ทำไมเจ้าน้อยถึงอยากให้เชียงเงินรวมกับสยาม แล้วการเป็นอิสระมันไม่ดีตรงไหน

จากที่เราเห็นเจ้าน้อยกับเจ้าหน่อเมืองคุยกันเมื่อคืน ต่างคนก็ต่างให้เหตุผล เราไม่เข้าใจว่า ถ้าเชียงเงินจะเป็นอิสระ แล้วมันไม่ดีตรงไหน ทำไมเจ้าน้อยถึงพยายามพูดเกลี้ยกล่อมเหมือนอยากให้รวมกับสยาม
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 13
ในตอนนั้นสยามคือที่สุดแล้วด้านการฑูต เมืองมัณฑ์ หรือพม่านี่ เทียบไม่ได้เลย เราแทบจะงัดมาทุกวิธีขึ้นมา
อังกฤษ ฝรั่งเศสเสียทั้งเงินและ กำลังพล แถมโดนเสี้ยมให้ทะเลาะกันอีก
ได้ดินแดนไปเยอะก็จริง แต่ลงทุนไปก็เยอะมาก
ในความแยบยลที่เราต้องทำนั้นเพื่อรักษาประเทศชาติ รักษาชีวิตและรักษาสิทธิที่เราต้องได้

การกระทำของสยามตอนนั้นที่เดินวิธีการฑูต มันดีมากกว่าเดินวิธีแบบบู๊ล้างผลาญไม่รู้คิดอะไร
การทำแบบไม่ยั้งคิด ไร้สติ มุทะละ ไม่รอบคอบแบบที่เชียงเงินทำนี่ล่ะที่เมืองอื่นๆเป็นอาณานิคมกันหมด
มีสยามของเราที่อยู่ยั่งยืนยง ตอนนั้นรอบด้านเรา ต่างงัดทุกวิธีตรงกันข้ามกับเรามาสู้
สุดท้ายก็จบแบบที่เห็นและปัญหาของการเป็นเมืองขึ้นก็ลากยาวมาจนทุกวันนี้

สำหรับประเทศเล็ก ๆ อย่างเรา ยอมรับว่าบรรพบุรุษเราเก่งมากจริง ๆ
จักรวรรดิอังกฤษที่พระอาทิตย์ไม่ตกดิน แต่ไม่สามารถมาปักธงที่สยามได้ ฝรั่งเศสตัวแสบ
ต่างก็หัวเสียมากกับกุศโลบายและการแก้ปัญหาของสยาม

อัจฉริยะภาพด้านการฑูตของในหลวงรัชกาลที่ 5 นี่ล่ะที่ปกป้องผืนแผ่นดินไทยเอาไว้
เรายอมเสียส่วนน้อยเพื่อรักษาส่วนใหญ่ เรายอมทุกอย่างเพื่อจะสูญเสียให้น้อยที่สุด
และเพื่อไม่ต้องทำสงครามที่เรามีแต่จุดที่ด้อยกว่าเค้าทุกอย่าง ยอมกลืนเลือดที่โดนเฉือนประเทศ ยอมจ่ายเงินค่าปรับ
เคยอ่านหนังสือบอกว่ารัชกาลที่ 5 พระองค์ท่านและพระบรมวงศานุวงศ์ถึงกับสละราชทรัพย์ส่วนพระองค์ทั้งหมด
เพื่อจ่ายเป็นค่าปรับที่เราโดน  
เป็นค่าปรับที่ทำเราสูญเสียมหาศาลจนเงินหมดท้องพระคลัง แม้แต่เงินตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 เก็บไว้ ทรงถึงกับประชวน
ตอนอ่านนี่น้ำตาซึมเลย เงินที่รัชกาลที่ 3 พระองค์ท่านทรงค้าขายแล้วเก็บเงินนั้นไว้ แต่เราต้องมาเสียในครั้งนี้
แต่ก็ต้องยอมรับว่า เพราะในหลวงรัชกาลที่ 3 ในหลวงรัชกาลที่ 4 เองพระองค์ก็มองการณ์ไกลมากว่าอนาคตจะเกิดอะไร
จนกระทั่งรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ได้นำทุกสิ่งทุกอย่างที่บรรพบุรุษส้รางไว้มาใช้

เป็นประวัติศาสตร์ที่อ่านแล้วเจ็บปวดเจ็บช้ำน้ำใจกับสิ่งที่เราโดนแต่ก็ยังภูมิใจที่ได้เกิดเป็นคนไทย
ภูมิใจที่มีบุรพมหากษัติยาธิราชและบรรพบุรุษช่วยปกป้องรักษาบ้านเมืองไว้ให้เราได้ยืนจนทุกวันนี้
กราบความชาญฉลาดด้านการฑูตของบรรพบุรุษไทย _/\_

เพราะความเป็นจริงมันคือแบบนี้ เลยไม่น่าแปลกใจว่าทำไมเจ้าน้อยเอนเอียงมาทางสยามมากกว่า เมืองมัณฑ์ หรือเชียงคำ
ความคิดเห็นที่ 6
สิ่งที่ทำให้สยามรอดมาได้ คือการฑูต กับพระมหากษัตริย์ที่มองการณ์ไกล

เจ้าน้อยเองได้ร่ำเรียนในตปท. รู้เช่นเห็นโลก รู้ว่ากระแสของโลกหมุนไปทางไหน
เจ้าน้อยเลือกที่จะไม่ 'ฝืน' กระแส อย่างที่เมืองอื่นๆ ในแถบนั้นเป็น

ในโลกที่ทุกอย่างเริ่มถูกโยงถึงกัน ตามเทคโนโลยีในสมัยนั้น
เมืองอย่างเชียงเงิน ซึ่งเป็นเมืองน้อยๆ มันไม่ได้หลุดรอดจากสายตาพวกกุลาขาวได้
สิ่งที่ทำจะให้รอดได้ คือรวมกับเมืองใหญ่ ไม่ว่าจะรวมกับสยาม หรือเมืองมัณฑ์
ที่เจ้าน้อยเข้าข้างสยามมากกว่า ส่วนนึงอาจเป็นเพราะเมืองพระเอกใกล้สยาม มากกว่าเมืองมัณฑ์
แต่ส่วนที่สำคัญจริงๆ น่าจะเป็นเรื่องของวิสัยทัศน์ของผู้นำมากกว่า

ร.5 ท่านเก่ง มองการณ์ไกล ขนาดเราเป็นคนยุคปัจจุบันมองกลับไปยังทึ่งเลย
ว่าพระองค์ท่านตัดสินใจและลงมือทำในสิ่งนี้ได้ยังไง
ลองนึกสภาพนะคะ ถ้าเราเป็นคนยุคนั้น ในหลายๆ สิ่งที่พระองค์ท่านตัดสินใจพวกเราคงนึกไม่ถึง
เอาแค่เลิกทาสอ่ะค่ะ 'เลิกทาส' นอกจากปลดปล่อยให้ทุกคนมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกันแล้ว
ส่วนสำคัญอีกอย่างนึง คือพวกกุลาขาว จะมาเป็นข้ออ้างในการไม่มีอารยธรรม เพื่อที่จะยึดเมือง
เหมือนที่หลายๆ ในประเทศโดน ตอนช่วงล่าอาณานิคม

เลยไม่แปลกที่เจ้าน้อยเอียงมาทางสยาม
ความคิดเห็นที่ 31
ขออนุญาตนำความเห็นจากคุณ arawadee มาโพสต์นะคะ เรื่องวิธีการทูตของไทยในยุคนั้น
น่าจะทำให้หลายคนมองเห็นภาพเรื่องนี้ได้ชัดขึ้น

ประเทศที่ไม่ได้เป็นเกาะแบบญี่ปุ่น ไม่ได้มีพื้นที่ใหญ่และทหารนับล้านแบบจีน แต่มหาอำนาจกลับใช้กลเม็ดทุกอย่างที่เคยทำสำเร็จกับอาณานิคมอื่นๆมาแล้ว มาประเคนใส่สยาม แต่ผลคือ เอาสยามไม่ลง เริ่มจาก

ฝรั่งเศส
- ใช้ข้ออ้างเรื่องการกดขี่ศาสนาคริสต์และสังหารหมู่คณะบาทหลวง เข้ายึดตังเกี๋ย แต่ไม่สามารถใช้กับสยามได้ เพราะสยามให้เสรีภาพด้านศาสนามาตั้งแต่สมัยอยุธยา
- ใช้ข้ออ้างเรื่องรัฐบรรณาการ แบบที่ใช้ยึดสิบสองจุไทยหวังได้ลาวกับเขมรทั้งหมด แต่รัชกาลที่ 4 วางกลอุบายซ่อนลาว แล้วรีบขีดเขมรส่วนนอกให้ฝรั่งเศส ส่วนเขมรส่วนถือเป็นดินแดนสยาม กงสุลฝรั่งเศสรีบกระโดดรับทันที คิดว่าได้เปรียบแน่ๆ แต่ไปๆมาๆ กลับเป็นการรองรับสถานะรัฐบรรณาการของสยาม (ที่เดิม สยามไม่ได้ผนวกเป็นส่วนหนึ่งของตน) ให้กลายเป็นดินแดนของสยามแบบไม่ตั้งใจ สื่อหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสด่ารัฐบาลโคชินไชน่าและกระทรวงอาณานิคมย่อยยับ
- เจอกดดันหนักๆเข้า รัฐบาลฝรั่งเศสจึงยอมหักดิบ สละมาดผู้ดี เอาเรือรบเข้าปากน้ำสยามและกำลังทางบกเข้ายึดที่มั่นข้าหลวงสยามในคำม่วน  หวังให้สยามต่อสู้แบบที่เคยทำกับเวียดนาม แต่สยามกับนั่งเป็นเตมีย์ใบ้ ทางน้ำยิงพอหอมปากหอมคอ ทางบกกองทัพข้าหลวงที่อุบลและหนองคายไม่ยอมขยับ
- เรียกค่าปฏิกรรมสงครามแบบที่อังกฤษเคยเล่นงานพม่า เรียกเงิน 3 ล้านฟรังก์ (อังกฤษเรียกจากพม่าที่หนึ่งล้านปอนด์ รัฐบาลอังวะมีปัญญาจ่ายแค่สามสิบเปอร์เซ็น) ฝรั่งเศสคำนวนอยู่แล้วว่าสยามคงมีจ่ายอยู่หรอก เลยใช้กลอุบายบอกว่า เงินสามล้านที่ว่าขอเป็น "เงินกริ้งๆ" เอามาแต่เหรียญล้วนๆ ไม่รับธนบัตร หามาให้ได้ภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงถ้าไม่ได้โดนเรือปืนยิงพระบรมมหาราชวัง ใครๆก็ฟันธงว่าสยามไม่รอด ในเอเชียตะวันออกใครจะมีเงินเหรียญถึง 3 ล้านฟรังก์ ถึงมีก็ไม่มีทางหามาได้ภายในเวลาแบบนั้น แต่...สยามมีจ่าย เงินเม็กซิกันเสียด้วย กริ้งๆเลย ทุกชาติงงเป็นไก่ตาแตก
- ได้ดินแดนลาวกับเขมรไป ซึ่งก็ได้แต่ดินจริงๆ ประชากรหายเกลี้ยง กะให้เป็นแหล่งปลูกข้าวแบบปากแม่น้ำโขงของเวียดนาม แต่...ดินแดนที่ได้จากสยาม มีแต่ภูเขา แม่น้ำโขงก็มีแต่เกาะแก่ง เอาเรือกลไฟล่องได้แค่เวียงจันทน์กับสะหวันนะเขต เรือเมล์ขาดทุนทุกปี ภาษีจากอันนัมเอามาเสียกับลาวและเขมรเยอะมาก
- มีแผนการณ์ที่จะเพิ่มพื้นที่ภาคอีสานเข้ากับโคชินไชน่า แต่เจอแรงกดดันจากจักรวรรดิรัสเซีย และแรงสนับสนุนสยามของจักรวรรดิออสเตรีย-เยอรมัน หนำซ้ำสยามยัง "เล่นการเมืองเป็น" โดยการยิงทะลุใจกลางฝรั่งเศส คือ ล๊อบบี้เจ้าราชนิกูลของราชวงศ์บูร์บงที่กลับมามีอิทธิพลอย่างลับๆในรัฐบาลฝรั่งเศสภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 3 ทำให้กระทรวงอาณานิคมฝรั่งเศสถึงกับอึ้งเลยทีเดียว แผนการณ์กลืนดินแดนสยามจึงหยุดชะงักแบบนั้น

อังกฤษ
- เจออิทธิฤทธิ์จากรัฐบาลสยามครั้งแรกตอนสนธิสัญญาเบอร์นี่ ในสมัย ร.3 รัฐบาลอังกฤษด่าราชทูตเฮนรี่ เบอร์นี่ ที่ส่งไปจากสิงคโปร์แบบหัวเสีย ไปทำสัญญาบ้าอะไรกับสยาม ถึงทำให้บริษัทอังกฤษต้องจ่ายภาษีให้สยามมากกว่าจ่ายให้จีนอีก แถมเรืออังกฤษเข้าเมืองท่าสยามจะมีสินค้าหรือไม่ก็ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมปากเรือ แล้วยังต้องมาซื้อไม้สักจากพ่อค้าคนกลางคือรัฐบาลสยามอีก
- อังกฤษเตรียมแก้มือคืน โดยการแก้ไขสัญญาใหม่ และเตรียมนำเรือรบปิดปากอ่าวบีบให้ทำสัญญาแบบเดียวกับที่ทำกับจีน เป็นเชิงยั่วยุ มีหวังผลนิดๆว่าสยามจะฟิวขาดแบบพม่า แต่...เจอการทูตจากรัฐบาลสยามชุดใหม่ที่มาแบบงงๆ เกิดเป็นสนธิสัญญาเบาริ่งแบบงงๆ เช่นกัน
- ราชทูตอังกฤษที่เข้ามาสยามครั้งนั้น เซอร์จอห์น เบาริ่ง เจ้าเมืองฮ่องกง ผู้ที่เคยเล่นงานราชวงศ์ชิงจากการเป็นตัวตั้งตัวตีในสงครามฝิ่นครั้งที่ 2 ที่อังกฤษหวังให้เล่นงานสยามบ้างจากสนธิสัญญาเบอร์นี่ หลังย้ายออกจากฮ่องกง อยู่ๆก็ได้เป็นรับการแต่งตั้งเป็น "พระยาสยามานุกูลกิจ" ตำแหน่งอัครทูตสยามประจำลอนดอนคนแรก....เอากับสยามสิ แต่งทูตอังกฤษสายเหยี่ยว มาเป็นทูตตัวเองประจำอังกฤษ หนามยอกเอาหนามบ่ง ใครจะคิดบ้างล่ะ
- อังกฤษวางแผนใหม่ ใช้แผนที่เคยทำกับราชสำนักชิง โดยการปล่อยกู้ให้สร้างทางรถไฟแก่สยามในสมัย ร.4 ผลก็คือ...อ๋อ ไม่เป็นไร เรากำลังมีโปรเจคของเราในเร็วๆนี้ ขอบคุณมากสำหรับข้อเสนอ
- พม่าเคยเป็นตัวตลกในราชสำนักอังกฤษ ด้วยพระราชสาส์นพระเจ้ามินดงถึงพระราชินีวิกตอเรีย เรียกพระนางว่า "พระน้องนางเรา" ทำให้จะเจรจาอะไรก็ติดขัดไปหมด พอมาถึงคราวสยาม นอกจากพระราชสาส์นจะเป็นแบบประเทศทั่วไปในภาคพื้นยุโรปแล้ว ยังมีจดหมายน้อยจากพระเจ้าแผ่นดินสยามมาถึง พระนางเจ้าผู้เป็นใหญ่แห่งทวีปบริเตนและไอร์แลนด์ ผู้เป็นสหายของเรา นี่คือแสดงถึงความเป็นประเทศศิวิไลซ์ของสยามถึงขีดสุดเลยทีเดียว
- อังกฤษเจอสยามใช้วิธีขีดมลายูออกเป็น 2 ส่วน แบบที่ทำกับเขมร ผลคือ อังกฤษรับรองสถานะดินแดนสยามเหนือปัตตานีและมลายูตอนเหนือ
- อังกฤษเปลี่ยนยุทธวิธีใหม่ โดยใช้ไทใหญ่โมเดลในการพิชิตราชสำนักอังวะ พยายามจะสนับสนุนกลุ่มหัวเมืองล้านนาให้มาเป็นรัฐอารักขาแบบไทใหญ่ แต่เจอยุทธวิธีตั้งข้าหลวงต่างพระองค์ไปประจำการแบบรัฐบาลส่วนภูมิภาค เจ้าล้านนาขยับอะไรไม่ได้เลย

ปกติ ประเทศแถบนี้ จะใช้อังกฤษมาคานอำนาจฝรั่งเศส หรือใช้ฝรั่งเศสมาคานอำนาจอังกฤษ ซึ่งทั้งสองรู้กลยุทธ์นี้ดี และไม่ยอมเป็นเบี้ยล่างให้ประเทศเอเชียเด็ดขาด ผลก็คือ ทั้งสองประเทศแอบจับมือกันลับๆ ไม่ยอมตีกัน ซึ่งพม่าพิสูจน์มาแล้ว ที่ดันไปไว้ใจฝรั่งเศสในการคานอำนาจอังกฤษ ตอนอังกฤษจะยึดมัณฑเลย์ พม่าร้องหาฝรั่งเศสจนเฮือกสุดท้าย แต่พี่แกก็นั่งฉีกขนมปังมองดูเฉยๆ สำหรับสยาม......ล้ำกว่านั้นมาก รู้เช่นเห็นชาติสองมหาอำนาจนี้มานานแล้ว และสยามก็ยังรู้จักการเมืองในภาคพื้นยุโรปดีกว่าประเทศเอเชียอื่นๆ ด้วย คานอำนาจนั้นยังเป็นวิธีที่ดีแต่ต้องทำให้เป็น  สยามจึงไปใช้มหาอำนาจที่เขาคานกันจริงๆกับฝรั่งเศสและอังกฤษ นั่นคือจักรวรรดิออสเตรีย-เยอรมันและจักรวรรดิรัสเซีย และไม่ได้ทำโดยการทูตธรรมดาๆ แต่พระเจ้าแผ่นดินสยามเข้ามาเล่นเกมส์นี้ด้วยพระองค์เองทีเดียว ให้ความสนิทสนมระหว่างพระราชวงศ์ต่อพระราชวงศ์ เรียกว่าแน่นแฟ้นมาก

ตอนนั้น สยามเป็นประเทศเดียวในเอเชียจริงๆ ที่เล่นเกมส์การเมืองแบบนี้ ฝรั่งเศสและอังกฤษ ก็ไปไม่เป็นอีกเช่นกัน

เรื่องที่บอกว่า สยามรอดมาได้เพราะดวงล้วนๆ ฝรั่งเศสและอังกฤษจะใช้สยามเป็นรัฐกันชน อันนี้คือคำแก้เกี้ยวครับ

แนวคิดเรื่องรัฐกันชนมีจริงครับ แต่เป็นแค่ดินแดนเล็กๆบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ทั้งสองประเทศจะเหลือไว้ให้สยาม
อังกฤษหมายปองไม้สักจากล้านนา พอๆกับฝรั่งเศสหมายปองภาคอีสานของสยามนั่งแหล่ะ
แต่...ได้แค่มองเท่านั้น

arawadee
4 ตุลาคม 2559 เวลา 14:31 น.
ความคิดเห็นที่ 5
ถ้าจำอุดมการณ์ตั้งแต่ต้นของเจ้าน้อย พูดว่า จะทำตามที่เจ้าพ่อได้เคยสั่งเสียไว้
1. บ้านเมืองร่มเย็น
2. ผู้คนอยู่อย่างสงบสุข
3. ไม่ให้ฝรั่งเข้ามายึดครอง
4. วงศ์ญาติอยู่ด้วยกันเป็นกลุ่มก้อน
เหตุผล 4 ข้อนี้ก็ตอบคำถาม จขกท ได้แล้วครับ

จึงเกลี้ยกล่อมหน่อเมืองให้อยู่ด้วยกันกับสยามมากกว่า เพราะเชื่อในวิธีการปกครองแบบค่อยๆผ่อนปรนให้กับต่างชาติ มากกว่ายอมหักไม่ยอมงอ แบบเมืองมัณฑ์
เพราะถ้าแบบนั้นก็คงหนีไม่พ้นสงคราม บ้านเมืองลุกเป็นไฟ ประชากรเดือดร้อน แถมยังจะตกเป็นอาณานิคมอีก และวงศ์ญาติยังต้องแตกกันออกไป
อีกอย่างเราก็ยังรักษารากของเราได้ แม้ว่าจะมีสยามมาปกครองก็ตาม ไม่เหมือนเมืองมัณฑ์ที่เจ้าอาจจะหมดอำนาจไปเลย เท่ากับรากแทบจะถูกถอนออกไป

แต่ก็ใช่ว่าหน่อเมืองจะผิดนะครับ
อย่างที่บอก คือ อุดมการณ์ในการปกครองต่างกัน ตอนนั้นไม่รู้หรอกอะไรผิดถูก ของแบบนี้ต้องดูกันระยะยาว
ความคิดเห็นที่ 8
เจ้าหน่อเมือง เหมือนคนที่โลกทัศน์แคบ แม้จะเชี่ยวชาญการเมืองการรบ
แต่เป็นแบบสมัยก่อน โบราณ ล้าหลัง ตามโลกไม่ทัน
คิดว่าเป็นอิสระแล้วจะดี ไม่ต้องส่งบรรณาการให้ไผ
เข้าใจมุมมองความรักชาติเผ่าพันธุ์ เกรียติยศ ศักดิ์ศรีบรรพบุรุษ
ถ้าเจ้าหน่อเมืองก่อนก่อนหน้านี้ 100 ปีจะเป็นเจ้าหลวงผู้ที่ยิ่งใหญ่ผู้นึง

ขณะที่เจ้าน้อย ไปร่ำเรียนมาไกล เห็นความเปลี่ยนแปลงไปของโลก
เห็นความน่ากลัวของฝรั่ง แกไม่ใช่จะชอบฝรั่งแต่แกเข้าใจโลกปัจจุบัน
ผู้มีอำนาจมาก จะยึดทุกอย่าง เมืองเล็กน้อยต้านไม่ได้แน่
แถมรู้ถึงการเมืองภายใน สยาม กะ เมืองมัณฑ์ อีกด้วย
(หากเทียบแล้วก้เหมือนสยามกับพม่า ยุคก่อนพม่าไม่ได้เป็นรองสยามแต่เดิมเกมการเมืองพลาด)
ทำให้เจ้าน้อยเหมือนรู้เหตุการณ์ล่วงหน้า ของการปรับตัว เมืองมัณฑ์ท่าจะอยู่ได้ไม่นานเพราะบุญเก่า
จึงพยายามทำทุกอย่างเพื่ออยากให้เมืองเชียงเงินอยู่รอด ด้วยความหวังดี
แต่พอเจอเจ้าหน่อเมือง ที่คนละอุดมการณ์และเเข็งกร้าวทนงตน ก็ได้แต่คับแค้นใจที่ช่วยอะไรไมไ่ด้
อารมณ์ประมาณหวังดีแต่โดนปฏิเสธ ทั้งโกรธทั้งแค้น แต่ปล่อยไปไมได้ไม่งั้นพระญาติจะล่มจมทั้งเมือง
การจะรบจับดาบ ธนู กำลังพลน้อยนิดกับกองทัพฝรั่งมันคนละเรื่อง
อารมณ์เจ้าน้อยจึงออกแนว อัดอั้น  อยากปล่อยให้ตายอย่างทนงตนก็ทำไมไ่ด้เพราะญาติตัวเอง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่