ทำไมคนญี่ปุ่นต้องออกมาแถลงการณ์การขอโทษ


เล่าโดย : วสุ มารุมุระ

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมามีข่าววงดนตรี SMAP ออกมาแถลงการณ์ขอโทษที่ก่อให้เกิดข่าวว่าจะมีการแยกวง

ข่าวที่ใกล้เคียงกันเมื่อไม่นานมานี้อย่างเช่น เมื่อบริษัทโตชิบ้า ได้ตกแต่งตัวเลขบัญชี ประธานบริษัทก็ออกมาแถลงการณ์ขอโทษ

มีเสียงจากคนต่างชาติเสมอมาว่า “การที่คนญี่ปุ่นออกมาแถลงการณ์ขอโทษ เป็นวัฒนธรรมที่มีเฉพาะในญี่ปุ่น”

คนบางคนอาจจะมองว่า “ขอโทษเมื่อไหร่แพ้เมื่อนั้น”

คนบางคนอาจจะมองว่า “คนญี่ปุ่นกล้าพอที่จะออกมาขอโทษ”

คนบางคนอาจจะมองว่า “ขอโทษไป แต่ในใจอาจจะไม่ได้สำนึกก็เป็นได้”

คนบางคนอาจจะมองว่า “คนญี่ปุ่นมีความรับผิดชอบ”

อันนี้แล้วแต่จะมองนะครับ

แต่การออกมาแถลงการณ์ขอโทษ ก็เหมือน “พิธีกรรม” อย่างหนึ่งของคนญี่ปุ่น มันไม่ใช่พิธีกรรมจริงๆ หรอก แต่เรียกว่าเป็นลักษณะนิสัยของคนญี่ปุ่น เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม

หากมีการก่อเรื่องอะไรขึ้นมา จนทำให้เป็นที่โจษจันกันในสังคมแล้วละก็ คนญี่ปุ่นเขาเหมือนจะมีเซนเซอร์ว่าถ้าตัวเขาเองได้สร้างความหมองใจให้กับอีกฝ่ายแล้ว หรือผู้คนเขาเริ่มพูดถึงเราในทางที่ไม่ดีแล้ว คนญี่ปุ่นคนนั้นต้องออกมาพูดอะไรสักอย่าง ซึ่งเป็นไปได้ว่า

1. ต้องการแสดงความจริงใจ

หรือ

2. เพื่อเป็นการเดินเกมอย่างหนึ่ง (แม้จะเป็นหมากที่ใกล้แพ้แล้วก็ตาม)

ฉะนั้นแล้วคนญี่ปุ่นเขาต้องมีบทสนทนากับสังคมด้วยการแถลงการณ์ขอโทษ จะรู้สึกผิดจริงหรือไม่ก็อีกเรื่อง แต่เขาได้ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของสังคมที่รู้กันอยู่ในกลุ่มพวกเขา

คนญี่ปุ่นค่อนข้างแคร์ว่าคนอื่นจะมองตัวเองว่าอย่างไร เพราะสังคมค่อนข้างแคบในเกาะเล็กๆ ที่ไปไหนก็ลำบาก หากหน้าหนาวเดี๋ยวไม่มีอะไรกิน ก็ต้องคอยถ้อยทีถ้อยอาศัยกับผู้อื่น หากคนคิดสงสัยอะไรก็ต้องออกมาอธิบาย แถลงการณ์ขอโทษ

แล้วหลังการแถลงการณ์ขอโทษ จะเป็นไงละ

แน่นอนว่าถ้าเป็นเราที่เฝ้าดูภาพที่คนๆ นั้นขอโทษ เราสามารรับรู้ถึงอะไรที่ขัดกับคำพูดจากสีหน้าของคนนั้นแล้ว เราก็อาจจะจับพิรุธ จับโกหกได้ หรือรู้สึกถึงบางอย่างที่ซ่อนอยู่ หรืออาจจะรู้สึกถึงความสำนึกผิดและพร้อมแก้ไขของคนๆ นั้น

แต่เป็นไปได้ว่าเมื่อเป็นข่าวที่มาตีพิมพ์ในประเทศไทยเรา

เราไม่ได้เห็นสีหน้าประธานบริษัทญี่ปุ่นคนที่ออกมาขอโทษ

เราไม่ได้ยินน้ำเสียงว่าสั่นเครือด้วยความสำนึกหรือหวาดกลัว

เราอ่านข่าวที่นักข่าวสรุปมาแล้ว ซึ่งมันอาจจะเป็นเพียงตรรกะที่ขาดความรู้สึกในตัวบริบท

เราอาจจะเหมารวมกันไปง่ายๆ ว่า “คนญี่ปุ่นนั้นมียางอาย”

การแถลงการณ์ขอโทษนั้นมันเป็นวิธีการ (method) ที่คนญี่ปุ่นคุยกับกระแสสังคมภายนอกวิธีหนึ่ง

สุดท้ายแล้ว อย่างที่เราทราบกันดีว่าจะแถลงการณ์ขอโทษหรือไม่ก็อีกเรื่อง แต่สิ่งสำคัญอยู่กับการกระทำหลังจากนั้น

หากมองไกลจากกรอบของความเป็นคนญี่ปุ่นแล้ว เราเคยขอโทษจากใจจริงของเราจริงๆ กันแค่ไหน เรามีความรับผิดชอบต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นแค่ไหน อาจจะไม่ต้องมองอื่นไกลถึงคนญี่ปุ่น มองที่ตัวเราเอง

ขอโทษคนที่ควรขอโทษแล้วหรือยัง แม้แต่ผู้เขียนบอกตามตรงก็ไม่มั่นใจเลย

เหมือนอย่างที่ผมอ่านเจอที่ใครแชร์มาสักคนว่า

“เวลาจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะกลับมาเป็นเหมือนเดิม”

การแถลงการณ์ขอโทษของคนญี่ปุ่น อาจเป็นโอกาสดีที่จะได้เห็นภาษากายและสีหน้าว่าเขาพร้อมรับผิดชอบและจะแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้น หรือว่ามันเป็นแค่คำพูดปากเปล่าเฉยๆ เท่านั้น

อย่างน้อยการออกมาแถลงการณ์ขอโทษนั้น อาจจะช่วยคลายความคาใจลึกๆ หรือยิ่งคาใจเข้าไปอีก?

มันก็เป็นส่วนหนึ่งของรสชาติของชีวิตของมนุษย์ที่ชอบสตอรี่และเสพดราม่า…คนญี่ปุ่นก็เช่นกัน

บทความจาก : MaruMura.com
http://www.marumura.com/japan-apology/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่