วันนี้เรามาคุยเรื่องเลื่อยฉลุ (ไฟฟ้า) หรือ Jig saw กันเถอะ



วันนี้เรามาคุยเรื่องเลื่อยฉลุ (ไฟฟ้า) หรือ Jig saw กันเถอะ

jig saw น่าจะเป็นเครื่องมือไฟฟ้าชิ้นแรก ๆ (รองจากสว่าน) ของใครหลายคน รวมทั้งผมด้วย

ด้วยความที่มันดูเป็นมิตรกับนิ้วมือเราที่สุดละ เรียกง่าย ๆ ว่ามันดูน่ากลัวน้อยที่สุดในบรรดาเลื่อยไฟฟ้าในงานไม้ เลยทำให้หลายคนเริ่มการตัดไม้จาก jig saw นี้ (แต่ผมเริ่มใช้เลื่อยวงเดือนจิ๋ว 3 3/8" ก่อน ส่วน jig saw ซื้อมาเผื่อ ไม่ค่อยได้ใช้)

งานที่ jig saw จะเป็นพระเอก แน่นอนว่าเป็นงานตัดโค้ง ตัดตามรูปร่าง (สำหรับคนที่ไม่มี bandsaw แบบผม) และงาน plunge cut แปลเป็นไทยน่าจะหมายถึงการเริ่มตัดจากกลางชิ้นไม้ งานแบบนี้แหละ ที่เราจะคิดถึงและงัดเอา jig saw ออกมาใช้

อีกประโยชน์ของ jig saw คือ มันตัดเหล็ก ตัดโลหะได้ เพียงแค่เปลี่ยนใบเลื่อย ซึ่งมีราคาไม่แพง
โดยเฉพาะการตัดโลหะที่เป็นแผ่นแบน ๆ และไม่หนาเกินกำลังของ jig saw ตัวนั้น ๆ

อย่างตัว AEG 18v ที่ผมใช้อยู่ ตามสเป็คบอกว่าตัดเหล็กได้ถึง 10 ม.ม. (แต่ผมยังไม่เคยลองเลย เพราะจะตัดเหล็กทีไร ผมมักจะคิดถึงเครื่องเจียร angle grinder ก่อนทุกที)

หลักในการเลือก jig saw ของผมไม่มีอะไรซับซ้อน

1.เลือกจากยี่ห้อที่มีมาตรฐานและมีบริการหลังการขาย ผมเลยชอบซื้อจากห้าง ยอมจ่ายแพงหน่อย แต่อุ่นใจ

2.ดูวิธีเปลี่ยนใบเลื่อย วิธีการปรับเอียงฐาน (แม้ว่าในความเป็นจริง ผมจะไม่เคยเอียงฐาน jig saw เลย) บางรุ่นต้องใช้ 6 เหลี่ยมหมุน เช่น Makita ในรูป ส่วน DeWALT กะ AEG ใช้ก้านโยกที่ตัวเครื่องเพื่อเปลี่ยนใบหรือเอียงฐานได้เลย

3.ลองเปิดเครื่องฟังเสียง ตอนซื้อ DeWALT ผมพลาด เพราะเป็น jig saw ตัวแรก พอซื้อมาแล้วไม่ค่อยอยากใช้ เพราะมันเสียงลั่นทุ่งมาก ใน 3 ตัวนี้ Makita เงียบสุด แต่กำลังก็น้อยสุดด้วย (10.8v)

4.ชนิดของใบเลื่อยที่ใช้ ว่าเป็น T-shank หรือ U-shank แนะนำว่า ควรเลือกชนิด T-shank เพราะหาง่ายกว่าแบบ U-shank มากมาย และ jig saw ส่วนมากก็ใช้ T-shank กัน ทุกวันนี้น่าจะมีแค่ Black & Decker ที่ยังหลงเหลือแบบ U-shank อยู่



ส่วนเรื่องอื่น ๆ เช่น
- กำลังของเครื่อง ผมไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญนัก เพราะงานของผมเป็นงาน DIY เล็ก ๆ น้อย ๆ แค่เลื่อย 10.8v ก็ยังเพียงพอ แต่ถ้าใครจะเอาไปใช้งานแนว heavy duty ก็ควรเลือกที่ 500 watts / 18v เป็นอย่างน้อย



- เรื่องการปรับความเร็วรอบใบเลื่อย อันนี้ก็เฉย ๆ เพราะใช้น้ำหนักการกด trigger แทนได้ และส่วนมากผมจะตัดที่ full speed แต่ใครจะเอาไปตัดวัสดุที่หลากหลายก็ควรมีระบบปรับความเร็ว เพื่อใช้ความเร็วให้เหมาะสมกับวัสดุนั้น ๆ

- ระบบเตะใบ อันนี้ควรมี ใครจะเอาไปตัดวัสดุหลายชนิด ระบบนี้ก็ช่วยได้ ในเรื่องกันผิวหน้าแตก (รวมถึงใบที่ใช้) เตะมากก็ตัดได้เร็ว แต่ไม้ก็จะแตก เป็นเสี้ยนมาก เตะน้อยก็กลับกัน

- น้ำหนักของเครื่อง ถ้าหนักก็ดี จะได้ไม่กระโดดกระเด้งเวลาตัด แต่ก็จะเมื่อยมือแทน ถ้าเบาก็ดี ไม่เมื่อยมือ แต่ต้องออกแรงกดที่ตัวเลื่อยด้วย กันมันกระโดดกระเด้งตามจังหวะชักใบเลื่อย

เท่าที่คิดออกตอนนี้ ก็มีแค่นี้ ใครมีอะไรจะแลกเปลี่ยน คุยกันได้นะครับ ผมก็มือใหม่

ป.ล.ตอนนี้ว่างเลยคิดอะไรเพลิน ๆ ไปเรื่อย ระหว่างนั่งกินกาแฟดำอยู่ในอเมซอนหน้าคลินิกเบาหวานใน ร.พ. แห่งหนึ่ง / แหม่... ฮวงจุ้ยร้านดีมากกก

แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่