“เที่ยววัด ชมเวียง เยือนวัง” วัดแคนอก “สถานที่วางแผนของคณะราษฎร”

ในจังหวัดนนทบุรี มีวัดแค อยู่ถึง2วัด ดังนั้นเมื่อปีพ.ศ.2457 สมเด็จพระสังฆราช กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เมื่อมาตรวจการณ์คณะสงฆ์ จึงโปรดให้เรียก วัดที่ติดม.เจ้าพระยา ว่า “วัดแคนอก”และวัดที่อยู่ในสวน ว่า “วัดแคใน”

        วัดแคใน ต.บางกร่าง อ.เมือง นนท์ ติดคลองวัดแค อยู่กลางสวนผลไม้ ตามคำบอกเล่าว่า เป็นที่ชุมนุมทหาร เพื่อไปรบที่อยุธยา กับพม่า เป็นที่รวบรวมพลไปทำสงคราม ปัจจุบันอาคารเสนาสนะสร้างใหม่หมด เหลือพระประธานในโบสถ์ที่เป็นหินทรายแดง สมัยอยุธยา



          “วัดแคนอก” อยู่ริม เจ้าพระยา ถัดจากเชิงสะพานพระนั่งเกล้า มาทางกระทรวงพาณิชย์ สร้างสมัย ร.3เป็นวัดชาวมอญ อันมีพระยารามัญมุนี เป็นหัวหน้าที่อาศัยบริเวณนี้ สร้าง

        ในสมัยร.3ปีพ.ศ.2367 ปีแรกที่พระองค์เสด็จครองราช พระยารามัญ นำครอบครัวมอญ ประมาณ3,000คนมาพึ่งไทย พระองค์ให้คนมอญเหล่านั้น กระจายอยู่แถบ วัดชนะสงคราม วัดลิงขบ ปากเกร็ด บางพูด บางตะไนย์ ซึ่งส่วนหนึ่งอยู่บริเวณแถบนี้ จึงร่วมกันสร้างวัดขึ้น




          รูปพระอุโบสถหลังเก่าหันหน้าสู่แม่นำ้ หน้าบันเป็นไม้สลักลวดลายพฤกษาดอกโบตั๋น ภายในกำแพงแก้วมีเจดีย์ทรงมอญ 2องค์ หน้าพระอุโบสถมีต้นโพธิ์ขนาดใหญ่




         พระประธานในโบสถ์เก่า เป็นของใหม่ ของเดิมพระประธานมีขนาดใหญ่ปางมารวิชัย มีเรื่องเล่าว่า พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนานำคณะราษฎร มาอธิษฐานในโบสถ์เก่าแห่งนี้ ต่อมาวัดสร้างโบสถ์ใหม่ปี2533 โดยหันหน้าออกถนน และได้อัญเชิญพระประธาน รวมถึงองค์พระพุทธรูปต่างๆจากโบสถ์เก่ามาไว้โบสถ์ใหม่

         พระประธานในโบสถ์เก่า(ของใหม่)

        พระอุโบสถหลังใหม่


           พระประธานจากโบสถ์เก่านำมาไว้ในโบสถ์ใหม่



             เสาหงษ์สัญลักษณ์ของวัดมอญ

             หอไตรกลางน้ำที่สวยงามสร้างปีพ.ศ.2462


        สถูปอัฐิตระกูล”จารุรัตน์”สร้างปีพ.ศ.2462 สายตระกูลนี้มีความเกี่ยวข้องทางเครือญาติกับตระกูลพหลโยธิน


       การเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่24มิ.ย.2475 สมัยร.7โดยคณะราษฎร อันมี        พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา(พจน์ พหลโยธิน)เป็นหัวหน้า มีผู้ก่อการ4สาย


          1.สายพลเรือนมีหลวงประดิษฐมนูธรรมเป็นหัวหน้า


        2.ทหารเรือมีนาวาตรี หลวงสินธุ์สงครามชัยเป็นหัวหน้า


         3.ทหารบกชั้นยศน้อย มี พันตรีหลวงพิบูลย์สงคราม เป็นหัวหน้า


        4.พวกนายทหารชั้นยศสูงมี พระยาพหลฯ พระยาทรงสุรเดช พระยาฤทธิ์อัคเนย์ และพระประศาสน์พิทยายุทธ





           ก่อนปฏิบัติการ บรรดาหัวหน้าสายต่างๆได้มาประชุมและกล่าวคำปฏิญาน ต่อหน้าพระพุทธรูปในโบสถ์วัดแคนอก

         ภายหลังก่อการสำเร็จคณะราษฎร ได้มาสร้างร.ร.”คณะราษฎร บำรุง1″หรือร.ร.วัดแคนอกเป็นอาคารไม้ทรงปั้นหยา ติดกับวัดแคนอกเพื่อเป็นอนุสรณ์ ซึ่งเดิมนักเรียนตัองใช้ศาลาการเปรียญ


        ผมไปดูมาอีกครั้งเมื่อ4ส.ค.2559 อาคารเรียนนี้ถูกรื้อจะสร้างเป็นอาคารเรียนคอนกรีตสูง5ชั้น       ขณะนี้นักเรียนย้ายไปเรียนที่ใต้ถุนกุฏิพระ3-4หลัง


หอระฆังตระกูลพหลโยธิน

           หอระฆังทรงดอกบัวตูม สร้างเป็น2ชั้นอยู่ตรงกลางบรรจุอัฐิคนในตระกูล โดยมีซุ้ม4ทิศ สร้างปี2478

          ซุ้มทิศเหนือ บรรจุอัฐิ”พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา(พจน์)”และมีพระพุทธรูปประจำวันพฤหัส ซึ่งเป็นวันเกิด ซึ่งท่านได้รับเป็นที่ระลึกในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

        ซุ้มทิศใต้บรรจุอัฐิ”นาย แนบ -คุณหญิงสะไบ พหลโยธิน” นายแนบ เป็นบุตรชายของพี่ชายของพระยาพหลฯชื่อพลโท พระยาพหลโยธินนรามินทรภักดี(นพ พหลโยธิน) นายแนบได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดแรก


            สกุล”พหลโยธิน”  คนในสกุลนี้ได้รับพระราชทินนาม”พระยาพหล”ถึง3คนคือ พันเอกพระยาพยุหเสนา(กิ่ม พหลโยธิน)บิดาของพระยาพหลฯและพี่ชายคนโต พลโท พระยาพหลโยธินนรามินทรภักดี(นพ พหลโยธิน)รวมทั้งตัวพระยาพหลฯเอง

        ดวงตราของสกุลจึงทำเป็นรูปกงจักร ตรงกลางกงจักรเป็นรูปเสือ3ตัวหมายถึงสกุลของท่านเป็นทหารต่อเนื่องโดยได้รับพระราชทินนาม             “พระยาพหล”ถึง3คน ในวงล้อมตัวเสือมีข้อความ    “ชาติเสือต้องไว้ลาย ชาติชายต้องไว้ชื่อ”


         ทั้งนี้ความซื่อสัตย์สุจริตและความรักชาตินับเป็นที่เลื่องลือ ท่านดำรงตำแหน่งนายกฯเป็นคนที่2ติดต่อกัน5สมัยตั้งแต่ปี2476-16 ธ.ค.2481และปฏิเสธที่จะรับตำแหน่งอีก ถึงอสัญกรรมด้วยเส้นเลือดสมองแตกเมื่อปี2490รวมอายุได้60ปี


         ขอจบเรื่องวัดแคนอก ช่วงนี้ข้างวัดกำลังพัฒนาสร้างเป็นตลาดน้ำใหญ่แม่นำ้ช่วงนี้กว้างและตรงมองจากแพหน้าวัดสามารถเห็น เกาะเกร็ด ลักษณะเช่นนี้ตามหลักโหรจีนว่าทำเลเป็นมงคล

          ผมนั่งที่แพมองตามลำน้ำขึ้นไปทางเหนือระยะ ประมาณ12กม.เห็นเกาะเกร็ด แม่น้ำช่วงนี้กว้างและตรง

          ด้านซ้ายมือเป็นวัดแดงธรรมชาติ กำลังก่อสร้างพระนาคปรกองค์ใหญ่

        ขวามือสุดจะเห็นวัดเชิงท่า-หน้าโบสถ์ และคอนโดข้าราชบริพารของพระบรมฯ ซึ่งเป็นปากแม่น้ำลัดเกร็ด

        ซ้ายมือสุดฝั่งตรงข้ามเป็นวัดเชิงเลนซึ่งเป็นปากแม่น้ำอ้อมเกร็ด

       แม่น้ำลัดเกร็ด และแม่น้ำอ้อมเกร็ดจะล้อมรอบเกาะเกร็ด

       ช่วงปากแม่น้ำลัดเกร็ดมาจรดปากแม่น้ำอ้อมเกร็ด น่าจะเป็นช่วงแม่น้ำเจ้าพระยาที่กว้างที่สุด(ลองไปยืนดูที่กรมชลฯที่วัดเชิงท่า-หน้าโบสถ์ ซิครับ)

       ทางโหรว่าลักษณะแม่น้ำที่กว้างไหลตรงถึงประมาณ12กม. หมายถึงความซื่อสัตย์ต่อกันของคณะราษฎร

       วัดแคนอกเปรียบเสมือนหัวมังกร เกาะเกร็ดเปรียบเสมือนท้องมังกร หมายถึงสัญญลักษณ์นักบริหารและการบังคับบัญชา

       จบก่อนครับ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่