คนอีสานยินดีที่ลูกขายตัวหรือ ?

เพิ่งอ่านหนังสือ  " แค่ 13 "  จบ   เกิดความรู้สึกมากมาย

เนื้อหาในหนังสือ " แค่ 13 "   เล่าถึง  สาวอีสานชื่อ " ลอน"   เข้าสู่ธุรกิจค้ากามตั้งแต่ยังเด็ก  เพราะแม่ไล่ออกจากบ้าน พ่อตาย    เธอจึงขายตัวหาเงินส่งไปให้แม่  พี่ชาย  น้องสาว ที่บ้านที่อีสาน  โดยครอบครัวรู้ว่าเธอขายตัว  

ในหนังสือ ย้ำๆ คำเหล่านี้บ่อยมาก    "  ลูกสาวคนอีสาน"  /  " มีหน้ามีตา"     โดยเจ้าของเรื่องเล่าว่า....  เพราะ ตนเป็น   " ลูกสาวคนอีสาน"   จึงต้องรับภาระเลี้ยงดูครอบครัว    ส่วนลูกชายไม่ต้อง    /   ขอแค่ส่งเงินไปให้แม่เยอะๆ  ให้แม่  " มีหน้ามีตา " ในหมู่บ้าน   ความอับอายที่ลูกสาวขายตัว  ก็จะหมดไป


โดยส่วนตัวเรารู้จักคนอิสานหลายคน   เพื่อนสมัยมหาลัยเป็นคนอุบลฯ     ครอบครัวเพื่อนสนับสนุนเรื่องการศึกษาดีมาก        ตอนเราต่อเติมบ้าน  เจอคนงานก่อสร้างคนอีสาน  ลุงแกบอก  แกมาหางานทำในกรุงเทพฯ หาเงินส่งลูกเรียนมหาลัย         ก็ดูคนอีสานรักลูก  ส่งเสริมลูกในทางที่ดี

หรือว่า  ครอบครัวคุณลอน   อดีตโสเภณีเด็กจากภาคอีสาน  เจ้าของเรื่องราวในหนังสือ  " แค่ 13"    เป็นเพียงครอบครัวส่วนน้อยในภาคอีสาน   ที่ยินดีให้ลูกสาวขายตัวหาเลี้ยงคนทั้งบ้าน    

ด้วยความเคารพ   การตั้งกระทู้นี้  ไม่ได้มีเจตนาดูถูกแต่อย่างใด     เราค่อนข้างรู้สึกไม่สบายใจ กับหนังสือ    "  แค่ 13" ที่กล่าวเหมารวม  " คนอิสาน "   ว่ามีค่านิยมอย่างไร      ที่สำคัญ  หนังสือ "แค่ 13 "  เขียนโดนฝรั่ง   ถูกแปลไปหลายภาษา  แน่นอนว่ามีคนต่างชาติอ่านเยอะ    ภาพพจน์คนอีสานจึงดูแย่


พี่น้องชาวอีสาน คิดยังไงกับประเด็นในหนังสือ "  แค่ 13"       ใครไม่ใช่คนอีสานก็ตอบได้นะ

ที่แท๊กห้องไกลบ้าน   เพราะ เหตุการณ์ในหนังสือ เกิดที่ต่างประเทศด้วย
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 14
เราคนอีสานค่ะ  ที่หมู่บ้านเรามีจริงๆ ที่พ่อ แม่ ยินดีให้ลูกสาวขายตัว หรือไปเป็นเมียน้อยเสี่ย เพราะลูกสาวส่งเงินมาให้ใช้จ่าย ปลูกบ้านหลังโตให้อยู่ มีเงินทองใช้ไม่ขาดมือ ชาวบ้านเริ่มนับหน้าถือตา จากที่ไม่เคยมีอะไร ทุกวันนี้กลับมีทุกอย่างทัดเทียมคนอื่น เพราะลูกสาวไปขายบริการ  เขาบอกว่าดีกว่าไปได้ผัวจนๆ  ฟังแล้วก็อึ้งเหมือนกันค่ะ
ความคิดเห็นที่ 3
เราคนอีสานไม่คิดอะไร
เพราะบางเรื่องที่เขียนมันก็เป็นเรื่องจริงไม่น้อยของบางครอบครัว
ลึกๆแล้วพ่อแม่ของเด็กไม่น่าจะยินดีพอใจกับการที่ลูกไปขายตัวตั้งแต่ยังสาว
แต่ความยากจนทำให้รู้สึกอายน้อยลง ไม่มีจะกินน่าห่วงมากกว่า
เพื่อนบ้านก็เหมือนกัน
ต่อหน้าทำเป็นชื่นชมยินดีที่เด็กไปขายตัวมีเงินมีทอง
ลับหลังก็ดูถูกเหยียดหยาม
เพราะการไปขายตัวเป็นอาชีพที่น่าอายใครรู้ก็ดูถูกเหยียดหยาม
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่