เปิดเผย "แผนการเงิน" มาตรฐานฉบับมนุษย์เงินเดือน ในแต่ละช่วงอายุที่เราต้องมี


การวาง "แผนการเงิน" เดี๋ยวนี้เริ่มมีคนให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะถ้ายิ่งเรารู้จักการวางแผนมากขึ้นเท่าไหร่ เราจะยิ่งเป็นหนี้น้อยลง มีเงินเก็บมากขึ้น ความเสี่ยงในชีวิตก็จะลดลง ที่สำคัญความเครียดในชีวิตก็จะลดน้อยลงด้วย

แต่ก็มีคำถามก็คือ เราจะเริ่มต้นวางแผนการเงินยังไงดี ซึ่งก็สามารถไปลองอ่านได้จากลิ้งค์นี้เลย ขอแนะนำให้อ่านจริงๆ

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

แต่ถ้ามาโฟกัสเรื่องแผนการเงินที่สำคัญๆก่อนเลย ตามช่วงอายุของเรา ว่าเราควรเริ่มต้นที่อะไรก่อนกัน ลองมาดูกันได้เลย

"แผนการเงิน" ช่วงเริ่มต้นทำงาน - 30 ปี

ช่วงนี้สิ่งนึงที่เราขาดไม่ได้เลยก็คือ "เป้าหมายชีวิต" คำนี้เป็นคำที่บางคนอายุ 50 ปีก็ยังไม่รู้ว่าเป้าหมายชีวิตของเราคืออะไร ดังนั้นช่วงนี้ควรหาเป้าหมายชีวิตของเราให้เจอนะ เพราะเป้าหมายชีวิตจะเป็นตัวกำหนดเป้าหมายการเงิน และเป้าหมายการเงินจะเป็นตัวกำหนด "แผนการเงิน" ของเรานั่นเอง

ช่วงอายุนี้ยังสามารถลองผิดลองถูกได้เยอะอยู่เหมือนกันพลาดให้เยอะ ลุกให้ไว เดี๋ยวประสบการณ์จะทำให้เราเก่งขึ้นเอง แต่มีแผนการเงินอยู่อันนึงที่ผมแนะนำว่าช่วงอายุนี้ควรใส่ใจไว้หน่อยก็คือ แผนการบริหารความเสี่ยงหรือแผนประกัน อย่างน้อยที่สุดเมื่อเราเริ่มต้นทำงานได้เราก็ไม่ควรปล่อยให้ตัวเองเป็นภาระคนอื่นไม่ทางใดก็ทางนึง ถ้าเราโชคร้ายเกิดป่วยหรือเจออุบัติเหตุขึ้นมา อย่างน้อยเจ็บกายแล้วก็อย่าให้เจ็บเงินในกระเป๋าด้วยเลย

ช่วงอายุ 31 - 45 ปี

ช่วงอายุแถวๆนี้น่าจะเป็นช่วงที่เราเริ่มสร้างครอบครัวของตัวเองกัน ดังนั้นแผนการเงินที่ควรเพิ่มเติมจากแผนบริหารความเสี่ยงเข้าไปจากช่วงอายุแรก ก็น่าจะเป็น "แผนการศึกษาบุตร" หรือการเตรียมเงินเพื่อส่งลูกให้ได้เรียนตามที่เราตั้งใจเอาไว้

หลายๆคนชอบมองว่าเรื่องค่าเรียนลูกเราเป็นเรื่องฉุกเฉิน ยังไงเรื่องค่าเรียนก็ไม่ใช่เรื่องฉุกเฉิน เพราะเรารู้ล่วงหน้าอยู่แล้วว่าต้องจ่ายเมื่อไหร่ แล้วรู้อีกด้วยซ้ำว่าต้องจ่ายเท่าไหร่ ดังนั้นมันเป็นเรื่องที่เตรียมตัวได้แน่นอน และอีกแผนนึงที่ควรเริ่มเตรียมตัวได้แล้วก็คือ "แผนเกษียณอายุ"

แต่ด้วยเงินเรามีอย่างจำกัดจะให้ทำแผนการเงินแบบสมบูรณ์ทุกแผนพร้อมกันก็น่าจะเป็นเรื่องที่ลำบากอยู่เหมือนกัน ผมแนะนำว่าอาจจะเริ่มต้นออมเงินบางส่วนก่อน เช่น ตามแผนเราอาจจะต้องออมเดือนละ 10,000 บาทเพื่อเป้าหมายเกษียณก็อาจจะออม 2,000-3,000 บาทก็สามารถทำได้ แล้วค่อยออมเพิ่มตอนเราอายุเยอะขึ้น

ช่วง 46 - เกษียณอายุ

ช่วงนี้ไม่ต้องพูดถึงเรื่องอื่นแล้ว แผนสุดท้ายที่เราต้องโฟกัสลงไปเลยก็คือ "แผนเกษียณอายุ" ช่วงอายุนี้ควรคำนวณอย่างละเอียดเลยว่าเรามีเงินเพียงพอสำหรับเกษียณอายุแล้วหรือยัง ? (ลองอ่านเนื้อหาเกี่ยวกับการเกษียณอายุเพิ่มเติมได้ ด้านล่าง..)

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

เพราะเกมของเรื่องเกษียณอายุไม่ใช่เกมส์ PS4 ที่เวลาเราเล่นไม่ชนะแล้วกด Restart มาเริ่มกันใหม่ได้ แต่เกมเกษียณมันพลาดแล้วพลาดเลย นี่แหละคือสิ่งที่น่ากลัวที่สุด เมื่อวันนึงรายได้เราหยุดลง แต่รายจ่ายเราไม่เคยหยุดตาม เราต้องมั่นใจว่าเราสามารถใช้ชีวิตได้ตลอดรอดฝั่งจริงๆ

จริงๆแล้วเรื่องการวางแผนการเงินไม่มีอะไรตายตัวเลย ขึ้นอยู่กับว่าความจำเป็นของบุคคลด้วย อย่างเรื่องของเกษียณอายุถ้าเรายิ่งวางแผนเร็วได้ก็ยิ่งดี วางแผนตั้งแต่ตอนเริ่มต้นทำงานใหม่ เพราะไม่จำเป็นต้องมีการเก็บเงินต่อเดือนในจำนวนที่เยอะ สำหรับการวางแผนเกษียณถ้าเราเก็บเงินช้าไป 7 ปีเราต้องเก็บเงินเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าตัวเสมอ

เช่น ถ้าเราลองคำนวณเรื่องวางแผนเกษียณแล้วว่าเราต้องเก็บเงินเดือนละ 10,000 บาทถึงจะเพียงพอ แต่ถ้าเราออมเงินช้าไปอีก 7 ปี คือเรามาเริ่มออมเงินตอนอายุ 37 ปี ถ้าเป้าหมายเกษียณเรายังอยากเกษียณที่อายุเท่าเดิม เราต้องออมเงินถึง 20,000 บาทต่อเดือนเพื่อให้ถึงเป้าหมายอันนั้น แต่ถ้าเรายิ่งออมช้าไปอีก 7 ปี คือตอนอายุ 45 ปี เราจะต้องออมสูงถึง 40,000 บาทเลยทีเดียวล่ะ เห็นแบบนี้แล้วแทบอยากจะย้อนเวลากลับไปออมเงินตั้งแต่ตอนเกิดกันเลยทีเดียวล่ะ ! (ฮา)

อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ https://goo.gl/eRtyuF

ติดตามเรื่องเล่าเข้าใจง่ายๆของ Money Buffalo ได้ที่
Website http://www.moneybuffalo.in.th หรือ
FB Page : fb.com/moneybuffalo
LINE : https://goo.gl/GAQxF8
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่