สอบถามเรื่องการค้ำประกันให้ญาติ

ขอสอบถามนะคะ เนื่องจากเราไม่มีความรู้เรื่องนี้เลย อยากจะขอความคิดเห็น และข้อกฏหมายที่เป็นประโยชน์ค่ะ

แม่เราได้ค้ำประกันบ้านให้กับญาติเมื่อหลายปีแล้วค่ะ ด้วยพิษเศรษฐกิจช่วงนั้น ทำให้ธุรกิจล้ม ทำให้เขาไม่มีเงินผ่อนบ้าน ตอนนั้นเราก็ทราบรายละเอียดไม่มากเพราะตอนนั้นเรายังเด็ก และไม่ได้สนใจรู้แค่ว่าตอนนั้นพ่อกับแม่คุยกับญาติคนนั้นว่า ถ้าไม่มีตังจ่ายก็ให้ธนาคารยึดไป เราก็คิดว่าจบไปแล้วเพราะมันผ่านมาหลายปี ก็ไม่ได้คิดอะไร

วันนี้มารู้จากแม่อีกทีว่าเขากำลังนะฟ้อง และจะฟ้องแม่ด้วยว่าเป็นบุคคลล้มละลาย ซึ่งตัวหนูเองยังไม่ได้คุยกับญาติคนนั้นว่ารายละเอียดมันมีอะไรบ้าง และยังไม่ได้คุยกับทนายของเขา เพราะเขาติดว่าความคดีคนอื่นอยู่ แต่ตัวหนูเองค่อนข้างกังวล พอจะมีวิธีไหนที่จะช่วยได้บ้าง โดยหลักๆที่หนูกังวล มีดังนี้
     1. ลูกหนี้ ไม่ได้หนีไปไหน เท่าที่ทราบเขาก็มีที่ของเขาอยู่ แต่ไม่ทราบปริมาณทรัพย์สินว่ามีอะไรอีกบ้าง ให้ธนาคารฟ้องจากทางนั้นเลยได้ไหม บ้านหลังนั้นก็ยึดขายทอดตลาดไป
     2. แม่มีชื่อกู้รวมกับหนูตอนซื้อบ้าน บ้านหลังของหนูจะมีผลอะไรไหม
     3. หนูทราบว่ามีกฏหมายเกี่ยวกับผู้ค้ำประกัน มันช่วยผู้ค้ำประกันด้านใดบ้าง

ตอนนี้หนูนึกได้เท่านี้ เพราะไม่มีความรู้เรื่องนี้เลยจริงๆ อยากจะขอความรู้ หรือแนวทางด้วยค่ะ
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 1
1. ลูกหนี้ ไม่ได้หนีไปไหน เท่าที่ทราบเขาก็มีที่ของเขาอยู่ แต่ไม่ทราบปริมาณทรัพย์สินว่ามีอะไรอีกบ้าง ให้ธนาคารฟ้องจากทางนั้นเลยได้ไหม บ้านหลังนั้นก็ยึดขายทอดตลาดไป
- กรณีนี้เค้าเรียกว่าเป็นลูกหนี้ร่วมกันครับ เวลาธนาคารฟ้องก็ต้องฟ้องทั้งสองคน ส่วนกรณีที่บ้านหลังนั้นถูกฟ้องและขายทอดตลาดแล้ว แต่คิดว่าบ้านขายได้ราคาต่ำกว่าหนี้ที่ค้างชำระกับธนาคาร ดังนั้นลูกหนี้ทั้งสองจึงยังต้องรับผิดชำระหนี้ในส่วนที่ขาดอยู่ครับ เมื่อไม่มีการชำระนับแต่วันขายทอดตลาด นานวันขึ้น ดอกเบี้ยสะสมรายวัน รวมต้นเงิน ดอกเบี้ยได้ 1 ล้านบาท เจ้าหนี้ก็นำมาฟ้องเป็นคดีล้มละลาย
     2. แม่มีชื่อกู้รวมกับหนูตอนซื้อบ้าน บ้านหลังของหนูจะมีผลอะไรไหม
- มีผลแน่นอนครับ เพราะกฎหมายถือว่าแม่มีสิทธิ์ในบ้านครึ่งหนึ่ง เจ้าหนี้สามารถนำยึดบ้านหลังนี้ได้ แต่คุณซึ่งมีส่วนอีกครึ่งหนึ่งก็สามารถยื่นคำร้องขอกันส่วนต่อศาลได้
     3. หนูทราบว่ามีกฏหมายเกี่ยวกับผู้ค้ำประกัน มันช่วยผู้ค้ำประกันด้านใดบ้าง
- กฎหมายไม่ย้อนหลังในกรณีที่ทำสัญญาและมีข้อตกลงก่อนกฎหมายใหม่ใช้บังคับ (12 กพ.2558) แต่การทวงถาม การแจ้งให้ลูกหนี้ชำระหนี้ ต้องใช้กฎหมายใหม่เท่านั้นหากทวงถามหรือไม่แจ้งน้อยกว่า 60 วัน ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากดอกเบี้ย และ ค่าทวงถามค่าปรับค่าอื่นๆ ที่ไม่ใช่ต้นเงินที่ตนเองค้ำประกัน ซึ่งผมคิดว่าก่อนทนายฟ้องคดีล้มละลายคงจะไม่พลาด

ข้อเสนอแนะ
-ขั้นตอนที่ 1 ติดต่อญาติที่เป็นผู้กู้เพื่อหาเงินมาชำระหนี้เจ้าหนี้ทั้งหมด หรือเจรจาขอผ่อนชำระหนี้ เพื่อจบปัญหาทุกอย่าง
-ขั้นตอนที่ 2 ถูกเจ้าหนี้ฟ้องเป็นคดีล้มละลาย ศาลล้มละลายจะมีหมายมาที่บ้านให้คุณไปศาลตามนัด ศาลไต่สวนประเด็รเดียวเลยคือ ลูกหนี้ทั้งสองมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ คุณต้องหาหลักฐานว่า เรามีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน เรามีความสามารถในการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ได้ ถ้าพิสูจน์ไม่ได้ศาลก็จะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ซึ่งคุณแม่คุณและลูกหนี้อีกคนจะไม่สามารถจัดการทรัพย์สินอะไรได้เอง อำนาจจัดการทรัพย์สินตกแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
-ขั้นตอนที่ 3 เมื่อถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด จะมีหมายเรียกจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดี ให้ไปให้การสอบสวนเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของคุณแม่คุณ ให้คุณแม่ไปดำเนินการชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับอาชีพและรายได้ก่อนและหลังถูกฟ้อง มีทรัพย์สินอะไรบ้าง มีประกันชีวิต สมุดบัญชีที่ไหนบ้าน นอกจากเจ้าหนี้โจทก์เป็นหนี้ใครอีกบ้าง ฯลฯ(ถ้าเป็นไปได้รู้ทรัพย์สินของญาติที่กู้ก็หาสำเนาเอกสารไปด้วย ส่งให้จพท.ไปเลยแก้เผ็ดไป เพราะเขาทำเราเดือดร้อน) เสร็จจากขั้นตอนนี้ก็ต้องไปไต่สวนที่ศาลอีกในเรื่องเดียวกัน ซึ่งหากทำครบขั้นตอนที่ผมว่าคุณแม่จะได้รับการปลดจากการเป็นบุคคลล้มละลายภายใน 3 ปี นับแต่วันที่ศาลพิพากษาให้ล้มละลาย แต่ถ้าไม่ไประยะเวลาจะเป็น 5 ปี และมีหมายจับคาอยู่ ผลของการปลดล้มละลายคือคุณแม่ของคุณหลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวง เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่รวบรวมได้เท่านั้น คุณแม่สามารถเริ่มสร้างทรัพย์สินใหม่ได้
แต่เรื่องนี้ยุ่งยากที่สุดถ้าปล่อยมาจนถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดชาดก็คือ บ้านของคุณอาจถูกยึด และคุณก็ต้องไปยื่นคำร้องขอกันส่วนที่ศาลอีก
ดังนั้น ควรรีบดำเนินการให้จบตั้งแต่ขั้นตอนที่ 1 หรือรีบเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อขอชำระหนี้เฉพาะส่วนของผู้ค้ำ (แต่เจ้าหนี้ไม่ค่อยยอมหรอก เพราะมันคือหนี้ร่วมต้องรับผิดเต็มจำนวน) แต่ก็เอาใจช่วยให้เจรจาได้ จะได้จบแบบง่ายๆหน่อย สู้ สู้ ครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่