MONEYBALL : สะสม พบประเสริฐ - ทฤษฏีปลาเล็กกินปลาใหญ่

อลงกต เดือนคล้อย
9 ก.ย. 2017 14:24:08

กุนซือฝีปากกล้าพลิกทีมงบน้อยขึ้นมานำจ่าฝูงลีกรอง ด้วยสถิติชนะรวด11นัดรวด ไม่แพ้15เกมติด สูตรสำเร็จเคล็ดลับจากทฤษฏี “ปลาเล็กกินปลาใหญ่” ของเขาคืออะไร

หากเปรียบกับฟุตบอล “ทุนนิยม” อาจเป็นแม่น้ำที่เชียวกราก ทีมที่อ่อนแอ คงมีสถานะไม่ต่างจาก ปลาเล็ก ที่ต้องตายและไหลตามน้ำ และร่วงหล่นไปตามกาลเวลา 
แต่ไม่ใช่กับชายคนหนึ่งที่ชื่อ สะสม พบประเสริฐ เฮดโค้ชผู้ทรนง แห่ง แอร์ฟอร์ซ เซ็นทรัล เอฟซี ที่ยังคงว่ายทวนสายน้ำทุนนิยม และสร้าง "เลือดใหม่" ขึ้นมาท้าทายปลาใหญ่ได้เสมอ 

ในอดีตเขาเคยสร้างเรื่องราว “คนจนผู้ยิ่งใหญ่” ด้วยการพา การท่าเรือไทย เอฟซี คว้าแชมป์ เอฟเอ คัพ และ โตโยต้า ลีก คัพ มาครองด้วย ท่ามกลางปัญหาและข้อจำกัด มาครองได้ ในช่วงปี 2009-2010 รวมถึงการพา แบงค็อก ยูไนเต็ด กลับคืนสู่ไทยลีก และนำทัพ ทีมชาติไทย รุ่นอายุไม่เกิน 19 ปี เข้าถึงรอบ 8 ทีมสุดท้าย ศึกชิงแชมป์เอเชีย 2014

ก่อนที่ ปัจจุบัน จะมารับภารกิจที่ท้าทาย ในการทำทีม ทหารอากาศ ให้กลับมาติดปีกอีกครั้ง ด้วยงบประมาณอันน้อยนิด และเต็มไปด้วยดาวรุ่ง ผสมกับนักเตะเคยถูกมองข้ามด้วยแนวทาง “เน้นสร้างมากกว่าซื้อ” 

โกล ประเทศไทย มีโอกาสนั่งพูดคุยกับโค้ชเตี้ย ภายห้องทำงานส่วนตัว ที่ถูกดัดแปลงมาจาก ตู้คอนเทนเนอร์ ข้างสนามธูปะเตมีย์ ถึงเหตุผลที่ว่า “ทำไมปลาเล็กอย่างเขา ยังคงอยู่ในสายน้ำที่เชียวกรากจากทุนนิยมได้”
เกิดอะไรขึ้นหลังจากผ่าน 13 เกมแรก (ชนะ 5 เสมอ 5 แพ้ 3) แล้วคุณชนะติดต่อกัน 11 นัด


ผมเคยพูดไว้แล้วว่า ฤดูกาลนี้ เราพร้อมที่จะเสี่ยงกับทุกอย่างๆ ดังนั้น ถ้าถึงเวลาที่จะเปลี่ยน เราต้องกล้าเปลี่ยน นักเตะคนไหนดูแล้วไม่เวิร์ก เราตัดออก เพือที่จะเอาเงิน ไปซื้อผู้เล่นที่ตอบโจทย์ และทีมเราเริ่มลงตัวขึ้น หลังเข้าสู่เลกสอง 
อย่าง 13 เกมแรกของฤดูกาล คือช่วงเวลาที่เรากำลังปรับแต่งทีมไปเรื่อยๆ ผมตั้งเป้าจะเกาะกลุ่มท็อป 5-6 ไปก่อน แล้วเราก็ทำได้ จากนั้นก็จะค่อยๆไต่อันดับขึ้น

นอกจากนี้ เรายังมีจุดเปลี่ยนหลายครั้งในซีซั่นนี้ อย่างเกมที่เราบุกชนะ สงขลา ยูไนเต็ด ผมบอกเลย ใครไปสนามนาทวี แล้วมีแต้มออกมาถือว่าประสบความสำเร็จ แล้วยิ่งเกมโกงความตายที่ นครปฐม ยูไนเต็ด (ตาม 2-0 ยิงแซงชนะ 2-3 ในช่วงทดเวลาบาดเจ็บ) 
จากเดิมที่สปิริตทีมดีอยู่แล้ว ยิ่งทำให้ทุกคนในทีม เชื่อใจกันมากขึ้นไปอีก มันเลยพลอยให้ แท็คติกต่างๆ ความมั่นใจ ทุกอย่างมาหมด แถมเกมรับ เราดีขึ้นกว่าเดิม เพราะฟุตบอลจะใช้เกมรุกอย่างเดียว แล้วชนะทั้งหมด มันคงเป็นไปไม่ได้ จะรับอย่างเดียว ก็ไม่ได้เช่นกัน ต้องรู้จักผสมผสานให้ลงตัวครับ 

3 ปีที่แล้ว ทำไมตัดสินใจมาทำแอร์ฟอร์ซ ทั้งที่ด้วยโปรไฟล์คุณแล้ว น่าจะมีข้อเสนอจากทีมใหญ่และมีเงินทุนกว่านี้ 
จริงๆ ข้อเสนอที่ว่ามา มันก็มีแหละ แต่สิ่งหนึ่งที่ฝังในหัวหรือเป็นสันดานของผม คือ ชอบเห็นทีมระดับตำนาน กลับมาโลดแล่นอีกครัง 
ย้อนกลับไป ผมตกลงทำทีม การท่าเรือฯ เพราะต้องการตอบแทนพวกเขา ผมเกิดจากที่นี่ การท่าเรือแห่งประเทศไทย ให้โอกาสผมด้านฟุตบอล เรามีความรู้สึกภาคภูมิใจ อยากเห็นทีมประสบความสำเร็จอีกครั้ง ผมทำทีม แบงค็อก ยูไนเต็ด เพราะว่านี่คือทีมที่มีรากเหง้ามาจาก ม.กรุงเทพ พวกเขาเคยเป็นถึงแชมป์ไทยลีกมาแล้ว แต่อยู่ๆเขาตกชั้นไป ผมอยากเห็นพวกเขาขึ้นมาสู่ลีกสูงสุดอีกครั้ง 2 ทีมที่ผ่านมา ผมได้ทำในสิ่งที่หลายคนไม่ได้คาดหวังอะไรมาก จนเห็นผล 

ในขณะเดียวกัน ช่วงรอยต่อ (หลังจบคุมทีมชาติไทย ยู-19) พอดี เราเห็น แอร์ฟอร์ซ กำลังแย่ เราอยากช่วย เพราะอะไร เพราะว่า ยุคหนึ่ง ทหารอากาศ คนดูล้นสนาม เพราะ ปิยะพงษ์ (ผิวอ่อน) ประทีบ (ปานขาว) ชลอ (หงษ์ขจร) ผมไม่ได้เป็นนักบอลเก่าที่นี่ แต่ในอดีต ผมเคยเป็นคู่ต่อสู้ของพวกเขา เวลาใครพูดถึง ทอ. “ทอ.ยิ้มน่ากลัวเว้ย ทอ.เล่นโคตรมัน” บรรยากาศในธูปะเตมีย์ เคยคึกคักมาก ผมอยากให้ภาพเหล่านั้น มันกลับมาเท่านั้นเอง
ปีแรก ผมพยายามมาช่วยแล้ว แต่ช่วยไม่ได้ ด้วยปัจจัยหลายๆอย่าง และมีการตกชั้นถึง 5 ทีม ซึ่งยากมาก ทำให้เราต้องกลับไปนับหนึ่งใหม่ พอนับหนึ่งใหม่ปุ๊ป สิ่งที่อยู่ในหัวคือ เราเองต้องแอ่นอกรับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ ผมเลยตบปากรับคำผู้ใหญ่แอร์ฟอร์ซว่า อยากจะช่วยสัก 3 ฤดูกาล ซึ่งเป็น 3 ฤดูกาล เซ็นกันด้วยหัวใจแหละ 

ผมพูดเลยว่า “ผมอยากมาทำให้ ทหารอากาศ เดิม หรือ แอร์ฟอร์ซ ปัจจุบัน กลับมาอยู่ในจุดที่พวกเขาควรจะอยู่” แล้วหลังจากนั้น อนาคตจะเป็นอย่างไรค่อยว่ากัน เพราะสโมสรนี้ไม่ใช่ของผม 


วันแรกที่มารับงาน สภาพทีมตอนนั้นเป็นอย่างไร

ผมมาถึงที่นี่ ผมไม่ได้มาแล้วบอกว่าจะเปลี่ยนนะ ผมให้เวลาเด็กทุกคน ทั้งนักฟุตบอล ทีมงานสตาฟฟ์ หรือเจ้าหน้าที่ออฟฟิศ ผมพยายามมองหาสิ่งที่ดีของทีมเราก่อน 
พอถึงเวลาหนึ่ง ก็เอามาขมวดเป็นปัญหา แก้ไขได้ก็จะแก้ เด็กบางคนมีปัญหาเรื่องสภาพร่างกาย จิตใจ เราก็ต้องไปคุยกับเขา จากนั้นให้ทีมแพทย์ ทีมจิตวิทยา มาดูแลต่อ ถ้าเขารับ เขาไปกับเราได้ แต่ถ้าเขาไม่รับ เขาจะรู้ว่า มันมีเคมีบางอย่างไม่ตรงกัน ทีนี่ พอเคมีไม่ตรงกัน ถ้าเราเลี้ยงไว้ ไม่ได้ใช้งาน ทีมก็จะเสียเงินเปล่าๆ สู้เราจากกันตรงนี้ แล้วดันเยาวชนขึ้นมาแทน
ปีแรกที่มาถึง เราพบปัญหาว่า รุ่นซีเนียร์ กับจูเนียร์ มีเส้นแบ่งที่ค่อนข้างหนา หน้าที่ของเราคือ เกลี่ยให้เส้นนั้นบางลง อย่างเช่น ถ้าซีเนียร์คนนั้น เงินเดือนเยอะ ยังพัฒนาไม่ขึ้น ก็แยกทางกันดีกว่า แล้วเอาเด็กเล่น แน่นอนว่า มันมีย่อมคำถามว่า “เอาเด็กเล่น จะไหวไหม” ถ้าเรามั่นใจว่าเขาไหว เขาก็ไหว ถ้าเมื่อไหร่ เราคิดว่าเขาเล่นไม่ได้ เขาก็เล่นไม่ได้ 

แต่ต้องทำใจยอมรับให้ได้นะว่า พวกดาวรุ่ง อาจจะมีลนลานบ้าง ข้อผิดพลาดเยอะ ต้องใช้เวลา แต่ก็ชดเชยด้วยพละกำลังที่ค่อนข้างแข็งแรง และมีศรัทธาที่แรงกล้ามากกว่าพวกคนที่โตกว่า

ทำไมต้องเป็น 3 ปี 

นี่คือตัวเลข ที่ผมพยายามนำเสนออยู่ตลอด ในทางฟุตบอล ถ้าคุณมีเงินจำนวนมาก คุณอาจจะบอกว่า 1 ปี หรือ 2 ปี ก็ได้ คุณสามารถเนรมิตได้เลย ซื้อมารวดเดียว 15-16 คน การทำแบบนี้ มีโอกาสประสบความสำเร็จไหม ก็เป็นไปได้  แต่คำถามคือ คุณมีเงินเยอะขนาดนั้นหรือเปล่า  พอสุดท้ายไม่เป็นแบบที่หวัง ก็ทำเหมือนๆกันหมด ซื้อเยอะ ดาหน้าเปลี่ยนเลย ทั้งโค้ช ทั้งผู้เล่น คาดหวังโน้นนี้นั่น 
คุณต้องเข้าใจก่อนว่า “ฟุตบอลมันไม่ใช่สมการที่ง่ายๆ” มันมีปัจจัยมากมายที่ต้องควบคุมให้ได้ อย่างเกมเหย้า คุณต้องเปิดเกมรุกใส่คู่ต่อสู้ ขณะที่เกมนอกบ้าน ก็ต้องเล่นอย่างเหนียวแน่น หรือไม่ก็บ้ารุกสู้เลย มีหลายทีมทำได้ แต่บางทีมเปิดเกมรุกไปแล้วเสียประตู พอเสียก็รุกไปอีก ก็โดนอย่างนี้ตลอด ดังนั้นไม่ใช่ว่า คุณมีปัจจัยด้านหนึ่ง อย่างเงิน แล้วจะตอบโจทย์ทุกอย่าง
ฉะนั้นเราควรต้องศึกษาให้รอบด้าน 3 ปี จึงเป็นตัวเลขที่เหมาะแก่การ ค่อยๆล้างไพ่ เก็บในสิ่งที่ดี ตัดในสิ่งที่ไม่ได้ออก แล้วก็บวกด้วยผู้เล่นใหม่ที่เราบ่มเพาะไว้ 

ดูเหมือน ทุกสโมสรคุณเลือก จะต้องเป็นทีมที่ คุณสามารถบริหารจัดการทรัพยากรได้

ใช่ เป็นเงื่อนไขที่หากผมจะเลือกทำทีม ต้องคุยกัน ถ้าคุยกันวันแรกไม่รู้เรื่อง ก็คงไม่ตบปากรับคำหรอก
เงื่อนไขของผม อันดับแรก คุณต้องมี ทีมเยาวชนรองรับ เพราะว่า เยาวชน จะทำให้เรารู้สึกว่า ความภูมิใจของสโมสรอยู่ที่ตรงนี้ มากกว่า ทีมชุดใหญ่ หรือหากวันไหน นักเตะชุดใหญ่เบี้ยว หรือ ผู้เล่นที่ซื้อมา ไม่ดี เราสามารถถอดออก แล้วใส่ เยาวชนขึ้นมาทดแทน เพราะเด็กพวกนี้จะมีแรงขับ มาชดเชยเรื่องของฝีเท้า
เด็กในทีมชุดใหญ่ บางคนเคยเป็นลูกศิษย์เรามากอน ผมก็จะบอกว่า “เฮ้ย! อยู่กับผมก่อน” ถึงเวลาจะโตค่อยว่ากัน บางคนโตเกิน จนกระทั่งเรารั้งเขาไม่ไหว ก็จำเป็นต้องปล่อย ซึ่งถ้าเราปล่อย เมื่อหาตัวแทนไม่ทัน คุณต้องเสียตังค์ไปซื้อ แต่ถ้าเรามีทีมเยาวชน เราจะมีเด็กตามสเป็กที่เราต้องการ เล่นตำแหน่งเดียวกัน สไตล์เดียกวัน มาแทนที่ได้พอดี 
การที่ทีมเยาวชน มันอาจจะไม่ออกผลวันนี้ แต่ถ้าโค้ชบ้า แล้วมองเห็นว่า เอาเด็กชุดเล็กขึ้นมาเสียบแทน ไอ้คนที่อยูมันก็ต้องวิ่งหนี เด็กที่เพิ่งขึ้นก็จะวิ่งไล่ตาม ที่นี่ทีมจะเกิดการแข่งขันกัน

ผมเป็นคนบ้าอย่างหนึ่ง คือชอบให้โอกาสเด็ก ผมชอบย้อนมองตัวตอนเป็นนักเตะ ถ้าโค้ชไม่มองเห็นค่าเรา ไม่กล้าใช้งานเรา อาชีพผมก็จบแล้ว ผมพูดกับเด็กในทีมเสมอว่า ถ้าคุณมีโอกาส 2-3 ครั้ง แล้วสามารถคว้าไว้ได้ นั่นหมายถึง อนาคตของคุณ 
ที่นี่เราจะได้ ทรัพยากรบุคคล ที่มีความศรัทธา และแรงปรารถนาที่จะขับเคลื่อนทีม ซึ่งมันไม่ได้เกี่ยวกับตัวเงิน มากเท่าไหร่แล้ว หลายสโมสรที่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะใช้เงินเป็นตัวล่อ คุณอัดฉีดเป็นนัดต่อนัด มันได้แค่ระยะสั้น คุณต้องปลูกฝังเรื่องของซื่อสัตย์ ความภาคภูมิใจในสโมสร บางทีเงินไม่ใช่คำถามตอบทั้งหมด

ผมบอกเด็กเสมอว่า “เฮ้ย ใครมีเงิน เก็บนะ” จะเจียดกี่เปอร์เซนต์ ไปดูแลตัวเอง ไม่ใช่เงินเดือนน้อย ออกรถ เช่าบ้านโน้นนี้ ใช้ชีวิตติดหรู ฟุตบอลอาชีพไม่ได้อยู่ถึงอายุ 60 นะ ให้อย่างเก่งเลยอายุ 35 ก็หมดแล้ว เกิดสมมุติบาดเจ็บ อายุการใช้งานก็สั้นลง เราต้องมานั่งยกตัวอย่าง รุ่นพี่เก่าๆ ให้พวกเขาฟัง
หรือแม้แต่ ยกตัวอย่างชีวิตตัวเอง เพราะผมก็ไม่ได้เป็นนักฟุตบอลที่ดีมาก่อน แต่เห็นวัฏจักรความเป็นไปของอาชีพนี้มาตลอด เลยต้องเริ่มคิดฉีกกรอบออกมา ทำไมผมต้องมานั่งทำอาชีพ คอมเมนเตเตอร์ วะ เพราะโค้ชก็เหมือนนักฟุตบอล “อยู่ๆ เดินสะดุดตีนใครสักคน ตกงานก็มี” หรือผลงานแย่ติดๆกัน ก็อาจตกงานได้ ฉะนั้นจึงต้องรู้จัก พึงสังวรณ์ตัวเอง เอาไว้

แนวทางการสร้างผู้เล่นอายุน้อยขึ้นมา ส่วนหนึ่งมาจากการที่ คุณเคยเป็นอดีตโค้ชเยาวชนทีมชาติ มาก่อนหรือเปล่า เลยค่อนข้างเข้าใจจุดนี้ดี
เรามองหลายๆโมเดลนะ ผมอาจโชคดี ตรงที่เคยมีโอกาสได้ทำ ทีมชาติไทย ยู-16 (ช่วงปี 2003-2004 และ 2011) และ ยู-19 (ช่วงปี 2014) เลยเห็นตลาดตรงนี้บางส่วน อย่างเด็กบางคน ต้นสังกัดที่แท้จริงเขาไม่ใช้ เราบอก “เฮ้ย มานี่ดิ” ถามว่าเราจะได้เกรด A เลยไหม คงไม่มีทาง เราอาจจะได้เกรด B+ B- แล้วมาพัฒนา ต่อยอดเขา

อยู่ที่นี่อาจจะเงินเดือนน้อย แต่เราอาจมีส่วนอื่นมาเสริมอย่าง กิตติไกร (จันทะรักษา) เนติพงษ์ (แสนมะฮุง) ก็ได้ติดยศเข้ารับราชการ เงินเดือนอาจจะสู้รุ่นเดียวกัน อย่าง เจนรบ (สำเภาดี) ไม่ได้ แต่เราพยายามขยับขึ้นตามอัตราของเรา 
พอคุณรับราชการ แล้วครอบครัวคุณเบิกได้นี่สวรรค์เลยนะ ลองนึกถึงตอนที่คุณเลิกเล่นไปแล้ว ซึ่งมันชดเชยได้มาก ผมอยู่ตรงนี้ ผมยังอยากเป็น (รับราชการ) เลย นั่นเป็นเรื่องผมพยายามแทรกให้เขารู้ว่า ฟุตบอลมันเป็นอาชีพก็จริง แต่มันระยะสั้น วันนี้คุณต้องเริ่มแต่งตัวกันได้แล้ว เพื่อที่จะอยู่อย่างไรให้อยู่รอด
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่