ความในใจ แรงบันดาลใจ การต่อยอด "รากนครา" ของคุณปิยะพร ศักดิ์เกษม

“รากนครา” ก่อให้เกิดการคิดการเขียนต่อยอดออกมามากมาย สร้างบรรยากาศการค้นคว้า หาความรู้เพิ่มเติม ซึ่งส่วนตัวแล้วชอบมากค่ะ มันทำให้รู้สึกว่ารอบ ๆ ตัวเรา มีข้อมูล มีการเรียนรู้ ไม่ใช่มีแต่ความเห็น กับความรู้สึก
ความจริงถ้าเป็นคอนิยายอิงประวัติศาสตร์ก็จะทราบกันดีอยู่แล้วว่านิยายแบบนี้มีประวัติศาสตร์แทรกเพื่อให้ได้อรรถรสในการอ่าน กระตุ้นให้ขยายมุมมอง แต่ไม่ใช่เอามาปนกับประวัติศาสตร์ได้จริง ๆ
แต่ก็จะขอบันทึกไว้ชัด ๆ ที่ตรงนี้อีกครั้ง

๑."รากนครา" เป็นหนังสือที่อยู่ที่ชั้น Fiction (เรื่องแต่ง)

๒.เมืองทุกเมืองก็เป็นเมืองในจินตนาการ (ก็ขนาดต้นไม้ยังจินตนาการ!!!! 55555)
การกำหนดเมืองทุกเมืองใช้แค่ทิศและระยะห่าง โดยเอาเชียงใหม่เป็นหลัก เชียงพระคำอยู่ทางทิศตะวันออก เชียงเงินอยู่ทางทิศเหนือค่อนไปทางตะวันออกนิดหน่อย...กำหนดระยะห่างเป็นการเดินทางด้วยม้ากี่วันกี่คืน(จำไม่ได้แล้ว)  ส่วนเมืองมัณฑ์อยู่ห่างเชียงเงินไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนืออีกไกล
เมืองมัณฑ์เป็นราชอาณาจักรอีกแห่งที่มีความคล้ายคลึงกับเมืองม่านแต่ไม่ใช่เมืองม่าน...ก็อุตส่าห์สร้างเมืองขึ้นมาเองสองเมืองแล้ว อีกเมืองที่เหลือจะต้องไปยืมจมูกใครหายใจทำไม

ที่สำคัญถ้าใช้เมืองม่าน การเขียนก็ต้องผูกมัดอยู่กับเรื่องของเขา ไร้ความอิสระในการสร้างเรื่องราว ไร้ความอิสระในการสร้างอารมณ์โดยสิ้นเชิง ไม่มีนักเขียนนวนิยาย(Fiction-ย้ำ ^_^)ที่ไหนเขาทำการมัดมือมัดเท้ามัดจิตนาการของตัวเองแบบนั้นหรอกค่ะ
ถ้าเมืองมัณฑ์คือเมืองม่าน...ผู้เขียนคงไม่สามารถเขียนฉาก “เชือดคอนางมิ่น” “ชำระหลังการถวายงานเพื่อให้สะอาดพอในครั้งถัดไป” “กรอกยาทุบแล้วนวดซ้ำ ๆ จนตก”ลงไปในหนังสือได้ เพราะมีพงศาวดารประวัติศาสตร์เมืองม่านมัดมือมัดจินตนาการอยู่

แค่สร้างเมืองสร้างราชอาณาจักร ไม่เหลือกำลังนักเขียนนิยายนะคะ ทำได้ง่าย ๆ ...ส่วนตัวยังเคยสร้างทั้งประเทศมาแล้วเลย.... สร้างเมืองหลวง สร้างเมืองตากอากาศ สร้างประวัติศาสตร์ สร้างนิยายพื้นบ้านประจำประเทศ สร้างการดิ้นรนเป็นเอกราชจากอังกฤษ สร้างการเมืองหลังจากการประกาศเอกราช สร้างประธานาธิบดี แล้วกำหนดระยะทางการเดินทางด้วยการบินและทิศทางการบินจากกรุงเทพฯ (ปรากฏว่าไปตกตุ้บอยู่แถว ๆ ชายแดน จีน เนปาล ภูฏานโน่น ^_^) แล้วก็โยนเอาแม่นางเอกของเรื่องซึ่งเป็นคนไทย ไปเป็นมาดามคนที่สองของท่านประธานาธิปดีประเทศที่สร้างขึ้นมานั้น...เรื่อง”บัลลังก์แสงเดือน” ค่ะ ลองไปอ่านดู เผื่อใครยังไม่ได้อ่าน

๓.ตัวละครทุกตัวไม่มีตัวตน เป็นจินตนาการเหมือนกันค่ะ (มีเวลาเมื่อไหร่จะเขียนเรื่องเทคนิควิธีการสร้างตัวละครในนวนิยายให้ผู้สนใจเรื่องการอ่านและการเขียนได้ศึกษากันในแฟนเพจ ปิยะพร ศักดิ์เกษม นะคะ) การสร้างตัวละครนั้นก็คือสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับและรับใช้... ผลักเรื่องให้เป็นไปตามโครงที่วางไว้

อย่างเจ้าน้อยศุขวงศ์ ให้ไปเรียนที่สิงคโปร์ ผู้เขียนไม่ได้เพ้ออออ(ทำเสียงแบบสมรักษ์คำสิงห์ “ไม่ได้โม้...”นะคะ) รู้ค่ะว่าเจ้านายทางเมืองเหนือไม่เคยมีถูกส่งไปเรียนสิงคโปร์ แต่ถ้าให้เขียนตามเรื่องที่เกิดขึ้นจริงว่าเจ้าน้อยศุขวงศ์ถูกเจ้าพ่อแอบส่งไปเรียนที่มะละแหม่ง เรื่องรากนคราก็จะกลายเป็นเรื่องมะเมี๊ยะ (55555) แล้วจะเอาความคิดแบบเมืองท่าความคิดอยากลงมือทำกิจการด้วยตัวเองแบบคนจีนในสิงค์โปร์มาใส่เจ้าน้อยได้ยังไงล่ะคะ แล้วจะผลักดันเรื่องให้เกิดความขัดแย้งระหว่างความเก่าและความใหม่ด้วยวิธีไหน แล้วจะเอาอะไรมาอธิบายว่าทำไมเจ้าน้อยใกล้ชิดสยามใกล้ชิดฝรั่ง?

ถ้าอ่านนิยายโดยละเอียดหรือใส่ใจฟังประโยคหนึ่งในละครว่า “เจ้าอุปราชศุษิระ”แห่งเชียงพระคำ(เมืองสมมู้ดดดดด--เสียงสูง)ยกลูกชาย(คือเจ้าน้อย)ให้ขุนนางเมืองใต้(สยาม)และเจ้าน้อยก็เดินทางลงใต้(กรุงเทพฯ)ไป
หลังจากนั้นอีกไม่ถึงปีเจ้าอุปราชศุษิระก็เดินทางลงใต้ไปกับขบวนเจ้านายเชียงใหม่แล้วตายระหว่างทาง เจ้าน้อยก็อยู่ในการปกครองของขุนนางชาวใต้ตั้งแต่นั้น เมื่อเจ้าศรีวงศ์น้องชายของเจ้าศุษิระขึ้นรับตำแหน่งที่เชียงพระคำแทน เพราะฉะนั้น ในเมื่อไม่มีตำแหน่งหน้าที่ที่เชียงพระคำแล้วก็
...ไปเถอะค่ะ ไปสิงคโปร์กับท่านเจ้าคุณนะคะ เจ้าน้อย...
.
ส่วนตัวถ้ายังสอนหนังสืออยู่ จะถือโอกาสนี้กระตุ้นให้นักเรียนอ่านเกร็ดประวัติศาสตร์   สนับสนุนให้นักเรียนอาศัยจินตนาการในนิยายหาความรู้ขยายมุมมอง  ให้แยกให้ออกระหว่างการใช้จินตนาการสร้างงานกับการ“เพ้อ”  ให้เกียรติงานทุกประเภท ให้เกียรติความคิดและตัวตนของผู้อื่นซึ่งแม้จะมีมีแนวคิดวิธีการทำงานหรือมุมมองที่ต่างกัน...

เพราะการเป็นครูบาอาจารย์ก็คือการปลูกฝังมารยาท กล่อมเกลาจิตใจ สร้างทัศนคติที่ดีกับโลกและผู้คนให้นักเรียนไปพร้อม ๆ กับการให้ความรู้ด้วยค่ะ

😍
ขอบคุณข้อมูลจากเฟซบุ๊ก "ตามุย ยายเอียด" มา ณ ที่นี้ครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่