Battle of Dunkirk : "ประวัติศาสตร์ปฏิบัติการอพยพที่ดันเคิร์ก!" สู่ภาพยนตร์ Dunkirk (2017)

บทความและรูปจาก
http://www.scifi.siligon.com/s_39dunk.html

เพจสนทนาไซไฟ
https://www.facebook.com/TalkSciFi





คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

เมื่อประกาศว่าจะมีหนังใหม่ของ ผู้กำกับ "คริสโตเฟอร์ โนแลน" แล้ว (ผลงานอย่าง Inception, Dark Knight, ล่าสุด Interstellar2014
ก็เป็นอันคอหนังย่อมต้องจับตาติดตามกันเป็นพิเศษ ... และหนังล่าสุดที่กำลังถ่ายทำอยู่ขณะนี้ ก็คือเรื่อง Dunkirk (2017) เป็นหนังที่ว่าด้วย เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ช่วงย่อยช่วงหนึ่งอันเป็นช่วงแรกๆของสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นคือกรณี "การอพยพที่ดันเคิร์ก" (Dunkirk Evacuation) ... การสู่รบกันระหว่าง สัมพันธมิตร(อังกฤษ,ฝรั่งเศส,เบลเยี่ยม) VS นาซีเยอรมนี กับสมรภูมิช่วงที่เรียกว่า "ยุทธการณ์ดันเคิร์ก" (Battle of Dunkirk) ระหว่าง 26 พ.ค. - 4 มิ.ย. 1940 ... ในที่นี้จึงได้ยกเท้าความเรื่องราวของประวัติศาสตร์จริงๆที่เกิดขึ้นช่วงนั้น มีความเป็นมาอย่างไร? มีฝ่ายใด ? และใครที่เกี่ยวข้องบ้าง? ฯลฯ ... ซึ่งน่าจะช่วยการเป็นการเสริมความรู้เรื่องราวภาพรวมสังเขป + เรียกน้ำย่อย ให้เตรียมดูหนังให้ได้อรรถรสยิ่งๆขึ้นกันต่อไป ... โดยหากจะสรุปแก่นของ กรณี Dunkirk แบบรวบรัดย่อสุดแล้วก็คือ การถอนทัพ-อพยพคนกว่าสามแสน(รวมสัมภาระอีก)ของฝ่ายสัมพันธมิตร ที่ถูกปิดล้อมโจมตีหนักโดย นาซีเยอรมนี ... โดยการอพยพนั้นต้องข้ามทะเลระยะทางเส้นทางต่างๆ เฉลี่ยกว่า 100 กม.! ภายใน 10 วัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องเล็กๆเป็นเรื่องยากเข็ญ! รอดมาได้ขนาดนั้นถือว่า อัศจรรย์ยิ่ง ... ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยขยายความ ก็ตามล่างนี้ครับ (*และมี ตัวอย่างภาพเบื้องหลังการถ่ายทำ Dunkirk (2017) บางส่วน อยู่ด้านล่างสุด)



ตัวอย่างหนังสือพิมพ์ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 พาดหัวข่าวกรณี Dunkirk / กับภาพบรรยากาศเหตุการณ์ ปฏิบัติการอพยพที่ดันเคริ์ก



- สงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มอุบัติในพื้นที่ยุโรปก่อน : เมื่อ 1 ก.ย. 1939 (พ.ศ.2482) "นาซีเยอรมนี"  (Nazi Germany) หรือในนาม "อาณาจักรที่สาม" (Third Reich) ภายใต้การนำของ ผู้นำสูงสุด "อดอล์ฟ ฮิตเลอร์" (Adolf Hitler) ... ทำการ บุกยึดโปแลนด์ แบบสายฟ้าแลบ!

- 3 ก.ย. ต่อมา อังกฤษและฝรั่งเศส จึงประกาศสงครามกับเยอรมนี (ด้วยภายใต้สนธิสัญญาช่วยเหลือกันระหว่าง อังกฤษและฝรั่งเศสและโปแลนด์ ที่ได้ทำกันไว้ก่อนหน้า) เรียกว่าฝ่าย "สัมพันธมิตร"

- นาซีเยอรมนี ยึดทั้งโปรแลนด์, นอร์เวย์, เดนมาร์ค ได้อย่างรวดเร็ว ระหว่าง ก.ย.1939 - เมษา 1940



กองทัพเกรียงไกรของ นาซี นำโดย ฮิตเลอร์ !


- นาซี รุกคืบต่อไป มุ่งยึดฮอลแลนด์และเบลเยี่ยม ใน 10 พ.ค.1940 ... อันเป็นวันเดียวกันนี้ อังกฤษบีบนายก "เนวิลล์ เชมเบอร์เลน"  (Neville Chamberlain) ลาออก แล้วตั้ง "วินสตัน เชอร์ชิล" (Winston Churchill) อันเป็นรัฐมนตรีกระทรวงทหารเรือเดิม ขึ้นเป็นนายกแทน

- 13 พ.ค. 1940 นาซี ยึดครองพื้นที่เนเธอร์แลนด์ได้สำเร็จ (ราชินีเนเธอร์แลนด์ ต้องลี้ภัยไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น ณ กรุงลอนดอน)

- ที่ผ่านๆมา กองทัพอังกฤษและฝรั่งเศส พยายามต้าน นาซีเยอรมัน แต่ยับยั้งไม่ได้ นาซียังคงแข็งแกร่ง ลงเอย อังกฤษและฝรั่งเศสต้องถอยร่นมาตั้งหลัก ณ ชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติค

- และแล้วเป้าหมายรายต่อไปคือ เบลเยี่ยม ก็ถูกนาซียึดครองได้ในที่สุด ... "พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ 3 " กษัตริย์เบลเยี่ยมประกาศยอมแพ้และตกเป็นเชลยศึก (แต่คณะรัฐบาลมีมติไม่รับการยอมแพ้ จึงลี้ภัยไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น กรุงลอนดอน)

- ทหารเบลเยี่ยมส่วนหนึ่งถอยมาตั้งมั่น ณ เมือง"ดันเคิร์ก" (Dunkirk, ประเทศฝรั่งเศส) อันอยู่ริมฝึ่งมหาสมุทรแอตแลนติค บริเวณตอนเหนือของฝรั่งเศสใกล้พรมแดนเยลเยี่ยม เพื่อสมทบกับกับทหารฝรั่งเศสและอังกฤษ ที่ถอยร่นมาจากการถูกโจมตีจากนาซี เพื่อปกป้องเบลเยี่ยมเช่นกัน

- นาซีรุกเข้าปิดล้อมดันเคริร์ก ทำให้ทหาร สามแสน! กว่าชีวิต ขนาบรอบไปด้วยกองทัพนาซี มีช่องเปิดให้หนีทางเดียวเท่านั้นคือ ออกทะเล ... จุดนี้คือจุดเริ่มของการสู้รบ สัมพันธมิตร VS นาซี ที่จะก่อเกิดเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ *การอพยพที่ดันเคิร์ก ( Battle of Dunkirk) * (อันจะเป็นเรื่องราวเหตุการณ์หลักในหนัง Dunkirk(2017) นั่นเอง)



ตัวอย่างภาพประวัติศาสตร์(จริง) ช่วง ปฏิบัติการอพยพที่ดันเคิร์ก


- 23 พ.ค. 1940 จอมพล "รุนด์สเทดท์" (Gerd von Rundstedt) แห่งนาซี ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา รับผิดชอบสมมรภูมิดันเคิร์ก ณ ขณะนั้น ได้ออกคำสั่งให้ชะลอการโจมตีไปชั่วขณะ (*ทั้งมีการปรึกษา-ได้รับอนุมัติจากฮิตเลอร์โดยตรง) ...

นัยหลัก ว่ากันว่า นายพล "แฮร์มันน์ เกอริง" อยากแสดงฝีมือกองทัพอากาศของเขา จึงโน้มน้าวฮิตเลอร์ ว่าไม่จำเป็นต้องเหนื่อยขนาดนั้น ใช้กองทัพอากาศก็พอ ให้ถอยกำลังภาคพื้นดิน เพื่อเคลียร์ให้ฝ่ายกำลังภาคอากาศโจมตีสะดวกขึ้น และฮิตเลอร์ก็อนุมัติ (ซึ่งทหารภาคพื้นดิน งงกันเป็นแถวว่าจู่ๆทำไมสั่งหยุดและถอย)

นัยหนึ่งอาจด้วยตัวแปรหลายๆอย่าง จึงประเมินกำลังนาซี ณ ขณะนั้นแล้ว อาจไม่มีกองกำลังพอจะบดขยี้ดันเคิร์กได้เร็วพลันนัก อาจจะเป็นการสูญเสียกำลังเปล่าแบบถึงได้ก็ไม่คุ้มเสีย, แต่อีกหลายนัยที่น่าสนใจ(ที่ยังเป็นข้อถกเถียงเชิงประวัติศาสตร์) คือ ...

เบื้องหลังระหว่างการชะลอโจมตีนั้น อาจมีการเจรจาลับ-สารลับ ? เกลี้ยกล่อมอังกฤษโดยเฉพาะเพื่อดึงอังกฤษมาเป็นพันธมิตร(แต่อังกฤษไม่รับ)

หรืออีกนัยคืออาจมีการเกลี้ยกล่อม-ต่อรองบางอย่างไปยังผู้นำฝ่ายสัมพันธมิตรทั้งหมด ? ให้ยอมแพ้แต่โดยดีเพื่อไม่เสียกำลังทั้งสองฝ่าย(แต่สัมพันธมิตรยังดื้อด้าน)

หรืออาจมีนัยวาระซ่อนเร้น เหตุของการชะลอโจมตีอื่นๆ นาซีอาจมีแผนอื่น-โอนกำลังไปที่อื่น-กับภารกิจอื่นๆเร่งด่วนกว่า ? (โดยเฉพาะปารีส ฝรั่งเศส) ... หรือกระนั้นอาจแค่ความชะล่าใจของนาซีเองก็ตาม ที่คิดว่างานนี้ยังไงก็ของตาย ประเมินเชิงยุทธศาตร์แล้ว ถึงแม้จะมีการอพยพยังไงก็คงไม่รอด ก็ปล่อยให้สูญเสีย-อ่อนล้าไปเอง ค่อยๆโจมตีได้ (แบบฝ่ายนาซีไม่จำเป็นออกแรงมาก หรือเปลืองกระสุนเกินไป) ... หรืออื่นๆ ฯลฯ

แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม สรุปว่า ณ ขณะนั้น นาซี มีการชะลอระดับการโจมตี ถอยกำลังทางบก ... ระหว่างนั้นจึงเปิดโอกาสดีให้กับทางฝ่ายสัมพันธมิตร มีเวลาในการจัดพลต่อต้าน ทั้งจัดวางกำลังกีดขวางการบุก รวมทั้งเตรียมอพยพออกจากพื้นที่ต่อไป


- แต่แล้ว 26 พ.ค.1940 นาซีก็มีสั่งทหารดำเนินการบุกโจมตีดันเคิร์กอย่างหนักต่อไปทั้งทางบกอากาศเต็มกำลัง ... ฝ่ายสัมพันธมิตร เมื่อเห็นว่าอยู่สถานะหน้าสิ่วหน้าขวาน จึงมีคำสั่งถอนทัพ/อพยพทันที จากชายฝั่งดันเคิร์กข้ามช่องแคบโดเวอร์ ไปขึ้นยังเมืองชายฝั่งของประเทศอังกฤษ อย่างเร่งด่วนที่สุด ... โดยระยะห่างจากฟากหนึ่ง สู่อีกฟาก เป็นระยะทางเฉลี่ยก็อยู่ที่ประมาณ 100 กว่า! กม. (หรือเกือบสองร้อย แล้วแต่เส้นทางและชายฝั่ง)



แผนที่การอพยพจากพื้นที่สมรภูมิบริเวณ เมืองดันเคิร์ก,ฝรั่งเศส สู่อีกฝั่งอันเป็นประเทศอังกฤษ ระยะทางเฉลี่ยประมาณ 100 กว่า กม


- โดยอพยพได้สำเร็จ รวมทั้งสิ้นเป็นทหารถึง 338,226 กว่านาย (จากทั้งหมดที่มีรวมกันสี่แสนกว่านาย ทั้งสัมภาระ-อาวุธต่างๆอีกต่างหาก) ใช้เวลาอพยพ 9 วันเต็มๆ ตั้งแต่ 27 พ.ค. - 4 มิ.ย. 1940 ... ด้วยคนจำนวนมากและสัมภาระอีกมากมาย กับสภาพการณ์พื้นที่ ที่ต้องอพยพแบบข้ามทะเล!ทางไกลไปอีกฟากฝั่ง ที่สำคัญยังต้องรับศึกที่รุกโจมตีเข้าเรื่อยอีกต่างหาก เหตุการณ์จึงเต็มไปด้วยความยุ่งยากลำบาก ทุลักทุเล แทบสิ้นหวัง! แต่ก็อพยพได้สำเร็จอย่างน่าอัศจรรย์ จึงกลายอีกหนึ่งสมมรภูมิสำคัญที่ประวัตศาสตร์จารึก

* "ปฏิบัติการอพยพที่ดันเคิร์ก" (Dunkirk Evacuation) มีเรียกอีกชื่อว่า "ปฏิบัติการไดนาโม" (Operation Dynamo) ด้วยการวางแผนกองบัญชาการหลัก ของราชนาวีอังกฤษ มีฐานทำงานอยู่ ณเมืองคาสเซิล ฐานทำงานดังกล่าวเป็นที่เก็บไดนาโม สำหรับปั่นไฟฟ้าในตึกในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 นั่นเอง โดยมี พลเรือ "เบิรทแรม แรมเซย์" (Bertram Ramsay) เป็นผู้บัญชาการหลักรับผิดชอบวางแผนการอพยพที่ดันเคิร์ก อันรายงานขึ้นตรงต่อ นายกรัฐมนตรี วินสตัน เชอร์ชิล



- กระนั้นถึงอพยพสำเร็จ แต่ฝ่ายสัมพันธมิตร ก็ได้รับความสูญเสียมากมาย อย่างจำต้องทิ้งกำลังพลไว้ที่ดันเคิร์กประมาณถึง 40,000 กว่าคน อันทำการต่อสู้แล้วตกเป็นเชลยศึกต่อฝ่ายนาซี ทั้งที่ตายไปอีกก็จำนวนมากอีกนับ 10,000! คน พร้อมทั้งสูญเสียสัมภาระอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมาก อาทิ อาวุธปืน/ลูกกระสุน ประมาณ 2500 กระบอก, รถยนต์อีกประมาณ 65000 คัน, เรือพิฆาตฝรั่งเศสจมไป 3, เรือพิฆาตอังกฤษจมไป 6 ฯลฯ ... อันเป็นผลจากการโจมตี ทั้งทิ้งระเบิดของเครื่องบินนาซี และตอร์ปิโดจากเรือดำน้ำนาซี ทั้งยังสูญเสียเรือเล็กใหญ่อีกหลายร้อยลำ, เสียเชื้อเพลิงนับแสนตัน, ไหนจะข้าวของเครื่องใช้อื่นๆอีก ... แต่ทางฝ่ายนาซีก็สูญเสียไปไม่น้อยเช่นกัน (ฝ่ายนาซี ก็ตายและบาดเจ็บรวมกันกว่า 20,000–30,000 คน เสียทั้งรถถังและเครื่องบินรบไปหลายร้อย)

* นายกรัฐมนตรี วิสตัน เชอร์ชิลล์ แถลงต่อมาว่า ... การอพยพดันเคิร์กได้สำเร็จ ถือเป็นสิ่งอัศจรรย์ยิ่ง เพราะเป็นภารกิจที่ทำได้ยากยิ่ง ช่วยสร้างขวัญกำลังใจต่อฝ่ายสัมพันธมิตรขึ้นเป็นอย่างมาก ด้วยสงวนกำลังพลถึงสามแสนกว่านายได้สำเร็จ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการเตรียมกลับมารับศึกต่อไป ทั้งกำชับทำนองว่า ถึงครั้งนี้ทำการสำเร็จ แต่สงครามยังไม่จบ และสงครามมิได้แพ้ชนะกันด้วยการอพยพ



ภายหลัง การอพยพที่ดันเคิร์ก อันหมากนี้ถือว่านาซีเสียที ที่กองกำลังศัตรู ณ ดันเคิร์กนั้น หลุดมือไปอย่างน่าเสียดาย ... แต่ทัพนาซีก็ยังคงเข็มแข็ง วางแผนมุ่งหน้าไปยึดฝรั่งเศสต่อ โดยผ่านพรมแดนเบลเยี่ยมเข้าสู่ฝรั่งเศส ในที่สุดก็ตีฝรั่งเศสแตกในวันที่ 9 มิ.ย.1940 และถัดจากนั้น คือวันที่ 10 มิ.ย. 1940 ก็ยึดกรุงปารีสได้สำเร็จ ... แน่ละ นาซี ไม่หยุดแค่นั้น สงครามยังคงขยายลุกลาม กลายสงครามโลกครั้งที่2 เต็มรูปแบบต่อๆไป ดังในประวัติศาสตร์ได้จารีก


ส่วนภาพยนตร์ * Dunkirk (2017) ของผู้กำกับ คริสโตเฟอร์ โนแลน นั้น ข้อมูลเบื้องต้นเผยว่า จะถ่ายทำด้วยกล้อง IMAX 70mm เพื่อสร้างภาพที่มีขนาดใหญ่ยักษ์และเก็บรายละเอียดสถานที่จริงให้ออกมามีรายละเอียดสูงและมีความสมจริงที่สุด ส่วนด้านพล็อต-เนื้อหาหนัง-ตัวละคร จะมีลูกเล่นออกมาอย่างไร ?(จะดัดแปลงหรือตรงตามประวัติศาสตร์แค่ไหนหรือไม่?) และจะมีเกร็ดแฝงปรัชญา(ตามสไตล์หนังโนแลน)-แฝงแง่คิดหรือสะท้อนอะไรจากสงครามครั้งนี้หรือไม่ ? ... ก็รอลุ้นต่อไปล่ะครับ ...
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่