้ ต้องยกความดี(?)ให้นโยบายของรัฐบาลที่เปิดกว้างกับบันเทิงทุกชาติ กับอุปนิสัยของคนไทยเลยทีเดียว

ที่ว่าเปิดกว้างกับบันเทิงทุกชาติ เพราะรัฐไม่มายุ่ง คนไทยอยากจะดูบันเทิงชาติไหนๆ ที่มีกระแสมาแรงๆ ก็หาดูได้ เอาเฉพาะหลักๆ ก็จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ฝรั่ง ซึ่งเป็นที่ขึ้นชื่อลือชาว่างานประณีต นักแสดงถูกตา เนื้อหาถูกใจ ซึ่งพอคนไทยเสพงานระดับนี้ไปมากๆ เข้า มันก็เกิดภาพจำ พอเอาบันเทิงอาเซียนมาเปรียบประชัน ก็พาลจะไม่ถูกหูถูกตาไปเสีย นอกจากนี้บันเทิงไทยยังรู้จักการแข่งขัน พอเห็นวิธีถ่ายภาพแบบนี้สวยดีก็เอามาใช้ พอเห็นเนื้อแบบนี้สนุกดีก็เอามาปรับ แรกๆ ก็ทำไปโดนด่าไป พอเข้าที่เข้าทางเขาก็ชม ไปๆ มาๆ ก็เกิดการพัฒนา ซึ่งสภาพแวดล้อมที่เปิดกว้างแบบนี้ในอาเซียนมีน้อยมาก(สังเกตมั้ยว่าบันเทิงไทย รัฐไม่ช่วยห่...อะไรเลย ซ้ำยังปล่อยให้บันเทิงต่างชาติเข้ามาได้เต็มที่ ลองอยู่ในสภาพแบบนี้ก็ไม่รู้จักเอาตัวรอดก็มีแต่ตายล่ะ)

ส่วนเรื่องนิสัยเฉพาะตัวคนไทย อันนี้พูดไปก็เหมือนจะด่าตัวเอง เพราะคนไทย ดูเผินๆ จะเหมือนๆ จะหัวอ่อน รับวัฒนธรรมอื่นได้ง่าย ถึงขั้นเห็นชนชาติดีกว่าตัวเอง แต่เอาเข้าจริง คนไทยเป็นคนที่ถือตนมาก เช้าขั้นหยิ่งยะโสทางวัฒนธรรมเลยทีเดียว คนไทยถือดีว่าเราก็มีวัฒนธรรมของเรา แม้ไม่พูดด้วยปากแต่ใจกลับทะนงไปเรียบร้อยแล้ว หากวัฒนธรรมอื่นที่นำมาอวดประชันนั้นไม่เจ๋งจริง ไม่มีรูปแบบเฉพาะตัวจริงๆ คนไทยจะอือๆ ออๆ ชมเชยไปตามมารยาทงั้นๆ แหละ แต่จะไม่ยอมรับมาใช้เลย ไม่ต้องนึกไปไกล แค่ลองนึกชื่อประเทศเพื่อนบ้านขึ้นมาสักชื่อ แล้วหาข้อดีที่เหนือกว่าเราออกมาสัก ๑๐ ข้อ ก็ยังไม่แน่ว่าจะถึง ๕ ข้อหรือเปล่าที่เรานึกได้

นอกจากนี้คนไทยยังเป็นคนที่ไม่คิดจะใส่ใจที่จะรู้จักกับเพื่อนบ้าน รู้แค่ว่าอีกฝ่ายเป็นคนของประเทศไหน แค่นั้นแหละจบแล้ว ไม่ได้นึกใฝ่รู้เลยว่าอีกฝ่ายมีภูมิหลังอย่างไร ประวัติศาสตร์แบบไหน ซึ่งความไม่ใส่นี้จัดว่าเหี้ยมโหดต่อวัฒนธรรมชนชาติอื่นยิ่งกว่าคำว่า”เกลียด”เสียอีก เพราะในเมื่อไม่คิดจะใส่ใจตั้งแรก ตัวตนของอีกฝ่ายย่อมไม่ปรากฏ ในเมื่อตัวตนอีกฝ่ายไม่ปรากฏ วัฒนธรรมต่างๆ ของเขาจะมามีอิทธิพลใดๆ กับเราได้อย่างไร  

ในเมื่อสิ่งแวดล้อมและอุปนิสับคนไทยไม่เอื้อกับบันเทิงเพื่อนบ้านขนาดนี้ แล้วคนไทยที่ไหนเล่าจะไปดูบันเทิงเพื่อนบ้าน
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 35
ผมคิดว่าในอาเซียนไทยเป็น center ของวัฒนธรรมความบันเทิงครับ ประเทศอาเซียนอื่นๆ ค่อนข้างยอมรับไปในทางเดียวกัน

คิดว่ามีหลายปัจจัยประกอบกันครับ

- การที่นิสัยคนไทยชอบเรื่องร้องเล่น ความบันเทิง แต่ดั้งเดิม ทำให้สั่งสมพัฒนาการด้านนี้มาเรื่อยๆ

- เราเปิดรับวัฒนธรรมง่ายและเป็นมาเป็นอดีตแล้ว ทำให้ไม่ปฏิเสธรับเอาเทคโนโลยีหรือเทคนิคการเล่าเรื่อง การถ่ายทอดจากชาติที่เจริญกว่ามาปรับใช้

- อะไรที่ได้แรงบันดาลใจมาจากบันเทิงชาติตะวันตก ถ้าผ่านเราจะถูกปรับอีกชั้นหนึ่งให้ออกมาเป็นความบันเทิงที่พอรับได้ในวัฒนธรรมร่วมของภูมิภาค มีสีสันมากขึ้น ไม่น่าเบื่อ แต่ไม่ถึงขนาดคนอาเซียนรู้สึกว่าเป็นวัฒนธรรมจากอีกซีกโลกที่ไม่เข้าใจหรือแรงเกินจะรับได้ในสายตาเขา
-    
นักแสดงหน้าตาดีเป็นทุนเดิมก็เยอะจากการที่พลเมืองผสมข้ามสายพันธุ์หลากหลาย หลายคนทำศัลยกรรมปรับแต่งให้ขึ้นกล้องเฉยๆ ไม่ถึงระดับทำออกมาบล็อคเดียวกันหรือดูคล้ายๆ กันไปหมด หลักๆ เลย คนที่มีลักษณะเอเชียผิวขาวเหลืองจะได้รับความนิยม นอกนั้นก็ลดหลั่นกันมา ภูมิภาคอาเซียนชาวจีนก็อาศัยกันเยอะ ความรู้สึกมีส่วนร่วมทางชาติพันธุ์เวลาเสพสื่อจึงมีบ้าง

-    เรื่องวัฒนธรรมหรือโลเคชั่นหลากหลาย รู้กันอยู่แล้ว

-    เรามีต้นทุนคนมีฝีมือเป็นของอยู่ในมือพอสมควร เช่น สมมติต้องสร้างเพลงประกอบภาพยนตร์ ก็ไม่ขาดแคลนหรือไม่รู้จะไปหาจากไหนต้องไปก๊อปเอา มีทั้งสมัยใหม่แบบดนตรีสังเคราะห์ หรือ ต้องการแนวๆ ไทยร่วมสมัย ดนตรีบรรเลงคลาสสิค ก็มีคณะดนตรีในมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ช่วยสร้างส่วนเสริมต่างๆ อย่างดนตรีประกอบหรือกราฟฟิค ช่วยเสริมให้สื่อบันเทิงดูทันสมัย มีเอกลักษณ์น่าติดตาม ไม่ใช่ออกมาชุ่ยๆ กราฟฟิคขอไปที เพลงประกอบก๊อปเอาจากยูทูบเอามาใส่


- อันนี้มาจากพื้นฐานวงการโฆษณาของเราทำไว้ดี คนไทยชอบเรื่องง่ายๆ ไม่ซับซ้อนหนักสมอง จึงถนัดในการสร้างสื่อบันเทิงที่มีลักษณะ mass มีฐานผู้ชมรองรับมาก รายการบันเทิงของเวิร์คพอยต์ ก็มีชาติอื่นขอซื้อลิขสิทธิ์ หรืออย่างหนังเรื่องฉลาดเกมส์โกง มันทำหน้าที่ทำให้คนในภูมิภาคตระหนักเรื่องปัญหาความเหลื่อมล้ำกับระบบการศึกษาได้กว้างขวางกว่างานวิจัยที่เป็นวิชาการอีก เพราะมันเข้าใจง่าย ใช้ visual culture หรือวัฒนธรรมในการมองเห็นเป็นตัวถ่ายทอดเรื่องราวได้คล่อง และประเทศแถบๆ นี้ก็ยังไม่ได้พัฒนาการศึกษาสูงปรี๊ด การเลือกเล่าประเด็นง่ายๆ เช่นเรื่องชีวิตในโรงเรียน หรือเอาเรื่องยากๆ มาย่อยไม่ซับซ้อนหรือเฉพาะทางเกินไป เช่น ไอฟาย แต๊งกิ้วก็เอาเรื่องโอกาสในชีวิตการทำงานบริษัทข้ามชาติที่มากับเรื่องทักษะภาษาอังกฤษมาเล่าง่ายๆ ไม่ได้ยัดเยียดวิชาการหลักภาษาเคร่งขรึม เสพง่าย ย่อยง่าย ทำให้มีฐานผู้ชมภูมิภาคอาเซียนที่กว้างขวางขึ้น

- เราไม่ค่อยปิดประเด็นปัญหาสังคม แล้วสร้างแต่บทที่โลกสวยหรือน่าเบื่อ บางประเทศรัฐค่อนข้างเข้มงวดกับสื่อ เช่น hormones ก็สะท้อนปัญหาวัยรุ่นด้านต่างๆ ที่ภูมิภาคอื่นก็มีแต่ไม่กล้าพูด เราชิงพูดออกมาเองก่อนเลย มันทำให้คนดูรู้สึกจับต้องและมีส่วนร่วมกับเรื่องราวได้มากกว่าสื่อบันเทิงของเขา

- ความใจกว้างทางเพศ เช่นบทที่ผู้หญิงเป็นผู้นำ อย่างฉลาดเกมส์โกงนี่เห็นชัดมากที่เลือกคนเป็นอัจฉริยะเบอร์หนึ่งเป็นนักแสดงหญิง เรื่องเพศที่สามก็เห็นๆ กันอยู่ว่าในบทก็มักจะใช้ชีวิตอยู่ในส้ังคมได้ปกติปะปนกับเพื่อนชายหญิงอย่างเปิดใจ คนดูจากอาเซียนบางชาติที่มีความเก็บกดวัฒนธรรมสิทธิทางเพศ เช่น ประเทศที่ไม่ค่อยให้ผู้หญิงมีบทบาทส่วนร่วมในการแสดงศักยภาพ หรือเพศที่สามที่ต้องปกปิด ดูไปก็รู้สึกเหมือนเติมเต็มความฝัน กำลังใจ จิตนาการดีๆ ให้กับชีวิตตนเอง
-
- ปัจจุบันโลกโลกาภิวัฒน์และทุนนิยมเข้ามาปรับเปลี่ยนประเทศกำลังพัฒนาให้หันมาใช้ชีวิตและอยู่อาศัยแบบคนเมืองมากขึ้น พื้นที่ในการใช้ชีวิตแบบสังคมเกษตรกรรมในชนบทลดลง คนให้ความสนใจน้อยลง สื่อบันเทิงไทยหลายเรื่องตอบโจทย์ภาพที่เพื่อนบ้านอยากรู้อยากเห็นทั้งด้านบวกและด้านลบของการใช้ชีวิตในเมือง ความทันสมัย เทคโนโลยี ไลฟ์สไตล์ ชีวิตวัยเรียน ชีวิตวัยทำงาน ความรักในแบบชนชั้นกลางขั้นไป การเลื่อนสถานะทางสังคม ฯลฯ โดยเฉพาะหลายๆ ประเทศเป็นประเทศด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนา การชมสื่อจากไทยก็เหมือนเป็นภาพมาตรฐานชีวิตที่เขาอยากจะเห็น (ซึ่งจริงๆ แม้แต่คนไทยก็ไม่ใช่ทุกคนจะได้มีไลฟ์สไตล์แบบคนที่อาศัยตามหัวเมืองสมัยใหม่ พื้นที่กันดารยากลำบากก็ยังมีอยู่พอสมควร)

ไปกันยาวๆ ครับสื่อบันเทิงไทย ผมว่ายังได้ไกลอีกเยอะ ทำให้ดีจะเป็น Soft Power สร้างความเชื่อมั่น ความสนใจของเพื่อนบ้านภูมิภาคที่มีต่อไทยตามมาทางอ้อมครับ เช่น ความสนใจอยากมาเที่ยวไทยมาจับจ่ายใช้สอย ความสนใจอยากเรียนภาษาไทย นักศึกษาเลือกเรียนต่อในไทย ฯลฯ ซึ่งทุกวันนี้เรื่อง Soft Power ก็ทำได้ดีอยู่แล้วเพียงแต่ส่วนตัวเชื่อมั่นว่าเรื่องความบันเทิงเป็นจริตของคนไทย เป็นของชอบของถนัด จึงน่าจะมีแววไปต่อได้อีกเยอะครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่