จบคดียิงM79 ใส่ กปปส.ฎีกายืนคุกตลอดชีวิต4จำเลย

ศาลฎีกา พิพากษายืนคุกตลอดชีวิต "4 จำเลย"  ยิงระเบิดเอ็ม 79 ใส่ผู้ชุมนุม กปปส.ปี 57 ลงบิ๊กซี ราชดำริ เจ็บ-ตาย ทนายเผย ต้องรับโทษตามฎีกา ระหว่างพิจารณา 3 ศาลไม่เ

ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ถ.เจริญกรุง 63 วันที่ 22 ส.ค.60 ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดียิงลูกกระสุนระเบิด เอ็ม 79 ใส่ผู้ชุมนุมกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) คดีหมายเลขดำ อ.3734/2557 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายชัชวาล หรือชัช ปราบบำรุง อายุ 48 ปี , นายสมศรี มาฤทธิ์ อายุ 43 ปี , นายสุนทร ผิผ่วนนอก อายุ 52 ปี และนายทวีชัย วิชาคำ อายุ 42 ปี เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดต่อชีวิตฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน , ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน , ทำร้ายร่างกาย , พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนฯ พ.ศ.2490 และความผิด ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

         โดยอัยการโจทก์ ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 8 ต.ค.57 ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 4 ก.ย.58 หลักฐานที่จำเลย นำสืบมา ไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบได้ จึงพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่ มีความผิดตามฟ้อง ให้ประหารชีวิตสถานเดียว แต่คำให้การของจำเลย เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยทั้งสี่ไว้ตลอดชีวิต และให้จำเลยร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนผู้บาดเจ็บ 534,700 บาท ด้วย  
         ต่อมาจำเลย ยื่นอุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษาเมื่อปี 2558 ยืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยจำเลยก็ได้ยื่นฎีกาสู้คดี
         ทั้งนี้ น.ส.ภาวิณี ชุมศรี ทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ดูแลคดีให้จำเลย เปิดเผยว่า คำพิพากษาของศาลฎีกาเห็นว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์ พิพากษามา จึงพิพากษายืนให้จำคุกไว้ตลอดชีวิต ซึ่งจำเลยทั้งหมดต้องรับโทษตามคำพิพากษาที่ให้จำคุกตลอดชีวิต ขณะที่ตลอดเวลาการพิจารณา ตั้งแต่ศาลชั้นต้นจำเลยทั้งสี่ ไม่ได้รับการประกันตัวแต่อย่างใด
         ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้อัยการโจทก์ ระบุพฤติการณ์จำเลยในคำฟ้องว่าจำเลยทั้งสี่กับพวก ไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนและวัตถุระเบิดติดตัวและโดยไม่มีเหตุสมควร อีกทั้งไม่ใช่กรณีที่ต้องมีอาวุธปืนเครื่องกระสุน และวัตถุระเบิดติดตัว โดยจำเลยก็ไม่ใช่เจ้าพนักงาน และไม่ได้รับการยกเว้นใดๆ ตามกฎหมาย จึงเป็นการฝ่าฝืนประกาศและกฎหมาย

         นอกจากนี้ จำเลยทั้งสี่กับพวกมีเจตนาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ได้ร่วมกันใช้เครื่องยิงลูกกระสุนระเบิด ขนาด 40 มิลลิเมตร แบบเอ็ม 79 ยิงลูกระเบิดชนิดสังหาร(HE) ขนาด 40 มิลลิเมตร ซึ่งเมื่อเกิดการระเบิดขึ้นมีรัศมีฉกรรจ์ 5 เมตร จากจุดระเบิด ยิงไปยังผู้ชุมนุมทางการเมืองซึ่งใช้ชื่อว่า "คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส." ที่มีประชาชนเข้าร่วมชุมนุมจำนวนมาก บริเวณสี่แยกราชประสงค์ต่อเนื่อง เมื่อมาถึงหน้าห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี สาขาราชดำริ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กทม.โดยกระสุนปืนที่จำเลยทั้งสี่กับพวก ยิงไปดังกล่าวตกใส่บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี สาขาราชดำริ ทำให้เกิดระเบิดขึ้นจำนวน 1 ครั้ง สะเก็ดระเบิดได้กระจายถูกร่างกายของผู้เข้าร่วมชุมนุมและประชาชนทั่วไปที่อยู่บริเวณดังกล่าว จนเป็นเหตุให้ให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย , มีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสไม่อาจประกอบกรณียกิจได้ตามปกติอีก 9 ราย , มีผู้ได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจด้วยจำนวน 12 ราย อีกทั้งยังเป็นเหตุให้แผงร้านค้าและรถสามล้อโดยสารหรือรถตุ๊กตุ๊ก เหตุเกิดที่แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี และแขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กทม.
         โดยส่วนของคำพิพากษาศาลฎีกานั้น สรุปความได้ว่า ตามที่จำเลยสู้ว่าระหว่างที่อยู่ในการควบคุมตัวของทหารตามกฎอัยการศึกเป็นเวลา7 วัน มีการทำร้ายร่างกายเพื่อให้สารภาพนั้น ศาลเห็นว่าเป็นเพียงการกล่าวอ้างลอยๆ เท่านั้น และในตอนที่ถูกส่งต่อให้ตำรวจก็ไม่มีการแจ้งต้องพนักงานาอบสวนในเรื่องนี้ อีกทั้งจำเลยที่ 1 ที่เข้าร่วมชุมนุมเรียกร้องกับกลุ่ม นปช. น่าจะเข้าใจเรื่องสิทธิเสรีภาพเป็นอย่างดี แต่เมื่อมีการนำตัวมาแถลงข่าวและทำแผนก็ไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้ และหากมีการทำร้ายร่างกายจำเลยทั้ง 4 จริงวันแถลงข่าวและทำแผนก็น่าจะปรากฏร่องรอยอยู่บ้าง

         นอกจากนั้นในคำให้การของ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กสม. ที่เข้าตรวจจำเลยทั้ง 4ในเรือนจำ ก็ไม่ได้มีการตรวจพบบาดแผลและตามที่จำเลยอ้างถึงเอกสารการประชุม กสม. ก็ไม่ปรากฏว่ามีการพูดถึงกรณีของจำเลยทั้ง 4 คน ขณะที่การแถลงข่าวและทำแผนประกอบคำรับสารภาพก็เป็นโอกาสที่จำเลยทั้งสี่จะได้ชี้แจงต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างการควบคุมตัว ประกอบกับจำเลยทั้งสี่ ก็ยังไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพและขอขมาต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิตด้วย หากมีการทำร้ายร่างกายจริงก็ต้องปรากฏร่องรอยบาดแผลหลงเหลืออยู่ให้เห็นในระหว่างการแถลงข่าว
         ส่วนที่จำเลยอ้างว่า เมื่อถูกนำตัวส่งพนักงานสอบสวนแล้วในระหว่างการสอบปากคำไม่มีผู้ที่ไว้วางใจและทนายความนั้น ในเอกสารสอบปากคำจำเลยได้ปรากฏลายมือชื่อของทนายความและยังมีเอกสารรับรองของทนายความที่เข้าร่วมการฟังสอบปากคำมาด้วย อีกทั้งพนักงานสอบสวนที่ทำการสอบปากคำพยานจำเลย ยังมาเบิกความยืนยันอีกด้วยว่ามีการให้ทนายความเข้าร่วมฟังการสอบปากคำด้วย ศาลจึงเห็นว่าพนักงานสอบสวนคงไม่นำผู้ที่ไม่ได้เป็นทนายมาเข้าร่วมฟังการสอบสวน ศาลฎีกาจึงพิจารณาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์.http://www.komchadluek.net/news/regional/292925
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่