ทุนนิยมกลับใจ... หนทางสู่การลดความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืน

ประเทศไทยเคยติดอันดับประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำด้านรายได้มากที่สุด โดยวัดจากอัตราความมั่งคั่งที่ถือครองโดยกลุ่มประชากรที่ร่ำรวยที่สุดร้อยละ 1 พบว่าประเทศไทยติดอันดับ 3 ที่มีความแตกต่างด้านความเหลื่อมล้ำ โดยมีระยะห่างระหว่างคนรวยและคนจนที่กว้างขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้ว่ากราฟเส้นความยากจนจะลดลงก็ตาม



ปรากฏการณ์ความเหลื่อมล้ำในหลายๆประเทศ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนานั้น โดยเป็นไปในลักษณะที่กลุ่มคนที่ร่ำรวยที่สุด รวยขึ้นอย่างมหาศาล และกำลัง “ทิ้งระยะห่าง”  กับคนร่วมสังคมที่เหลืออย่างรวดเร็วแบบไม่เห็นฝุ่น

ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระ กล่าวถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยตอนหนึ่งในงาน “รวมใจ…นำไทยยั่งยืน” ที่จัดขึ้นโดย นสพ.ประชาชาติธุรกิจว่า

"โลกของเรากำลังอยู่ในสภาวะ Post-Truth ซึ่งคนกำลังนำความชอบและไม่ชอบเป็นที่ตั้ง มากกว่าการคิดวิเคราะห์ข้อดี ข้อเสีย เหตุผล ... ทำให้เกิดความขัดแย้งและไม่สงบในทุกมุมโลก  สาเหตุหนึ่งคือความเหลื่อมล้ำทางสังคม ทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกไม่เท่าเทียมและถูกละทิ้ง เมื่อได้สั่งสมความรู้สึกเหล่านี้ ท้ายที่สุดก็เกิดเป็นความโกรธ ส่งผลต่อความตึงเครียดทางสังคม และเกิดสังคมแตกแยกตามมา

เราทุกคนต้องลุกขึ้นมาช่วยกันดูแลสังคมตามกำลังและความสามารถ กระนั้น สังคมไทยไม่ได้มีแค่รัฐและประชาชน แต่ยังมีภาคธุรกิจที่เป็นส่วนหนึ่งในการทำให้สังคมดีขึ้น และสามารถเข้ามาช่วยเหลือได้ผ่านการทำ csr  ซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ และไม่ใช่การทำเพื่อการประชาสัมพันธ์หรือแก้ไขภาพลักษณ์บริษัท"  
ม.ร.ว.ดิศนัดดา กล่าว



ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ก็คือเศรษฐกิจใน ระบบทุนนิยม  ที่กล่าวเช่นนี้ ไม่ได้จะสื่อว่า ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเป็นสิ่งเลวร้ายไปซะหมด เพราะโลกเราที่เจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็วได้ ก็เป็นผลพวงจากการขับเคลื่อนด้วยระบบทุนนิยมเป็นตัวนำ

ความเหลื่อมล้ำในสังคมที่เกิดขึ้น คือผลจากการที่โลกมีการขับเคลื่อนโดยระบบทุนนิยมอย่างสุดโต่งจนเกินไป   แม้ว่าระบบทุนนิยมจะเป็นระบบเศรษฐกิจที่ให้เสรีภาพในการแข่งขันกับมนุษย์มากกว่าระบบเศรษฐกิจแบบอื่นๆ แต่ในทางกลับกันก็สร้างผลกระทบในด้านลบเอาไว้อย่างมหาศาลเช่นกัน

นอกจากการสร้างความเหลื่อมล้ำและความยากจนในระดับรุนแรงแล้ว และการทำลายทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังลดทอนสิ่งที่มีคุณค่าทางสังคมให้กลายเป็นเรื่องของการซื้อขายด้วยเงินตรา ฯลฯ  ซึ่งภาครัฐเอง ก็พยายามแก้ไขโดยลดช่องว่างดังกล่าวให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ผ่านโครงการประชารัฐฯ ที่เป็นการทำงานร่วมกัน ระหว่าง ภาครัฐ - เอกชน - ประชาชน



นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) แสดงความคิดเห็นในเวทีเดียวกัน ต่อเรืองความเหลื่อมล้ำ ในฐานะของภาคเอกชนที่มีบทบาทร่วมขับเคลื่อนประเทศ ผ่านโครงการประชารัฐฯ

"ความเหลื่อมล้ำในสังคมเป็นเรื่องที่น่าขบคิด ทั้งในมิติเรื่องความรวย-จน ความสุข–ทุกข์ โอกาสที่แตกต่างกัน การเข้าถึงสิ่งจำเป็นพื้นฐานที่แต่ละคนพึงมี ซึ่งการมีโครงสร้างที่เชื่อมโยงคนทุกภาคส่วนเข้าด้วยกันก็เป็นอีกแนวทางสำคัญที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำต่างๆ

กลุ่มไทยเบฟ อยู่กลุ่ม E3 ดูแลเรื่องการเกษตร การแปรรูป และการพัฒนาการท่องเที่ยวในชุมชน ดำเนินงานใน 18 กลุ่มจังหวัด หลักๆคือการที่ชุมชนลงมือทำ โดยที่ไทยเบฟจะเข้าไปช่วยขับเคลื่อน และรัฐบาลจะเข้ามาสนับสนุน เป้าหมายคือการสร้างรายได้ให้ชุมชน โดยที่คนในชุมชน ประชาชนมีความสุข”
นายฐาปนกล่าว



ด้านนายศุภชัย เจียรวนนท์ ที่ปัจจุบันนั่งในตำแหน่งประธานคณะผู้บริหารของเครือเจริญโภคภัณฑ์ และบริษัททรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการนำหลักความยั่งยืนมาบริหารธุรกิจ โดยไม่ได้หวังผลตอบแทนเฉพาะ "กำไร" เพียงเท่านั้น แต่ทุกอย่างจะต้องคืนคุณค่าสู่สังคมไปพร้อมๆกัน
         

"ที่ผ่านมา ซี.พี.ได้จัดทำยุทธศาสตร์ความยั่งยืน 12 ด้านตามนโยบาย “Sustainability Policy” โดยให้ความสำคัญกับ 6 คุณค่าและคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศและประชาชนในประเทศที่เข้าไปลงทุนทำธุรกิจ ไม่ใช่เพียงหวังเฉพาะผลกำไรในการประกอบธุรกิจเท่านั้น

ขณะเดียวกัน สิ่งสำคัญที่สุดคือการสร้างความยั่งยืนนั้นจะต้องลดความเหลื่อมล้ำ รวมถึงสร้างบุคคลากรที่มีคุณภาพ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กร ซึ่งทางซี.พี.ได้มีส่วนร่วมในการจัดทำโครงการประชารัฐ ตอบโจทย์การสร้างความยั่งยืนลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทั้งการพัฒนาด้านการศึกษา สร้างวิชาชีพ สร้างรายได้ให้กับชุมชน" นายศุภชัยกล่าว

-----------------------------------------------------------------------------


เหล่านี้คือวิสัยทัศน์บางส่วนของตัวแทนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ที่ในปัจจุบันการทำธุรกิจแบบมุ่งหวังผลกำไรเพียงอย่างเดียว ดูจะไม่ตอบโจทย์กับสิ่งที่ผู้คนในสังคมคาดหวัง  การคืน "กำไร" กลับคืนสู่สังคมในรูปแบบของการช่วยเหลือต่างๆ และก้าวเดินไปพร้อมๆกัน เป็นสิ่งที่จะช่วยลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำได้อย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชน และภาคประชาชน จับมือเดินไปพร้อมๆกัน โดยไม่ลืมคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นที่ตั้ง.
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่