เอ-กอ อ่านว่า เก เลิกสอนเถิดนะครับ ข้อร้อง

เอ-กอ เก อ่านแบบนี้นอกจากจะไม่ได้อะไรแล้ว ยังส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็ก จากการที่ต้องเรียนรู้สิ่งต่างๆตลอดเวลา กลับต้องมานั่งท่องการผสมคำมากมาย ทั้งๆที่วิธีเดิมก็ไม่มีปัญหา

จากการที่วันนี้ ผมได้ดูรายการของคุณคำผกา เรื่องปัญหาการศึกษา ในยูทูป แล้วไปเจอประเด็นที่โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งสอนเด็กอ่านหนังสือแบบเรียงตัว ซึ่งทราบภายหลังคือ โรงเรียนในเครือสารสาสน์ ซึ่งมีค่อนข้างมาก ส่วนตัวก็ตกใจ เพราะได้ยินครั้งแรกก็เห็นเลย ว่าไม่เวิร์ค เลยอยากจะมาแสดงความคิดเห็นนิดหน่อย

ต้องเข้าใจว่าการอ่านหนังสือ เป็นพื้นฐานของเรียนระดับอื่นๆที่สูงขึ้นไป โรงเรียนหลายโรงเรียนจึงอาจมีการแข่งขันกัน เพื่อให้เด็กนักเรียนของตนเอง มีความสามารถด้านการอ่านที่มากกว่าคู่แข่ง เพื่อการแข่งขันทางธุรกิจ หรือชื่อเสียงโรงเรียน โดยจะพบมากเป็นพิเศษสำหรับโรงเรียนเอกชน ที่ยิ่งเด็กอ่านหนังสือได้เท่าไหร่ ก็ดีกับโรงเรียนมากเท่านั้น

โรงเรียนสารสาสน์ ก็น่าจะเป็นหนึ่งในโรงเรียน ที่ตั้งใจพัฒนาวิธีการอ่านในรูปแบบที่คิดสามารถทำให้เด็กสามารถอ่านหนังสือได้เร็วกว่าที่เป็นอยู่ เลยมีการเปลี่ยนรูปแบบการอ่านจากแบบกระทรวง มาเป็นการอ่านแบบเรียงตัว เพราะคิดว่าจะทำให้เด็กไม่สับสนเรื่องตำแหน่งการวางสระ

การอ่านแบบเดิมตามกระทรวง เช่น ปอ-แอ-ดอ แปด การอ่านแบบนี้ ทำให้เด็กวางตำแหน่งสระผิด คือวางตามเสียงที่อ่านเลย เป็น ปแด ทางโรงเรียนจึงมีการปรับเปลี่ยนวิธีการอ่านมาเป็น แอ-ปอ-ดอ แปด เพราะคิดว่าเด็กจะได้วางตำแหน่งสระได้ถูกต้อง

แต่วิธีนี้มีความผิดพลาดตรงที่ไม่เข้าใจจุดประสงค์หลักของการผสมคำ ซึ่งความจริงคือเพื่อ ให้ได้คำอ่านของคำๆนั้นออกมา จากการที่นำเสียงของสระ เสียงของพยัญชนะ เสียงของตัวสะกด และเสียงของวรรณยุกต์ มาผสมกันเพื่อให้ได้เสียงของคำๆนั้น ตัวอย่างเช่น กอ-อา กา ขา-อา ขา จะสังเกตเห็นว่าเมื่อเสียงคำแรก และคำสอง ออกมา เสียงที่สาม ที่เราต้องการนำเสียงทั้งสองมาผสมกัน มันก็ออกมาอัตโนมัต เนื่องจากเป็นธรรมชาติของมัน

หรือเมื่อเราพูด กอ-เอ กอ-เอ กอ-เอ ให้เร็วเพื่อให้เสียงผสมกัน เสียงที่เกิดขึ้นอาจไม่เหมือนคำว่า​ “เก” เป๊ะ แต่ก็มีความคลายคลึงอย่างมาก
ในทางตรงข้าม ถ้าเราพูด เอ-กอ เอ-กอ เอ-กอ เพื่อให้เกิดเป็นเสียง “เก” นอกจากจะไม่ได้แล้ว เสียงที่ออกมายังคล้ายคำว่า “เอก” มากกว่า ซึ่งนับว่าไกลความจริง

การผสมคำแบบเรียงตัว จึงไม่สามารถใช้ได้ระบบเสียงตามธรรมชาติ เพราะฉะนั้นเมื่อเราถามเด็กว่า เอ กอ อา อ่านว่าอะไร เด็กจะตอบว่า “กา” ตามระบบเสียง ทั้งที่ความจริงคำนั้นอ่านว่า “เกา” การอ่านแบบเรียงตัว จึงต้องจำเท่านั้นว่าคำนี้ มีสระ เ ก.ไก่ และสระ า แยกเป็น เอ กอ อา อ่านว่า “เกา” ย้ำว่าต้องจำอย่างเดียวเท่านั้น

สรุปคือ ถ้าหลักสูตรกระทรวง--->อ่านเรียงเสียง แล้วมีปัญหาการวางสระ
ส่วนหลักสูตรสารสาสน์---->อ่านเรียงตัว มีปัญหาคือต้องจำเยอะ

ซึ่งแน่นอนว่าวิธีทั้งสอง เด็กสามารถทำได้เหมือนกัน แต่ประเด็นคือ วิธีไหนที่จะทำเกิดปัญหากับเด็กได้น้อยที่สุด ซึ่งแน่นอนว่าคือวิธีของกระทรวงปัญหาน้อยกว่าแน่นอน เพราะเพียงแค่ตำแหน่งสระ ซึ่งสามารถแก้ได้โดยครูแนะนำเทคนิคง่ายๆกับนักเรียน ว่าแค่สระที่มีรูปร่างแบบนี้ “เ” คือมีสระเอเป็นส่วนหนึ่ง นอกนั้นไม่ว่าจะต่อหางต่อหัวเป็นสระโ ไ ใ หรือ เต็มแต่งเพิ่ม เป็น เ-า เ-อ เีย ก็แล้วแต่ ให้เอาไว้ข้างหน้า พูดง่ายๆคือ ถ้าสระนั้นมีรูปร่างเหมือน “เ” ก็แค่เอาไว้ข้างหน้า หรือครูที่คิดว่ามีเทคนิคที่ดีกว่าในการให้เด็กเข้าใจ ก็สามารถใช้วิธีของตัวเองได้

จะสังเกตเห็นว่า เพียงแค่เรากำจัดปัญหา การวางตำแหน่งสระผิดได้ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการอ่านแบบเรียงตัวแล้ว ซึ่งเป็นวิธีที่ต้องท่องจำ จำ จำ แล้วก็จำ และจะส่งผลต่อค่านิยมผิดๆเกี่ยวกับการศึกษาต่อไป ค่านิยมที่เชื่อว่าการจำ ง่ายกว่าการใช้เทคนิค และการเข้าใจหลักการ ทักษะการจำก็จะกลายเป็นทักษะที่สำคัญมากกว่าทักษะการคิดวิเคราะห์ ระบบการศึกษาไทยก็เข้าถึงระบบนกแก้วนกขุนทองเช่นในอดีต หรืออาจแย่กว่านั้น

สิ่งที่เราจะเจอเมื่อเราเน้นการท่องจำ
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
ภาพเหตุการณ์ที่เด็กต้องมานั่งท่อง ว่าคำนั้นอ่านว่าอะไร ประกอบด้วยสระบ้าง
นึกภาพตามนะครับ เอ-กอ-ลอ-อี-ยอ-ดอ เกลียด ให้เด็กซักคนจำโดยไม่ดูหนังสือ ใช้เวลาไม่น้อยแน่นอน เวลาที่เขาควรได้เรียนรู้กับวิทยาศาสตร์ ได้ผจญภัยกับธรรมชาติ ได้ใช้เวลาร่วมกับสังคม เวลาที่ควรเรียนรู้สิ่งต่างๆมากมาย กลับต้องมานั่งท่องคำศัพท์ ที่เป็นของภาษาตัวเองแท้ๆ
แก้ไขข้อความเมื่อ
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 14
คนที่ไม่เห็นด้วยที่ผมเสนอให้ยกเลิก ควรให้เหตุผลมาว่าเพราะอะไร ไม่ใช่พูดแต่ประเด็นเดิม ว่าเด็กจะวางตำแหน่งสระผิด เพราะผมบอกแล้ว ว่ามันแค่ปัญหาเล็กน้อย ถ้าเทียบกับปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้น คือเด็กต้องมานั่งจำในสิ่งที่ไม่ควรจำ ตั้งแต่3-4ขวบ เด็กวางสระผิด คุณก็แค่บอกว่า "หนู หนูจำไว้นะลูก สระที่มีหัวข้างล่างแล้วมีขีดขึ้นมายังนี้เนี๊ยะ "" ให้เอาไว้ข้างหน้านะลูก นอกนั้นคือเอาไว้ไม่ข้างบน ข้างล่าง ก็ข้างหลัง วิธีการดูก็ง่ายๆไม่ยุ่งยากอะไร ดีกว่าต้องไปนั่งท่องอะไรมากมาย เปลืองพื้นที่สมอง

เพราะฉะนั้นง่ายๆเลยคือ ถ้าคุณทำให้เด็กวางตำแหน่งสระได้ถูกต้อง ก็ไม่ต้องไปใช้การจำแบบพิเรนทร์ ที่เด็กต้องนั่งท่องแบบนกแก้วนกขุนทองแบบที่เป็นอยู่ ซึ่งวิธีการวางสระให้ถูกตำแหน่งผมก็อธิบายหลักการคร่าวๆไปแล้ว ส่วนครูที่คิดว่ามีเทคนิคที่เจ๋งกว่าก็สอนไปสิ

ไม่ใช่ว่าหวังจะแก้ปัญหาตำแหน่งสระเล็กน้อย กลับได้ปัญหาใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิมคือ เด็กต้องมาท่องจำอะไรตั้งมากมายทั้งที่ไม่ควรจำ คิดถึงผลกระทบบ้างสิครับ

อย่าพูดว่าไม่เป็นไร เพราะถึงแม้เด็กโรงเรียนเขา จะไม่ใช่ลูกผมหลานผม เขาก็เป็นเด็กที่เป็นกำลังของชาติในอนาคตเช่นกัน ที่กำลังถูกระบบบีบอัดให้ต้องท่องจำ ในสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์อะไร จะให้ผมไม่ห่วงได้อย่างไร

จริงๆเด็กแค่3-4ขวบ ไม่ควรได้จับดินสอด้วยซ้ำ ดูอย่างฟินแลนด์นะครับ เขาจะให้เด็กได้ผจญภัยกับธรรมชาติก่อน ส่วนการศึกษาไทยน่ะหรอ นอกจากจะหอบลูกมาเข้าโรงเรียนตั้งแต่สองขวบแล้ว โรงเรียนยังหาอะไรไม่รู้ มาให้เด็กท่องจำอีก ผลสัมฤทธิ์ก็ชี้ให้เห็นแล้วหนิครับ แล้วเรายังจะให้การท่องจำสำคัญกว่าการเรียนรู้อยู่อีกหรือ

ไม่เชื่อลองหาเด็กสารสาสน์4ขวบมาซักสองคน แล้วก็2ขวบที่ไม่เคยอ่านหนังสือเลย แค่คนเดียวก็พอ ผมจะสอนเขาเอง สอนแค่ว่า กอ-เอีย เกีย ปอ-เอีย เปีย พอเขาคุ้นกับเสียง แล้วเราถามเขาว่า แล้ว ลอ-เอีย อะไร เขาจะตอบได้ทันทีว่า ลอ-เอีย เลีย ในขณะที่ถ้าเราใช้วิธีของสารสาสน์สอนเด็กสารสาสน์เอง ถามเด็กว่า เอ-ลอ-อี-ยอ อ่านว่าอะไร เขาจะตอบไม่ได้ เพราะมันไม่ใช่ธรรมชาติของเสียง เสียงเลยผสมกันไม่ได้ แต่จะอ่านได้ก็ต่อเมื่อ เด็กเคยอ่านและจำคำนี้มาแล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าวิธีนี้ ต้องจำเท่านั้นถึงจะอ่านได้ เวลาเด็กเจอคำใหม่ ก็จะไม่สามารถอ่านได้ด้วยตัวเอง ต่างจากเด็กที่เราสอนแบบเดิม ที่ถ้าเราถาม วอ-เอีย บอ-เอีย มอ-เอีย... ทั้ง44ตัวอักษร เขาก็ตอบได้ทันทีโดยไม่ต้องจำ

สรุปง่ายๆคือ วิธีของสารสาสน์ สามารถแก้ปัญหาการเขียนผิดได้เล็กน้อย แต่สร้างปัญหาทำให้เด็กอ่านไม่ได้ ซึ่งเป็นปัญหาใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม แล้วอย่าพูดว่าไม่เป็นไร เพราะมันส่งผลต่อพัฒนาทางสมองเด็กแน่นอน ที่สำคัญไม่ต้องเชื่อในการทดสอบในย่อหน้า6ที่ผมแนะนำ แต่จงไปทดลองทำ แล้วคุณจะรู้ว่า มันเป็นปัญหาจริง แก้ไขเถอะครับ
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 7
สยองกับหลักสูตรสมัยนี้ และสยองยิ่งกว่ากับความรู้ คำศัพท์ในหัวเด็กยุคนี้

วันก่อนเจอชื่อกระทู้เขียนผิดเยอะมากมาย รู้สึกจริงๆ นะ คนยุคใหม่ "โง่" มากขึ้น

ความโง่ในที่นี้ไม่ใช่เพราะ "ไม่รู้หนังสือ" แล้วนะ ไม่ใช่ยุคเรียนมาน้อยจบ ป.4 กันแล้วนะถึงได้เขียนหนังสือผิด มันเป็นความไม่รู้ที่ตัวบุคคล แต่เพราะอะไรบุคคลผู้ไม่รู้เหล่านั้นกลับมีเยอะเหลือเกินทั้งๆ ที่ก็ได้เรียนเขียนอ่านกันทั้งนั้น มันเป็นที่อะไร? ระบบการศึกษาเราถอยหลังเข้าคลองเหรอ?

คำง่ายๆ กลับไม่รู้ จำไม่ได้ว่าสะกดอย่างไร เขียนอย่างไร เรื่อง "คะ" "ค่ะ" แล้วเขียนกลายเป็น "นะค่ะ" นี่ธรรมดาไปเลย

แอบคิดจริงๆ นะ ถ้ามีลูกจะโฮมสคูลโลดเลยดีมั้ย?
ความคิดเห็นที่ 22
"สวน" ต้องสะกดว่า "สอ-วอ-นอ-สวน"?
นั่นมันสระ "อัว" ไม่ใช่เหรอ?

"เสีย" ต้องสะกดว่า "เอ-สอ-อี-ยอ-เสีย"?
นั่นมันสระ "เอีย" ไม่ใช่เหรอ?

"เสือ" ต้องสะกดว่า "เอ-สอ-อือ-ออ-เสือ"?
นั่นมันสระ "เอือ" ไม่ใช่เหรอ?

"บรรจง" ต้องสะกดว่า "บอ-รอ-รอ-บัน-จอ-งอ-จง"?
นั่นมัน "รอ-หัน" กับสระ "โอะ" (ลดรูป) ไม่ใช่เหรอ?

"บรรจงร้อยเป็นมาลัย" สะกดว่า "บอ-รอ-รอ-บัน-จอ-งอ-จง-รอ-ไม้โท-ออ-ยอ-ร้อย-เอ-ปอ-ไม้ไต่คู้-นอ-เป็น-มอ-อา-มา-ลอ-ไม้หันอากาศ-ยอ-ไล"

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

ถ้ากลัวเด็กเขียนไม่ถูก ทำไมไม่สอนแบบนี้ไปเลย มาขนาดนี้แล้ว เอาให้สุดไปเลย
"เสือ" ไม้หน้า-สอเสือ-พินท์อิ-ฟันหนู-ตัวอออ่าง"
"เสีย" ไม้หน้า-สอเสือ-พินท์อิ-ฝนทอง-ตัวยอยักษ์"
ความคิดเห็นที่ 88
การฝึกอ่านแบบแจกลูกสะกดคำ มีเหตุผลตามลักษณะภาษาไทยนะครับ

สำหรับท่านที่คิดว่าจะฝึกอ่านยังไงก็อ่านออกได้เหมือนกัน
ผมแนะนำให้สละเวลาอ่านหนังสือเล่มนี้
จะช่วยสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้มาก

"ลักษณะภาษาไทย"
ของ ศ.ดร. คุณบรรจบ  พันธุเมธา
http://e-book.ram.edu/e-book/t/TH101(41)/th101(41)-1-1.pdf

ฉบับเต็ม
http://e-book.ram.edu/e-book/inside/html/dlbook.asp?code=TH101(41)

.

หากจะบอกว่าฝึกอ่านยังไง ก็อ่านได้เหมือนกัน
ก็จะทำนองเดียวกันกับ จะเรียนแคลคูลัสไปทำไม ในชีวิตจริงก็ใช้แค่บวบลบคูณหาร

ภาษาไทยเรานั้น แต่เดิมมีการถ่ายทอดการฝึกอ่านออกเสียงโดยอ้างอิง "ฐานกรณ์"

การแจกลูกสะกดคำ คือ การฝึกให้เด็ก "คุ้นเคย" กับการ "เปล่งเสียง"
โดยสัมพันธ์กับ "แหล่งกำเนิดเสียง" หรือส่วนของอวัยวะในช่องปาก ช่องคอ
ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการกำเนิดเสียง

หากท่านลอง "อ่านออกเสียง" พยัญชนะไทย ตั้งแต่ ก - ฮ
ท่านจะพบว่า . . .

หากท่านอ่านออกเสียง ก ข ค ท่านจะรู้สึกที่คอ เพราะเสียงเริ่มเปล่งออกจากฐาน "เพดานอ่อน"

หากท่านอ่านออกเสียง จ ฉ ช ซ ท่านจะรู้สึกที่ฟันกรามลึกๆ เพราะเสียงเริ่มเปล่งออกจากฐาน "เพดานแข็ง"

หากท่านอ่านออกเสียง ด ต ถ ท ท่านจะรู้สึกที่ฟันซี่หน้าๆ เพราะเสียงเริ่มเปล่งออกจากฐาน "ปุ่มเหงือก"

หากท่านอ่านออกเสียง บ ป ผ ฝ พ ฟ ท่านจะรู้สึกที่ริมฝีปาก เพราะเสียงเริ่มเปล่งออกจากฐาน "ริมฝีปาก"

หากท่านอ่านออกเสียง ง ญ ณ น ม ท่านจะรู้สึกขึ้นจมูก ร่วมกันกับฐานที่เปล่งจาก เพดานอ่อน แข็ง ปุ่มเหงือก ริมฝีปาก

รายละเอียดเหล่านี้ จึงเป็นที่มาของการเรียงลำดับอักษรไทย จาก ก.ไก่ จนถึง ฮ.นกฮูก
นิยามเหล่านี้ อันที่จริงเป็นสมมติของนักภาษาศาสตร์
สาระคือปราชญ์โบราณท่านพยายามจำแนก แจงแจง
ให้เห็นลักษณะการเกิดเสียงของภาษาไทย
ซึ่งภาษาอื่นๆ ก็มีลักษณะเช่นนี้เหมือนกัน

หากท่านพยายามออกเสียงสระในภาษาไทย
อะ อา อิ อี อึ อือ อุ อู . . .
ท่านจะพบว่ามันคือลักษณะการ "ขับลม" สั้น ยาว ผ่านช่องท้อง กระบังลม หน้าอก ช่องคอ ช่องปาก
ลมนั้นไหลผ่านฐานกรณ์ พร้อมการเคลื่อนไหวของลิ้น และการขบฟัน ขยับรูปปาก ที่แตกต่างตามพยัญชนะ
มีเสียงสูงต่ำของวรรณยุกต์ ดั่งโน้ตดนตรี ที่ซึมซับรับจากโทนเสียงที่ได้ยินทุกวัน ช่วยควบคุมกำกับความหมาย
จนเสียงเปล่งออกมาผ่านปลายปาก เป็นภาษาใช้สื่อสารกัน

เสียงสระนี้ เป็นนิยามสมมติของความลึกซึ้งและซับซ้อน ของการเกิดเสียงในลักษณะทางภาษาไทย
ไม่ใช่เพียงการสมมติ ขีดๆ เขียนๆ ประดับไว้ร่วมกับอักษรให้จำเป็นคำเท่านั้น

ในหลายภาษา เสียงของคำบางคำ เพียงแต่เปล่งออกมาก็ยังยาก
หากจะสมมตินิยาม เป็นบัญญัติไว้ ยากยิ่งกว่า
จึงต้องฝึกฝน รับการถ่ายทอด จากการฟัง

หากจะถามว่าการฝึกอ่านแบบแจกลูกสะกดคำสำคัญยังไง
มันเป็นลักษณะการถ่ายทอดทางภาษาแบบ native นะครับ
เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกชาติ ทุกภาษา ทุกเผ่าพงศ์พันธุ์ ถ่ายทอดกันมารุ่นต่อรุ่น

.

การเริ่มต้นฝึกอ่านโดยแจกลูกสะกดคำ
จะช่วยสร้างทักษะ ให้เด็กสร้างความคุ้นเคย
โดยใช้ "ความจำ" ช่วยสร้าง "การรับรู้อัตโนมัติ" ในการสร้างคำ สร้างประโยค จากการฝึกอ่าน
ไปพร้อมกับการที่อวัยวะภายในช่องท้อง ทำงานผสานกันกับอวัยวะภายในช่องคอ ช่องปาก
จนเปล่งเสียง ถ่ายทอดสารที่ต้องการสื่อ

เหนือกว่าการอ่านออกเขียนได้ คือ พัฒนาการในการซึมซับสุนทรียภาพทางภาษา

เด็กสมัยนี้พูดไม่ชัด ผันวรรณยุกต์ไม่ได้ และขาดจินตนาการในการใช้ทักษะทางภาษา
โดยส่วนตัว ผมคิดว่านี่คือผลลัพธ์ของการเปลี่ยนวิธีถ่ายทอดโดยไม่อ้างอิงลักษณะภาษาไทยแบบเดิม

มองอย่างใจกว้าง โลกมันเปลี่ยนไป จะเอาด่วน เอาเร็ว เอาอ่านออกเขียนได้ ง่ายๆ เร็วๆ ก็คงทำได้จริง
หากท่านคิดว่าต้องการเพียงแค่ให้บุตรหลานอ่านออกเขียนได้ ก็ตามนั้นครับ

แต่อย่างน้อยการฝึกฝนทักษะการใช้ภาษาโดยอ้างอิงฐานกรณ์ตามหลักสัทศาสตร์
จะเป็นพื้นฐานให้เด็กสามารถเรียนรู้ภาษาต่อๆ ไปได้ง่าย
หากภาษานั้นๆ มีลักษณะภาษาคล้ายคลึงกันครับ
ความคิดเห็นที่ 25
ไม่ใช่นักการศึกษา ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ ความเห็นส่วนตัว
เพิ่งรู้ว่ามีการสอนสะกดคำแบบนี้ด้วย ตลกดีแฮะ

พยัญชนะไทย กับ สระไทย มันไม่มากเลยนะ
การประสมคำระหว่าง สระ กับพยัญชนะ ก็มีตำแหน่งของมันอยู่แล้ว จำหลักการแค่นี้คงไม่เปลืองสมองเด็กมากมาย
สระ -ะ -า อยู่หลังพยัญชนะ
สระ -ิ -ี -ึ -ือ อยู่บนพยัญชนะ
สระ เ- แ- อยู่หน้าพยัญชนะ
สระ เ-ีย ครอบพยัญชนะ

บาง คห. คำว่า แปด  ปอ แอ ดอ ทำไมถึงกลัวเด็กจะสะกดเป็น ปแด ละครับถ้าจำหลักได้ว่า สระ แ- ต้องอยู่หน้าพยัญชนะ
และมันไม่ถูกเลยที่จะสะกดคำที่เป็น สระ เ-๊ย แยกเป็น 3 คำ เช่น เอ ขอ อี ยอ นอ
เด็กจะไปรู้ได้ไง ว่า เอ อี ยอ คือ สระ เ-ีย ตัวเดียว แทนทีจะจำ สระ เ-ียตัวเดียวเวลาเจอคำใหม่ต้องจำเป็น เอ อี ยอ ไม่ถูกแน่ๆ

ผมจะไม่ยุ่ง
ความคิดเห็นที่ 2
เค้าจะสอนอย่างไรก็ช่างเค้าค่ะ เราสอนลูกหลานเราให้อ่านออกเขียนได้ก็พอแล้ว

เพราะภาษาไทยระบบตัวสะกดเหมือนภาษาอังกฤษ

English : เออะ อิ อิง เลอะ อิ ลิชช ไม่เห็นเค้าสะกด อิ งอ ลอ อิ ชอ

คนคิดหลักสูตรน่าจะพิจารณาตัวเองได้แล้วนะคะ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่