Romanticism: นิทานพื้นบ้านกับการสร้างชาติในยุโรป

หลายคนคงมีความทรงจำในวัยเด็กกับนิทานหรือเทพนิยายอย่าง ซินเดอเรลล่า หนูน้อยหมวกแดง เจ้าชายกบ ราพันเซล ลูกเป็ดขี้เหร่ ฯลฯ พอโตเป็นผู้ใหญ่ ก็เห็นเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องสำหรับเด็กไว้ดูไว้อ่านเพื่อความเพลิดเพลิน แต่ความเป็นจริงแล้ว นิทานพื้นบ้านเหล่านี้มีบทบาทที่ยิ่งใหญ่ เป็นจุดกำเนิดของการสร้างรัฐชาติหรือประเทศในยุโรปอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน และนิทานที่ดูไม่มีพิษภัยนี่เองกลับกลายเป็นสิ่งที่นำไปสู่ลัทธิชาตินิยมรวมทั้งสงครามโลกในเวลาต่อมา...

ตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 18 (หลังจากยุคกลางและยุค Renaissance) การปฏิวัติอุตสาหกรรมเริ่มแผ่ขยายในยุโรป เช่นเดียวกับเครื่องจักร ผู้คนถูกหล่อหลอมให้เป็นบล็อกเดียวกัน คิดอยู่ในกรอบของเหตุและผล นิยมวัตถุ ต่างคนต่างอยู่ ขาดจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ จึงมีกลุ่มเคลื่อนไหวกลุ่มหนึ่งออกมาทำอะไรบางอย่างเพื่อต้านกระแสนี้ เรียกว่า Romanticism (เขียนด้วย R ตัวใหญ่)

ขบวนการ Romanticism โหยหาอดีตโดยเฉพาะสังคมในยุคกลางหรือยุคมืดที่ผู้คนมีความสัมพันธ์แบบชุมชนแน่นแฟ้น และเต็มไปด้วยความรู้สึกเคล้าด้วยจินตนาการ จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้คนเหล่านี้กลับไปค้นหานิทานพื้นบ้านและตำนานต่างๆ ด้วยความเชื่อที่ว่า เรื่องราวเหล่านั้น (หากไม่ถูกปลอมปนหรือได้รับอิทธิพลมาจากชาติอื่น) เป็นสิ่งสะท้อนจุดกำเนิดของชาติตัวเองและธรรมชาติดั้งเดิมของมนุษย์ และจะช่วยให้ผู้คนที่มีต้นกำเนิดเดียวกันเข้ามารวมกันเป็นชาติได้

พี่น้องตระกูล Grimm ได้รวบรวมนิทานพื้นบ้านของเยอรมันจากหมู่บ้านในชนบทต่างๆ เรื่องที่คนไทยรู้จักกันดีก็อย่างหนูน้อยหมวกแดง ฮันเซลกับเกรเทล และซินเดอเรลล่า และได้คัดเรื่องที่ได้รับอิทธิพลจากฝรั่งเศสออกไป เช่น เรื่องเจ้าหญิงนิทรา เพื่อทำให้ตำนานของเยอรมัน "บริสุทธิ์"

กระแสรวบรวมนิทานพื้นบ้านยังแผ่ขยายไปทั่วยุโรป รวมทั้งเดนมาร์ก หลายคนอาจคุ้นชื่อ ฮันส์ คริสเตรียน แอนเดอร์เซน ที่รวบรวมเรื่องลูกเป็ดขี้เหร่ เด็กหญิงไม้ขีดไฟ นั่นก็เป็นหนึ่งในขบวนการ Romanticism เช่นกัน ส่วนที่สวิส เรื่องเด่นๆ ก็เรื่องธนูเสียบแอ๊ปเปิ้ล และที่สำคัญ นิทานเหล่านี้ถูกตีพิมพ์เป็นภาษาท้องถิ่น ไม่ใช่ภาษาละตินหรือฝรั่งเศสดังเช่นที่ผ่านมา เพื่อสร้างเอกลักษณ์ที่ต่างจากชาติอื่นๆ อย่างชัดเจน และในยุคนี้เอง มีการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาเพื่อสร้างมาตรฐานการใช้ภาษาท้องถิ่นอย่างเป็นทางการ

สิ่งที่มาพร้อมกับการสร้างอัตลักษณ์ของชาติ คือ ความภาคภูมิใจ และความรู้สึกแตกต่างจากชาติอื่นๆ นำไปสู่สงครามประกาศอิสรภาพในหลายๆ ที่ เช่น การประกาศเอกราชของกรีซต่ออาณาจักรออตโตมัน (ปัจจุบันคือตุรกี) เบลเยี่ยมต่อมหาอำนาจต่างๆ ที่เข้ามามีอิทธิพลในยุคนั้น รวมทั้งโปแลนด์ที่ตอนนั้นแผ่นดินทั้งหมดถูกแบ่งให้อาณาจักรต่างๆ จนไม่เหลือ การรวมแคนตันต่างๆ ของสวิส ฯลฯ

แต่...เรื่องราวไม่ได้จบแค่การประกาศเอกราช

ความภาคภูมิใจที่มีต่อชาติตนเองถูกใช้เป็นเครื่องมือแสดงความเหนือกว่าทางวัฒนธรรมต่อชาติอื่นๆ โดยเฉพาะในบรรดาชาติเยอรมัน (สมัยนั้นเรียกว่า Prussia) จนเกิดเป็นลัทธิชาตินิยมแบบสุดโต่ง และเป็นสาเหตุหนึ่งของสงครามโลกครึ่งที่ 1 ในเวลาต่อไป

ความจริง ผมก็ไม่เคยรู้มาก่อนจนกระทั่งได้มาเรียนที่สาธารณรัฐเช็คว่า เรื่องราวที่คุ้นเคยในวัยเด็กกลับมีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์ยุโรปขนาดนี้ และเรื่องราวในยุคนี้ยังสะท้อนให้เห็นการต่อสู้ระหว่างความคิดแบบวิทยาศาสตร์กับความคิดแบบมนุษยศาสตร์ในสังคมสมัยนั้นอีกด้วย

การไปเยือนเมืองหลวงเพื่อจะได้สัมผัสวัฒนธรรมของชาตินั้นที่แท้จริง ก็อาจไม่ใช่ความคิดที่ถูกต้องเสมอไป เพราะจุดกำเนิดของรัฐชาติในยุโรปที่เห็นในปัจจุบันมาจากชนบท จากหมู่บ้านที่แวดล้อมด้วยธรรมชาติอันเงียบสงบนั่นเอง
----------------------------------------------
ใครสนใจการเรียน การทำงาน และการท่องเที่ยวแนว hidden gems ในยุโรป ก็ขอเชิญไปเยี่ยมชมหรือพูดคุยกันได้ที่เฟสบุ๊คแฟนเพจครับ https://www.facebook.com/IRememberEurope/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่